5 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Herbert Hoover ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ Blockdit Originals by Bnomics
Herbert Hoover ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ใครๆ ก็คงจะอยากเป็นประธานาธิบดีที่ถูกกล่าวขานชื่นชม ว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองของประเทศกันทั้งนั้น แต่ในอดีต มีประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนหนึ่ง ที่ดันก้าวขาเข้าธรรมเนียบขาว ในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ลากยาวไปเกือบทศวรรษพอดี
4
ซึ่งประธานาธิบดีคนนั้นก็ คือ คุณ Herbert Hoover เขาจึงถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนั้นเรื่อยมา
2
เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลานั้น ทำไมประธานาธิบดี Herbert Hoover ถึงถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตครั้งนั้น วันนี้ Bnomics จะเล่าให้ฟัง
📌 Herbert Hoover ชื่อที่เป็นเหมือนฝันร้ายของชาวอเมริกัน
ประธานาธิบดี Herbert Hoover เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 31 ของสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 1929 เขาเป็นคนที่สนับสนุนกลไกตลาดว่าเป็นกลไกที่ดีที่สุด โดยมองว่าในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะแก้ไขตัวเองได้ จึงเชื่อในเรื่องการปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นไปตามยถากรรม (laissez-faire economics) และรู้สึกว่าหากรัฐบาลให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป คนจะหยุดทำงาน นอกจากนี้ยังศรัทธาในทฤษฎีเศรษฐกิจแบบไหลริน (Trickle Down Economic) ว่าต้องส่งเสริมนายทุน หรือชนชั้นบนๆ ให้รวยก่อน แล้วเดี๋ยวคนธรรมดาข้างล่างจะพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วยเอง
5
แต่ทีนี้ ทฤษฎีต่างๆ ที่เขาเคยยืดถือมาตลอด มันกลับไม่สามารถใช้งานได้ในภาวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เลย จึงทำให้ความพยายามในการจะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้นมันดูจะไปไม่สุดสักทาง
1
📌 ชื่อเสีย(ง) ของประธานาธิบดี Herbert Hoover ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
4
หลังจากก้าวเข้าทำเนียบขาวได้ไม่ถึง 7 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำครั้งร้ายแรงที่สุดในสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม ปี 1929 แล้วก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังรุ่งเรือง ให้ดำดิ่งสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นับแต่นั้น และกินเวลายาวนานนับ 10 ปี
1
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ในช่วงปี 1920 จนถึงปี 1929
ในเวลานั้น ธนาคารและธุรกิจต่างก็ล้มกันระเนระนาด อัตราการว่างงานพุ่งจากเพียง 3% ในปี 1929 ไปสู่ 23% ในปี 1932 ชาวอเมริกันนับล้านคนต้องกลายเป็นคนตกงานในชั่วข้ามคืน สูญเสียบ้าน สูญเสียเงินเก็บที่มี ต้องไปต่อคิวรอรับอาหาร ซุป หรือขนมปังเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ
2
คนไร้บ้านหลายคนก็เลยไปสร้างเพิงพัก (Shantytowns) เป็นเหมือนหมู่บ้านอนาถาอยู่โดยรอบของเมืองทั่วประเทศ สร้างจากเศษกระดาษแข็ง กระจก ไม้ ดีบุก หรืออะไรก็ตามแต่ที่พอจะหาได้ บางคนก็อาศัยอยู่ตามท่อประปา ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้ถูกตั้งชื่อว่า Hooverville เพื่อเสียดสีการทำงานของประธานาธิบดี Herbert Hoover ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือคนอเมริกันที่กำลังลำบากได้เลย
1
📌 ไม่ใช่หน้าที่ที่รัฐต้องช่วย คนอเมริกันสิต้องช่วยกันเอง
แต่พูดแบบนั้นก็อาจจะดูปรักปรำประธานาธิบดีฮูเวอร์ เกินไปเสียหน่อย อันที่จริงตอนที่เกิดวิกฤต ประธานาธิบดีฮูเวอร์ ก็พยายามใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหา คือ แนวทางแก้วิกฤตนั้นมันดันไปขัดกับหลักความเชื่อของเขาที่ได้กล่าวไปข้างต้น ว่ารัฐบาลควรจะมีบทบาทที่จำกัด การไปแทรกแซงมากเกินจะทำให้ระบบทุนนิยมและปัจเจกนิยมเสียหายได้ เขาก็เลยรู้สึกว่าปล่อยให้คนในท้องถิ่น หรือจิตอาสาต่างๆ สมัครใจให้ความช่วยเหลือกันเองจะดีกว่า
2
ดังนั้นเขาจึงได้คัดค้านกฎหมายหลายฉบับที่จะให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่ชาวอเมริกัน โดยให้เหตุผลว่า “ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูนั้นไม่สามารถกลับคืนมาได้ด้วยการไปปล้นเอามาจากคลังสาธารณะ” (Prosperity cannot be restored by raids upon the public Treasury)
3
"Prosperity cannot be restored by raids upon the public Treasury." – Herbert Hoover
📌 นโยบายแบบลิงแก้แห...ที่ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหยิง
แทนที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนตรงๆ เลย ประธานาธิบดีฮูเวอร์ ก็เลยใช้วิธีไปปกป้องธุรกิจแทนโดยการลงนามอนุมัติ Smoot-Hawley Tariff Act ในปี 1930
เดิมทีกฎหมายภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ เก็บกับสินค้าเกษตรกรรมที่นำเข้ามาก็สูงอยู่แล้ว แต่ประธานาธิบดีฮูเวอร์ ก็ยังต้องการจะขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าเกือบ 900 ชนิด ในอัตรา 40% - 50% โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยเกษตรกรสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์หลายคนในยุคนั้นต่างคัดค้านและมองว่าจะยิ่งทำให้วิกฤตเศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก
1
ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คิดถูก…
1
เพราะหลังจากนั้นราคาอาหารก็พุ่งสูง และก็ไปทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องออกมาตรการภาษีศุลกากรมาตอบโต้บ้าง จึงทำให้การค้าทั่วโลกลดลงไป 65% ส่วนสำหรับสหรัฐฯ ในปีนั้น GDP ตกลงไปถึง 8.5% และอัตราการว่างงานก็อยู่ที่ 8.7%
1
แต่ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณคิดว่า เรื่องเลวร้ายมันจะจบแค่นี้...คุณคิดผิดแล้วล่ะ
2
เพราะในปี 1932 ที่เป็นช่วงท้ายๆ สมัย เศรษฐกิจตกลงไปถึง 12.9% และอัตราการว่างงานก็พุ่งขึ้นไปถึง 23.6% แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีฮูเวอร์ ตัดสินใจทำ คือ การขึ้นอัตราภาษีขั้นสูงสุดอยู่ที่ 63% เพราะกลัวงบประมาณขาดดุล (เขาอาจจะต้องประหลาดใจมากถ้ารู้ว่าในปัจจุบัน รัฐบาลของคุณไบเดน ตั้งงบประมาณขาดดุลกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
4
อัตราการว่างงานของประชากรสหรัฐฯ ในช่วง The Great Depression
GDP สหรัฐฯ ในช่วง The Great Depression หดตัวมากถึง 31.2%
จากเสียงก่นด่าของประชาชนเกือบตลอดสมัย แน่นอนว่าคงไม่มีความหวังที่คุณฮูเวอร์ จะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองแน่ ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐฯ จึงตกเป็นของคุณ Franklin D. Roosevelt ที่ชนะอย่างถล่มทลาย และได้สร้างแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เรียกว่า The New Deal ซึ่งท้ายที่สุดก็ช่วยให้ปัญหาการว่างงานลดลง และเศรษฐกิจได้รับการเยียวยา จนทำให้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1940 หมู่บ้านอนาถา Hoovervilles ซึ่งเป็นเหมือนอนุสรณ์แห่งการบริหารงานที่ผิดพลาดของคุณฮูเวอร์ได้ถูกรื้อทำลายลงไป เหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำแห่งช่วงเวลาที่เลวร้ายในใจของชาวอเมริกันหลายล้านคน
1
► เกร็ดเล็กน้อย
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเขื่อน Hoover Dam ซึ่งตั้งอยู่ที่แม่น้ำโคโลราโด เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องระบบชลประทานในช่วงต้นทศวรรษ 1900 และเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งข้อจำกัดหลายๆ อย่างทางด้านภูมิศาสตร์ ทำให้การก่อสร้างเขื่อนนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายมากในยุคนั้น
จนกระทั่งเริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 1930 ที่คุณฮูเวอร์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีพอดี การก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่นี้ จึงถูกตั้งชื่อว่า Hoover Dam เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีคนใหม่ แต่หลังจากเขาหมดวาระลง เขื่อนนี้ถูกเรียกว่า Boulder Dam แทนเนื่องจากฝ่ายบริหารชุดใหม่บางส่วนไม่ค่อยชอบอดีตประธานาธิบดีคนนี้เท่าไรนัก
3
Hoover Dam
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเขื่อนนี้ก็ถูกเรียกว่า Hoover Dam อีกครั้งในปี 1947 เนื่องจากสภาคองเกรสให้เหตุผลว่าในฐานะประธานาธิบดี คุณฮูเวอร์ได้มีส่วนเป็นอย่างมากในการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมต่างๆ และเรื่องที่ตั้งของเขื่อน อีกทั้งสัญญาการก่อสร้างก็อนุมัติในยุคที่เขาเป็นประธานาธิบดี ทุกวันนี้สหรัฐฯ จึงมีเขื่อน Hoover Dam ที่นอกจากจะสามารถตอบสนองเป้าหมายแรกเริ่มของการก่อสร้างแล้ว ยังกลายเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกด้านวิศวกรรมที่มีคนนับล้านแวะไปเที่ยวชมทุกปีอีกด้วย
4
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference
โฆษณา