22 พ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ข่าว
ทำไมข้าวไทยไร้ราคา ชาวนาไม่ได้กำไร?
Ep.01 ทำนา 1 ไร่ ชาวนามีต้นทุนอะไรบ้าง?
กว่า “ข้าวสาร” ที่สีแล้วพร้อมหุงรับประทาน จะเดินทางมาถึงมือผู้บริโภค หากไม่นับต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการตลาดอย่าง คนกลาง “ต้นทุนการผลิต” เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำเกษตร แต่ในข้อเท็จจริงมีชาวนาน้อยรายที่พอยิ้มออกเพราะขายข้าวได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ต้องพึ่งกลไกแทรกแซงราคาจากนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะฤดูกาลที่ราคาข้าวตกต่ำ แทบไม่เคยได้ยินคำว่า “กำไร” เพราะแค่หวังเพียงทำนาได้คุ้มทุน ก็ถือว่าหายใจได้ทั่วท้อง
1
ทำไมต้นทุนการผลิตของชาวนาจึงมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ? คำถามนี้มีคำตอบที่แตกต่างกัน เพราะหากมองต่างมุม มีชาวนาไม่น้อยที่บริหารจัดการต้นทุนปัจจัยการผลิตได้ สิ่งที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามสร้างแรงจูงใจชาวนาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน โดยคาดหวังว่า เมื่อชาวนารู้ต้นทุนก็สามารถนำมาประยุกต์เพื่อหาทางลดต้นทุนการปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ การลดต้นทุนดังกล่าว ชาวนาเพียงอย่างเดียว สามารถทำได้จริงหรือไม่
เช่น (ก) ต้นทุนด้านค่าแรง: นานมากแล้ว, ชาวนาไทยไม่ได้มีเพียงคนในครอบครัวเป็นแรงงานในแปลงของตัวเอง เพราะหากดูข้อมูลต้นทุนการปลูกข้าวเฉลี่ยต่อไร่ จะเห็นว่า นอกจากค่าวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายในการผลิตแล้ว “ค่าแรงงาน” นับเป็นต้นทุนจำนวนไม่น้อยของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
จากบทความวิจัย “ต้นทุนและผลตอบแทนในการลงทุนปลูกข้าวหอมมะลิของเกษตรกร ในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี” ระบุว่า “ค่าแรงงาน” เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 36.32 ซึ่งแบ่งได้เป็น แรงงานในการเตรียมดิน แรงงานในการปลูก และแรงงานตนเอง ซึ่งค่าแรงในประเภทสุดท้าย หากไม่มีการจัดทำข้อมูลต้นทุน ชาวนาก็มักจะไม่ได้คิดค่าแรงงานของตนเองเข้าไปในต้นทุนการผลิตด้วย
(ข) ต้นทุนเมล็ดพันธุ์: ยกตัวอย่าง: ในรอบการผลิต ปี 2562 อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดเกือบ 1.2 ล้านไร่ ซึ่งนอกจากข้าวพันธุ์ กข. ชัยนาท และสุพรรณบุรี ชาวนาที่นั่นยังนิยมปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิอีกด้วย
โดยปกติแล้ว หากชาวนาไม่ได้เป็นผู้เก็บเมล็ดพันธุ์เอง ก็จะมีต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ในสัดส่วนร้อยละ 12.44 ของต้นทุนทั้งหมด ระยะหลัง เราจึงเห็นความพยายามของเกษตรกรหลายกลุ่ม ที่พยายามผลักดันเรื่องนี้ เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และช่วยลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนของเมล็ดพันธุ์
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการผลิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ที่สุดของการทำนา จากต้นทุนรวมกว่า 4 พันบาท จะเป็นต้นทุนส่วนนี้มากถึง 2 พันบาท หรือร้อยละ 51.24 จากต้นทุนทั้งหมด
สัดส่วนนี้ สอดคล้องกับงานวิจัยต้นทุนและผลตอบแทนของชาวนาไทยในอีกหลายพื้นที่ เช่น ข้าวพันธุ์ กข.15 ในจังหวัดเชียงราย หรือข้าวนาปรัง ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งหากแยกออกเป็น ต้นทุนคงที่ และ ต้นทุนผันแปร สิ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการปลูกข้าวได้ ก็คือต้นทุนผันแปรทั้งหมด แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าการลดต้นทุนผันแปรทั้งหมดนี้ ชาวนาจะเป็นผู้กำหนดเองได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ (ค.) ต้นทุนคงที่ อย่าง “ที่ดิน” : แม้ว่าหากชาวนานั้นเป็นเจ้าของที่ดิน ต้นทุนนี้ก็จะปรากฏในรูปของ “ค่าภาษีที่ดิน” แต่หากเป็นชาวนาหรือเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน หรือหากมี ก็ไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ต้นทุนส่วนนี้ก็จะกลายเป็น ค่าเช่าที่ดิน ที่ขึ้นอยู่กับการตกลงราคากับเจ้าของที่ดิน และเป็นไปตาม พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาขายข้าวเปลือกของชาวนาอยู่ที่ราวเกวียนละ 6,000 – 8,000 บาท หากเป็นฤดูกาลปกติ ชาวนาจะได้กำไรอยู่ที่ราว 1,000 บาทต่อไร่ นั่นหมายความว่า ปริมาณข้าวต่อไร่ก็ต้องสูงเช่นกัน
ปริมาณผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทย หากเป็น ข้าวนาสวนไวต่อแสง (เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเหนียว ฯลฯ) ปริมาณผลิตอยู่ระหว่าง 378 – 812 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ ข้าวนาสวนไม่ไวต่อแสง (ส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์ กข. สุพรรณบุรี ชัยนาท) จะอยู่ระหว่าง 467 – 1,004 กิโลกรัมต่อไร่
1
แต่จะทำอย่างไร หากเกิดภัยพิบัติ ทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม รวมถึงภัยจากศัตรูพืช ตัวแปรเหล่านี้ส่งผลให้หลายฤดูกาลผลิต ชาวนาต้องแบกต้นทุน ดอกเบี้ย และหนี้สินจากการกู้เงินมาทำนา หมุนวนเป็นวัฏจักร
โปรดติดตามตอนต่อไป
The Active
โฆษณา