17 พ.ย. 2021 เวลา 02:51 • ปรัชญา
"ขันธ์ทั้ง 5 ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์"
" ... ถ้าเอาให้ง่ายเลย เราดูจากของที่เรามี
ความปรุงแต่งที่เรามี
ความปรุงแต่งที่เรามีส่วนใหญ่ก็คือ อกุศล นั่นล่ะ
ไม่ใช่กุศลหรอก นานๆ กุศลจะเกิดสักทีหนึ่ง
อกุศลนั้นเกิดบ่อย
เพราะฉะนั้นเริ่มต้น
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราดูสังขาร
จิตตสังขาร จากสิ่งที่เรามีบ่อยๆ
คนไหน ขี้โลภ ใจเต็มไปด้วยความอยาก
อยากโน้นอยากนี้ไปเรื่อย ท่านก็สอนให้ดู
“ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ”
พอรู้แล้วมันก็ไม่มีราคะ ราคะมันดับทันทีที่มันมีสติรู้
“จิตไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะ”
มันก็จะเห็นจิตนั้นเกิดดับ
จิตมีราคะเกิดขึ้น มีสติรู้ทันปั๊บ จิตมีราคะดับทันที
กลายเป็นจิตที่ไม่มีราคะ
คนไหนขี้โกรธ โกรธบ่อย หงุดหงิดเก่ง ท่านก็สอน
“ดูกรพระภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ
จิตไม่มีโทสะให้รู้ว่าไม่มีโทสะ”
เห็นไหมท่านไม่ได้เริ่มจากว่า
ภิกษุทั้งหลาย จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ
จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ ไม่ได้สอนอย่างนั้น
สอนจากกิเลส
ท่านไม่ได้สอน ภิกษุทั้งหลาย
จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ
เห็นไหมท่านไม่ได้สอน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านสอน สมบูรณ์ที่สุดแล้ว
เราเวลาภาวนา เราค่อยๆ สังเกตไป
ถ้ากลับหัวกลับหาง ไม่ถูกหรอก
ฉะนั้นอย่างจิตของพวกเรา บางคนราคะแรง
เจออะไรก็อยากไปหมดเลย เราก็ดูจิตใจของเรา
จิตมีราคะ เราก็รู้ ดูไปแล้วมันดับไป เราก็รู้
คนไหนขี้โกรธ เราก็ดู
จิตมีโทสะ เราก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้
มีอีกตัวหนึ่งที่ดูยากมาก จิตมีโมหะกับจิตไม่มีโมหะ
จิตมีโมหะก็คือจิตมันฟุ้งซ่าน หรือมันเซื่องซึม
มันจับอารมณ์อะไรได้ไม่ชัดเจน อันนี้มันดูยาก
เอาตัวที่ดูง่าย ราคะ โทสะดูง่าย
โมหะเป็นกิเลสที่ดูยากที่สุด ยาก
ฉะนั้นดูของที่ง่ายๆ
ไม่ต้องพิถีพิถันอะไรที่ลึกลับซับซ้อนหรอก
ดูจากของที่มีจริงๆ จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้
เราจะเห็นราคะกับจิตเป็นคนละอันกัน
อันนี้เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้
ราคะเป็นสังขารขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์
นี่แยกขันธ์ได้
พอแยกขันธ์ได้แล้ว เรารู้เนืองๆ ไป
เราก็จะเห็น จิตที่มีราคะ มันอยู่ชั่วคราว
พอเรามีสติรู้ทันเท่านั้น มันดับเลย
ตรงที่เห็นมันเกิดแล้วมันก็ดับไป สิ้นไป
เรียกว่าเห็นอนิจจัง
1
จิตที่มีราคะ ทั้งจิตทั้งราคะ
มันเกิดด้วยกัน แล้วมันก็ดับไปด้วยกัน
ทันทีที่เกิดสติ จิตที่มีราคะก็ดับ ตัวราคะก็ดับ
เกิดจิตชนิดใหม่ คือจิตที่เป็นกุศล
กุศลก็เกิดพร้อมๆ กับจิตที่เป็นกุศล
เกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน
เราจะเห็นจิตมีราคะเกิดแล้วก็ดับ
จิตมีโทสะเกิดแล้วก็ดับ
ถ้าเห็นอย่างนี้ คือเห็นอนิจจัง ตัวทุกขัง มันดูยาก
เพราะว่าทันทีที่เรามีสติ มันดับเองเลย กิเลสมันดับ
จิตที่มีกิเลสมันดับ เกิดเป็นจิตที่ไม่มีกิเลส
เช่น จิตเรามีราคะ เรามีสติรู้ทัน จิตที่มีราคะ
จิตที่มีราคะก็ดับ เกิดจิตที่ไม่มีราคะ
จิตที่ไม่มีราคะ เรามีสติรู้ มันไม่จำเป็นต้องดับ
จิตที่ไม่มีราคะ มันอาจจะเป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้
หรือเป็นจิตที่เป็นอกุศลก็ได้
เช่น มันกลายเป็นจิตที่มีโทสะ
หรือเป็นจิตมีโมหะขึ้นมา
ถ้าเป็นจิตอกุศล เรามีสติรู้ทันเท่านั้น
มันจะดับอัตโนมัติเลย
แต่ถ้ามันมีราคะ เรารู้ ราคะดับ
จิตเกิดปีติ เกิดความสุขขึ้นมา
ปีติสุขเกิดขึ้น เราไปดู ไม่จำเป็นต้องดับทันที
มันไม่ใช่จิตอกุศล ที่จริงมันก็เกิดดับนั่นล่ะ
แต่ว่ามันเกิดดับต่อกันถี่ยิบเลย
เกิดยาวๆ เรารู้สึกว่ามันยาว
ที่จริงก็เป็นขณะๆ เหมือนกันนั่นล่ะ
ฉะนั้นเราก็รู้ไป เราก็จะเห็น อย่างภาวนา
เราเห็นว่าจิตไม่มีราคะ จิตสว่างไสว สงบ สบาย
หรือจิตไม่มีโทสะ สงบ สบาย สว่าง เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้
แล้วเราจะค่อยๆ เห็นว่ามันเริ่มมัวๆ ไป
จากที่เคยสว่างไสว ดูจิตใจสบาย
เริ่มมัวๆ เริ่มหมองๆ เริ่มไม่สบาย
อันนี้มันกำลังถูกบีบคั้น ให้หมดไปสิ้นไป
อันนี้เรียกว่าเราเห็นทุกขัง เห็นทุกขตา
หรือเราภาวนา เราจะเห็นเราตั้งใจจะไม่โกรธ
พอเห็นหน้าคนนี้ ตั้งใจไม่โกรธ มันก็โกรธ
มันบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เรียกว่าเห็นอนัตตา
หรือตั้งใจ เราไปเที่ยวเดินห้าง
อยากไปรับอากาศเย็นๆ ไม่ได้คิดจะซื้ออะไรเลย
ตั้งใจว่าจะไม่โลภ ก็ไปเห็นข้าวของเข้า มันโลภแล้ว
ตรงที่ความโลภมันเกิดใช่ไหม
เราไม่ได้เจตนาให้โลภเลย
เราตั้งใจจะไม่โลภแท้ๆ มันก็เกิดได้ ความโลภ
ตรงนี้เรียกว่าเห็นอนัตตา
ดูจิต
เฝ้ารู้เฝ้าดูสังขารทั้งหลาย
ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งเฉยๆ กลางๆ อะไรนี่
ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
นี่คือการเจริญปัญญาๆ
เราดูร่างกายไปแล้ว ตัวรูป เราก็ดูไปแล้ว
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ตัวเจตสิกคือความสุข ความทุกข์ ตัวความจำได้หมายรู้
ตัวกุศลอกุศลอะไรนี่ มันก็เป็นไตรลักษณ์
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อีกตัวหนึ่งคือตัวจิต จิตก็อยู่ในขันธ์ 5
อยู่ในขันธ์ที่เรียกว่าวิญญาณขันธ์
วิญญาณก็เป็นความรับรู้
ความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เรียกวิญญาณ
ถ้าสติเราดี สมาธิเราพอ เราก็จะเห็นเลย
จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ประเดี๋ยวหนึ่งก็หนีไปคิด
พอเรารู้ทันว่าจิตหนีไปคิด จิตที่หนีไปคิดก็ดับ
เกิดจิตรู้ขึ้นมา สักพักหนึ่ง จิตก็วิ่งไปดูอีกแล้ว
ไปดูรูป ไปมองโน่นมองนี่
เราก็มีสติรู้ จิตที่หลงไปดูก็ดับ เกิดจิตผู้รู้ขึ้นมาอีก
เดี๋ยวได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ แหม ถูกใจ
จิตใจก็ไหลไปฟังเสียง ไหลไปทางหู ไปฟังเสียง
พอเรามีสติรู้ว่าจิตเราหลงไปทางหูแล้ว
จิตที่หลงไปทางหูก็ดับ เกิดจิตผู้รู้ทางใจขึ้นมาอีก
เราจะเห็นตัวจิตเองเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6
อันนี้เราต้องฝึกดูจิตจนชำนิชำนาญเราถึงจะเห็น
ทีแรกยังดูไม่เห็นก็ไม่เป็นไร
ดูจิตสุข จิตทุกข์ จิตเฉยๆ
ดูจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงอะไร ดูแค่นี้ง่ายๆ
พอดูชำนาญแล้วเราจะเห็นเลย จิตมันเกิดดับ
เดี๋ยวเกิดที่ตาแล้วก็ดับ เกิดที่หู แล้วก็ดับ
เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น
ตรงที่เราเห็นมันเกิดแล้วมันดับ
เรียกว่าเราเห็นอนิจจัง
อันนี้จิตมันทรงตัวอยู่ทางใจอย่างนี้
เรารู้ทรงตัวอยู่ เราก็ค่อยๆ เห็น
โมหะมันแทรกเข้ามา มันเริ่มซึมๆ
อย่างภาวนาอยู่ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่
ในที่สุดตัวจิตผู้รู้ก็ค่อยๆ เสื่อมๆ ลงไป
ถูกบีบคั้นให้แตกสลายด้วยอำนาจโมหะอย่างนี้
เราก็จะเห็น โอ้ จิตมันก็ถูกบีบคั้น
จิตผู้รู้ที่ว่าดีวิเศษก็ยังถูกบีบคั้นอยู่
ตรงเห็นความถูกบีบคั้นนี้ คือเห็นทุกขตา เห็นทุกขัง
เราก็เห็น จิตจะไปดู จิตจะไปฟัง จิตจะไปคิด
เราไม่ได้สั่ง จิตมันทำงานของมันเอง
ตรงที่เราเห็นว่าเราสั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้
จิตมันทำงานเอง ฉะนั้นจิตไม่ใช่ตัวเราหรอก
จิตเป็นอนัตตา อย่างนี้เราก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิต
เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา
เบื้องต้นถนัดดูกาย เราก็ดูกาย
ถนัดดูเวทนา เราก็ดูเวทนา
ดูกาย เราก็เห็นกายกับจิตเป็นคนละอัน ดูเบื้องต้น
ต่อไปก็เห็นร่างกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ถนัดดูเวทนาทางกาย เราก็ดูไป
เราก็เห็นไตรลักษณ์
ถนัดดูเวทนาทางใจก็ดูไป
แล้วสุดท้ายก็เห็นว่ามันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
กุศล อกุศลทั้งหลาย ดูไปก็เห็นตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก
สุดท้ายตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
จิตจะดูหรือจิตจะฟัง หรือจิตจะคิดอะไร สั่งไม่ได้หรอก
จิตไปดูรูป ก็ดูได้ทีละขณะจิตเดียว
ไปฟังเสียงก็ฟังได้ทีละขณะ
ดมกลิ่น ลิ้มรสอะไรอย่างนี้ มันทีละขณะๆ ไป
แต่จิตที่ทำงานทางใจ บางทีเกิดดับสืบเนื่องกันยาว
อย่างจิตทรงสมาธิอย่างนี้
องค์ฌานก็เกิดดับสืบเนื่องกันไป
จิตก็ทรงตัวอยู่ในฌานอันนั้นนานๆ
แต่ถ้าจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
เกิดแป๊บเดียวก็ดับหมดแล้ว
จิตที่เกิดทางใจยืดเยื้อยาวนานได้
อย่างเวลาจิตเราโกรธอย่างนี้
บางทีโกรธข้ามวันข้ามคืน
เพราะความโกรธมันเกิดดับต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นอารมณ์ทางใจบางทีดูแล้ว ยาว
ค่อยๆ ฝึก สุดท้ายเราก็เห็นขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นล่ะ
ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
เวลาฝึกจริงไม่ต้องดูทั้งขันธ์ 5
ดูอันใดอันหนึ่งพอแล้ว
ดูอันใดอันหนึ่งพอเห็นแจ้งก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ทั้งสิ้น
บางท่านดูกาย ก็ถึงพระอรหันต์ได้
ตัวอย่างเช่น ท่านพระอานนท์
ในพระไตรปิฎกบอก ท่านพระอานนท์ ยังราตรีสุดท้าย
ก่อนวันที่จะไปร่วมสังคายนา
ผู้เข้าร่วมสังคายนา คุณสมบัติคือต้องเป็นพระอรหันต์
พระอานนท์ยังไม่ได้พระอรหันต์
ตำราชอบบอกว่าท่านได้โสดาบัน
หลวงพ่อก็ไม่แน่ใจหรอก
ว่าท่านจะหยุดอยู่แค่โสดาบันหลายสิบปี
ท่านอาจจะเขยิบขึ้นมา แต่เขาไม่ได้พูดถึง
แต่คืนสุดท้ายท่านดูกายเป็นหลัก
พระไตรปิฎกบอกว่า “พระอานนท์ยังราตรีสุดท้าย
ให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติเป็นส่วนมาก”
กายคตาสติตัวนี้ ไม่ได้แปลว่ากายคตาสติ
แยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
ในอาการ 32 อันนั้นเป็นเรื่องของสมถะ
กายคตาสติตัวนี้ หมายถึงเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
แต่เขาก็ไม่ได้บอก ตำราไม่ได้บอกว่า
ท่านเจริญกายานุปัสสนาในบรรพไหน
จะดูกาย หรือดูลมหายใจหรือดูอิริยาบถอะไรอย่างนี้
หรือดูธาตุ เป็นธาตุอะไรอย่างนี้
ตำราไม่ได้บอกไว้ บอกแค่ว่า
คืนสุดท้ายท่านเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
บรรลุพระอรหันต์
ท่านพระสารีบุตร ท่านเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
บรรลุพระอรหันต์
ท่านพระอนุรุทธะ ท่านเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
บรรลุพระอรหันต์
ฉะนั้นแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน
อย่างพระพุทธเจ้าบุญบารมีท่านเยอะ
ท่านเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรลุพระอรหันต์
ฉะนั้นสติปัฏฐาน 4 อันใดอันหนึ่งก็พอแล้ว
ไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดอย่างที่หลวงพ่อเล่าให้ฟังหรอก
แต่จริตนิสัยหลวงพ่อ
เวลาเรียนมันจะต้องเรียนให้เยอะๆ
เรียนให้หมด มันเป็นอย่างนั้น
พวกเราไม่จำเป็นอันเดียวก็พอแล้ว
ดูกายหรือดูเวทนา หรือดูจิตตสังขารอะไรแค่นี้ก็พอ
ไม่ต้องรู้ทั้งหมด
จริตนิสัยของบางคน มันต้องการความรู้เยอะๆ
ห้ามมันไม่ได้หรอก
การปฏิบัติไม่ใช่ฝึกรู้ตัวอยู่เฉยๆ
รู้ตัวอยู่เฉยๆ ใช้ไม่ได้ๆ ต้องมาเจริญปัญญา
เจริญปัญญาขั้นแรกก็คือแยกรูปนาม
แยกรูปนามได้ดูเนืองๆ ไปก็ค่อยเห็นไตรลักษณ์ขึ้นมา
จะเห็นไตรลักษณ์ได้ เรียกทำวิปัสสนา
สุดท้ายทำให้มากพอ มรรคผลมันก็เกิด
วิปัสสนากรรมฐาน ตัวนี้ทำให้เราเกิดปัญญา
พระพุทธเจ้าท่านก็บอก
“บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
ฉะนั้นถ้าเราไม่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานอะไรอย่างนี้
ไม่บรรลุหรอก. ... "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 พฤศจิกายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา