12 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บทเรียนแห่งความหวังของ Franklin D. Roosevelt ประธานาธิบดีผู้นำพาสหรัฐฯ ฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
3
Franklin D. Roosevelt ประธานาธิบดีผู้นำพาสหรัฐฯ ฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
มีนักประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า มีประธานาธิบดีเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นที่เรียกได้มีที่ยืนโดดเด่นเป็นสง่าในประวัติศาสตร์อเมริกาอย่างแท้จริง
คนแรกคือ George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ผู้นำพาอาณานิคมทั้งสิบสาม (Thirteen Colonies) ต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากอังกฤษ และก่อตั้งชาติขึ้นมาจนสำเร็จ
คนที่สองคือ Abraham Lincoln ประธานาธิบดี ผู้นำสหรัฐอเมริกาก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก รวมชาติไว้เป็นหนึ่งเดียวและช่วยปกปักษ์รักษาคุณค่าและหลักการของชาติไว้ได้
1
และคนสุดท้ายคือ Franklin D. Roosevelt ผู้นำพาชาติฟันฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยใช้นโยบายที่*แปลกใหม่ และสุดโต่งอย่างมากในยุคนั้น ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนถึงทุกวันนี้
1
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำพาสหรัฐฯ ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนคว้าชัยชนะมาได้สำเร็จ ทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ได้รับการไว้วางใจจากประชาชนอเมริกันให้ดำรงตำแหน่งถึง 4 สมัยอีกด้วย สมดังที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐบุรุษเคียงคู่กับ George Washington และ Abraham Lincoln
4
สำหรับเรื่องราวของประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt จะเป็นอย่างไร วันนี้ Bnomics จะมาเล่าให้ฟัง
📌 เส้นทางชีวิตที่เพียบพร้อมของ Franklin D. Roosevelt
Franklin Delano Roosevelt หรือที่เรียกกันว่า FDR เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยสองตระกูล ซึ่งก็คือตระกูล Roosevelt และตระกูล Delano โดยทั้งสองตระกูลเป็นตระกูลพ่อค้าที่มีความมั่งคั่งอย่างมาก มีทั้งอำนาจและเงินที่เพียบพร้อม
FDR และญาติของเขาในเมือง Fairhaven รัฐ Massachusetts ปี 1897
FDR จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard โดยเขาได้งานแรกเป็นนักกฎหมายอยู่ใน Law Firm ชื่อดังที่ชื่อว่า Carter Ledyard & Milburn
อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้สนใจหรืออินกับอาชีพในสายงานกฎหมายมากนัก เขากลับสนใจการเข้าสู่วงการการเมืองมากกว่า เช่นเดียวกับ Theodore Roosevelt ญาติของเขา ผู้ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเปรียบเสมือนไอดอลของเขา
Theodore Roosevelt ญาติห่างๆ ของ FDR ประธานาธิบดีผู้เป็นต้นแบบทางการเมือง
ทั้งนี้ ในสมัยหนุ่ม FDR ก็เคยวางแผนไว้ว่า ถ้าตัวเองจะต้องเข้าสู่วงการการเมืองจริง ๆ เขาก็จะไปให้ไกลถึงการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างแน่นอน ซึ่งเขาก็ยังได้เคยวางแผนไว้อีกว่า การจะก้าวไปถึงจุดนั้น จะต้องผ่านอะไรบ้าง
1
โดยเขาได้วางเส้นทางไว้ว่าเขาจะต้องเข้าสู่การเมืองโดยการเป็น State Assembly ก่อน จากนั้นขยับไปเป็นผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพเรือสหรัฐฯ และผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก (เพราะว่าในช่วงนั้น ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ล้วนมาจากนิวยอร์ก ทั้งสิ้น)
2
📌 จากหนุ่มไฮโซเข้าสู่ชีวิตการเมือง
ผลก็คือเมื่อเขาเริ่มเข้าการเมืองจริงๆ เขาก็สามารถทำได้เช่นนั้นจริงๆ โดยช่วงปี 1910 FDR ได้เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองครั้งแรกในฐานะ New York State Senator (ผิดแผนเล็กน้อย เพราะตำแหน่ง New York State Assembly นั้นไม่ว่าง)
หลังจากนั้น ก็ได้รับการสนับสนุนโดยประธานาธิบดี Woodrow Wilson ให้ดำรงตำแหน่ง Assistant Secretary of the Navy หรือผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพเรือ ตามที่เขาเคยวางแผนไว้จริงๆ
หลังจากนั้น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 1920 James M. Cox ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้เลือก FDR เป็นรองประธานาธิบดีลงแข่งในศึกดังกล่าวคู่กับเขา
แต่สุดท้าย คู่ของ Cox และ FDR ก็พ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งจากพรรครีพับลิกันอย่าง Warren G. Harding และ Calvin Coolidge ทำให้หลังจากนั้น FDR ก็ต้องออกจากวงการการเมือง และกลับไปทำงานในภาคเอกชนชั่วคราว แต่ก็ยังวางแผนที่จะกลับมาในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1922
2
FDR และ James M. Cox ผู้ว่าการรัฐ Ohio ร่วมกันเดินหาเสียงในปี 1920
📌 การพ่ายแพ้ครั้งแรกของ FDR และการป่วยที่พลิกชีวิตเขา
1
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองก็เป็นช่วงเวลาที่เขาได้ประสบกับอาการป่วยของเขาเป็นครั้งแรก โดยเขาเริ่มมีอาการไข้ ชาตามลำตัว อัมพาตบริเวณใบหน้า แขน และมีการขับถ่ายผิดปกติ ทำให้แผนที่จะกลับเข้าสู่การเมืองชะงักไป และต้องหันไปให้ความสำคัญกับการรักษาอาการป่วยดังกล่าวแทน
โดยเบื้องต้น แพทย์ในยุคนั้นได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคโปลิโอ แต่ภายหลัง จากงานศึกษาทางการแพทย์ในปัจจุบันนั้นดูจะบ่งชี้ว่าเขาเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่ชื่อว่าอาการกิลแลง-บาร์เร มากกว่า
2
เขาได้ใช้ช่วงเวลา Gap Year ดังกล่าวไปกับการรักษาอาการป่วยของเขา โดยการทำกายภาพบำบัด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังพยายามรักษาคอนเนคชั่นในวงการการเมืองอยู่ตลอด เพื่อเตรียมตัวในการกลับเข้าสู่วงการ
ในปี 1921 FDR มีอาการอัมพาตครึ่งตัว เขาไม่สามารถรู้สึกอะไรได้เลย ตั้งแต่ช่วงเอวลงไป ไม่สามารถเดินได้ แต่ภายหลังจากการทำกายภาพบำบัดอยู่หลายปี เขาก็พอกลับมาเดินในระยะสั้นๆ โดยใช้ไม้เท้าและใช้คนช่วยประคองเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่ก็ยังต้องพึ่งวีลแชร์อยู่ดี
4
ต่อมา ในปี 1928 FDR ก็ได้ลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเขาก็ได้รับเลือกโดยมีคะแนนชนะเหนือคู่แข่งเพียงแค่ 1% เท่านั้น ซึ่งการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้ว่าการรัฐในครั้งนั้นก็เป็นเสมือนการเปิดทางสู่การก้าวต่อไปสู่จุดสูงสุดของชีวิตการเมืองเลยก็ว่าได้
📌 เสียงแห่งความหวังที่ดังกึกก้องจากรัฐนิวยอร์กสู่ทั่วประเทศ
จุดเปลี่ยนสำคัญนั้นเกิดขึ้นไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง สหรัฐอเมริกาได้ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ฟองสบู่ที่สะสมมานานหลายปีแตกออก ตลาดหุ้นร่วงอย่างมาก ธุรกิจและธนาคารต่างๆ ล้มระเนระนาด
3
นโยบายหลักของรัฐบาล Herbert Hoover ในขณะนั้นก็คือการปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะหากยิ่งแทรกแซง ก็จะยิ่งทำให้วิกฤติรุนแรงไปอีก ปล่อยไว้เฉยๆ เดี๋ยวทุกอย่างก็กลับไปเป็นปกติเอง อีกทั้งยังมีการดำเนินนโยบายบางประการที่ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงไปอีก อย่างเช่น การขึ้นภาษีนำเข้าต่างๆ และการตัดการใช้จ่ายภาครัฐ
สิ่งที่คนอเมริกันล้วนรู้สึกกันคือความสิ้นหวัง มองไม่เห็นทางออก คนตกงานเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เงินที่เคยอดออมเก็บไว้ลงทุนก็สูญไปหมดกับตลาดหุ้น
แต่ในรัฐนิวยอร์ก FDR ได้สร้างความหวังให้คนอีกครั้ง โดย FDR มองว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปตามที่ประธานาธิบดี Hoover บอก ประเทศชาติคงไม่รอดแน่
เขาจึงได้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบต่างๆ อย่างเช่น โครงการประกันการจ้างงาน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อให้คนมีงานทำ และมีเงินพอเลี้ยงชีพตัวเอง เกิดเป็นเสียงแห่งความหวังที่ดังกึกก้องไปทั่วสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ พวกบรรดาโครงการที่ FDR ได้ทดลองนำมาใช้นั้นก็เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่สุดโต่งและล้ำสมัยอย่างมากในยุคนั้น เนื่องจากแนวคิดหลักที่ครอบงำนโยบายทางเศรษฐกิจก็คือการลดบทบาทภาครัฐให้มากที่สุด และปล่อยภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอง
2
แต่ FDR ก็ยังมีความกล้าหาญที่จะเสนอแนวคิดและนโยบายเหล่านี้ออกมา โดยเขายังเคยกล่าวเอาไว้ด้วยว่า “ประเทศนี้จำเป็นต้องมีการลองผิดลองถูกในสิ่งใหม่ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง และต่อให้ล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ขอให้ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา และก้าวต่อไปเท่านั้นเอง แต่อย่างน้อย ขอให้ลองทำให้สักอย่าง”
1
เสียงแห่งความหวังของ FDR ได้ดังกึกก้องไปจนทำให้เหล่าผู้นำพรรคเดโมแครตเล็งเห็นว่า หากจะมีใครที่สมควรได้ลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับ Herbert Hoover ก็คงหนีไม่พ้น Franklin D. Roosevelt อย่างแน่นอน และทำให้สุดท้าย FDR ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนพรรคในการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่กำลังจะเข้ามาถึง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ในงาน Democratic National Convention ซึ่งเป็นงานที่ทำหน้าที่เลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคนั้น มีธรรมเนียมมาตั้งแต่โบราณว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นจะต้องทำเป็นไม่รู้เรื่องจนกว่าจะมีผู้แทนจากพรรคไปแจ้งข่าวให้อย่างเป็นทางการ ซึ่งโดยปกติก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์อย่างมาก
แต่ FDR กลับไม่สนใจธรรมเนียมดังกล่าวแม้แต่น้อย โดยเขาได้บินมายังชิคาโกเพื่อแสดงตัวและแถลงสุนทรพจน์ในงานดังกล่าว โดยเขาได้กล่าวว่า ในยามที่ประเทศชาติกำลังเผชิญกับปัญหา ตกอยู่ในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้ การรีรอแม้แต่นิดเดียวตามธรรมเนียมที่เก่าแก่และไร้สาระเช่นนั้น เป็นอะไรที่ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน
ในสุนทรพจน์ดังกล่าว เขายังมอบความหวังโดยให้คำมั่นสัญญากับสมาชิกพรรคเดโมแครตและประชาชนชาวอเมริกาอีกว่า จะนำพาประเทศชาติกลับมายืนได้อีกครั้งหนึ่ง (“I pledge myself, I pledge you to a new deal for the American people”)
2
เสียงแห่งความหวังเหล่านี้ก็ได้ลอยไปทุกที่ที่ FDR ได้เดินทางไปหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ ในเวลาต่อมา พร้อมกับการเปิดเพลง Happy Days Are Here Again เพื่อเรียกขวัญกำลังใจในทุกที่ที่เขาเดินทางไป
ทั้งนี้ ผลปรากฎก็คือว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 1932 FDR ก็สามารถชนะได้อย่างถล่มทลายหรือที่เรียกกันว่าเป็น Landslide เลย
ประชาชนจำนวนมากที่เคยลงคะแนนให้กับพรรครีพับลิกันก็หันมาลงคะแนนให้กับ FDR แทน เพราะไม่เชื่อแนวทางที่ Herbert Hoover และพรรคของพวกเขานำพาประเทศอีกต่อไป
📌 The New Deal นโยบายล้ำสมัย สุดโต่ง ที่นำพาสหรัฐฯ ก้าวพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ
ในช่วง 100 วันแรกในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับประธานาธิบดีทุกคน โดย FDR ได้เร่งดำเนินการหลายประการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น
หนึ่งในสิ่งที่เขาได้ดำเนินการตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ารับตำแหน่งก็คือการสั่งปิดธนาคารชั่วคราว โดยการประกาศ Bank Holiday ขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้คนถอนเงิน และทำให้ธนาคารล้มไปมากกว่า อีกทั้ง ยังเป็นการประวิงเวลาเพื่อให้สภาคองเกรสสหรัฐฯ สามารถร่างกฎหมายฉุกเฉินเพื่อจัดการกับวิกฤติดังกล่าวได้ทันการณ์
เมื่อธนาคารกลับมาเปิดอีกครั้ง ผลก็คือความเชื่อมั่นของคนได้กลับมาส่วนหนึ่งแล้ว ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวขึ้น มีการฝากเงินเข้ามากกว่าการถอนเงินออก
ทั้งนี้ นโยบายอื่นๆ ของ FDR ที่ได้ออกมาในภายหลัง ก็ยังตั้งอยู่บนฐานคิดที่เรียกกันว่า 3Rs ซึ่งประกอบไปด้วย
1. Relief หรือการให้ความช่วยเหลือคนตกงานและคนที่ยากจน
2. Recovery หรือการนำพาเศรษฐกิจของประเทศกลับสู่สภาวะปกติ
3. Reform หรือการปฏิรูปยกเครื่องภาคการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤติเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
2
โดยนโยบายเหล่านี้ ก็ประกอบไปด้วยนโยบายช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตร ที่จะช่วยเรื่องรายได้เกษตร ซึ่งจะช่วยให้ภาคการบริโภคของประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ หรือนโยบายการจ้างงานโดยภาครัฐที่เขาเคยดำเนินการสมัยเป็นผู้ว่าการรัฐฯ ก็เอามาใช้ในระดับประเทศ ทำให้อัตราการว่างงานของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว
นโยบายเหล่านี้ถูกเรียกขานกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ New Deal ของ FDR ซึ่งช่วยนำพาประเทศหลุดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ โครงการ New Deal อื่นๆ ของ Roosevelt ยังวางรากฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาจนถึงวันนี้อีกด้วย อย่างเช่น นโยบายประกันสังคม ซึ่งทำหน้าที่เป็น Social Safety Net หรือเป็นดั่งกลไกที่คอยช่วยเหลือแรงงานในยามที่เกิดวิกฤติ และเป็นแหล่งเงินบำนาญให้กับผู้คนในยามเกษียณ
หรือแม้แต่การออกกฎหมาย National Labor Relation Act ขึ้น ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบให้แรงงานรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานได้ และกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานและผู้ว่าจ้างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นโยบายสองประการนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยวางรากฐานให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้อย่างดี จนสามารถก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจของโลกได้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะแรงงานก็สามารถทำงานของตัวเองได้เต็มที่ โดยที่ได้รับการคุ้มครองว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี อุตสาหกรรมการผลิตก็เติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ
เกิดเป็นแนวคิด American Dream ที่คนทำงานหนัก เพื่อให้มีบ้านดีๆ มีรถยนต์ขับ และมีเงินประกันสังคมใช้ในยามเกษียณ
1
นโยบายเหล่านี้ หากมองจากเลนส์ปัจจุบัน คงไม่ได้ดูพิเศษอะไรนัก แต่หากมองจากบริบทในยุคนั้นก็จะพบได้ว่าเป็นแนวคิดที่สุดโต่งและล้ำสมัยอย่างมาก โดย FDR ได้ตระหนักถึงบทบาทของภาครัฐในการช่วยเหลือคนตัวเล็กตัวน้อย และการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤติ ก่อนที่แนวคิดเรื่องบทบาทของภาครัฐในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจะถูกตีพิมพ์โดย John Maynard Keynes ในปี 1936 เสียอีก
นอกจากนี้ ในช่วงต่อมาที่ฐานทัพ Pearl Harbor ของสหรัฐอเมริกาถูกลอบโจมตีโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น จนทำให้ทั้งประเทศต่างหวาดกลัวและเสียขวัญกำลังใจอย่างมาก FDR ก็ยังสามารถเรียกความหวังกลับมาคืนได้ ผ่านความเป็นผู้นำที่เข็มแข็งของเขา โดยการนำศึกต่อกรกับฝ่ายอำนาจนิยม จนสามารถคว้าชัยชนะได้สำเร็จ แม้ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ไม่ถึงได้เห็นวันนั้นก็ตาม
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ Franklin D. Roosevelt ผู้นำพาชาติฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ เรียกความหวังผู้คนกลับมาอีกคน และนำพาชาติคว้าชัยชนะเหนือสงครามโลกได้สำเร็จ สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสามประธานาธิบดีที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ อย่างแท้จริง
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
FDR by Jean Edward Smith
4
โฆษณา