Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
20 พ.ย. 2021 เวลา 08:18 • ปรัชญา
" ตำราคือแผนที่ ทิ้งไม่ได้
ตำราต้องรักษา แต่อย่าเอาเป็นเอาตาย
... สังเกตสภาวะจริง ๆ"
" ... ภาวนาถ้าจิตมันถูกต้องแล้ว
การภาวนามันก็ถูกแล้ว
ใช้กรรมฐานอะไรมันก็ถูก ถ้าจิตมันยังไม่ตั้งมั่น
ภาวนากรรมฐานอะไรมันก็ได้แต่สงบ
อย่างมากก็ได้แค่สมถะ
เราเรียนกรรมฐานกันจะเอาแค่สมถะมันไม่คุ้มค่า
เรื่องการทำสมถะ การนั่งสมาธิอะไรอย่างนี้
มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า
ตอนเจ้าชายสิทธัตถะออกจากวังไป
งานแรกที่ท่านทำไปนั่งสมาธิกับฤๅษี
ไปอยู่กับอาฬรดาบส ได้ฌานที่ 7
อาจารย์บอกว่าหมดภูมิแล้ว
ก็ไปต่อกับอุทกดาบสได้ฌานที่ 8
บารมีท่านมากได้ฌาน 8 ท่านก็ยังสังเกตเห็นอีก
พอจิตออกจากฌานมา จิตก็ยังทุกข์เหมือนเดิม
มันมีความสุขตอนนั่งสมาธิ
ออกจากสมาธิแล้วไม่มีความสุข
ใจยังปรุงแต่งดิ้นรน พอฝึกทางจิตไม่สำเร็จ
ท่านก็ไปฝึกทางกาย ทรมานกายต่างๆ นานาจนสลบแล้วสลบอีก
ครูบาอาจารย์ท่านเล่าว่าหลวงปู่มั่นบอกว่า
เจ้าชายสิทธัตถะสลบไปตั้ง 3 รอบ
กว่าจะเดินสู่ทางสายกลางได้
ไปฝึกจิตให้สงบให้นิ่งมีความสุขยังไม่พ้นทุกข์
ไปบังคับกายบังคับใจตัวเอง
ทรมานกาย ทรมานใจก็ไม่พ้น
จนช่วงสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้
ท่านนึกถึงกรรมฐานตอนที่ท่านเด็กๆ
ไปนั่งสมาธิของท่านเองใต้ต้นไม้ ต้นอะไรจำไม่ได้แล้ว
ท่านนั่งแล้วก็สงบได้ปฐมฌาน
เมื่อก่อนหลวงพ่อก็งง
ปฐมฌานของท่านตัวนี้เป็นบุญบารมีของท่าน
สะสมของท่านมา เข้าสมาธิ เข้าปฐมฌานได้ด้วยตัวเอง
ไม่ได้เรียนจากใคร ที่หลวงพ่องงก็คือ
ไปเรียนกับฤๅษีได้ฌานที่ 7 ที่ 8
ก่อนจะถึงฌาน 7 ฌาน 8 มันก็ต้องผ่านปฐมฌาน
ฌาน 1 2 3 4 5 6 7 8 ก็ไล่
ทำไมท่านมาบอกว่าสมาธิฤๅษีใช้ไม่ได้
สมาธิที่ท่านเอามาใช้จริงๆ
เป็นสมาธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตอนเด็กๆ
แต่ก่อนงงว่ามันต่างกันอย่างไร
ค่อยภาวนานานๆ ไปก็ค่อยเข้าใจ
…
1
สมาธิ 2 แบบ
เรื่องสมาธิหลวงปู่เทสก์ท่านสอนไว้ 2 อย่าง
ท่านเป็นพระที่เชี่ยวชาญเรื่องสมาธิมาก
ฉะนั้นจะสอนเอาไว้เยอะ ท่านพูดถึงสมาธิ 2 แบบ
แบบหนึ่งเป็นสมาธิเพ่งอารมณ์
ใจมันสงบลงไปเฉยๆ
อีกแบบหนึ่งเป็นสมาธิที่จิตมันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
พร้อมที่จะเดินปัญญา
ทีแรกได้ยินท่านสอนอย่างนี้
หลวงพ่อก็ค่อยๆ สังเกตเอา
สมาธิที่จิตลงไปแนบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
มันได้แต่ความสงบ ได้แต่ความสุข ได้กำลัง
ถามว่ามีประโยชน์ไหม มี
ครูบาอาจารย์ไม่ได้บอกว่าอย่าทำ
แต่ทำด้วยความมีสติ
แล้วก็สมาธิอีกชนิดหนึ่งที่จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
มันเป็นอีกแบบหนึ่ง
สมาธิที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่
เป็นสมาธิที่เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน
ตรงนี้ก็มีคนที่เรียนปริยัติก็งง
เพราะในตำราจะแปลลักขณูปนิชฌาน
ก็คือ concentrate เหมือนกัน เพ่งเหมือนกัน
มันต่างอะไรกับการทำสมาธิชนิดสงบ
มันก็เพ่งเหมือนกัน ฌานชนิดไหนมันก็เพ่ง รู้สึกอย่างนั้น
ไปดูตำราบอก
อารัมมณูปนิชฌานก็คือการทำสมถกรรมฐาน
ลักขณูปนิชฌานคือการทำวิปัสสนากรรมฐาน
เกิดมรรค เกิดผล
ตอนที่เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล ตอนที่เห็นพระนิพพาน
ตรงนี้เป็นลักขณูปนิชฌาน
ตรงนี้ตำราเขาบอกไว้อย่างนี้
หลวงพ่อไม่ค่อยเห็นด้วยหรอก
ลักขณูปนิชฌานมันเป็นสมาธิที่ใช้ตอนทำวิปัสสนา
เป็นสมาธิตอนที่เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล
เป็นสมาธิตอนที่สัมผัสพระนิพพาน
ตัวลักขณูปนิชฌานชื่อมันก็บอกว่าเป็นฌาน
เป็นเรื่องของสมาธิ มันไม่ใช่แทนที่ด้วยวิปัสสนากรรมฐานได้
แทนที่ด้วยมรรคผลนิพพาน แทนที่กันไม่ได้
เวลาที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
หรือตอนที่เกิดอริยมรรคเกิดอริยผล
มันมีสมาธิชนิดลักขณูปนิชฌาน
แต่ลักขณูปนิชฌานไม่ได้แปลว่าวิปัสสนา
มรรค ผล นิพพาน ไม่ได้แปลอย่างนั้น
ถ้าเกาะตำราแน่นมันก็แยกไม่ออกหรอก
ว่าการเพ่ง 2 อย่างนั้น
การที่เพ่งอารมณ์กับการที่เพ่งไปถึงลักษณะ
มันแตกต่างกันอย่างไร
ลักขณูปนิชฌาน ท่านบอกว่ามันคือสมาธิขณะทำวิปัสสนา
ขณะทำวิปัสสนาก็จะเห็นไตรลักษณ์
ท่านบอกตอนที่เห็นไตรลักษณ์คือลักขณูปนิชฌาน
ความจริงถ้าเราดูให้ดี
จิตที่เห็นไตรลักษณ์เป็นจิตที่มี ลักขณูปนิชฌาน
เป็นจิตที่มี แล้วก็ไม่ได้มีแค่นั้น
ยังมีองค์ธรรมอีกจำนวนมากที่เกิดร่วมกัน
1
ตอนที่เกิดอริยมรรค อริยผล
ก็ไม่ได้มีแค่ตัวลักขณูปนิชฌาน
แต่ยังมีองค์ธรรมจำนวนมากที่เกิดร่วมกัน
ฉะนั้นบางทีตำราเขียนรวบไป
อธิบายรวบไป เรียนๆ ตามๆ กันว่า
ลักขณูปนิชฌาน คือวิปัสสนากรรมฐาน
คืออริยมรรค คืออริยผล คือพระนิพพาน
คนละเรื่องกัน มันคือเครื่องมือตัวหนึ่งเท่านั้นเอง
เราท่องตำรามันก็ใช้คำเดียวกัน
ใช้ concentrate เหมือนกัน แยกไม่ออก
แต่ถ้าเราภาวนา อย่างหลวงพ่อเรียนเรื่องพวกนี้
หลวงปู่เทสก์ท่านสอนเราเลยแยกสมาธิ 2 ชนิดได้
อย่างสมาธิที่ใช้ทำสมถะก็ไม่ได้มีแต่สมาธิที่เป็นสมถะอย่างเดียว
ยังมีองค์ธรรมตัวอื่นประกอบด้วย
มีเอกัคคตา มีความเป็นหนึ่งของจิต
มีสติระลึกรู้อารมณ์กรรมฐาน
ฉะนั้นมีองค์ธรรมหลายตัว
ยิ่งตอนที่จะเกิดอริยมรรคอริยผล
มันไม่ใช่มีแต่ลักขณูปนิชฌาน
มีองค์ธรรมจำนวนมากที่เกิดร่วมด้วย
คือโพธิปักขิยธรรม 37 ตัว ตอนที่เกิดอริยมรรคจะต้องมี
ฉะนั้นไม่ใช่สมาธิอย่างเดียว แยกให้ออก
ตำราคือแผนที่ ทิ้งไม่ได้
ตำรามันคือแผนที่ ไม่มีใครทำแผนที่ในสัดส่วน 1:1
มันก็ต้อง 1:20 1:100 1:1,000 อะไรอย่างนี้
แผนที่อย่างไรมันก็ไม่ละเอียด
อย่างเรามีแผนที่เราจะเดินทางไกล
อย่างไรมันก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้รู้รายละเอียด
เหมือนคนที่เดินจริงๆ คนที่อ่านแผนที่
ฉะนั้นเราก็อย่าไปตีกรอบตัวเองแคบๆ ไว้
จะภาวนายาก ค่อยๆ สังเกตเอา
อย่างครูบาอาจารย์บอกอย่างนี้ เราลองดู
ท่านไม่ได้บอกให้เราเชื่อ ท่านท้าให้เราพิสูจน์
ลองดูว่าสมาธิที่ดีมี 2 อย่างจริงหรือไม่จริง
อย่างหนึ่งจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
อย่างหนึ่งจิตตั้งมั่นเห็นสภาวธรรมที่ควรจะเห็น
อย่างเวลาเจริญวิปัสสนา มันจะเห็นไตรลักษณ์
ตอนที่ทำวิปัสสนาจะเห็นไตรลักษณ์
ตอนที่ทำสมถะจะเห็นอารมณ์กรรมฐาน ไม่เหมือนกัน
ตอนที่เกิดอริยมรรค จะเห็นการทำลายล้างสังโยชน์ลงไป
เห็นกระบวนการที่จิตล้างสังโยชน์
เห็นการแหวกตัวออกของ อาสวกิเลส เรียกว่ายังกิจ
ยังกิจของมรรคให้สำเร็จ ตำราบอกอย่างนี้
ลักขณูปนิชฌาน มรรคเรียกว่าลักขณูปนิชฌาน
เพราะว่ายังกิจที่ควรทำให้สำเร็จ ไม่รู้เรื่อง
อ่านแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดี
พอผลตำราเขาบอกว่าเป็นลักขณูปนิชฌาน
เพราะได้ยังกิจให้สำเร็จ ยังกิจของมรรคให้สำเร็จ
ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง
ตำราต้องรักษา แต่อย่าเอาเป็นเอาตาย
สังเกตสภาวะจริงๆ
ถ้าเมื่อไรจิตเราไปทรงสงบอยู่กับสภาวะอันใดอันหนึ่ง
หรือกระทั่งอารมณ์บัญญัติเรื่องที่คิดต่างๆ อันนั้นเป็นสมถะ
ถ้าเมื่อไรจิตเราทรงตัวขึ้นมา
แล้วเห็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม
เมื่อนั้นเกิดวิปัสสนา ดูจากของจริงๆ แล้วจะเห็น ไม่ใช่คิดเอา
ตำราเรียนเอาไว้เป็นแผนที่ไกด์ไลน์ ทิ้งไม่ได้
มันจะบอกจุด เป็นจุดๆ ไป
ตำรามันบอกไม่ละเอียดหรอก เป็นช่วงๆๆ ไป
จนสุดท้ายก็บอกเกิดอริยมรรคอริยผล
เห็นพระนิพพาน ก็บอกคร่าวๆ
ภาวนาจริงๆ ก็ดูของจริงเอา
แต่ถ้าดูของจริงแล้วมันผิด
อย่างเราเห็นแทนที่เราเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม
กลับไปเห็นว่ารูปเที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยง
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของควบคุมได้
บังคับได้อะไรอย่างนี้ อย่างนี้เห็นผิดแล้ว
ตำราบอกว่าผิดมันคือผิดจริงๆ
หรือตำราบอกนิพพานเป็นอนัตตา
นิพพานเป็นอนัตตามีลักษณะของอนัตตาอยู่
ตัวนิพพานคือตัวความสงบ สันติ คือนิพพาน
สงบจากกิเลส สงบจากความปรุงแต่งทั้งปวง
ถ้าเราภาวนา นิพพานเป็นโลกๆ หนึ่ง
กำหนดจิตเข้าไปอยู่ในพระนิพพาน
อันนี้แสดงว่าภาวนาผิด
ฉะนั้นตำราก็มีประโยชน์ มันเป็นแนวทางให้เราดู
แต่เวลาลงมือทำอย่ามัวแต่คิดถึงตำรา
ดูจากของจริง ถ้ามัวแต่คิดถึงตำรา
มันจะคิดฟุ้งไปเรื่อยๆ มันภาวนาไม่ได้หรอก
เพราะการทำวิปัสสนามันต้องเห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา
เราพยายามฝึกตัวเองค่อยๆ ฝึก
สมาธิ 2 แบบฝึกไว้ดีทั้งคู่
วิธีฝึกให้สมาธิสงบก็คือสังเกตตัวเอง
จิตใจเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานชนิดไหนแล้วมีความสุข
พึงพอใจ เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้น … “
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
30 ตุลาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
เยี่ยมชม
dhamma.com
อารัมมณูปนิชฌาน - ลักขณูปนิชฌาน
จะดูไตรลักษณ์ของรูปนามได้ จิตต้องมีลักขณูปนิชฌาน คือมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้เห็น เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
Photo by : Unsplash
4 บันทึก
8
2
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
4
8
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย