Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คีตาแห่งสยาม
•
ติดตาม
20 พ.ย. 2021 เวลา 03:15 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1️⃣ ความท้อแท้ของอรชุน (ตอนที่ 57) ✴️
🌸 อรชุนปฏิเสธการต่อสู้ 🌸
⚜️ โศลก 3️⃣7️⃣ ⚜️
หน้า 162 – 164
โศลกที่ 3️⃣7️⃣
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะเข่นฆ่าบรรดาญาติของเรา บุตรของธฤตราษฎร์ โอ้ มาธวะ (กฤษณะ)★ การฆ่าญาติของเราเอง จะทำให้เรามีความสุขได้อย่างไรกัน
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
★ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ หมายถึง ศรีกฤษณะ ในฐานะเป็นอวตารของพระวิษณุ ซึ่งมีพระชายา หรือ ศักติ “ทิพยอำนาจ” คือพระนางลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่งและโชคลาภ (ดูเชิงอรรถบทที่ 1 : 14 หน้า 123 ประกอบ)
— เชิงอรรถบทที่ 1 : 14 หน้า 123 —
* ประกฤติหรือธรรมชาติ เป็น “คู่ชีวิต” ของบรมวิญญาณ มีหลายนามตามสิ่งที่เธอเป็นตัวแทน เช่น ลักษมี สรวตี กาลี หรือ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ บรมวิญญาณเป็นความสัมบูรณ์ที่ไม่สำแดงลักษณะ ในการเนรมิตสร้างนั้นพระเจ้าทรงทำให้บังเกิดพลังสั่นสะเทือนแห่งการเนรมิตสร้าง วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ หรือ มหาประกฤติ ส่วนพระองค์ทรงสถิตอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ทรงสะท้อนอย่างไม่เสแสร้ง ทรงเป็นวิญญาณสากลในการเนรมิตสร้าง : กุฏัสถะ ไจตันยะ, จิตพระกฤษณะหรือจิตพระคริสต์ ในครรภ์แห่งพระแม่ธรรมชาติ บรมวิญญาณให้กำเนิดการรังสรรค์ แสงแห่งวิญญาณจักษุที่เห็นในสมาธิคือพิภพเล็ก ๆ ของแสงแห่งธรรมชาติ จิตแห่งพระกฤษณะหรือจิตแห่งพระคริสต์ และบรมวิญญาณหรือจิตจักรวาล ตรีแสงแห่งวิญญาณจักษุนี้นำไปสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับภาวะจิตในพิภพเล็ก ๆ ทั้งสามนั้น
“ข้าแต่พระวิญญาณ ไม่ยุติธรรมเลยที่เราจะฆ่าผัสสอินทรีย์ ซึ่งเป็นทายาทของจิตเราเอง เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการสังหารอินทรีย์ ซึ่งเป็นทางเดียวที่จิตของเราได้แสดงตน”
💢 เมื่อการให้เหตุผลอย่างผิด ๆ นำไปสู่ข้อสรุปที่ผิด และมนุษย์ยึดมั่นอยู่กับมัน ปัญญาจะยิ่งสูญเสียพลังทางวิจารณญาณและสหัชญาณ หันไปพึ่งการใช้เหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับอรชุนผู้ภักดี
. . .
◾ การให้เหตุผลของชาวโลกไม่สอดคล้องกับความจริงแต่สอดคล้องกับนิสัยของเขา ◾
ข้าพเจ้าเคยวินิจฉัยสภาพจิตของ “ผู้ป่วย” หลายคน และได้เห็นลักษณะน่าสนใจในผู้คนเหล่านั้น เมื่อพวกเขารู้สึกอยากจะส่งเสริมนิสัยที่เขาชอบ นักศึกษาคนหนึ่งติดบุหรี่ ติดกาแฟอย่างเข้ากระดูกดำ แต่เป็นนักมังสวิรัติตัวยง วันหนึ่งเขาถกเถียงกับนักศึกษาอีกคน ซึ่งกินไก่ แกะ และปลา บ้างเป็นครั้งคราว แต่เขางดบุหรี่และกาแฟอย่างเด็ดขาด
“แย่จัง คุณกินซากสัตว์เน่า❗” นักมังสวิรัติพูดเสียงดัง “ผมนึกไม่ออกเลยเชียวว่าผู้คนเขากินเนื้อกันได้อย่างไร❗ ลองคิดถึงหัวอกสัตว์น่าสงสารที่ถูกฆ่า เพื่อให้มนุษย์ได้เสพกันอย่างเอร็ดอร่อย ยิ่งกว่านั้นเนื้อยังเป็นอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์อีกด้วย”
“เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะกินอะไรโดยที่มันไม่ถูกฆ่า” นักศึกษาอีกคนตอบ “คุณตัดดอกกะหล่ำ แล้วก็กินต้มซากของมันเหมือนกัน❗ ไม่ว่ากินอะไรคุณก็ทำลายชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแปรสภาพของสิ่งเหล่านั้นมาเป็นร่างกายคุณ เฮ้อ ถึงอย่างไรปลาใหญ่ก็กินปลาเล็กอยู่วันยังค่ำ ทำไมมนุษย์จะไม่แสดงความเหนือกว่าด้วยการกินปลาใหญ่เล่า เนื้อสัตว์บำรุงร่างกาย — ว่าแต่คุณเถอะ น่ากลัวจะตาย สูบเข้าไปได้ยังไงนิโคติน แล้วยังซดคาเฟอีนเข้าไปอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่วิทยาศาสตร์บอกเราว่ามันอันตราย❗”
นักศึกษาทั้งสองคนกำลังโต้แย้งกันตามอำนาจนิสัยที่ตนชอบ
เมื่อมนุษย์ได้รับคำสั่งจากผู้กำกับนิสัย เขาก็จะกระทำเหมือนกับนักแสดงที่ว่าง่าย แสดงบททางจิตได้ต่าง ๆ นานาบนเวทีแห่งจิต เมื่อเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับนิสัยและอารมณ์ที่ดี เขาจะเห็นใจการแสดงของการกระทำที่ดี และเฉยเมยกับการกระทำชั่ว แต่เมื่อเขาอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์และนิสัยที่ไม่สมบูรณ์ เขาก็จะเอนเอียงไปทางฝ่ายชั่ว วิถีมันเป็นอย่างนี้ ถ้าผู้ภักดีแสดงบทดีเขาก็จะแสดงในลักษณะเป็นมิตรกับตนเอง แต่ถ้าเล่นบทชั่ว เขาก็จะแสดงความเป็นศัตรูกับตนเองโดยที่เขาไม่รู้ตัว
คีตาโศลกนี้ได้นำธรรมะล้ำเลิศมาเตือนผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณ ที่แม้ก้าวไปได้ไวในเส้นทางอภิปรัชญา ผู้แสวงหาส่วนใหญ่ที่ก้าวไปบนเส้นทางจิตวิญญาณอย่างจริงใจ ก็เพราะเขาอาบย้อมอยู่ด้วยนิสัยดีอยู่แล้ว จึงโน้มไปสู่ความดีอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเมล็ดพันธุ์ (สังสการ) ความชั่วที่เคยกระทำมาก่อน ซึ่งซ่อนอยู่ภายในแตกหน่อเติบโตในสภาพแวดล้อมทางจิตที่เหมาะสม ผู้แสวงหา “ที่ดี” ก็มีแนวโน้มสูงที่จะทำความชั่ว
เช่น ถ้าบุคคลสร้างนิสัยการรู้ประมาณในการบริโภค รู้ประมาณในการทำงาน ในการพักผ่อน ในการทำสมาธิ และในการอยู่กับผู้คนที่ดี เขาจะรู้สึกว่าวิถีเช่นนี้เป็นวิถีเดียวที่เป็นไปได้สำหรับชีวิตเขา แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าความโน้มเอียงฝ่ายชั่วที่แฝงอยู่เกิดผุดขึ้นมาจากการถูกเย้ายวนด้วยสภาพแวดล้อมหรือสภาพการณ์อื่น ๆ ที่เอื้ออำนวย บุคคลนั้นอาจเปลี่ยนนิสัยไปได้ — จู่ ๆ เขาอาจรู้สึกอยากกินอย่างไม่มีประมาณ นิสัยเริ่มไม่คงที่ (ขยันหรือขี้เกียจอย่างไม่สม่ำเสมอ) ไม่สนใจทำสมาธิ ชอบไปคลุกคลีกับคนเลว เป็นต้น
🛑 คำเตือนที่ได้จากโศลกนี้ก็คือ ผู้ภักดีที่จู่ ๆ กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับศัตรู (นิสัยและอารมณ์ที่ไม่ดี) จะพบว่าเขาเห็นใจและให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่ขาดความสมบูรณ์ แต่ถ้าเขาวิเคราะห์จิตตนเองสักเล็กน้อย เขาจะพบว่า เขาสามารถส่งเสริมการกระทำทั้งที่ดีและเลวได้เท่า ๆ กันถ้าตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งนั้น ๆ มนุษย์จะอยู่ในภาวะอันตรายถ้าเขาตอบรับนิสัยเลวได้อย่างง่ายดายสบายใจและเต็มใจ ไม่ต่างอะไรกับที่จะตอบรับนิสัยดีได้อย่างง่ายดายสบายใจและเต็มใจ ในเวลาที่สถานะทางจิตดีเอื้อให้เป็นเช่นนั้น
(มีต่อ)
หนังสือ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภควัทคีตา เล่ม 1 บทที่ 1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย