19 ม.ค. 2022 เวลา 04:15 • ครอบครัว & เด็ก
#เจ้าปันสตอรี่ ตอนพิเศษ ๒
"มาสื่อสารให้ตรงกันเถอะ!"
พอเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจในการทำงานของจิตใต้สำนึก ผมก็เริ่มเฝ้าจับสังเกตการพูดจา การสื่อสารของคนรอบข้าง คนที่พบเจอในชีวิตประจำวันขึ้นอีก
ยิ่งตั้งใจฟังก็ยิ่งสนุก เออแฮะ! คนเรานี่มันอ้อมค้อมว่ะ! ไม่รู้ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ไม่ค่อยสื่อสารแบบตรงไปตรงมากันเลย
จะขอยกเป็นตัวอย่างให้เห็นกันนะครับ แต่ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวผมเอง จึงจะใช้ผมและลูกสาวเป็นตัวละครในประโยคเหล่านั้นแทน
ทั้งที่จริงๆแล้วเราสองคนแทบจะไม่เคยสื่อสารแบบนี้กันเลยก็ตาม (ส่วนใครจะรู้สึกเดือดร้อนขึ้นมา อันนี้ก็รับผิดชอบต่อสามัญสำนึกกันเองนะคร้าบ 😅)
ผมไม่ได้มาบอกว่าประโยคเหล่านี้ดีที่สุด แต่จะมาบอกว่าดีกว่าที่พบเห็น ที่ได้ยินกันอยู่ และเขื่อว่าถ้าตั้งใจคิดก็อาจจะทำให้ดีขึ้น เหมาะสมขึ้นได้อีกด้วย
เอามาเล่าเท่าที่พอเป็นไอเดียนะครับ
กลุ่มประโยค "อย่า....." "ห้าม....." เช่น
"เจ้าปัน อย่าวิ่งสิ เดี๋ยวล้มหรอก!"
ฟังๆดูก็เหมือนไม่มีอะไร ดูเป็นห่วงเป็นใย และได้ทำหน้าที่ผู้ดูแลเป็นอย่างดีด้วย ใช่มั้ยครับ?
แต่ถ้าลองเปลี่ยนเป็น "เจ้าปัน เดินดีๆค่ะ ระวังตัวด้วย"
ก็อยากให้เดิน อยากให้ปลอดภัย และอยากให้ดูแลตัวเองเป็นไม่ใช่เหรอ! ก็พูดแนวๆนี้ไปสิ จะพูดให้เค้าเห็นภาพตัวเองวิ่ง ตัวเองล้ม เพื่อ? 🙄
"เจ้าปัน วันหลังน่ะ ห้ามถอดรองเท้าวางเกะกะแบบนี้อีกนะ!"
เอิ่ม! ใช้อำนาจแถมยังคลุมเครืออีก คำแนะนำก็ไม่มี นี่หนูเพิ่งมีชีวิตอยู่ไม่กี่ปีเองนะ พ่ออยากได้อะไรก็ช่วยบอกเถอะ หนูขอร้อง!
เอาไปแบบนี้! "เจ้าปัน ถอดรองเท้าแล้วเอาไปใส่ในตู้รองเท้าเลยหรือวางดีๆหลบๆทางเข้าออกหน่อยนะ คนเดินผ่านจะได้สะดวกปลอดภัยค่ะ"
แม้จะยาวนิด หรืออาจไม่เข้าใจทั้งหมดในครั้งแรกๆ แต่ก็กำลังหว่านเมล็ดแห่งการสื่อสารด้วยเหตุผลอยู่นะ
กลุ่มประโยค "บอกใบ้" เช่น
"เจ้าปัน พ่ออิ่มแล้ว หิวน้ำจัง!"
เอ๊ะ! นี่มันบ่น รำพึงรำพัน สั่ง เป็นประโยคแบบไหนกันแน่หว่า?
ฟังดูเหมือนผมคิดมากใช่ป่าว? เค้าขอให้เอาน้ำมาให้กิน ใครๆก็เข้าใจ ทำเป็นเรื่องมากไปได้
เคยมีคนพูดแบบนี้กับผม แล้วก็"โดน"กันไป ใครอยากรู้ว่าแบบไหน ขอเล่าหลังไมค์นะ! 😅
แต่ผมว่าถ้าเปลี่ยนเป็น "เจ้าปัน ช่วยเอาน้ำ(หรือรินน้ำ)ให้พ่อแก้วนึงสิคะ!" อย่างนี้น่าจะตรง กระชับ ชัดเจนกว่า
กลุ่มประโยคขอร้อง คำสั่ง สอน ที่มาในรูปประโยคคำถาม (อันนี้ฮอตฮิตติดชาร์ตมาตลอด) เช่น
"เจ้าปัน หยิบหนังสือพิมพ์ให้พ่อหน่อยได้มั้ย?"
เอางี้นะพ่อ ถ้าหนูจะกวน_ีนพ่อ แล้วตอบว่า "ไม่ได้" ล่ะ พ่อจะไม่โกรธได้ป่าว? พ่อจะให้ช่วยหยิบหรือจะให้ตอบว่า"ได้"หรือ"ไม่ได้"คะ เอาให้ชัวร์กับหัวใจตัวเองแล้วค่อยพูดก็ได้นะพ่อ
เป็น "เจ้าปัน ช่วยหยิบหนังสือพิมพ์ให้พ่อหน่อยค่ะ" จบ หนูหยิบให้แล้วบอกว่า "ขอบคุณค่ะลูก" อันนี้ยิ่งชื่นใจใหญ่ 😌
"นี่! เจ้าปัน เลิกเรียนแล้วกลับบ้านเลยไม่เป็นหรือไง?"
โห! อยากตอบจังว่า"เป็น.....แต่ไม่ชอบ..ไม่อยากทำ...ค่ะ!" จะตอบแบบนี้ได้มั้ยน้อ
ขอเป็น "เจ้าปัน เลิกเรียนแล้ว ช่วยกลับบ้านมันทีเลยนะ พ่อเป็นห่วงค่ะ" ได้มั้ยคะคุณพ่อ จุ๊บๆ! 😘
"เจ้าปัน ทำแบบนี้อีกแล้วนะ! ทำอะไรให้มันดีกว่านี้ไม่เป็นหรือไง ความคิดน่ะมีมั้ย? ทำอะไรหัดคิดซะบ้าง!"
อันนี้คลาสสิคสุดๆครับ ผมได้ยินแล้วหัวเราะ(ในใจ)ทุกที คนพูดคงคิดว่าตัวเองกำลังแสดงบทบาทผู้รู้ แสดงถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ และคิดว่ากำลังสอนลูกให้เป็นคนมีความคิดอยู่ มันใช่เหรอ?
ลองนึกอีกมุมนะ เด็กอาจจะคิดว่า "คิดนะ แต่คิดได้แค่นี้..ความคิดน่ะมี แต่ข้อมูลน่ะน้อย.. แนะนำสิ นะ! นะ! ไม่ได้อยู่มานานแล้วแบบพ่อนี่นา..รู้มากกว่าแล้วทำไมไม่บอก เอ!หรือว่าไม่รู้จริงหว่า? หรือว่าไม่มีฝีมือในการถ่ายทอดน้อ?......"
ถ้าเปลี่ยนเป็น "เจ้าปัน เรื่องนี้เป็นแบบนี้อีกแล้วอะ พ่อว่าน่าจะลองปรับดู จะลอง(ยกตัวอย่าง)ดู หรือเปลี่ยนเป็นแบบอื่นก็ได้นะ หนูว่าทำยังไงดี เผื่อพ่อจะช่วยคิดให้ด้วย"
ผมว่าแนวๆนี้จะใกล้ชิด และได้เข้าใจความคิดของลูกด้วย จะได้รู้ว่าเราควรจะช่วยเติม เสริม ตรงไหน แถมให้เค้าได้เป็นหลักในการตัดสินใจ เค้าจะได้มีความภูมิใจในตัวเอง เราอยากลูกได้แบบนี้ก็ไม่ใช่เหรอ?
นี่แค่ตัวอย่างซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก.แต่ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะพอเห็นและเอาไปเป็นไอเดียได้อยู่แล้ว สบายมาก!
ผมเองก็ใช่ว่าจะทำถูก พูดถูกไปซะทุกครั้ง ผิดก็บ่อย เผลอก็มาก แต่ก็พยายามปรับ พยายามไหวตัว รู้ตัวให้เร็ว หาวิธีการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำได้ก็มีความสุข สนุกกับการได้้ทำเสมอ และยังคงปรับปรุงการสื่อสารแบบสร้างสรรค์นี้อยู่ทุกวันครับ
ลองไปสังเกตตัวเอง คนรอบข้าง แล้วมาปรับการสื่อสารของเรากันครับ
ผมพิสูจน์มาแล้วโดยเฉพาะกับลูก เพราะมีคนเคยถามว่า "ถามจริงๆเหอะ พ่อลูกคู่นี้เคยทะเลาะกันมั้ย?"
ผมกับลูกได้ยินแล้วอึ้ง ยืนนึกกันอยู่พักนึงก่อนจะตอบไปว่า "ไม่แน่ใจ! นึกไม่ออก"" หันมามองหน้ากัน ยิ้ม แล้วหัวเราะ 😎😁😄
#คนโชคดี #ทำบุญ #mystyle #mysoul #เจ้าปันสตอรี่ #ในระหว่างความคิดถึง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา