Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Active
•
ติดตาม
26 พ.ย. 2021 เวลา 09:00 • ข่าว
ทำไมข้าวไทยไร้ราคา ชาวนาไม่ได้กำไร?
Ep.05 ทิศทางนโยบายข้าวแบบไหน ช่วยชาวนาไทยได้อย่างยั่งยืน
เมื่อการหวังพึ่งนโยบายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากภาครัฐ ไม่เพียงแต่ไม่ใช่คำตอบของการสร้างฐานรากที่มั่นคงให้ชาวนาเท่านั้น แต่กลับเป็นการ “แช่แข็งชาวนา” ไม่ให้เติบโตสู่เศรษฐกิจการเกษตรที่ยั่งยืน
จริงอยู่ว่า ถึงเวลานี้ รัฐไม่อาจปฏิเสธการประกันรายได้ที่เคยให้สัญญากับชาวนาไว้ได้ แต่จำเป็นต้องมีนโยบายคู่ขนานเพื่อให้ชาวนาสามารถยืนได้ด้วยตนเองเช่นกัน
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรและทรัพยากร และนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ มองว่า โจทย์ใหญ่ที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน คือ ‘ข้าวไม่ใช่สินค้าที่จะแข่งขันได้อีกต่อไป’ ประเทศไทยควรมุ่งผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก เพราะหากยังคงมีการผลิตที่มากเกินความต้องการของตลาดภายในประเทศ ผลผลิตจะล้นตลาด และเมื่อสะสมไปทุกปี จะยิ่งทำให้ราคาของข้าวต่ำลงไปกว่านี้ รัฐบาลจึงต้องมองเห็นปัญหา ไม่ใช่มุ่งหวังเอาชนะแค่เสียงเลือกตั้ง ด้วยนโยบายประชานิยมอย่างที่ทำอยู่ หากอยากก้าวเข้าสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้ชาวนาไทยหลุดพ้นจากความยากจน รัฐต้องสร้างกลไกให้กลุ่มเกษตรกรสามารถปรับตัวได้
ประกันราคาข้าว พร้อมเงื่อนไขการปรับวิถีการผลิต
นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้น ทั้งโครงการประกันรายได้ การจ่ายเงินชดเชย หรือโครงการจำนำข้าว เป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ซึ่งยังจำเป็นต้องมีในระบบการเกษตรของไทย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตข้าวที่ต้องการสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อต่อยอดการผลิตในแต่ละฤดูกาล เพราะต้นทุนการผลิตที่สูง ทั้งภาระหนี้สิน ค่าเช่าที่ดินเพื่อเพาะปลูก หรือเครื่องจักรที่จำเป็น แต่จำเป็นต้องมีการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรในอนาคต
‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่สำคัญที่สุด หากรัฐยังคงเดินหน้านโยบายให้เงินช่วยเหลือชาวนา จากการศึกษาของ รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่าควรพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าผ่านนโยบายต่าง ๆ ไปสู่การให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข (Conditional Transfer) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร และยังสามารถประหยัดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในอนาคตได้อีกด้วย
เช่น องค์ความรู้ของเกษตรกร ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้าอบรมรับความรู้เพิ่มเติมและฝึกปฏิบัติจริง พร้อมการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ไม่ได้วัดเพียงจำนวนผู้เข้าอบรม เช่น ความรู้ด้านการตลาด การปลูกพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อยแทนข้าว การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ โดยขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ พร้อมงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง
ลดพื้นที่ปลูกข้าว สร้างกิจกรรมทางการผลิตที่หลากหลาย
“การให้ชาวนาอยู่กับการปลูกข้าวอย่างเดียว คงเป็นเรื่องยาก ที่จะทำให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน”
รศ.สมพร กล่าวว่า รัฐบาลควรจูงใจให้เกษตรกรสามารถหากิจกรรมการผลิตอื่น ๆ ในไร่นาของตนให้มากขึ้น ทั้งการปศุสัตว์ และการปลูกพืชที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง เช่น ผลไม้ จากข้อมูลพบว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยส่งออกผลไม้มูลค่า 20,000 – 30,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลไม้มูลค่ามากถึง 140,000 ล้านบาท โดยผลไม้ที่ส่งออกมากที่สุด คือ ‘ทุเรียน’ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากเกือบ 1 แสนล้านบาท ยุคนี้จึงเป็นยุคของพืชที่ให้มูลค่าต่อหน่วยสูง และเมื่อมีความหลากหลายในผลผลิต เกษตรกรก็จะมีรายได้หลากหลายทาง
อย่างไรก็ตาม รศ.สมพร มองว่า รัฐต้องเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนด้วย ไม่ใช่หวังเพียงการปรับตัวจากเกษตรกรเท่านั้น สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือ นโยบายปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อเสริมสร้างการผลิต จัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรอย่างเหมาะสม และการจัดตั้งกองทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตให้กับเกษตรกร ตลอดจนส่งเสริมองค์ความรู้ที่จำเป็น เพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาดโลก และต้องมีการแบ่งกลุ่มเกษตรกร เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ให้ได้ แล้วจึงใช้นโยบายที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
‘ส่งเสริมข้าวตลาดเฉพาะ’ สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดความเสี่ยงปลูกข้าวตลาดหลัก
เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรและทรัพยากร และ ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) นำเสนอแนวทางการผลิต ข้าวตลาดเฉพาะ หรือ niche market คือผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ข้าวอินทรีย์ (ทั้งข้าวหอมอินทรีย์ ข้าวเหนียวอินทรีย์ และข้าวขาวอินทรีย์) และข้าวเฉดสี (ทั้งข้าวเฉดสีอินทรีย์ และข้าวเฉดสีแบบธรรมดา) แม้จะยังมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกน้อยอยู่ แต่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สะท้อนว่าในปี 2560 มีปริมาณการส่งออกที่ 26,000 ตัน และในปี 2563 เพิ่มขึ้นมาเป็น 35,000 ตัน หรือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ +10.8%
ที่ผ่านมา ข้าวตลาดเฉพาะมีมูลค่าต่อหน่วยสูงกว่าข้าวตลาดหลักอย่างชัดเจนมาก เช่น ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ข้าวหอมมะลิทั่วไปมีมูลค่าการส่งออกต่อหน่วย 25,830 บาทต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีมูลค่าการส่งออกต่อหน่วย 44,686 บาทต่อตัน คิดเป็น 1.73 เท่าของข้าวหอมมะลิไม่อินทรีย์ นอกจากนี้ ข้าวเฉดสีที่ไม่อินทรีย์มีมูลค่าการส่งออกต่อหน่วย 37,949 บาทต่อตัน สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป และข้าวตลาดหลักอื่น ๆ อย่างมาก
เดชรัต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มในตลาดส่งออกข้าวไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า การพึ่งพาการส่งออกข้าวในตลาดหลักแบบเดิม คงจะไม่เพียงพอในการกระจายผลผลิตข้าวเปลือกที่ไทยผลิตได้อีกต่อไป อันจะส่งผลกดดันให้ราคาข้าวเปลือกยังคงอยู่ในภาวะตกต่ำต่อไปในปี 2565 และปีต่อ ๆ ไปได้ เพราะฉะนั้น การวางแผนกลยุทธ์การตลาดข้าวไทย และการกำหนดนโยบายในการสนับสนุนการวางแผนการตลาดข้าวไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ส่วนข้อเสนอในเชิงนโยบาย เดชรัต มองว่า รัฐบาลควรเข้ามามีส่วนสำคัญ ในการประกันความเสี่ยงทางด้านการผลิต (เช่น การประกันภัยพืชผล) และ ประกันความเสี่ยงในด้านการตลาด ด้วยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับเอกชน หรือสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนที่จะส่งออกตลาดโลก ส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาล แต่ควรดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่รีบขยายผลในปริมาณที่มากเกินไป โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพื่อให้สอดรับกับขีดความสามารถในการขยายการผลิต การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และการขยายตลาดส่งออกในอนาคต
ลดต้นทุนการผลิต ด้วยการจัดรูปที่ดินอย่างสมบูรณ์
รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำเสนอแนวทาง ‘ลดต้นทุนการผลิต’ ให้แก่เกษตรกรด้วยการ ‘จัดรูปที่ดินอย่างสมบูรณ์’ คือ การจัดระบบคูคลองส่งน้ำ การจัดการฟาร์ม เพื่อประหยัดต้นทุน ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า เพื่อใช้ในการสูบน้ำ และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว การเข้าถึงที่นาของรถเกี่ยวข้าว ควรเป็นไปอย่างมีระบบ ไม่ต้องรอเก็บเกี่ยวแปลงในก่อนแปลงนอก ก็จะสามารถลดต้นทุนให้เกษตรกรได้ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการดูแลราคาปลายทาง โดยละทิ้งโครงสร้างพื้นฐานไป ควรเพิ่มเติมในส่วนนี้ลงไปในแผนระยะยาว
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การการค้าโลก หรือ WTO ว่าทุกรัฐสามารถดำเนินการได้ โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ในประเทศไทยเพิ่งมาดำเนินการเรื่องนี้ในปี 2559 แต่ในปัจจุบันเรื่องนี้กลับถูกละทิ้งไป และนำงบประมาณไปใช้ในการสร้างระบบราง สร้างถนนหนทาง ซึ่งรัฐบาลลงทุนไปจำนวนมหาศาล แต่ในภาคเกษตรกรรม สัดส่วนที่รัฐบาลลงทุนไปถือว่า ‘น้อยมาก’ ในตอนนี้พื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 150 ล้านไร่ มีการพัฒนาระบบชลประทานไปเพียง 35 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 23% เท่านั้น ในขณะที่การพัฒนาพื้นที่อย่างสมบูรณ์ หรือการจัดรูปที่ดินดำเนินการสำเร็จไปเพียงแค่ 2 ล้านไร่เท่านั้น
ชาวนาได้กำไรสูงสุด ไม่ใช่ได้ราคาสูงสุด
นอกจากข้อเสนอให้จัดรูปที่ดินอย่างสมบูรณ์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้ว เมื่อปี 2560 “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย มหาวิทยาลัยรังสิต” ยังได้จัดทำชุดข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย โดยเน้นไปที่การทำให้ชาวนาได้กำไรสูงสุด ด้วยการลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช่การมุ่งเน้นไปที่การให้ราคาสูงสุด เช่น รัฐต้องประกาศยกเลิกนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวและแทรกแซงราคาข้าว แต่หากมีความจำเป็นทางการเมืองและต้องช่วยชาวนารายย่อย ควรใช้นโยบายประกันรายได้ หรืออุดหนุนประกันภัยพืชผล รวมถึงการเน้นการลดต้นทุนการผลิตอย่างจริงจัง โดยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ และให้การส่งเสริมการปลูกข้าวที่มีคุณภาพสูง เฉพาะที่ตลาดต้องการ พร้อมเสนอแนะแนวทางการพัฒนาจาก “การปลูกข้าวเพื่อกินอิ่ม” เป็น “ปลูกข้าวที่กินอร่อย”
ข้อเสนอที่นำมาประมวลให้เห็น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นั่นก็เพราะว่าทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหาหรือผลกระทบกับ “ข้าว” และ “ชาวนา” เรื่องนี้จะเป็นวาระสำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาจึงมีงานวิจัย การสำรวจ และข้อเสนอเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยอยู่เสมอ หากแต่ไม่ว่าทิศทางของนโยบายรัฐบาลจะเป็นไปในทิศทางไหน “หาเสียงชั่วคราว” หรือ “เกษตรกรไทยยั่งยืน” ก็ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของชาวนาไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดูฉบับเต็มและอ้างอิงได้ที่
theactive.net
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ทำไมข้าวไทยไร้ราคา ชาวนาไม่ได้กำไร?
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย