Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต
•
ติดตาม
28 พ.ย. 2021 เวลา 23:48 • หนังสือ
=======================
“สัปดาห์ละบทสองบท” || วันจันทร์
=======================
🌅• รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง - Defining Moment
✍🏻• รวิศ หาญอุตสาหะ เขียน
🔖• Defining Moment ตอนที่ 3 || 1,000 ชั่วโมงนับจากนี้
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง ]
================
③
1,000 ชั่วโมงนับจากนี้
================
ช่วง Covid-19 คุณต่อ - ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu กำลังลำบากสุด ๆ และมีลูกน้องเดินมาบอกว่าจะไม่ขอรับเงินเดือนก็ได้ ทำงาน 7 วัน ไม่มีโอทีก็ได้ คุณรวิศฟังแล้วก็รู้สึกว่าแม้ลูกน้องจะกล่าวเช่นนั้น แต่อย่างไรคุณต่อก็ต้องจ่ายค่าจ้างอยู่แล้ว แต่การพูดแบบนั้นมันได้ใจ เพราะตอนลำบากนี่แหละที่เราจะได้เห็นน้ำใจคน
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
เมื่อ อิคิ ∙ 生き อ่านถึงตรงนี้จึงบันทึกความคิดไว้ว่า “เป็นกำลังใจให้คุณต่อสู้ต่อไปมาก ๆ ในฐานะผู้ประกอบการ อิคิ ∙ 生き บอกได้เลยว่าช่วงเวลาที่ลูกน้องเดินมาพูดกับเราเช่นนั้น มันเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายมาก ๆ สำหรับผู้ประกอบการ”
สำหรับตัว อิคิ ∙ 生き เอง มันทำให้เรารู้สึกอุ่นใจเพราะเรารับรู้ได้ว่าเราไม่ได้เดินบนเส้นทางสายนี้คนเดียว ตั้งแต่ COVID-19 ที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き ก็ได้นำปัญหาหลาย ๆ อย่างมาปรึกษาทีมงาน บางช่วงเวลาหน้าร้านของเราทั้งหมด 50 จุดที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือน หลาย ๆ ช่วงไม่มีรายได้เข้าบริษัทเลย หรือคิดเป็นอัตราส่วนก็น้อยมาก ไม่เพียงพอจะที่จะจ่ายค่าจ้างพนักงานหนึ่งคนด้วยซ้ำ
อิคิ ∙ 生き ไม่ได้จ่าย Bonus ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนให้ทีมงานมาแล้ว 2 ปีค่ะ แต่ก็ยังมีทีมงานที่ยังเดินมาด้วยกันมาจนวันนี้ หลาย ๆ ครั้ง อิคิ ∙ 生き ตื้นตัน น้ำตาคลอ กล่าวขอบคุณลูกน้องเสมอว่า “ขอบคุณนะ ที่ทำให้พี่รู้สึกว่า พี่ไม่ได้เดินเส้นทางสายนี้คนเดียว”
แม้จะไม่ได้จ่าย Bonus ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทก็จ่ายค่าจ้างเท่าเดิมทุกเดือน พยายามรักษาระดับคุณภาพชีวิตของทีมงานให้เท่าเดิม ทุกอย่างเป็นอย่างที่คุณรวิศบอกเลยค่ะ ว่าถ้าเรามีกำลังยังไงเราก็ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่การกระทำและคำพูดเหล่านั้นของทีมงาน มันซื้อหัวใจคนเป็นที่เป็นผู้ประกอบการได้จริง ๆ นะคะ
[ รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง ]
คุณรวิศเชื่อว่าการที่ลูกน้องคุณต่อเดินเข้ามาพูดกับคุณต่อเช่นนั้น ก็เพราะในยามปกติ คุณต่อดูแลลูกน้องดีมาก
คุณต่อยังกล่าวอีกว่าสำหรับเจ้าของกิจการ สิ่งที่เราทำในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้ [ คุณต่อน่าจะกล่าวในช่วงวิกฤต COVID-19 ค่ะ ] อาจบอกอนาคตของเราไปอีกหลายปี ฉะนั้นช่วงเวลานี้ขอให้ทำงานหนัก หาความรู้ให้เต็มที่ สู้จนบริษัทผ่านวิกฤตให้ได้
คุณรวิศเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณต่อพูดอย่างมาก คุณรวิศกล่าวว่า ปกติการทำธุรกิจก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน แต่ในช่วง COVID-19 ถือเป็นเวลาพิเศษ เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหมือนวิ่งอยู่ดี ๆ ก็มีคนมาจับสลับตำแหน่งมั่วไปหมด ผู้นำอาจกลายเป็นผู้ตามและผู้ตามกลายเป็นผู้นำในชั่วข้ามคืน เราจะเห็นได้ว่าหลังวิกฤต ลำดับตำแหน่งในอุตสาหกรรมเปลี่ยนทุกครั้งและหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในวันนี้ก็เกิดมาจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในอดีต
เพราะฉะนั้นต่อจากนี้เป็นเวลาที่เราต้องเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมและทุ่มเทพลังทั้งหมดที่มี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีคนไม่รอดจากเหตุการณ์นี้ แต่อย่างน้อยเราก็บอกตัวเองได้ว่าเราทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
สำหรับ อิคิ ∙ 生き สิ่งที่คุณรวิศกล่าวข้างต้นจริงเป็นอย่างมากค่ะ อิคิ ∙ 生き เป็นคนนึงที่กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า อิคิ ∙ 生き ไม่ได้ไปต่อ แต่ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากการคิดอย่างรอบคอบ ตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน และที่สำคัญตัวแปรที่ทำให้ตัดสินใจ คือ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทีมงานค่ะ
อิคิ ∙ 生き บอกทีมงานคู่ใจของ อิคิ ∙ 生き ท่านหนึ่งไว้ว่า “พี่รู้ว่าเราตั้งใจฝากชีวิตไว้กับพี่ วันนี้เราอายุ 30 กว่า ๆ เรายังมีโอกาสอีกมาก พี่เห็นแก่ตัวไม่มากพอที่จะบอกลาเราในวันที่เราอายุ 40 ปี 50 ปี ถ้าพี่ไปบอกเราวันนั้น ทุก ๆ อย่างสำหรับพวกเรามันน่าจะยากกว่าตอนนี้มาก เมื่อพี่คิดถึงอนาคตของพวกเรา พี่จึงตัดสินใจว่าหยุดดีกว่า”
แม้อีก 2 เดือน จะถึงกำหนดการปิดบริษัทอย่างถาวร แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเรายังทำทุกอย่างอย่างเต็มที่เหมือนเดิมค่ะ แม้กระทั่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วน้อง Designer ยังส่ง VDO Review สินค้ามาให้ อิคิ ∙ 生き ตรวจอยู่เลย
จริง ๆ แล้วอีก 2 เดือน เราจะปิดการขายอย่างถาวร เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องทำแล้วก็ได้ค่ะ แต่ อิคิ ∙ 生き บอกฝ่ายการตลาดว่า ตราบใดที่เรายังขายอยู่ ขอให้ยังคงคิดแผนการตลาดอยู่ เหตุผลเพราะว่า อิคิ ∙ 生き ยังอยากให้ทีมงานยังได้ใช้ความรู้ ความสามารถทำงานที่มีความหมายกันอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่สูญเปล่าสำหรับใครเลย
แม้ช่วงนี้เราจะเริ่มเก็บสินค้าออกจากหน้าสาขาจนใกล้หมดแล้ว ทีมงานทยอยติดต่อไปยังมูลนิธิและโรงเรียนห่างไกล เพื่อส่งมอบของ ๆ เราให้กับน้อง ๆ ได้ใช้ประโยชน์ พวกเราก็จะทำสิ่งนี้ให้เต็มที่ค่ะ เมื่อส่งมอบทุกอย่างหมดแล้ว ก็จะถึงเวลาที่เราอำลากันจริง ๆ
จริงอย่างที่คุณรวิศว่านะคะ แม้ อิคิ ∙ 生き จะมีช่วงเวลาเศร้าบ้างเวลาคิดถึงบรรยากาศดี ๆ ทีมงานรอบตัว รอยยิ้มจากลูกค้า แต่ อิคิ ∙ 生き ไม่มีคำว่าเสียใจเลยค่ะ เพราะ อิคิ ∙ 生き ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว และทีมงานของ อิคิ ∙ 生き ก็เช่นกันค่ะ พวกเราจะทำให้เต็มที่จนวันสุดท้ายของ D.I.Y. by Keng
[ รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง ]
คุณโจ้ ธนาเธียรอัจริยะ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับวิกฤตบริษัทคือโอกาสครั้งใหญ่ของลูกจ้าง ถ้าเราเป็นพนักงานธรรมดา ๆ ไม่ได้มีคอนเน็กชั่นหรือก่อนหน้านี้ทำอะไรกลาง ๆ โอกาสของเรามีอยู่สองจังหวะ คือ . . .
① ทำงานที่คนอื่นไม่อยากทำ และใช้ความทรหดเข้าสู้
②
ในยามวิกฤตของบริษัทก็แสดงฝีมือ ไม่เกี่ยงงาน ทำงานหนักกว่าคนอื่น
เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป เจ้านายเราจำได้แน่นอนว่าใครทำงานเสียสละ ทุ่มเท ช่วยให้องค์กรผ่านวิกฤตไปได้ ในทางตรงกันข้าม ใครที่ถือโอกาสเอาเปรียบบริษัทหรือหาประโยชน์จากบริษัทในเวลานี้ เจ้านายก็จำขึ้นใจเหมือนกัน
คุณโจ้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ในช่วงโอกาสทองแบบนี้ที่คำพูดสำคัญน้อยกว่าการกระทำมาก ถ้าเรายังไม่คว้าไว้ หลัง COVID-19 ผ่านไป เราก็คงโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเราเอง”
คุณรวิศเสริมว่า “เวลาวิกฤตจะเป็นเหมือนตัวเร่งความรู้สึกแบบคูณสิบ ถ้าบริษัทรู้สึกได้ถึงความทุ่มเทและเสียสละของเรา ในวันนี้วันที่บริษัทยังอยู่ในวิกฤต บริษัทอาจยังตอบแทนอะไรได้ไม่มากเพราะข้อจำกัดหลายเรื่อง แต่วันที่บริษัทพ้นวิกฤต บริษัทจะตอบแทนคุณแบบเท่าไรเท่ากันแน่นอน”
“ถ้าบริษัทรู้สึกว่าเราเห็นแก่ตัวทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เมื่อพ้นวิกฤต หรือจริง ๆ อาจจะยังไม่พ้นเลยก็ได้ บริษัทต้องเริ่มตั้งข้อสงสัยแล้วว่าความจำเป็นในการมีเราอยู่ในบริษัทนั้นมากแค่ไหน ถึงวันที่จะเลือกว่าใครอยู่ตรงไหน ผลงานของเราจากตอนวิกฤตจะส่งผลอย่างมาก”
คุณรวิศเชื่อว่าเวลา 1,000 ชั่วโมงนับจากวันนี้ [ อิคิ ∙ 生き : 1,000 ชม. ÷ เวลาทำงาน 8 ชม.ต่อวัน = 125 วัน ก็ประมาณ 3-4 เดือนค่ะ] จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเราไปอีกหลายปี ทางเลือกเป็นของทุกคน เราเลือกได้ว่าเราอยากได้ชีวิตแบบไหน และทางเลือกไหนก็ไม่มีอะไรผิด แค่ขอให้เรายอมรับผลของมันเท่านั้นเอง
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
เมื่อ อิคิ ∙ 生き อ่านบทนี้จบ อิคิ ∙ 生き นำไปเล่าให้กับทีมงานฟังทันทีค่ะ อิคิ ∙ 生き เชื่อว่าบทความนี้สะท้อนความคิดของผู้ประกอบการได้ชัดเจนมาก ใครที่อยู่กับเราช่วงเวลานี้ คือคนที่ร่วมหัวจมท้ายกับเราค่ะ
อิคิ ∙ 生き ยอมรับว่าปัจจุบันทีมงานของ อิคิ ∙ 生き ลดลงจากช่วงปกติกว่าครึ่ง และคนที่อยู่ด้วยกันจนวันสุดท้าย คนเหล่านี้คือตัวจริง อิคิ ∙ 生き ตั้งใจจะทำสิ่งที่พอทำให้เต็มที่เพื่อส่งพวกเขาในวันสุดท้ายของพวกเราค่ะ
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอจบบันทึกการอ่านไว้แต่เพียงเท่านี้ ในวันจันทร์หน้าเรามาพบกับ “รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง” บทต่อไปกันนะคะ อิคิ ∙ 生き ขอกล่าวคำว่า “อรุณสวัสดิ์” กับทุกท่านในเช้าวันแรกของสัปดาห์ ลมหนาวเริ่มมาแล้ว อิคิ ∙ 生き ขอให้สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่สดใสของทุกท่านนะคะ สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านใดสนใจเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ จนรอ อิคิ ∙ 生き สรุปเรื่องราวทีละบทของ “รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง” ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ
https://www.facebook.com/KOOBBOOKS/
#สัปดาห์ละบทสองบท #รุ่งอรุณแห่งการเปลี่ยนแปลง
1 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สัปดาห์ละ. . .บท 2 บท
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย