2 ธ.ค. 2021 เวลา 05:21 • ปรัชญา
"ว่าด้วยเรื่องวิญญาน และนามรูป"
อย่างที่ทราบกันแล้วว่า กระแสปฏิจจสมุปบาทมีได้หลายแบบ มีการอธิบายความไว้หลายนัยยะ หลากหลายพระสูตร ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยบริบทนั้น ๆ ขณะนั้น ๆ ตามสถานการณ์และองค์ประชุมต่างวาระกัน
ในฐานะผู้ศึกษา จึงพึงใช้โยนิโสมนสิการด้วยปัญญาอันยิ่ง
ข้อสังเกตอย่างนึงคือ ผู้ที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างหมดจด หมายถึงผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว
รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4
ซึ่งก็ย่อมหมายถึง 'พระอรหันต์' เท่านั้น
การที่จะรู้เห็นตามความเป็นจริง ธรรมทั้งหลายปรากฏตามความเป็นจริง เป็น'ผล'จากการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 จนแก่รอบ เกิดอริยอัฏฐังคิกมรรค หรือ มรรคสมังคี ตรัสรู้ธรรมตามพระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อศึกษาหลักธรรมพอสมควรแล้ว
สิ่งที่เราพึงกระทำคือ 'การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม'
กิจต่ออริยสัจ คือ ทุกข์ควรกำหนดรู้
สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง
และมรรคควรเจริญ
จนสุดท้ายเกิดวิชชา และวิมุตติ
มีปริวัฏฏ์ 3 มีอาการ 12 ในขณะนั้น
(รู้ชัดว่าอริยสัจ 4 เป็นอย่างไร
กิจที่ควรกระทำในอริยสัจ 4 คืออะไร
และได้กระทำกิจในอริยสัจ 4 ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว)
บริสุทธิ์หลุดพ้นไปตามลำดับ
ต้องเป็นผู้ที่จิตหลุดพ้นแล้วเท่านั้น
จึงจะสามารถเห็นวงจรปฏิจจสมุปบาท
เห็นทั้งฝั่งของความเกิดขึ้น และดับสนิทของความทุกข์
หากเรายังเป็นปุถุชน ยังเป็นเสขะบุคคล
ก็ย่อมไม่อาจเห็นธรรมอย่างถ้วนรอบ
พระโสดาบัน สกิทาคามี พระอนาคามี ก็ยังเห็นไม่หมด
เพราะอินทรีย์ 5 ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
ยังไม่จบกิจ กิจที่พึงกระทำในอริยสัจ 4 ยังไม่บริบูรณ์
อเสขบุคคล หรือ พระขีณาสพ คือผู้ที่จบการศึกษาแล้ว
สิ้นอาสวะทั้งปวง เกิดอรหันตมรรค อรหันตผล
มีเพียงพระอรหันต์เท่านั้น
มีเพียงท่านที่รู้ทั่วถึง นิโรธธาตุ
จึงเป็นผู้ไม่มาสู่ภพใหม่อีกต่อไป
1
...
“ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้
อินทรีย์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธินทรีย์ ฯลฯ ๕. ปัญญินทรีย์
อินทรีย์ ๕ ประการนี้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล
๑. เป็นพระอรหันต์เพราะมีอินทรีย์ ๕ ประการนี้ครบถ้วนบริบูรณ์
๒. เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระอรหันต์นั้น
๓. เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายีนั้น
๔. เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายีนั้น
๕. เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายีนั้น
๖. เป็นพระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายีนั้น
๗. เป็นพระสกทาคามีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามีนั้น
๘. เป็นพระเอกพีชีโสดาบัน เพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระสกทาคามีนั้น
๙. เป็นพระโกลังโกลโสดาบัน เพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระเอกพีชีโสดาบันนั้น
๑๐. เป็นพระสัตตักขัตตุปรมโสดาบันเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระโกลังโกลโสดาบันนั้น
๑๑. เป็นพระโสดาบันผู้ธัมมานุสารีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระสัตตักขัตตุปรมโสดาบันนั้น
๑๒. เป็นพระโสดาบันผู้สัทธานุสารีเพราะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระโสดาบันผู้ธัมมานุสารีนั้น”
เอกพีชีสูตรที่ ๔ จบ
- พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ :
...
" ... สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด
ผู้เข้าไปถือเอาซึ่งรูปธาตุด้วย
ผู้เข้าไปตั้งอยู่ในอรูปธาตุด้วย
ล้วนแต่เป็นผู้ไม่รู้ทั่วถึงอยู่ซึ่ง นิโรธธาตุ
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มาสู่ภพใหม่อีก
ส่วนสัตว์ทั้งหลายเหล่าใด
รอบรู้แล้วซึ่งรูปธาตุทั้งหลาย
ไม่ติดอยู่แล้วในอรูปธาตุทั้งหลาย
ย่อมหลุดพ้นไปในนิโรธธาตุ นั่นเทียว
สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าผู้ละซึ่งมัจจุ
นรชนถอนแล้วซึ่งจิต จากสังขารธาตุทั้งปวง
ย่อมน้อมนำจิต เข้าไปในอมตธาตุ
นั่นแหละคือธรรมชาติอันรำงับ
นั่นแหละคือธรรมชาติอันประณีต
ได้แก่สิ่งเหล่านี้
คือ ความสงบรำงับแห่งสังขารทั้งปวง
คือ ความสลัดคืน ซึ่งอุปธิทั้งปวง
คือ ความสิ้นไปแห่งตัณหา
คือ ความจางไป หมดสิ้น
คือ ความดับไม่เหลือ
คือ ความดับเย็นสนิท ... "
- บางตอนจากปรมัตถสภาวธัมมปาฐะ
" ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเราตถาคต
ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม
เพราะฉะนั้นการเห็นพระพุทธเจ้า คือการเห็นปฏิจจสมุปบาท
คือเห็นการเกิดขึ้นของความทุกข์
และการดับไม่เหลือของความทุกข์ในขณะจิตหนึ่ง ๆ"
ปฏิจจสมุปบาทคือภาคขยายพิศดารของอริยสัจ 4
ซึ่งเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา
พระสูตรต่อไปนี้คือตัวอย่างบางส่วนของการสาธยาย
ปฏิจจสมุปบาทในนัยยะต่าง ๆ ที่กล่าวถึงวิญญาน และนามรูป เป็นหลัก
...
วิญญาณฐิติ (ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ)
-บาลีขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๗/๑๐๖.
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ใช้เป็นพืชมี ๕ อย่างเหล่านี้
๕ อย่างอะไรบ้าง คือ พืชจากเหง้าหรือราก (มูลพีช)
พืชจากต้น (ขนฺธพีช)
พืชจากตาหรือผล (ผลพีช)
พืชจากยอด (อคฺคพีช)
พืชจากเมล็ด (พีชพีช).
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่างเหล่านี้
ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด
ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันบุคคลเก็บไว้ด้วยดี
แต่ดิน และน้ำไม่มี
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่างเหล่านั้น
จะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ไหม.
ไม่ได้พระเจ้าข้า.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่างเหล่านี้
ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด
ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันบุคคลเก็บไว้ด้วยดี
ทั้งดิน และน้ำก็มีด้วย
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่างเหล่านั้น
จะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ไหม.
ได้พระเจ้าข้า.
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ ๔ อย่าง (รูป เวทนา สัญญา สังขาร)
พึงเห็นว่าเหมือนกับดิน.
ภิกษุทั้งหลาย นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่ง ความเพลิน)
พึงเห็นว่าเหมือนกับนํ้า.
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย
พึงเห็นว่าเหมือนกับพืชสดทั้ง ๕ นั้น.
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอารูป ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์
มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย
มีนันทิเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ
ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.
2
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์
มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย
มีนันทิเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ
ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสัญญาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์
มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย
มีนันทิเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ
ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสังขารตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์
มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย
มีนันทิเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ
ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.
ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจักบัญญัติซึ่งการมา การไป การจุติ (การตาย) การอุบัติ (การเกิด)
ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ
โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา
และเว้นจากสังขาร ดังนี้นั้น นี่ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้เลย.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ
ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ
เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว (ราโค ปหีโน)
เพราะละราคะนั้นได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง
ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี
วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม หลุดพ้นไป
เพราะไม่ถูกปรุงแต่ง
เพราะหลุดพ้นไป ก็ตั้งมั่น (ฐิตํ)
เพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง (สนฺตุสิตํ)
เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว (น ปริตสฺสติ)
เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตนนั่นเทียว
เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้เสร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้
ไม่ได้มีอีก.
นามรูป ปัจจัยแห่งการบัญญัติ วิญญาณขันธ์
-บาลีอุปริ. ม. ๑๔/๑๐๒/๑๒๓.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขันธ์ทั้งหลายมีชื่อเรียกว่าขันธ์
ได้ด้วยเหตุเท่าไร.
ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม
หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่ารูปขันธ์.
ภิกษุ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม
หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์.
ภิกษุ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม
หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์.
ภิกษุ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม
หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่าสังขารขันธ์.
ภิกษุ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม
หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม นี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์.
ภิกษุ ขันธ์ทั้งหลาย ย่อมมีชื่อเรียกว่าขันธ์
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติรูปขันธ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติเวทนาขันธ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติสัญญาขันธ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติสังขารขันธ์
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์.
ภิกษุ มหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติรูปขันธ์
ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติเวทนาขันธ์
ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติสัญญาขันธ์
ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติสังขารขันธ์
นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์.
ความเกิดแห่งจิตย่อมมี
เพราะความเกิดแห่งนามรูป
-บาลีมหาวาร. สํ. ๑๙/๒๔๖/๘๑๙.
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับ
แห่งสติปัฏฐาน ๔ เธอทั้งหลายจงฟัง.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ความเกิดแห่งกายเป็นอย่างไร
ความเกิดแห่งกายย่อมมี เพราะความเกิดแห่งอาหาร
ความดับแห่งกายย่อมมี เพราะความดับแห่งอาหาร
ความเกิดแห่งเวทนาย่อมมี เพราะความเกิดแห่งผัสสะ
ความดับแห่งเวทนาย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ
ความเกิดแห่งจิตย่อมมี เพราะความเกิดแห่งนามรูป
ความดับแห่งจิตย่อมมี เพราะความดับแห่งนามรูป
(นามรูปสมุทยา จิตฺตสฺส สมุทโย นามรูปนิโรธา จิตฺตสฺส อตฺถงฺคโม)
ความเกิดแห่งธรรมย่อมมี เพราะความเกิดแห่งมนสิการ
ความดับแห่งธรรมย่อมมี เพราะความดับแห่งมนสิการ
(มนสิการสมุทยา ธมฺมานํ สมุทโย มนสิการนิโรธา ธมฺมานํ อตฺถงฺคโม).
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณย่อมมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป
-บาลีขนฺธ. สํ. ๑๗/๗๕/๑๑๗.
ภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณเป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย หมู่แห่ง วิญญาณ ๖ เหล่านี้
คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าวิญญาณ
ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป
ความดับแห่งวิญญาณย่อมมี เพราะความดับแห่งนามรูป
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้นั่นเอง
เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ.
ภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสใดๆ อาศัยวิญญาณเกิดขึ้น
นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ (อัสสาทะ)
วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ (อาทีนวะ)
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณ
นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ (นิสสรณะ).
ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
รู้ชัดแล้วซึ่งวิญญาณอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้
แล้วปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อความคลายกำหนัด
เพื่อความดับแห่งวิญญาณ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว
ชนเหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
รู้ชัดแล้วซึ่งวิญญาณอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้
แล้วเป็นผู้หลุดพ้น เพราะเบื่อหน่าย
เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ
เพราะไม่ถือมั่นในวิญญาณ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหลุดพ้นดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นเป็นเกพลี
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นเกพลี
วัฏฏะย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น.
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
-บาลีมหา. ที. ๑๐/๗๔/๖๐.
… อานนท์ ก็คำนี้ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
จึงมีนามรูปดังนี้ เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
อานนท์ เธอต้องทราบความข้อนี้โดยปริยายดังต่อไปนี้
เหมือนที่เรากล่าวไว้แล้วว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป.
อานนท์ ถ้าหากว่าวิญญาณไม่ก้าวลงในท้องแห่งมารดา
นามรูปจะก่อตัวขึ้นมาในท้องแห่งมารดาได้ไหม.
ไม่ได้เลยพระเจ้าข้า.
อานนท์ ถ้าหากว่าวิญญาณก้าวลงในท้องแห่งมารดาแล้ว สลายลงเสีย
นามรูปจะบังเกิดขึ้นเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้ไหม.
ไม่ได้เลยพระเจ้าข้า.
อานนท์ ถ้าหากว่าวิญญาณของเด็กอ่อนที่เป็นชายหรือเป็นหญิงก็ตาม
ขาดความสืบต่อ นามรูปจะถึงซึ่งความเจริญ
ความงอกงาม ความไพบูลย์ได้ไหม.
ไม่ได้เลยพระเจ้าข้า.
อานนท์ เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ
นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย
นั่นแหละคือปัจจัยของนามรูป นั้นคือวิญญาณ.
อานนท์ ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ดังนี้
เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
อานนท์ เธอต้องทราบความข้อนี้โดยปริยายดังต่อไปนี้
เหมือนที่เรากล่าวไว้แล้วว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ.
อานนท์ ถ้าหากว่าวิญญาณ ไม่ได้มีที่ตั้งอาศัยในนามรูปแล้ว
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป จะปรากฏได้ไหม.
ไม่ได้เลยพระเจ้าข้า.
อานนท์ เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ นั่นแหละคือเหตุ
นั่นแหละคือนิทาน นั่นแหละคือสมุทัย
นั่นแหละคือปัจจัยของวิญญาณ นั้นคือนามรูป.
อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
สัตว์โลกจึงเกิดบ้าง จึงแก่บ้าง จึงตายบ้าง จึงจุติบ้าง จึงอุบัติบ้าง
ทางแห่งการเรียก (อธิวจน) ก็มีเพียงเท่านี้
ทางแห่งการพูดจา (นิรุตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้
ทางแห่งการบัญญัติ (ปญฺญตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้
เรื่องที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา (ปญฺญาวจร) ก็มีเพียงเท่านี้
ความเวียนว่ายในวัฏฏะก็มีเพียงเท่านี้
นามรูปพร้อมทั้งวิญญาณตั้งอยู่
เพื่อการบัญญัติซึ่งความเป็นอย่างนี้.
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
-บาลีนิทาน. สํ. ๑๖/๑๒๖/๒๕๐.
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้
เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่
เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
สัตว์โลกนี้ถึงความลำบากหนอ
ย่อมเกิด ย่อมแก่ ย่อมตาย ย่อมจุติ และย่อมอุบัติ
ก็เมื่อสัตว์โลกไม่รู้จักอุบายเครื่องออกไปพ้นจากทุกข์
คือชราและมรณะแล้ว
การออกจากทุกข์คือชราและมรณะนี้ จะปรากฏขึ้นได้อย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี
เพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ
เพราะการทำในใจโดยแยบคายของเรานั้น
จึงได้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
เมื่อชาตินั่นแหละมีอยู่ ชราและมรณะจึงมี
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ.
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ ชาติจึงมี
เพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะการทำในใจโดยแยบคายของเรานั้น
จึงได้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
เมื่อภพนั่นแหละมีอยู่ ชาติจึงมี
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ.
… เมื่ออุปาทานนั่นแหละมีอยู่ ภพจึงมี
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ.
… เมื่อตัณหานั่นแหละมีอยู่ อุปาทานจึงมี
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน.
… เมื่อเวทนานั่นแหละมีอยู่ ตัณหาจึงมี
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา.
… เมื่อผัสสะนั่นแหละมีอยู่ เวทนาจึงมี
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.
… เมื่อสฬายตนะนั่นแหละมีอยู่ ผัสสะจึงมี
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ.
… เมื่อนามรูปนั่นแหละมีอยู่ สฬายตนะจึงมี
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ.
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ นามรูปจึงมี
เพราะอะไรเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป
เพราะการทำในใจโดยแยบคายของเรานั้น
จึงได้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
เมื่อวิญญาณนั่นแหละมีอยู่ นามรูปจึงมี
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป.
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอมีอยู่ วิญญาณจึงมี
เพราะอะไรเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะการทำในใจโดยแยบคายของเรานั้น
จึงได้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
เมื่อนามรูปนั่นแหละมีอยู่ วิญญาณจึงมี
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ความรู้แจ้งนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า
วิญญาณนี้ ย่อมเวียนกลับมา ไม่ไปพ้นจากนามรูปได้เลย
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สัตว์โลกจึงเกิดบ้าง จึงแก่บ้าง จึงตายบ้าง
จึงจุติบ้าง จึงอุบัติบ้าง
กล่าวคือ เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง
ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า
ความเกิดขึ้นพร้อม (สมุทโย)
ความเกิดขึ้นพร้อม (สมุทโย) ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอไม่มีอยู่ ชราและมรณะจึงไม่มี
เพราะอะไรดับ ชราและมรณะจึงดับ
เพราะการทำในใจโดยแยบคายของเรานั้น
จึงได้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
เมื่อชาตินั่นแหละไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี
เพราะความดับแห่งชาติ จึงมีความดับแห่งชราและมรณะ.
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอไม่มีอยู่ ชาติจึงไม่มี
เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ
เพราะการทำในใจโดยแยบคายของเรานั้น
จึงได้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
เมื่อภพนั่นแหละไม่มี ชาติจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ.
… เมื่ออุปาทานนั่นแหละไม่มี ภพจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ.
… เมื่อตัณหานั่นแหละไม่มี อุปาทานจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับอุปาทาน.
… เมื่อเวทนานั่นแหละไม่มี ตัณหาจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา.
… เมื่อผัสสะนั่นแหละไม่มี เวทนาจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา.
… เมื่อสฬายตนะนั่นแหละไม่มี ผัสสะจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ.
… เมื่อนามรูปนั่นแหละไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ.
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอไม่มี นามรูปจึงไม่มี
เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ
เพราะการทำในใจโดยแยบคายของเรานั้น
จึงได้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
เมื่อวิญญาณนั่นแหละไม่มี นามรูปจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป.
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
เมื่ออะไรหนอไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะการทำในใจโดยแยบคายของเรานั้น
จึงได้รู้แจ้งด้วยปัญญาว่า
เมื่อนามรูปนั่นแหละไม่มี วิญญาณจึงไม่มี
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ความรู้แจ้งนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า
หนทางเพื่อการตรัสรู้นี้เราได้บรรลุแล้ว ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล
ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง
ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า
ความดับ (นิโรธ) ความดับ (นิโรธ) ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษเมื่อเที่ยวไปในป่าทึบ
ได้พบรอยทางซึ่งเป็นหนทางเก่าที่มนุษย์ในกาลก่อน
เคยใช้เดินทางแล้ว เขาจึงเดินตามทางนั้นไป
เมื่อเดินไปตามทางนั้นอยู่ ได้พบซากนครอันเป็นราชธานีโบราณ
ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายในกาลก่อนเคยอยู่อาศัยมา
เป็นที่สมบูรณ์ด้วยสวน ป่าไม้ สระโบกขรณี ซากกำแพงล้อม ล้วนน่ารื่นรมย์
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น บุรุษคนนั้นจึงเข้าไปกราบทูลแก่พระราชา
หรือแก่มหาอำมาตย์ของพระราชาว่า
ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงทราบเถิด
ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อเที่ยวไปในป่าทึบ
ได้พบรอยทางซึ่งเป็นหนทางเก่าที่มนุษย์ในกาลก่อน
เคยใช้เดินทางแล้ว เขาจึงเดินตามทางนั้นไป
เมื่อเดินไปตามทางนั้นอยู่ ได้พบซากนครอันเป็นราชธานีโบราณ
ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายในกาลก่อนเคยอยู่อาศัยมา
เป็นที่สมบูรณ์ด้วยสวน ป่าไม้ สระโบกขรณี ซากกำแพงล้อม ล้วนน่ารื่นรมย์
ขอพระองค์โปรดทรงปรับปรุงที่นั้นให้เป็นพระนครเถิด.
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา
จึงปรับปรุงสถานที่นั้นขึ้นเป็นนคร
สมัยต่อมา นครนั้นได้กลายเป็นนครที่มั่งคั่งและรุ่งเรือง
มีประชาชนเป็นอันมาก เกลื่อนกล่นด้วยมนุษย์
และเป็นนครที่ถึงแล้วซึ่งความเจริญไพบูลย์ นี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้น
เราได้พบรอยทางซึ่งเป็นหนทางเก่า
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว
ภิกษุทั้งหลายก็รอยทางซึ่งเป็นหนทางเก่า
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้วนั้นเป็นอย่างไร
คือหนทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐนี้นั่นเอง
กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้แหละ
รอยทางซึ่งเป็นหนทางเก่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
ในกาลก่อนเคยทรงดำเนินแล้ว
เรานั้นก็ได้ดำเนินแล้วไปตามหนทางนั้น.
เมื่อดำเนินไปตามหนทางนั้นอยู่ เราได้รู้ชัดซึ่งชราและมรณะ
เหตุเกิดขึ้นแห่งชราและมรณะ
ความดับแห่งชราและมรณะ
และได้รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ.
เมื่อดำเนินไปตามหนทางนั้นอยู่ เราได้รู้ชัดซึ่งชาติ
เหตุเกิดขึ้นแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ
และได้รู้ชัดข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งชาติ.
… เราได้รู้ชัดซึ่งภพ …
... เราได้รู้ชัดซึ่งอุปาทาน …
... เราได้รู้ชัดซึ่งตัณหา …
... เราได้รู้ชัดซึ่งเวทนา …
... เราได้รู้ชัดซึ่งผัสสะ …
... เราได้รู้ชัดซึ่งสฬายตนะ …
... เราได้รู้ชัดซึ่งนามรูป …
... เราได้รู้ชัดซึ่งวิญญาณ …
เมื่อดำเนินไปตามหนทางนั้นอยู่
เราได้รู้ชัดซึ่งสังขารทั้งหลาย
เหตุเกิดขึ้นแห่งสังขาร
ความดับแห่งสังขาร
และได้รู้ชัดซึ่งข้อปฏิบัติอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร.
ภิกษุทั้งหลาย ครั้นได้รู้ชัดซึ่งหนทางนั้นแล้ว
เราจึงได้บอกแก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ของเราจึงได้ตั้งมั่น
และรุ่งเรืองแผ่ไพศาล เป็นที่รู้ของชนอันมาก เป็นปึกแผ่น แน่นหนา
จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ก็ประกาศได้เป็นอย่างดี ดังนี้.
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
-บาลีทสก. อํ. ๒๔/๑๙๗/๙๒.
...ก็อริยญายธรรม อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้ง
แทงตลอดด้วยปัญญาเป็นอย่างไร.
คหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี
เพราะความดับแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป
ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว
จึงมีความดับแห่งสังขาร
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลายจึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้.
นี้แลอริยญายธรรม อันอริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.
รายละเอียดของนามรูป
-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๕๑/๘๙.
ภิกษุทั้งหลาย ก็นามรูปเป็นอย่างไร
เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม
มหาภูตทั้งสี่ด้วย รูป ที่อาศัยมหาภูต ทั้งสี่ด้วยนี้
เรียกว่ารูปนามนี้ด้วย รูปนี้ด้วย
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า นามรูป.
ความเกิดขึ้นแห่งนามรูปย่อมมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
ความดับแห่งนามรูปย่อมมี เพราะความดับแห่งวิญญาณ
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้นั่นเอง
เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
รายละเอียดของสังขาร (นัยที่ ๑)
-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๕๑/๘๙.
ภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารทั้งหลายเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือ
กายสังขาร (ความปรุงแต่งทางกาย)
วจีสังขาร (ความปรุงแต่งทางวาจา)
จิตตสังขาร (ความปรุงแต่งทางจิต)
ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย.
ความเกิดขึ้นแห่งสังขารย่อมมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งอวิชชา
ความดับแห่งสังขารย่อมมี เพราะความดับแห่งอวิชชา
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้นั่นเอง
เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร
คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.
รายละเอียดของสังขาร (นัยที่ ๒)
-บาลี มู. ม. ๑๒/๕๕๐/๕๐๙.
ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็สังขารทั้งหลายเป็นอย่างไร.
อาวุโสวิสาขะ สังขารทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้
คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร.
ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็กายสังขารเป็นอย่างไร
วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขารเป็นอย่างไร.
อาวุโสวิสาขะ
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เป็น กายสังขาร
วิตกและวิจาร เป็น วจีสังขาร
สัญญา และเวทนา เป็น จิตตสังขาร
ข้าแต่พระแม่เจ้า ก็เพราะเหตุอะไร
ลมหายใจเข้า และ ลมหายใจออก จึงเป็นกายสังขาร
เพราะเหตุอะไรวิตกและวิจาร จึงเป็นวจีสังขาร
เพราะเหตุอะไรสัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร.
อาวุโสวิสาขะ ลมหายใจเข้า และลมหายใจออกเหล่านี้
เป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย
ดังนั้นลมหายใจเข้า และลมหายใจออกจึงเป็น กายสังขาร
บุคคลย่อมคิด ย่อมพิจารณาก่อนแล้วจึงเปล่งวาจา
ดังนั้นวิตก และวิจารจึงเป็น วจีสังขาร
สัญญาและเวทนา เป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต
ดังนั้นสัญญาและเวทนาจึงเป็น จิตตสังขาร. …
รายละเอียดของสังขาร (นัยที่ ๓)
-บาลีติก. อํ. ๒๐/๑๕๓/๔๖๒.
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
๓ จำพวกเป็นอย่างไร.
(1) ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียน
ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียน
ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียน
ครั้นเขาทำความปรุงแต่งอย่างนี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน
ผัสสะที่มีความเบียดเบียนย่อมถูกต้องเขา
ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนนั้น
เขาอันผัสสะที่มีความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว
ย่อมได้เสวยเวทนาอันมีความเบียดเบียน
เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดังเช่นพวกสัตว์นรก.
(2) ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมปรุงแต่งกายสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน
ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน
ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารที่ไม่มีความเบียดเบียน
ครั้นเขาทำความปรุงแต่งอย่างนี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน
ผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมถูกต้องเขา
ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียนนั้น
เขาอันผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว
ย่อมได้เสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียน
เป็นสุขโดยส่วนเดียว ดังเช่น พวกเทวดา สุภกิณหะ.
(3) ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
ย่อมปรุงแต่งกายสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง
ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง
ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารที่มีความเบียดเบียนบ้าง
ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
ครั้นเขาทำความปรุงแต่งอย่างนี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง
ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
ผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง
ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องเขา
ซึ่งเป็นผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง
ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
เขาอันผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง
ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ถูกต้องแล้ว
ย่อมได้เสวยเวทนาอันมีความเบียดเบียนบ้าง
ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง
อันเป็นสุขและทุกข์เจือปนกัน
ดังเช่น มนุษย์ทั้งหลาย เทวดาบางพวก
และสัตว์พวกวินิบาตบางพวก.
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกเหล่านี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.
รายละเอียดของสังขาร (นัยที่ ๔)
-บาลีขนฺธ. สํ. ๑๗/๗๔/๑๑๖.
ภิกษุทั้งหลาย ก็สังขารทั้งหลายเป็นอย่างไร.
ภิกษุทั้งหลาย หมู่แห่งเจตนา ๖ เหล่านี้ คือ
สัญเจตนาในรูป สัญเจตนาในเสียง
สัญเจตนาในกลิ่น สัญเจตนาในรส
สัญเจตนาในโผฏฐัพพะ สัญเจตนาในธรรม
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสังขารทั้งหลาย.
ความเกิดขึ้นแห่งสังขารย่อมมี
เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ
ความดับแห่งสังขารย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้นั่นเอง
เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร
คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ.
ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
รู้ชัดแล้วซึ่งสังขารอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งความเกิดขึ้นแห่งสังขารอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งความดับแห่งสังขารอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขารอย่างนี้
แล้วปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด
เพื่อความดับแห่งสังขาร
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว
ชนเหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
รู้ชัดแล้วซึ่งสังขารอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งความเกิดขึ้นแห่งสังขารอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งความดับแห่งสังขารอย่างนี้
รู้ชัดแล้วซึ่งข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขารอย่างนี้
แล้วเป็นผู้หลุดพ้น เพราะเบื่อหน่าย
เพราะคลายกำหนัด เพราะความดับ
เพราะไม่ถือมั่นในสังขาร
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า หลุดพ้นดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด หลุดพ้นดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นเป็นเกพลี
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นเกพลี
วัฏฏะย่อมไม่มีแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น.
รายละเอียดของสังขาร (นัยที่ ๕)
-บาลีนิทาน. สํ. ๑๖/๔๖/๘๒.
… สาธุ สาธุ อานนท์ ตามที่สารีบุตรตอบปัญหาในลักษณะนั้น
ชื่อว่าได้ตอบโดยชอบ
อานนท์ เรากล่าวว่า
สุขและทุกข์เป็นของอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนํ)
สุขและทุกข์นั้นอาศัยปัจจัยอะไรเกิดขึ้น
สุขและทุกข์อาศัยปัจจัยคือผัสสะเกิดขึ้น
บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นอันกล่าวตามที่เรากล่าวแล้ว
ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง
เป็นผู้พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม
และสหธรรมมิกบางคนที่กล่าวตาม
ก็จะไม่พลอยกลายเป็นผู้ควรถูกติไปด้วย
อานนท์ ในบรรดาสมณพราหมณ์
ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมทั้ง ๔ พวกนั้น
สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใด
ที่บัญญัติสุขและทุกข์ว่าตนเองทำ
สุขและทุกข์นั้นก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใดที่บัญญัติ
สุขและทุกข์ว่าผู้อื่นทำให้
สุขและทุกข์นั้นก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย
สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใดที่บัญญัติ
สุขและทุกข์ว่าตนเองทำด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย
สุขและทุกข์นั้นก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะผัสสะเป็นปัจจัย
สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใดที่บัญญัติสุข
และทุกข์ว่าไม่ใช่ตนเองทำด้วย ไม่ใช่ผู้อื่นทำให้ด้วย
สุขและทุกข์นั้นก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย.
อานนท์ ในบรรดาสมณพราหมณ์ ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมทั้ง ๔ พวกนั้น
สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใดที่บัญญัติ
สุขและทุกข์ว่าตนเองทำ
สมณพราหมณ์พวกนั้น ถ้าเว้นจากผัสสะเสียแล้ว
จะรู้สึกถึงสุขและทุกข์นั้น ย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใดที่บัญญัติ
สุขและทุกข์ว่าผู้อื่นทำให้ ถ้าเว้นจากผัสสะเสียแล้ว
จะรู้สึกถึงสุขและทุกข์นั้น ย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใดที่บัญญัติ
สุขและทุกข์ว่าตนเองทำด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย
ถ้าเว้นจากผัสสะเสียแล้ว
จะรู้สึกถึงสุขและทุกข์นั้น ย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
สมณพราหมณ์ที่กล่าวสอนเรื่องกรรมพวกใดที่บัญญัติ
สุขและทุกข์ว่าไม่ใช่ตนเองทำด้วย ไม่ใช่ผู้อื่นทำให้ด้วย
ถ้าเว้นจากผัสสะเสียแล้ว
จะรู้สึกถึงสุขและทุกข์นั้น ย่อมไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.
อานนท์ เมื่อกายมีอยู่ สุข และทุกข์อันเป็นภายในย่อมบังเกิดขึ้น
เพราะความจงใจทางกาย (กายสญฺเจตนา) เป็นเหตุ
อานนท์ เมื่อวาจามีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมบังเกิดขึ้น
เพราะความจงใจทางวาจา (วจีสญฺเจตนา) เป็นเหตุ
อานนท์ เมื่อมโนมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมบังเกิดขึ้น
เพราะความจงใจทางมโน (มโนสญฺเจตนา) เป็นเหตุ.
อานนท์ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัยนั่นแหละ
บุคคลย่อมปรุงแต่งกายสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
ย่อมปรุงแต่งกายสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยผู้อื่นบ้าง
ย่อมปรุงแต่งกายสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยรู้สึกตัวบ้าง
ย่อมปรุงแต่งกายสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัวบ้าง.
อานนท์ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัยนั่นแหละ
บุคคลย่อมปรุงแต่งวจีสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยผู้อื่นบ้าง
ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยรู้สึกตัวบ้าง
ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัวบ้าง.
อานนท์ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัยนั่นแหละ
บุคคลย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยผู้อื่นบ้าง
ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยรู้สึกตัวบ้าง
ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัวบ้าง.
อานนท์ อวิชชาแทรกอยู่แล้วในธรรมเหล่านี้.
อานนท์ เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว
กายซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี
วาจาซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี
มโนซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์
อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี
เขต (ผืนนาสำหรับงอก)
ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี
วัตถุ (พืชเพื่อการงอก)
ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี
อายตนะ (การสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการงอก)
ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี
หรืออธิกรณ์ (เครื่องกระทำให้เกิดการงอก)
ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นจึงไม่มี.
อีกสูตรหนึ่ง -บาลีจตุกฺก. อํ. ๒๑/๒๑๓/๑๗๑. ได้ตรัสกับ
ภิกษุทั้งหลายโดยมีข้อความช่วงท้ายต่างออกไปดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ความได้อัตภาพ ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นอย่างไร
คือ ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนเป็นไป
ไม่ใช่สัญเจตนาของผู้อื่นเป็นไปก็มี
ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของผู้อื่นเป็นไป
ไม่ใช่สัญเจตนาของตนเป็นไปก็มี
ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนด้วย
สัญเจตนาของผู้อื่นด้วยเป็นไปก็มี
ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนก็ไม่ใช่
สัญเจตนาของผู้อื่นก็ไม่ใช่เป็นไปก็มี
ภิกษุทั้งหลาย ความได้อัตภาพ ๔ ประการนี้แล.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อนี้
ข้าพระองค์ทราบชัดเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ว่า
บรรดาความได้อัตภาพ ๔ ประการนั้น
ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนเป็นไป
ไม่ใช่สัญเจตนาของผู้อื่นเป็นไป
นี้คือการจุติจากกายนั้นของสัตว์เหล่านั้นย่อมมี
เพราะสัญเจตนาของตนเป็นเหตุ
ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของผู้อื่นเป็นไป
ไม่ใช่สัญเจตนาของตนเป็นไป
นี้คือการจุติจากกายนั้นของสัตว์เหล่านั้นย่อมมี
เพราะสัญเจตนาของผู้อื่นเป็นเหตุ
ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนด้วย
สัญเจตนาของผู้อื่นด้วยเป็นไป
นี้คือการจุติจากกายนั้นของสัตว์เหล่านั้นย่อมมี
เพราะสัญเจตนาของตนและสัญเจตนาของผู้อื่นเป็นเหตุ
ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนเป็นไปก็ไม่ใช่
สัญเจตนาของผู้อื่นเป็นไปก็ไม่ใช่
นี้จะพึงเห็นเทวดาทั้งหลายด้วยอัตภาพนั้น เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า.
สารีบุตร พึงเห็นเทวดาทั้งหลายผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ด้วยอัตภาพนั้น.
อารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ (นัยที่ ๑)
-บาลีนิทาน. สํ. ๑๖/๘๐/๑๔๙.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่
ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่
และย่อมมีจิตฝังลงไป (อนุเสติ)ในสิ่งใดอยู่
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว
เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ (นติ) ย่อมมี
เมื่อเครื่องนำไปสู่ภพใหม่มี การมาการไป (อาคติคติ) ย่อมมี
เมื่อการมาการไปมี การเคลื่อนและการบังเกิดย่อมมี
เมื่อการเคลื่อน และการบังเกิด มี
ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัส
อุปายาสะทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด
ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด แต่เขายังมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่
ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว
เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ย่อมมี
เมื่อเครื่องนำไปสู่ภพใหม่มี การมาการไปย่อมมี
เมื่อการมาการไปมี การเคลื่อนและการบังเกิดย่อมมี
เมื่อการเคลื่อน และการบังเกิดมี
ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัส
อุปายาสะทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าว่าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใดด้วย
ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใดด้วย และย่อมไม่มีจิตฝังลงไปในสิ่งใดด้วย
ในกาลใด ในกาลนั้น
สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณได้เลย
เมื่ออารมณ์ไม่มี ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมไม่มี
เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งขึ้นเฉพาะ ไม่เจริญงอกงามแล้ว
เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ย่อมไม่มี
เมื่อเครื่องนำไปสู่ภพใหม่ไม่มี การมาการไปย่อมไม่มี
เมื่อการมาการไปไม่มี การเคลื่อนและการบังเกิดย่อมไม่มี
เมื่อการเคลื่อนและการบังเกิดไม่มี
ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัส
อุปายาสะทั้งหลายต่อไปจึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล.
อารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ (นัยที่ ๒)
-บาลีนิทาน. สํ. ๑๖/๗๙/๑๔๗.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมคิดถึงสิ่งใดอยู่
ย่อมดำริถึงสิ่งใดอยู่ และย่อมมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว
การก้าวลงแห่งนามรูป (นามรูปสฺส อวกฺกนฺติ) ย่อมมี
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัส อุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึนครบถ้วน
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด
ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด แต่เขายังมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว
การก้าวลงแห่งนามรูปย่อมมี
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ …
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าว่าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใดด้วย
ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใดด้วย และย่อมไม่มีจิตฝังลงไปในสิ่งใดด้วย
ในกาลใด ในกาลนั้น
สิงนั้นย่อมไม่เป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณได้เลย
เมื่ออารมณ์ไม่มี ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมไม่มี
เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งขึ้นเฉพาะ ไม่เจริญงอกงามแล้ว
การก้าวลงแห่งนามรูปย่อมไม่มี
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล.
อารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ (นัยที่ ๓)
-บาลีนิทาน. สํ. ๑๖/๗๘/๑๔๕.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมคิดถึงสิ่งใดอยู่
ย่อมดำริถึงสิ่งใดอยู่ และย่อมมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว
การเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ ต่อไป (ปุนพฺภวาภินิพฺพตฺติ) ย่อมมี
เมื่อการเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปมีอยู่
ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสะ
ทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด
ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด แต่เขายังมีจิตฝังลงไปในสิ่งใดอยู่
สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว
การเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปย่อมมี
เมื่อการเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปมีอยู่
ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าว่าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใดด้วย
ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใดด้วย และย่อมไม่มีจิตฝังลงไปในสิ่งใดด้วย
ในกาลใด ในกาลนั้น
สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์ไม่มี ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมไม่มี
เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งขึ้นเฉพาะ ไม่เจริญงอกงามแล้ว
การเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปย่อมไม่มี
เมื่อการเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไปไม่มี
ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลายต่อไป จึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้
ดังนี้แล
.
อ้างอิง :
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา