21 พ.ย. 2021 เวลา 03:56 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1️⃣ ความท้อแท้ของอรชุน (ตอนที่ 58) ✴️
🌸 อรชุนปฏิเสธการต่อสู้ 🌸
⚜️ โศลก 3️⃣8️⃣➖3️⃣9️⃣ ⚜️
หน้า 164 – 168
โศลกที่ 3️⃣8️⃣➖3️⃣9️⃣
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
ถึงแม้ว่าเขาเหล่านี้ (วงศ์เการพ) เข้าใจคลาดเคลื่อนไปเพราะความโลภ จนไม่เห็นโทษภัยในการทำลายโคตรวงศ์ของตน และไม่เห็นบาปในการทำร้ายมิตร โอ้ ชนารทน เราเองก็ไม่ควรหลีกเลี่ยงบาปนี้ดอกหรือ – เราผู้ซึ่งเห็นความเลวร้ายในการทำลายวงศ์ตระกูล
〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️〰️
“เผ่าพงศ์ของมนินทรีย์ที่มืดบอดเข้าใจคลาดเคลื่อนไปเพราะความโลภ (ติดยึด ความชอบ-ความชัง) ตามจริตฝ่ายกามออกไปภายนอกเพื่อแสวงหาความพอใจ เพราะนี่เป็นการแสดงออกตามธรรมชาติของอินทรีย์ที่มืดบอด ขาดพุทธิปัญญานำ มันไม่เห็นหายนะในความเสื่อมสลายของมนุษย์ ไม่เห็นบาปในการเป็นศัตรูกับมิตรแท้ หรือพุทธิปัญญา แต่เรา กองทัพฝ่ายพุทธิปัญญา เห็นชัดว่าความชั่วสามารถทำลายจิต ถ้าจิตส่วนต่าง ๆ ทำงานไม่ประสานกันอย่างครอบครัวที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว — เราจึงควรไปเสียจากบาปแห่งการสงครามครั้งนี้ ที่สมาชิกหลายคนของโคตรวงศ์นี้ต้องตายอย่างแน่นอน”
ผู้ภักดีให้เหตุผลว่า ราคจริตเป็นสิ่งจำเป็นต่อประสบการณ์และการแสดงออกของวิญญาณพอ ๆ กับพุทธิจริต เขาจึงไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมญาติฝ่ายอินทรีย์จะต้องถูกทำลาย แล้วปล่อยให้ญาติฝ่ายพุทธิปัญญามีชีวิตต่อไป ดูจะไร้เหตุผลที่จะทำลายญาติความโน้มเอียงฝ่ายอินทรีย์ เพราะพวกเขาก็มีหน้าที่ที่จะต้องแสดงในละครแห่งชีวิตด้วยเหมือนกัน
ผู้ภักดีจึงใคร่ครวญและพูดกับอาตมันในตน :
“ข้าแต่พระวิญญาณ ในเมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้สร้าง เป็นเจ้าเหนืออินทรีย์เช่นเดียวกับเป็นเจ้าเหนือปัญญา ทำไมจึงทรงแนะนำให้ข้าฯ ใช้กองทัพแห่งพุทธิปัญญาทำลายอินทรีย์ที่ให้ความสุขด้วยเล่า ก็ในเมื่อทั้งสองฝ่ายนั้นต่างก็เป็นญาติในจิตใจของข้าฯ ข้าฯ จะอยู่ได้อย่างไร ถ้ามีแต่พุทธิปัญญาที่แห้งแล้งขาดผองเพื่อนอินทรีย์ที่จะสนุกด้วยกัน”
. . .
◾ อันตรายของการอยากเก็บทั้งนิสัยดีและนิสัยเลวไว้ ◾
ผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณได้รับคำเตือน ให้ระวังอำนาจอันมากมายของนิสัยเลวจากประสบการณ์ในอดีต ดูเหมือนนิสัยเลวแทบไม่กลัวอะไร — พวกเขาไม่เห็นผลร้ายที่จะติดตามมา — พวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถทำลายญาติฝ่ายความโน้มเอียงที่ดีได้ ความเชื่อของพวกเขาจะยิ่งหนักแน่นมากขึ้นถ้าผู้แสวงหายังคิดเห็นใจผัสสนิสัยเหล่านี้ :
“น่าสงสารนิสัยเลวที่ฉันรัก พวกเขามองไม่ออกเลยว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับนิสัยดีที่ฉันก็รัก พวกเขาเสี่ยงที่จะถูกทำลายได้ง่าย ๆ❗”
ในภาวะเช่นนี้ ผู้ภักดีอยากจะก้าวต่อไปกับทั้งนิสัยดีและนิสัยเลว เห็นได้เลยว่าเขาพอใจกับทั้งสองฝ่าย เขาลืมไปเร็วเหลือเกินว่านิสัยเลวที่ปากหวานนั้น แม้จะเป็นญาติกัน แต่พวกมันก็แอบพกอาวุธมาหมายจะประหารสันติสุขของเขา
ในขั้นนี้ผู้ภักดีเชื่อว่า ความชั่วหรือเดียรฉาน (ไร้ปัญญา) นิสัยที่ไหลไปกับอินทรีย์นั้นอยู่เคียงคู่ไปกับนิสัยดี และทำให้อาณาจักรแห่งชีวิตนี้สมบูรณ์ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีสันติสุขและความกลมกลืน ตราบที่อำนาจสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันทำงานอยู่ในตัวของเขา แม้ว่าทั้งนิสัยดีและนิสัยเลวเป็นทายาทของจิตเดียวกัน แต่มันก็ส่งผลที่แตกต่างกัน
เมื่อผู้แสวงหาถามตนเองว่า “ทำไมล่ะ ฉันจะหาความสุขจากวัตถุและจากวิญญาณพร้อม ๆ กันไม่ได้หรือ” คำถามเช่นนี้อาจตอบได้ว่า เหมือนกับคุณเสพ ‘ของมึนเมา’ แล้วก็กิน ‘ยาบำรุง’ ไปพร้อม ๆ กัน ของมึนเมาย่อมส่งผลต่อต้านประสิทธิภาพของยาบำรุงเป็นแน่❗ แต่ถ้าบุคคลกินยาบำรุงอย่างมีศรัทธาและตั้งใจมั่นที่จะเสพของมึนเมาให้น้อยลง ๆ นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะหลุดพ้นจากนิสัยเสพติดสิ่งมึนเมา
ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่สนุกกับการปล่อยตัวตามอินทรีย์ และมีความสุขกับการทำสมาธิไปพร้อม ๆ กัน จะไปไม่ถึงไหนอีกนาน “เขาเป็นคนสองจิตสองใจ ไม่มั่นคงในทางทั้งหลายของตน”★
★ ยากอบ 1 : 8
อย่างไรก็ตามต่อให้บุคคลไม่อาจเอาชนะเนื้อหนังได้อย่างทันท่วงที เขาก็ควรทำสมาธิอยู่นั่นเอง เพราะอย่างน้อยเขาก็จะมีเกณฑ์เปรียบเทียบระหว่าง ‘ความพอใจทางวัตถุของฝ่ายอินทรีย์’ กับ ‘ความอิ่มใจของฝ่ายวิญญาณ’ — ผู้ที่ไม่อาจเอาชนะอารมณ์ฝ่ายผัสสะแล้วยังเลิกทำสมาธิ วิญญาณเขาย่อมตกอยู่ในความเสื่อมอย่างสิ้นหวังเลยทีเดียว
🛑 ผู้ที่ทำสมาธิทุกวัน และบ่มเพาะรสนิยมความสงบสันติและความยินดี จะค่อย ๆ เลิกละไปจากความสุขทางผัสสะ วิญญาณเขาย่อมมีโอกาสที่จะหลุดพ้นได้ นิสัยที่ดีมากอย่างหนึ่งที่ควรอบรมบ่มเพาะก็คือ “ทำสมาธิทันทีที่รู้สึกตัวตื่นในตอนเช้า” หลังจากช่วงการทำสมาธิ และเกิดความอิ่มเอิบไปกับการบูชาวิญญาณแล้ว เราก็อาจหาความสุขอื่นอย่างไม่บังคับหรือติดยึด ผู้ที่ควบคุมอินทรีย์ได้เช่นนี้ ย่อมมีความสุขกับการกิน การสมาคมกับเพื่อน ๆ และ ฯลฯ ด้วยวิธีนี้บุคคลจะพบมิติทางจิตวิญญาณในตัว พบว่าคุณภาพความสุขทางวัตถุของเขาได้เปลี่ยนไป พูดอีกอย่างได้ว่า ถ้าบุคคลตามใจนิสัยตะกละ กินจนเสียสุขภาพและอาจถึงตาย – นี่คือเลว แต่ถ้าเขามอบความสุขในการกินไว้ในอำนาจของการควบคุมตนและการรู้ประมาณ – นี่คือดี
แต่ความยากอยู่ที่ว่า ผู้เริ่มเดินบนวิถีจิตวิญญาณ หรือแม้แต่ผู้ภักดีที่ก้าวหน้าแต่ตกอยู่ในภาวะด้านลบชั่วคราว — แทบจะแยกไม่ได้ระหว่าง ‘การใช้อินทรีย์ที่ควบคุมโดยเหตุผล’ กับ ‘การใช้อินทรีย์ที่ควบคุมโดยความโลภ’ — ผัสสนิสัยที่เลวนั้น แม้เสมือนว่าอยู่ภายใต้การควบคุมและเป็นมิตร แต่มันอาจกำลังรอจังหวะที่จะใช้ความเย้ายวนมาทำลายบุคคลนั้นอยู่ก็ได้
. . .
◾ รู้ความเย้ายวนที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก ◾
เรื่องเล่าต่อไปนี้อาจให้ภาพประเด็นนี้ได้ จอห์น ชายขี้เมา ได้พบกับนักบุญท่านหนึ่ง เขาปฏิญาณตนว่าจะเลิกดื่ม เขาบอกคนใช้ให้เก็บกุญแจห้องเก็บเหล้าองุ่นไว้ และต่อให้เขาสั่งก็อย่านำเหล้ามาให้เขาดื่ม ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี น่าพอใจอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะจอห์นปลาบปลื้มกับปณิธานใหม่ที่ตั้งใจทำ เขาไม่รู้สึกว่ามือที่มองไม่เห็นของนิสัยใคร่ดื่มเหล้ากำลังยึดตัวเขาไว้
เมื่อเวลาผ่านไป จอห์นบอกคนใช้ให้นำกุญแจห้องเก็บเหล้ามาไว้ที่เขา เพื่อเขาจะได้ไปหยิบเหล้ามาบริการเพื่อน ๆ จากนั้นไม่นาน เขารู้สึกว่าการไปที่ห้องเก็บเหล้าเป็นเรื่องยุ่งยาก เขาจึงเอาขวดเหล้าองุ่นมาใส่ไว้ในตู้ในห้องรับแขก ไม่กี่วันผ่านไป จอห์นคิดว่า “เหล้าทำอะไรฉันไม่ได้แล้ว ขอดูประกายสีแดงของเหล้าองุ่นในขวดบนโต๊ะนั่นสักหน่อยเถอะ”
ทุกวัน เขาดูขวดเหล้าองุ่น แล้วเขาก็คิดว่า “โอ๊ย เหล้านี่ฉันไม่สนแล้ว แต่ขอชิมเหล้าองุ่นสักหน่อยแล้วจะบ้วนทิ้ง” เมื่อทำอย่างนี้ได้ เขาก็เกิดแรงบันดาลใจต่อไป “เหล้าทำอะไรฉันไม่ได้แล้วนี่ คงไม่เป็นไรมั้งถ้าฉันจะดื่มสักอึก” จากนั้น เขาคิดต่อไปอีกว่า “ในเมื่อฉันเอาชนะนิสัยติดเหล้าได้ ทำไมจะดื่มเหล้าองุ่นตอนกินอาหารบ้างไม่ได้ล่ะ ความตั้งใจของฉันไม่หันเหสักนิด” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจอห์นก็กลับไปเป็นไอ้ขี้เมาเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ความตั้งใจได้ประท้วงเขาตลอดเวลา
🛑 ความตั้งใจดีและการควบคุมตนอาจควบคุมนิสัยเลวไว้ได้ชั่วคราว แต่นั่นไม่ใช่การชนะ จอห์นไม่ได้ตระหนักว่าความตั้งใจของเขาไม่มีเวลามากพอที่จะสุกงอมจนกลายเป็นนิสัยดี อาจต้องใช้เวลาแปดถึงสิบสองปีที่จะนำนิสัยดีมาแทนที่นิสัยที่เลวมากได้
🛑 ก่อนที่นิสัยดีจะสถาปนาอย่างมั่นคง บุคคลต้องไม่เข้าใกล้สิ่งเย้ายวนทั้งหลาย จอห์นไม่สนใจกฎทางจิตวิทยานี้ เขานำขวดเหล้าองุ่นมาไว้ใกล้ตัว ฟื้นความจำถึงนิสัยที่เคยดื่ม การจะทำให้นิสัยไม่ดีตายไปนั้น เราต้องอยู่ให้ห่างจากสิ่งแวดล้อมเลวๆ และเหนืออื่นใด ต้องไม่อยู่กับความคิดเลวๆ เพราะความคิดเลวๆจะยิ่งเสริมสภาพแวดล้อมเลวให้เป็นอันตรายยิ่งขึ้น — เราต้องเสริมพลังให้ตนเองด้วยสภาพแวดล้อมภายนอกและสภาพแวดล้อมภายในที่ดี
จอห์นไม่เพียงแต่ลืมว่า เขาไม่ควรนำขวดเหล้ามาไว้ใกล้ตัว เขาไม่รู้ด้วยว่าการพะนอตัวเอง และการให้เหตุผลอย่างผิดๆ คืออาวุธที่ทำให้นิสัยเลวเอาชนะความตั้งใจดีของเขาได้ นิสัยติดเหล้ายังซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของเขา แล้วมันก็แอบส่งนักสืบติดอาวุธ คือความอยากและการคิดถึงรสชาติอย่างพึงพอใจออกมาเตรียมพร้อมให้นิสัยติดเหล้าได้รุกเข้ามาอีกครั้ง
✨จนกว่าจิตของมนุษย์จะตั้งมั่นอยู่ในทิพยธรรมแท้ ความพ่ายแพ้ที่เหยียดหยันวิญญาณจะเกิดแก่เขา ก็เพราะนิสัยของเขานั่นเอง เมื่อมนุษย์ควบคุมอินทรีย์ได้ด้วยการหยั่งรู้ว่าตนคือวิญญาณ ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับบรมวิญญาณ ไม่ใช่เป็นกายที่ตกอยู่ใต้อำนาจของอินทรีย์ เมื่อนั้นแล้วอินทรีย์จึงจะอยู่ในชีวิตมนุษย์ได้ด้วยสิทธิอันชอบธรรม✨
(มีต่อ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา