16 พ.ย. 2021 เวลา 14:10 • ปรัชญา
"สำรวจตัวเองก่อนจะถาม"
" ... ต้องตั้งอกตั้งใจเราจะไม่ยอมแพ้กิเลส
ทุกวันอดทนไว้ วันนี้แพ้ก็ไม่ยอมทำผิดศีล
พอเราฝึกจิตฝึกใจของเราได้เข้มแข็งขึ้น
จิตมันทรงสมาธิขึ้นมา
เมื่อไรจิตมันทรงสมาธิที่ดีขึ้นมา ต้องมีคำว่าที่ดีด้วย
สมาธิแบบมิจฉาสมาธิกิเลสไม่กลัว
สมาธิของคนมีกิเลสก็มี
สมาธิเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตทุกชนิดเลย
จิตที่มีกิเลสก็มีสมาธิได้
อย่างจะไปดักตีหัวใครสักคน
หรือจะไปดักฉุดใครสักคน
จิตมีกิเลส แต่มันก็มีความแน่วแน่
มีความมุ่งมั่น จดจ่อที่จะไปทำชั่ว
จะไปยิงเขาก็ต้องมีสมาธิ ไม่อย่างนั้นก็ยิงไม่ถูก
ฉะนั้นถ้ามีสมาธิแล้วก็มีคำว่าที่ดี คือตัวสัมมาสมาธิ
เราต้องฝึกตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นมา
มีสติ มีสัมมาสมาธิ สติเป็นตัวรู้ทัน
มีอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจคอยรู้
ถ้ารู้ที่จิตที่ใจไม่ได้ ก็รู้ที่กาย
อย่างเราโกรธใครสักคน เราเกลียด ต้องอยู่กับเขา
พอเราเกลียดมากเลยพอเห็นหน้า
หน้าตาเราก็ออกแล้ว หน้านิ่วคิ้วขมวดขึ้นมา
สายตาเราก็มองเขาอย่างเกลียดชัง
มันเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง
ยิ่งเกลียดใครก็ยิ่งสนใจคนนั้น
ยิ่งเกลียด มากๆก็ยิ่งสนใจมากๆ เลย จ้องทั้งวันเลย
เราคอยรู้ทัน ใจเราเกลียดเขารู้ทัน
ถ้ารู้ทันมันก็ไม่ล้นออกไปที่กาย ที่วาจา ไม่ผิดศีล
ถ้ารู้ไม่ทันก็ผิดศีล
ฝึกทุกวัน ฝึกตัวเอง อย่ายอมแพ้กิเลส
สัมมาวายามะจำเป็นมากในการฝึกจิต
องค์ธรรมในการฝึกจิตในอริยมรรคมีองค์ 8
มีส่วนของปัญญาอยู่สอง คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
มีความเห็นถูก มีความคิดถูก
มีส่วนของศีล คือสัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มีสามเหมือนกัน
ในส่วนของการฝึกจิตก็มีสาม
มีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เห็นไหมท่านเอาสัมมาวายามะขึ้นก่อนเลยในการฝึกจิต
ฉะนั้นถ้าฝึกจิตไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน
ว่าจะต้องทำไปเพื่อลดละอกุศล เพื่อเจริญกุศล
สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จะสมบูรณ์ไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า สัมมาวายามะที่ดีที่สมบูรณ์
เจริญให้มากจะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์
เมื่อเราเจริญสัมมาสติให้มาก
จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์
สัมมาวายามะเจริญให้มาก
ก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์
จะเจริญสติปัฏฐานได้ดีอย่าทิ้งสัมมาวายามะ
เป็นตัวสำคัญในการฝึกจิต ตีกรอบไว้เลย
ไม่ใช่ทำดีเพื่อหวังผลดี เพื่ออย่างโน้น เพื่ออย่างนี้
ทำเพื่อจะเอา ทำเพื่อจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เพื่ออย่างโน้น เพื่ออย่างนี้
ถ้าอย่างนั้นทำด้วยความโลภ
พยายามเรียนรู้ตัวเองเข้าไป
อะไรที่มันเป็นอกุศลก็ละมันเสีย
ละยังไม่ได้ก็รักษาศีล อย่าให้มันผิดศีล
ถ้ามีสมาธิทรงตัวขึ้นมา
สมาธิที่ถูกต้องเกิดเมื่อไรละก็
มันต้องมีสติกำกับอยู่เสมอ
ทันทีที่มีสติขึ้นมา อกุศลดับทันที กุศลเจริญทันที
องค์ธรรมทั้งหลายมันอิงอาศัยกันอยู่
ฉะนั้นเราทำสัมมาวายามะให้มาก
ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำอะไรก็ตาม
สังเกตใจไปว่านี้ทำไปเพราะกิเลส
หรือทำไปเพราะกุศล สังเกตเอา
อย่างนี้สัมมาวายามะของเราก็จะเจริญขึ้น
พอเรามีสัมมาวายามะการเจริญสติจะไม่ใช่เรื่องยาก
แต่ถ้าเราไม่มี จิตเราเต็มไปด้วยกิเลส
จะไปเจริญสติมันทำไม่ได้จริงหรอก
การเจริญสตินั้น สัมมาสติ
พระพุทธเจ้าอธิบายด้วยสติปัฏฐาน 4
ฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาวายามะให้มาก
ก็จะทำให้การเจริญสติปัฏฐาน 4 นั้นสมบูรณ์ขึ้นมา
สัมมาสติที่เราเจริญให้มาก
มันจะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ขึ้นมา
เรามีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ พากเพียรไป
รู้รูปรู้นามตามความเป็นจริงเรื่อยไป
ทีแรกมันก็รู้ด้วยเจือคิด
ต่อมาจิตมันมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
สมาธิที่ดีมันเกิดขึ้นแล้ว
คราวนี้จิตจะเดินวิปัสสนาอย่างแท้จริงแล้ว
ตรงที่จิตยังไม่ได้ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
มันยังไม่ถึงขั้นที่เจริญวิปัสสนาจริงหรอก
มันเป็นขั้นเจริญสติ
อย่างในสติปัฏฐาน 4 ทั้งหมดนั้น
ไม่ใช่เรื่องของการเจริญปัญญาทั้งหมด
การเจริญสติปัฏฐาน หรือการทำสัมมาสตินั้น
เป็นไปเพื่อ 2 สิ่ง อันหนึ่งเพื่อสติ อันหนึ่งเพื่อปัญญา
ฉะนั้นการที่เราเจริญสติปัฏฐาน
ดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต
ธรรมในธรรมอะไรนี้
ในเบื้องต้นที่เราจะได้คือสติไม่ใช่ปัญญา
พอเรามีสติที่ถูกต้องแล้ว
สมาธิที่ถูกต้องมันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
พอจิตทรงสมาธิถูกต้อง
มีสติระลึกรู้รูปนามด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง
ปัญญามันจะเกิด เราทำวิปัสสนาได้จริงแล้วคราวนี้
ฉะนั้นถ้าเรายังไม่มีสติที่ถูกต้อง
ไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง ปัญญายังไม่มี
ยังไม่ได้เจริญวิปัสสนาจริง
อดทนค่อยๆ ฝึกตัวเอง
อกุศลอะไรยังไม่ละก็ละเสีย
กุศลอะไรยังไม่เจริญก็เจริญเสีย
ฝึกไปเรื่อยๆ ตัวสำคัญคือมีสติอ่านใจตัวเองให้ออก
กิเลสที่ยังไม่ละมันอยู่ที่ไหน ก็ซ่อนอยู่ในจิตเรานี่ล่ะ
มีสติรู้ทันลงไป จิตมีอกุศลอยู่ มีกิเลสอยู่ รู้ทันมัน
กุศลมันเจริญขึ้น มันเจริญที่ไหน
ไม่ไปเจริญตามภูเขา ตามท้องนา ตามป่าอะไรหรอก
มันเจริญที่จิตเรานี่ล่ะ
ฉะนั้นเราก็สังเกตจิตสังเกตใจของเราเรื่อยๆ
อกุศลที่มีอยู่มันก็จะลดละไป
กุศลที่ยังไม่มีมันก็จะมี ที่มีแล้วก็จะเกิดถี่ขึ้นๆ
เราสังเกตจิตใจของเราไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น
ไม่ใช่เพื่อความดีวิเศษอะไรหรอก
เพื่อจะรู้ทันอกุศลอะไรมีอยู่ รู้ทัน
กุศลอะไรมีอยู่ รู้ทัน กุศลอะไรยังไม่มี รู้ทัน
ยังขาดอะไรอยู่ พอเรารู้ทันมันก็ค่อยๆ พัฒนา
การที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง
เพื่อเจริญสัมมาวายามะนั้น
มันจะทำให้การเจริญสติของเรา ทำสัมมาสติง่าย
เพราะเราหัดรู้จิตรู้ใจของเราอยู่
จิตมีกิเลสเราก็รู้ กิเลสครอบงำจิตเราก็รู้
กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ พอเรารู้ปุ๊บดับปั๊บ เราก็รู้
กุศลยังไม่มี พอสติเกิด เอ้า เมื่อกี้มันหลงนี่
อกุศลที่มีมันดับกุศลมันเกิด มีสติขึ้นมา
แต่ก่อนนานๆ จะเกิดสติทีหนึ่ง
พอฝึกเข้าๆ สติก็เร็วขึ้นเรื่อยๆ กุศลมันถี่ขึ้นเรื่อยๆ
พออย่างนี้สมาธิมันก็จะดีขึ้นด้วย
ถัดจากนั้นเราก็มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ทำง่ายแล้วคราวนี้
เพราะสติเราก็ว่องไว จิตใจเราก็ตั้งมั่น
เรามีเครื่องมือในการทำวิปัสสนาแล้ว
รู้ทันกิเลสของตัวเอง
ถ้าจะหัดดูจิตๆ หลวงพ่อแนะนำเลย
ให้รู้ทันกิเลสของตัวเองนั่นล่ะ
ยังไม่ต้องรู้ทันกุศลก็ได้หรอกเพราะไม่ค่อยมี
กิเลสมีเยอะ ดูของที่มีเยอะๆ นี้ล่ะดูไป
อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่อโมเมเอง
ลองไปอ่านพระสูตรดู
อย่างการดูจิตดูใจของเรา
เห็นไหมเริ่มต้นท่านว่าอย่างไร
“จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ”
มันเริ่มต้นจากจิตมีราคะ เริ่มจากกิเลส
“จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ”
เห็นไหมเริ่มจากโทสะ เริ่มจากกิเลส
“จิตมีโมหะรู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะรู้ว่าไม่มีโมหะ”
ก็เริ่มจากโมหะคือกิเลส
ทำไมท่านไม่เริ่มจากกุศล แต่ท่านเริ่มจากกิเลส
เพราะพวกเรากิเลสเยอะ
กุศลมีไม่มากหรอก นานๆ เกิดที
แต่กิเลสนี้เกิดถี่ ภาษาไทยฟังยาก
กิเลสเกิดถี่ยิบเลย เกิดเยอะ แต่กุศลนานๆ เกิดทีหนึ่ง
เริ่มปฏิบัติสังเกตจิตใจเราตัวหัวโจกเลย คอยรู้ทันกิเลส
ราคะเกิดก็รู้ โทสะเกิดก็รู้ โมหะเกิดก็รู้
ตรงที่เรารู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น
สมาธิมันจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ
สมาธิที่ดี จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นเป็นขณะๆ ไป
ฝึกมากๆ สติก็เร็วขึ้น สมาธิก็ถี่ขึ้น
แล้วปัญญามันค่อยเกิดขึ้น ค่อยฝึกอย่างนี้
1
อย่าตามใจกิเลส ถ้าตามใจกิเลสแล้ว
ไม่ว่าจะไปเจริญสติปัฏฐาน ไปนั่งสมาธิ
ไปทำวิปัสสนา ไม่ได้เรื่องๆ ไม่สำเร็จหรอก
ฉะนั้นถ้าใครก็ตามจะมาถามหลวงพ่อว่าจะปฏิบัติอย่างไร
สำรวจตัวเองก่อนจะถาม
กิเลสนั้นเราสู้กับมันไหม หรือเรายอมแพ้มัน
ถูกมันลากจูงจมูกทั้งวันอย่างนั้น
ถ้าแบบนั้นยังไม่ต้องมาถามว่าเจริญสติ
เจริญปัญญาอย่างไร มันทำไม่ได้
ขั้นแรกเลยอ่านจิตใจตัวเองไป มีกิเลสอะไรก็รู้เอา
อย่าเข้าข้างกิเลส อย่าปกป้องกิเลส
อย่าสงวนรักษากิเลส
เข้าข้างกิเลสอย่างที่หลวงพ่อเล่าเมื่อกี้
เช่นเล่นเลศต่างๆ มีอุบายในการพลิกพลิ้ว
เคยพลิ้วกับทางกฎหมายแล้วสำเร็จ
แต่กรรมนี้ไม่มีทางสำเร็จเลยที่จะหนี
ถ้าทำเหตุเมื่อไรก็มีผลเมื่อนั้น มีผลตามมา
แต่กรรมนั้นจะให้ผลเมื่อไร
วิบากนั้นจะให้ผลเมื่อไร มีลำดับของมัน
ถ้ากรรมรุนแรงมากขั้นอนันตริยกรรมจะให้ผลทันทีเลย
ให้ผลในชีวิตนี้ทันที
อย่างตายจากมนุษย์ปุ๊บมีอนันตริยกรรมอยู่
ตายจากมนุษย์ปุ๊บตกนรกทันทีเลย
วิบากบางตัวก็ให้ผลถัดจากนั้น
คือเกิดมาแล้วก็ตามให้ผล
อย่างเรากุศลให้ผลมา เราเกิดมาเป็นคน
อกุศลมีกำลังอ่อนกว่า
ไม่สามารถให้ผลให้เราเกิดเป็นสัตว์ในอบายได้
เราเป็นคนแล้ว วิบากของอกุศลมันตามให้ผลเรา
เช่นชีวิตเราลำบาก ไปไหนก็มีแต่คนเกลียดอะไรอย่างนี้
ทำงานอะไรก็ไม่สำเร็จอะไรอย่างนี้
เจอก็เจอแต่คนที่เราไม่ชอบ
คนที่เราชอบเขา เขาก็ไปชอบคนอื่น
อันนี้อกุศลมันให้ผลหลังจากการเกิด
มีขั้นมีตอนของมัน
บางทีหลายๆ ชาติถึงจะให้ผลอย่างนั้น
ถ้าเราไม่รู้เราก็คิดว่าไม่มีผล
ถ้าเราภาวนาพอเข้าใจก็เข้าใจขึ้นมาได้
กรรมทั้งหลายมีผลทั้งสิ้น
เคยมีเด็กคนหนึ่งซน ข้างบ้านมีต้นตะขบ
ค้างคาวมากลางคืน ก็มองค้างคาวทำไมมันเร็วนัก
ก็เกิดแค่สงสัยว่าระหว่างค้างคาวกับเรา
ใครจะเร็วกว่ากัน
ถือไม้ไว้จ้องตีค้างคาว ตีปุ๊บๆๆ ไม่เคยถูกเลย
วันหนึ่งก็พัฒนาอาวุธขึ้นมา
ไอ้นี่มันช้าไม้กว่าจะเงื้อ กว่าจะตีช้า
หมุนลวดสลิงไว้ หมุนๆๆๆ
ที่ติดม่านหน้าต่างแบบโบราณหมุนๆๆ
ถอดผ้าม่านออก หมุนรอพอมันมา
ตีปุ๊บมันไปแล้วไม่โดน ต่อมาก็พัฒนา
เห็นไหมมีปัญญาในทางชั่ว พัฒนาต่อต้องตีล่วงหน้า
ถ้ามันมาแล้วตีไม่ทันมัน มันเร็วจริงๆ ตีล่วงหน้ามันปุ๊บ
ถูกหลังมันเลย มันตกลงไปที่พื้นแล้วมันไปดิ้นอย่างนี้
โอ้โห ใจสลดสังเวชมากเลย เสียใจอย่างแรงเลย
ตอนนั้นเด็กๆ
ต่อมาก็มาภาวนา นายคนนี้เขาก็มาเจอครูบาอาจารย์
มาภาวนา นั่งสมาธิอะไรอย่างนี้ เดินจงกรม
วันหนึ่งจิตกำลังสบาย นั่งสมาธิสงบ สว่าง
อยู่ๆ ได้ยินเสียงเหมือนแส้หวดมา เสียงขวับมาเลย
เข้ากลางหลังเลย เหมือนถูกแส้หวดกลางหลังเลย
ใจสะท้าน ร่างกายก็สะท้าน
ใจนี่สั่นริกๆๆ เลยมันเจ็บมาก
แล้วก็นิมิตมันก็เกิดเลย เห็นค้างคาวตัวนั้น
ซึ่งลืมมันไปหลายสิบปี ลืมมันไปตั้งยี่สิบปีแล้ว
นิมิตมันเกิดขึ้นมา รู้ โอย นี่วิบาก
กรรมชั่วมันมีจริงๆ มีให้ผลได้จริงด้วย
ทั้งๆ ที่เราลืมไปแล้วแต่กรรมมันไม่ลืมหรอก
อย่างเราตายข้ามภพข้ามชาติ
เราทำอกุศลไว้มันไม่ลืมเราหรอก
กรรมชั่วทั้งหลาย หรือกรรมดีทั้งหลาย
มันต้องตามเรามาแน่นอน
ถ้าเราภาวนา เรารู้เราเห็นอย่างนี้
เราจะไม่กล้าทำชั่ว เราจะอยากทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
เพื่อจะได้ไม่ต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะที่น่ากลัวนี้
กระทบกระทั่งกันตลอดเวลา
ฉะนั้นตั้งเป้าไว้เลยเราต้องสู้กับกิเลสของเรา
ไม่ใช่ตีกับคนอื่น. ..."
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 พฤศจิกายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา