23 พ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ข่าว
ทำไมข้าวไทยไร้ราคา ชาวนาไม่ได้กำไร?
Ep.02 กว่าข้าวถึงคนกิน “คนกลาง” กับต้นทุนทางการตลาด
โดยปกติแล้ว หากชาวนาไม่ได้ขายข้าวสารด้วยตัวเอง เพราะข้อจำกัดเรื่องการแปรรูปและการตลาด ชาวนาจะต้องขายข้าวเปลือกให้กับพ่อค้าคนกลาง ก็คือ โรงสี
ปัจจุบัน โรงสีหลายแห่งเน้นทำการตลาดครบวงจร เพราะเมื่อรับซื้อข้าวจากชาวนาและผ่านกระบวนการแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารแล้ว พวกเขายังบริหารต้นทุนทางการตลาดในบทบาทพ่อค้าคนกลางทั้งหมดของโซ่อุปทานข้าวไทย หรือความต้องการขายข้าวไทย
โซ่อุปทานข้าวไทย คือ ขั้นตอนการนำข้าวเปลือกของเกษตรกร มาผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก่อนจะเป็นข้าวสารเพื่อหุงกินของผู้บริโภค ซึ่งมีขั้นตอนหลายอย่าง แต่นอกจากต้นทุนในการผลิตแล้ว ยังมีต้นทุนทางการตลาด ที่ระยะหลังมานี้ ชาวนาหลายกลุ่มเริ่มหันมาเป็นส่วนหนึ่งในโซ่อุปทานไปถึงระดับปลายน้ำ
ต้นทุนทางการตลาดคืออะไร? หากดูจากระบบโซ่อุปทานข้าวไทย ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาด (Marketing Cost) ก็คือองค์ประกอบที่อยู่ในระดับปลายน้ำทั้งหมด ซึ่งอาจหมายถึงโรงสีด้วย หากเป็นโรงสีที่ทำการตลาด เช่น ต้นทุนการเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ (Changing the Title of Goods) ต้นทุนการโฆษณาสินค้า (Promotion of Goods) ต้นทุนสินค้าคงคลัง (Inventory) ต้นทุนการจัดจำหน่วยและต้นทุนการขนส่ง (Distribution/Logistics) ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า ข้าวไทย ต้องผ่านการสร้างคุณค่าจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ก่อนเป็นต้นข้าวในนา การเก็บเกี่ยวเป็นข้าวเปลือก และขัดสีเป็นข้าวสาร จากนั้นกระจายไปสู่มือผู้บริโภค ซึ่งมีกิจกรรมด้านโลจิสติกส์หรือการขนส่งเป็นตัวขับเคลื่อนเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ
ทำไมชาวนา ขายข้าวได้ราคาไม่เท่ากัน?
ในแต่ละฤดูกาลผลิต “ฟ้าฝน” แทบจะเป็นปัจจัยชี้ชะตาชาวนาว่าในรอบการผลิตนี้ พวกเขาจะขายข้าวได้ในราคาที่คุ้มต้นทุนหรือไม่?
จริงอยู่ว่า ในระยะกว่าสิบปีมานี้ ชาวนามีผลตอบแทนเป็นเงินช่วยจากรัฐบาล ผ่านนโยบายด้านการตลาดและราคา และนโยบายด้านการผลิตและต้นทุนการผลิต แต่ในช่วงเวลาที่สถานะทางการเงินการคลังของประเทศน่าเป็นห่วง จากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม ประกอบกับเพดานหนี้สาธารณะที่พุ่งสูง ไม่อาจการันตีได้ว่า ในปีหน้า หรือรัฐบาลชุดถัดไป จะให้ความสำคัญกับการชดเชยหรือแทรกแซงกลไกราคาอย่างที่เคยเป็นมา หรือจะเดินหน้าไปสู่ทิศทางไหน
การรับซื้อข้าวจากชาวนา โรงสีแต่ละแห่งจะมีเกณฑ์การรับซื้อที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับว่าคุณภาพของผลผลิตในปีนั้น ๆ เป็นอย่างไร
หากมองจากมุมผู้บริโภค คงเดาได้ไม่ยาก ว่าปัจจัยเรื่อง สายพันธุ์ข้าว มีผลต่อราคาข้าวเปลือกที่โรงสีรับซื้อ เพราะพันธุ์ข้าวมูลค่าสูง ก็จะมีราคาสูงไปจนถึงปลายน้ำ คือ ผู้บริโภค และยิ่งหากเป็นข้าวที่ถูกให้คุณค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิต เช่น ข้าวอินทรีย์ หรือข้าวปลอดสารพิษ ราคาขายยิ่งสูงขึ้นไปอีกตามกลไกทางการตลาด
นอกจากนี้ ปัจจัยที่มักจะอยู่ในการรับรู้ของชาวนาและโรงสี โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็คือ ความชื้น เพราะโดยปกติ หากชาวนาต้องการขายข้าวให้ได้ราคาตามท้องตลาด ต้องมีความชื้นมาตรฐานไม่เกิน 15% หากข้าวมีความชื้นสูงกว่านี้ ชาวนาจะยังไม่สามารถนำข้าวไปสีได้ทันที ต้องลดความชื้นลงมาในระดับมาตรฐาน นั่นหมายความว่าชาวนาจะมีต้นทุนส่วนเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมาในกระบวนการลดความชื้น และสูญเสียน้ำหนักข้าวหลังการลดความชื้น ซึ่งข้าวที่มีความชื้นเกินกำหนดจึงถูกตัดราคา
ขณะที่ ความสมบูรณ์ของเมล็ดข้าว โรงสีเองก็มีการกำหนดคุณภาพในการซื้อขายเอาไว้เช่นกัน ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร เช่น ลักษณะทางกายภาพ คือ สีของข้าวเปลือกและข้าวกล้อง ขนาดเมล็ด รูปร่าง ความใส ฯลฯ และ คุณภาพการสี เพื่อประเมินผลของการแปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ปริมาณข้าวรวม ข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว ข้าวหักขนาดต่าง ๆ และปลายข้าว ซึ่งผลได้จากการขัดสีของข้าวที่รับชื้อ จะเป็นค่าที่โรงสีใช้ประเมินผลได้จากการแปรสภาพในโรงสีจริง โดยทั่วไปโรงสีจะตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำของผลได้จากการขัดสีของข้าวที่รับซื้อ หากข้าวที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายมีผลได้จากการขัดสีต่ำกว่าเกณฑ์ จะถูกตัดราคา
ยังไม่นับปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อราคาข้าวในแต่ละปี เช่น นโยบายของแต่ละรัฐบาล ปัจจัยทางการเมือง และกลไกราคาในตลาดโลก
โปรดติดตามตอนต่อไป
The Active
โฆษณา