19 ธ.ค. 2021 เวลา 05:26 • ปรัชญา
“อานาปานสติ เป็นเหตุให้ถึงซึ่งนิพพาน”
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอย่างหนึ่ง
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร ?
คือ … อานาปานสติ
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ
เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
เจริญอานาปานสติ ชื่อว่าไม่เหินห่างจากฌาน
ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุ เจริญอานาปานสติ
แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ
ภิกษุนี้เรา กล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน
ทำตามคำสอนของพระศาสดา
ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า
ก็จะป่วยกล่าวไปไย ถึงผู้กระทำ ให้มากซึ่งอานาปานสตินั้นเล่า.
อานาปานสติ : ละได้เสียซึ่งความฟุ้งซ่าน
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๓ ประการนี้ ๓ ประการ อย่างไรเล่า คือ
ความเป็นผู้ว่ายาก ๑
ความเป็นผู้มี มิตรชั่ว ๑
ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แลธรรม ๓ ประการ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๓ ประการ
อันภิกษุพึงทำให้เจริญเพื่อละธรรม ๓ ประการ เหล่านี้
๓ ประการ อย่างไรเล่า ? คือ :-
(๑) ความเป็นผู้ว่าง่าย อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละความเป็นผู้ว่ายาก
(๒) ความเป็นผู้มีมิตรดี อันภิกษุพึงให้เจริญ เพื่อละความเป็นผู้มีมิตรชั่ว
(๓) อานาปานสติ อันภิกษุพึงให้เจริญ เพื่อละความฟุ้งซ่านแห่งจิต.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แลธรรม ๓ ประการ
อันภิกษุพึงทำให้เจริญ เพื่อละธรรม ๓ ประการเหล่านั้น.
อานาปานสติ : วิหารธรรมของพระอริยเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าพวกปริพาชกเดียรถีย์ลัทธิอื่นจะพึงถามเธอทั้งหลาย อย่างนี้ว่า
“ท่านมีผู้มีอายุ ! พระสมณโคดม ทรงอยู่จำพรรษาส่วนมาก ด้วยวิหารธรรมไหนเล่า ?” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อพวกเธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงตอบแก่พวกปริพาชกเดียรถีย์ ลัทธิอื่นเหล่านั้น อย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอยู่ตลอด พรรษากาลเป็นอันมาก ด้วยวิหารธรรม คือ อานาปานสติสมาธิ แล” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ เราเป็นผู้มีสติ หายใจเข้า,มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใครผู้ใดจะกล่าวสิ่งใดให้ถูกต้องชอบธรรม
ว่าเป็นอริยวิหารก็ดี ว่าเป็นพรหมวิหารก็ดี ว่าเป็นตถาคตวิหารก็ดี
เขาพึงกล่าวอานาปานสติสมาธิ นี้แหละ
ว่าเป็นอริยวิหาร ว่าเป็นพรหมวิหาร ว่าเป็นตถาคตวิหาร.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่าใดยังเป็นเสขะ
ยังไม่ลุถึงธรรมที่ต้องประสงค์แห่งใจ
ปรารถนาอยู่ซึ่ง โยคเขมธรรม อันไม่มีอะไรยิ่งกว่า;
ภิกษุเหล่านั้น เมื่อเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ซึ่งอานาปานสติสมาธิ
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
ส่วนภิกษุทั้งหลายเหล่าใด เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว
มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีสิ่งที่ต้องทำอันตนทำเสร็จแล้ว
มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ตนอันลุถึงแล้ว
มีสัญโญชน์ในภพทั้งหลายสิ้นรอบแล้ว
เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ;
ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น
เมื่อเจริญทำให้มากแล้วซึ่งอานาปานสติสมาธิ
ย่อมเป็นสุขวิหารในทิฏฐธรรมนี้ด้วย
เพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะด้วย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉะนั้น เมื่อใครจะกล่าวสิ่งใดให้ถูกต้องชอบธรรม
ว่าเป็นอริยวิหารก็ดี ว่าเป็นพรหมวิหารก็ดี
ว่าเป็นตถาคตวิหารก็ดี
เขาพึงกล่าวอานาปานสติสมาธิ นี้แหละ
ว่าเป็นอริยวิหาร ว่าเป็นพรหมวิหาร ว่าเป็นตถาคตวิหาร ดังนี้.
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า อานาปานสติมีอานิสงส์เป็นเอนกประการ เช่น
  • เป็นเหตุให้ได้สมาธิในระดับรูปสัญญาทั้ง 4
  • เป็นเหตุให้ได้สมาธิในระดับอรูปสัญญาทั้ง 4
  • เป็นเหตุให้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ
  • รู้ต่อเวทนาทุกประการ
  • ได้บรรลุมรรคผลในปัจจุบัน
  • เพื่อประโยชน์มาก
  • เพื่อความเกษมจากโยคะมาก
  • เพื่อความสังเวชมาก
  • เพื่ออยู่เป็นผาสุกมาก
  • อานาปานสติ : เป็นสุขวิหาร ระงับได้ซึ่งอกุศล
  • อานาปานสติ : สามารถกำจัดบาปอกุศลได้ทุกทิศทาง
  • อานาปานสติ : ละได้เสียซึ่งความฟุ้งซ่าน
  • อานาปานสติ : ละเสียได้ซึ่งความคับแค้น
  • อานาปานสติ : วิหารธรรมของพระอริยเจ้า
  • เจริญอานาปานสติ ชื่อว่าไม่เหินห่างจากฌาน
  • เจริญอานาปานสติ ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกายและจิต ย่อมมีขึ้นไม่ได้
และอื่น ๆ อีกนานับประการ
สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก :
อานาปานสติ เป็นเหตุให้ถึงซึ่งนิพพาน
ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น รู้ธรรมเฉพาะหน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา