24 พ.ย. 2021 เวลา 13:00 • ข่าว
ทำไมข้าวไทยไร้ราคา ชาวนาไม่ได้กำไร?
Ep.03 ราคาข้าวไทยตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี
ภาพการเปรียบเทียบระหว่างราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กับ ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาไทยขายได้ในรอบการผลิตนี้ มีที่มาจากการที่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าราคาอาหารทั่วโลกมีราคาเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้นเกือบ 40% แต่ราคาข้าวไทยกลับตกต่ำในรอบ 10 ปีเช่นกัน
นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย บอกว่า ราคาข้าวที่ตกต่ำในรอบ 10 ปี เกิดขึ้นทั้งกับ ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวเหนียว ต่างก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างกัน
เขาบอกอีกว่า ราคาข้าวเปลือกปีนี้เริ่มตกตั้งแต่เดือนตุลาคม มีปัจจัยจากการส่งออกข้าวได้น้อย อีกทั้งราคาข้าวของไทยสูงกว่าประเทศอื่น ทำให้ส่งผลต่อวงจรข้าวในประเทศ โรงสีซื้อข้าวจากชาวนาน้อยลง ทำให้ราคาที่ชาวนาขายได้นั้นถูกลง โดยในปี 2564 ประเมินว่าสามารถผลิตข้าวออกมาได้ 26 ล้านตัน ดังนั้น เมื่อข้าวมีปริมาณมาก จึงทำให้ราคาตกต่ำ ประกอบกับไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายประเทศทั่วโลกปิดการขนส่งสินค้า ผู้ส่งออกเองก็มีต้นทุนค่าระวาง ค่าตู้สินค้าที่สูงขึ้น จึงทำให้ในภาพรวมส่งผลกระทบต่อราคาข้าวไปด้วย
ย้อนกลับไปปลายปี 2562 ศูนย์วิจัยกรุงศรี วิเคราะห์ แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2562-2564: อุตสาหกรรมข้าว เอาไว้ โดยระบุว่า แม้ที่ผ่านมาการบริโภคข้าวภายในประเทศจะมีปริมาณค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ในปี 2560 มีปัจจัยหนุนชั่วคราวทำให้การจำหน่ายข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมข้าวบรรจุถุงที่ประมูลข้าวจากสต็อกรัฐเพื่อรอจำหน่าย ประกอบกับรัฐเปิดประมูลข้าวคุณภาพต่ำที่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของคนออกสู่ตลาดจำนวนมาก (ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และโรงไฟฟ้าชีวมวล) จึงมีผลให้ปริมาณการบริโภคข้าวรวมของไทยเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ นี่สอดคล้องกับ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ที่ระบุว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าวราคาตก เพราะผลผลิตปีนี้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ หลังประสบภัยแล้งต่อเนื่องถึง 3 ปี
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ กรมการค้าภายใน ระบุข้อมูลการบริโภคข้าวเฉลี่ยที่ลดลงเหลือเพียงคนละประมาณ 83 กิโลกรัม จาก 90-100 กิโลกรัมต่อคน
นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคข้าวลดลงไปอีก ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวอยู่ที่ 454.41 กิโลกรัมต่อคน
แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์การเกษตร มองเห็นมากไปกว่านั้น คือเมื่อวิกฤตหลายด้านที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ยิ่งทำให้รัฐต้องการใช้เงินมากกว่าปกติ การใช้เงินงบประมาณจ่ายชดเชยให้ชาวนา ก็เริ่มมีสัญญาณล่าช้า แต่รัฐก็ไม่อาจปฏิเสธการจ่ายเงินประกันราคาข้าวให้ชาวนาได้
นอกจากนั้น ‘เงินจัดการคุณภาพข้าว’ ที่มีจำนวนสูงถึง 54,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะจ่ายครัวเรือนละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ มีครัวเรือนเกษตรกรมากกว่า 4.5 ล้านครัวเรือน และรัฐยังไม่ได้จ่ายเงินในส่วนนี้ หากรวมเงินงบประมาณทุกก้อนที่รัฐสัญญาเอาไว้ อาจเกิน 100,000 ล้านบาท
คำถามสำคัญ คือ รัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายให้ชาวนา ?
ทั้งหมดนี้สะท้อน ดุลยภาพของตลาด กล่าวคือ ในตลาดสินค้าส่วนบุคคลแบบปกติ (Normal, Private Goods) ที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก หากตลาดไม่อยู่ในดุลยภาพ (Equilibrium) หรือเส้นอุปสงค์และเส้นอุปทานไม่อยู่ในระดับที่เสมอกัน เมื่อนั้นกลไกราคาจะทำให้ตลาดปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ เช่น ในตลาดข้าว ที่ราคาปัจจุบัน ตลาดมีปริมาณอุปทาน (Quantity Supplied) มากกว่าปริมาณอุปสงค์ (Quantity Demanded) กล่าวคือมีอุปทานส่วนเกิน (Excess Supply) ตลาดจะพยายามปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ โดยมีผู้ขายที่เสนอราคาลดลงและมีผู้ซื้อที่เสนอราคาสูงขึ้น
ราคาข้าวไทย ในตลาดโลก: ข้าวไทยเป็นเพียง 7.83% ของโลก
หากดูแนวโน้มของราคาข้าวไทยในตลาดโลก ข้อมูลจาก FRED หรือ ฐานข้อมูลเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ ระบุว่า ราคาข้าวไทยในตลาดโลก ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ตันละ 387 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดลงนับตั้งแต่ต้นปี 2564 และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ซึ่งในรอบสิบปี ราคาข้าวไทยเคยลดลงต่ำสุดเมื่อปี 2559 อยู่ที่ตันละ 354 ดอลลาร์สหรัฐ
แม้ประเทศไทย จะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวสำคัญของโลกมายาวนาน โดยในปี 2562/2563 ไทยมีผลผลิตข้าวมากเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก Statista เว็บไซต์ข้อมูลด้านการตลาด ระบุว่า ปริมาตรการผลิตข้าวในตลาดโลก ประเทศไทยมีสัดส่วนเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ราว 7.83 % ของผลผลิตข้าวทั่วโลก เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่ปลูกเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศหรือใช้เพื่อบริโภคเป็นหลัก
สะท้อนว่า ปริมาณการค้าข้าวระหว่างประเทศเป็นเพียงผลผลิตส่วนเกินหรือส่วนขาดจากการบริโภคในแต่ละประเทศ ภาวะตลาดส่งออกจึงมักผันผวนตามปริมาณผลผลิตและการบริโภคในประเทศผู้ส่งออกและนำเข้า
ข้อมูล ศูนย์วิจัยกรุงศรี ระบุว่า ในภาวะปกติ ผลผลิตข้าวของไทยมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 31-33 ล้านตัน ข้าวเปลือกนำไปสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 20-22 ล้านตัน ใช้ในการบริโภคภายในประเทศสัดส่วนประมาณ 53% ของผลผลิตข้าวสารที่ผลิตได้ทั้งหมด (ส่วนที่เหลือส่งออก) ในจำนวนนี้แบ่งเป็นข้าวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม สัดส่วน 30-40% ของความต้องการบริโภคข้าวในประเทศทั้งหมด ที่เหลือประมาณ 60-70% เป็นข้าวสำหรับบริโภค โดยมีช่องทางการจำหน่ายสู่ผู้บริโภค 2 ช่องทาง คือ 1) ร้านจำหน่ายข้าวสารแบบดั้งเดิม (ข้าวสารตักแบ่งขาย) ที่ยังคงเป็นช่องทางจำหน่ายหลักในพื้นที่ต่างจังหวัด (มีสัดส่วน 50-55% ของการจำหน่ายข้าวสำหรับบริโภคของไทยทั้งหมด) และ 2) การจำหน่ายในลักษณะข้าวบรรจุถุง (สัดส่วน 45-50%)
ที่ผ่านมา ตลาดข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศมีตลาดค่อนข้างแน่นอน และมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งความนิยมบริโภคข้าวบรรจุถุงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในชุมชนเมือง ทำให้มีผู้ประกอบการเข้าสู่ธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงสีข้าวและผู้ส่งออกข้าวที่หันมาขยายตลาดในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้ในตลาดส่งออก
รวมทั้งผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ผลิตข้าวบรรจุถุงเฮ้าส์ แบรนด์ (House Brand) เข้ามาแข่งขันในตลาดข้าวบรรจุถุงและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้เป็นลำดับ โดยอาศัยความได้เปรียบด้านช่องทางการจำหน่าย และกลยุทธ์ราคา (ส่วนหนึ่งเนื่องจากการจำหน่ายข้าวบรรจุถุงเฮ้าส์แบรนด์ไม่มีต้นทุนค่าวางสินค้าจำหน่ายในร้านค้าปลีกสมัยใหม่เหมือนกับข้าวบรรจุถุงทั่วไป และยังมีต้นทุนในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่ำกว่า)
นี่จึงน่าสนใจว่า แม้ข้อมูลหลายแหล่งยืนยันตรงกันว่า คนไทยกินข้าวน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองและกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปบริโภคอาหารโปรตีนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับวิถีชีวิตคนเมืองที่เปลี่ยนไป แต่ขณะเดียวกัน ตลาดข้าวภายในประเทศมีแนวโน้มในการขยายตลาดและมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแล้ว หากการขายข้าวในประเทศและการส่งออกมีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง แต่รัฐกลับไม่ได้มีนโยบายที่ทำให้ชาวนาพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน เป็นที่มาของคำถามว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรครั้งใหญ่แล้วหรือยัง
โปรดติดตามตอนต่อไป
The Active
โฆษณา