19 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Dwight D. Eisenhower: จากวีรบุรุษสมรภูมินอร์มังดี สู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐฯ
ปฏิบัติการณ์ยกพลบุกขึ้นชายฝั่ง “นอร์มังดี (Normandy)” ในวันดีเดย์ (D-Day) เป็นหนึ่งในยุทธการสำคัญที่สุดที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามโลกครั้งที่ 2 จนนำมาซึ่งชัยชนะของฝั่งสัมพันธมิตรในทวีปยุโรป
แต่ทว่าหลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่า ผู้บังคับบัญชาการสูงสุดในการบุกวันนั้น จะได้กลายมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา ชื่อของชายคนนั้นก็คือ “Dwight D. Eisenhower (ดไวต์ ดี. ไอเซนอาวร์)” หรือ ที่หลายคนจะเรียกเขาสั้นๆ ว่า “Ike (ไอค์)”
1
📌 ชีวิตช่วงต้นของ Ike
ชีวิตตอนเด็กของ Ike เติบโตขึ้นที่เมือง Abilene รัฐ Kansas (อันที่จริงเขาเกิดที่เมือง Dension รัฐ Texas แต่มาเติบโตขึ้นที่นี่) มีพี่น้องรวมตัวเขาทั้งหมด 7 คน โดยที่ Ike เป็นลูกคนที่สาม ฐานะทางครอบครัวของ Ike ถือว่าค่อนข้างยากจน กล่าวคือ รายได้ที่มีแต่ละวันก็มีเพียงพอแค่ให้ใช้ชีวิตเท่านั้น ครอบครัวของเขาไม่สามารถที่จะก้าวพลาดได้แม้แต่ก้าวเดียวเลย
นอกจากนี้ ครอบครัวของ Ike ยังเป็นครอบครัวที่เคร่งศาสนามาก พวกเขาจะเข้าโบสถ์และสวดภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งลักษณะส่วนนี้ก็ส่งต่อมาถึงช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดีด้วย ที่ Ike จะเข้าโบสถ์ทุกๆ สัปดาห์เช่นกัน
พอ Ike เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น Ike ได้ตัดสินใจที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ (West Point) ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่สร้างความเสียใจให้กับคุณแม่ของเขาอย่างมาก เนื่องจากตัวเธอนั้นไม่ชื่นชอบในสงคราม
อย่างไรก็ดี ไอเซนอาวร์ ก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการทหารอย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นอาชีพที่ขัดเกลาและสร้างตัวตนของเขาไปอีกหลายสิบปี
📌 วีรบุรุษแห่งกองทัพ นายพลห้าดาวหนึ่งในห้าคนของประวัติศาสตร์
ไอเซนอาวร์ถือว่าเป็นหนึ่งนายทหารระดับเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกองทัพสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่การเข้าเรียนในรุ่นที่โดดเด่นอย่างหาตัวจับยาก ปี 1915
ที่กล่าวว่า รุ่นปี 1915 เป็นรุ่นดาวเด่นที่หาตัวจับยาก เพราะว่า ในรุ่นนี้ได้สร้างนายพลสูงถึง 59 คน และที่ยิ่งโดดเด่นขึ้นไปอีก คือ มีนายพลถึงสองคนในรุ่นนี้ ที่จะได้กลายเป็น “นายพลห้าดาว (five-stars general) ที่ในประวัติศาสตร์อเมริกา มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่เคยได้รับยศนี้
แน่นอนว่า Ike ก็เป็นหนึ่งในสองคนในรุ่น ที่ได้รับยศนี้ จากผลงานการนำทัพเข้าบุก French North Africa และการเป็นผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของกองทัพสัมพันธมิตรในทวีปยุโรป ในวันที่เข้าบุกชายหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเข้าต่อสู้กับกองทัพนาซี
ยุทธการนี้ เป็นยุทธการสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าของสงคราม ให้มาเข้าทางฝั่งสัมพันธมิตร และถือเป็นยุทธการบุกโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยในวันนั้นมีทหารบุกขึ้นฝั่งที่นอร์มังดีถึง 160,000 นาย และเพิ่มขึ้นเป็นกว่าล้านนายเมื่อยึดชายฝั่งได้แล้ว
เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียด ความสำเร็จในการบุกครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากแค่ความเชี่ยวชาญในด้านการทหารและยุทธวิธีเท่านั้น ตัวผู้บังคับบัญชาการสูงสุดอย่างไอเซนทาวร์ ต้องมีความสามารถในการจัดการกับกองทัพขนาดยักษ์ และความสามารถที่จะทำ “หน้าที่ทางการทูต” ในการประสานกองทัพพันธมิตรที่มีความหลากหลายให้เข้ากันได้
ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของ Ike โดยเฉพาะทักษะการทูต ที่ไม่ว่าเขาจะเจอกับใคร เขาก็มักจะสร้างความประทับใจ และทำให้ผู้คนชื่นชอบในตัวของเขาอยู่เสมอ จนความชื่นชอบเหล่านี้ ถูกนำมาใช้เป็นแคมเปญในตอนสมัยที่เขาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯด้วย ในชื่อแคมเปญที่ว่า “I like Ike”
อีกหนึ่งความโดดเด่นที่ถูกแสดงออกมาในยุทธวิธีครั้งนี้ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ความสามารถในการใช้ภาษาและการประชาสัมพันธ์ ผ่านถ้อยแถลงเพื่อปลุกใจนายทหารก่อนวันเข้าบุกนอร์มังดี หนึ่งประโยคอมตะตอนท้ายของถ้อยแถลง ได้ถูกรังสรรค์ไว้ว่า “เราจะไม่ยอมรับสิ่งอื่นใด ที่ยิ่งหย่อนไปกว่าชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (We will accept nothing less than full victory)”
"We will accept nothing less than full victory"
📌 สงครามไม่ใช่คำตอบเสมอไป
ก่อนหน้าที่ Ike จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนปรามาสว่า Ike เป็นคนที่ไร้ประสบการณ์ทางการเมือง และอาจจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้จากที่เติบโตมาจากกองทัพ
แต่ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป Ike ก็ยิ่งได้พิสูจน์ตัวเองมากขึ้นว่า ตัวเขามีแนวทางในการจัดการปัญหาอย่างประนีประนอม และไม่ต้องการที่จะทำสงครามกับใคร ถ้าไม่ใช่ทางเลือกสุดท้ายจริงๆ สะท้อนออกมาผ่านการนำประเทศฝ่าวิกฤติความขัดแย้งระดับนานาชาติหลายครั้ง
ไม่ว่าจะเป็น การเข้าร่วมเจรจาสงบศึกชั่วคราวของเกาหลี การหลีกเลี่ยงที่จะส่งทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ความพยายามในการผ่อนคลายสงครามเย็นกับโซเวียด การช่วยประนีประนอมระหว่างจีนและไต้หวัน
และอีกหนึ่งวิกฤติที่เราจะหยิบมาเล่าเพิ่มเติม ก็คือ การคลี่คลายวิกฤติคลองสุเอซระหว่างอียิปต์กับสหราชอาณาจักร-ฝรั่งเศส-อิสราเอล
โดยวิกฤติเกิดขึ้นในช่วงปี 1956 เมื่อประธานาธิบดีของอียิปต์ในตอนนั้นอย่าง นายญะมาล อับดุนนาศิร (Gamal Abdel Nasser) ได้ทำแปรรูปบริษัทที่ดูแลคลองสุเอซให้คืนกลับไปเป็นของรัฐอียิปต์
แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้น เพราะว่า การสร้างคลองสายนี้นั้น ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งที่ย่นทั้งระยะเวลาและมีปลอดภัยมากกว่าเดิม (ซึ่งมันก็เป็นเส้นทางสำคัญเรื่อยมา ดูอย่างตอนที่เรือ Ever Given เข้าไปขวางในปี 2021 ก็ส่งผลต่ออุปทานโลกอย่างมาก)
ซึ่งการที่อียิปต์เข้ามาเปลี่ยนคลองสุเอซเป็นของรัฐ ก็สร้างความไม่พอใจกับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสอย่างมาก ด้วยกลัวว่าจะถูกขัดขวางการขนส่งผ่านช่องทางนี้ ในตอนนั้นจึงได้ทำการแอบประชุมลับกัน โดยอิสราเอลเข้าร่วมการประชุมด้วย และตัดสินใจที่จะเข้าบุกโจมตีประเทศอียิปต์
อย่างไรก็ดี การบุกครั้งนี้ ไม่ได้ผ่านการรับรู้ของสหรัฐฯ ด้วย จึงทำให้สหรัฐฯ ต้องปวดหัวกับปัญหานี้ไม่น้อย เพราะว่า การเข้าบุกครั้งนี้ถือเป็นการทำลายข้อตกลงที่จะไม่มีการบุกโจมตีประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ที่พวกเขาเคยตกลงกันไว้
แต่ครั้น จะให้โทษพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ อย่างสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสอย่างเต็มปาก ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดูไม่ดีเท่าไหร่ จึงเกิดเป็นเกมการทูตครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์
หนึ่งข้อกังวลที่อยู่ในใจสหรัฐฯ ในวิกฤติครั้งนี้ตลอด ก็คือ ทำอย่างไรเพื่อที่จะถ่วงดุลอำนาจของสหภาพโซเวียดในตะวันออกกลางให้ได้ เนื่องจาก อาวุธที่อียิปต์มีในตอนนั้นก็มาจากโซเวียด
นอกจากนี้ ณ ตอนนั้นก็ยังมีวิกฤติในประเทศฮังการี ที่โซเวียดกำลังบุกโจมตีอยู่ ถ้าอเมริกาเข้าร่วมบุกอียิปต์ ก็อาจจะเป็นข้ออ้างให้กับทางโซเวียดเข้าบุกฮังการีอย่างเต็มตัว หรืออาจจะถึงขั้นกลายเป็นสมรภูมิที่รุนแรงจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ในบริเวณตะวันออกกลางก็ได้
ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาผ่านวาทศิลป์และการทูตนี้ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมาย อาทิ
  • การที่สหรัฐฯ กับโซเวียดโหวตเห็นตรงกันในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
  • การที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษต้องโทรมาขอร้องให้อเมริกาให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับอังกฤษ
  • หรือการแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการประชุม UN พร้อมไปกับ การแถลงการณ์ของประธานาธิบดีนอกที่ประชุม หนึ่งในประโยคสำคัญที่แสดงว่าพวกเขาจะไม่ร่วมเข้าบุกอียิปต์อย่างแยบยลคือ “กฎต้องควบคุมรัฐชาติ ไม่ต่างจากที่ควบคุมประชาชน (Law must govern nations just as it must govern free people)” เป็นการสื่อว่าพวกเขาจะใช้กฎมากกว่าที่จะใช้ความรุนแรง
แต่ถึงในยุคของ Ike จะไม่มีการนำทัพอเมริกาเข้าสู่สงครามโดยตรง แต่พวกเขาก็ใช้จ่ายงบพัฒนาอาวุธและป้องกันประเทศสูงมากถึงเกือบ 10% ต่อ GDP เทียบกับประมาณ 3% ในปัจจุบัน
ซึ่งเหตุผลของการใช้จ่ายในอาวุธมากขนาดนี้ แท้จริงแล้วก็เพื่อนำอาวุธมาเป็นส่วนหนึ่งบนโต๊ะเจรจา ว่าถ้าพวกเขาจำเป็นต้องมีสงครามจริงๆ พวกเขาก็พร้อมเสมอ และทาง Ike ก็คิดว่านี่เป็นสิ่งที่จำเป็นพวกควบคุมการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์
ก่อนที่ต่อมา ในสุนทรพจน์ร่ำลาตำแหน่ง เขาจะแสดงความกังวลเล็กน้อยว่า อาวุธเหล่านี้มีโครงสร้างผลประโยชน์ที่ซับซ้อนที่จำเป็นต้องระแวดระวังในการจัดการ และต้องมีประธานาธิบดีที่พร้อมจะปฏิเสธการทำสงคราม
📌 การเมืองกับเรื่องในประเทศ
แนวทางการประนีประนอมของ Ike ยังแสดงออกมาผ่านนโยบายภายในประเทศ หนึ่งในเรื่องสำคัญคือ การประนีประนอมในนโยบาย New Deal ที่ถือเป็นตัวชูโรงของพรรคเดโมแครตที่เป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามมาอย่างยาวนาน
ระยะเวลา 20 ปีที่ประเทศอยู่ภายใต้ผู้นำของพรรคเดโมแครต ทำให้สมาชิกของพรรครีพับรีกันส่วนหนึ่ง คิดว่า อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนแนวทางนโยบายอีกครั้ง กลับเข้าสู่การเป็น อนุรักษ์นิยมอย่างเต็มตัว (เน้นตลาดเสรีและโดดเดี่ยวสหรัฐออกจากเศรษฐกิจโลก)
แต่ Ike ก็พิสูจน์ว่าตัวเขาเองเป็นรีพับรีกันที่ยืดหยุ่น และดำเนินแนวทางแบบอนุรักษ์นิยมประนีประนอม (Moderate Conservative) โดยไม่เพียงแต่ยังคง New Deal ไว้เท่านั้น แต่ยังได้ขยายการใช้จ่ายบางส่วนด้วย
อย่างการขยายขอบเขตประกันสังคม (Social Security) ไปให้ประชากรอีกเป็นล้านคน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็น เพราะช่วงชีวิตวัยเด็กที่เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่มีหลักประกันรองรับความผิดพลาด
หรือ การสร้างทางด่วนระหว่างรัฐ (Interstate Highway System) ระยะทางกว่า 40,000 ไมล์ ที่นอกจากจะเป็นโครงการใช้จ่ายขนาดใหญ่แล้ว ก็ยังแสดงถึงความสามารถในการรวมแต่ละรัฐให้ยอมรับโครงการนี้
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นโครงการที่เหมือนจะมีรัฐเป็นศูนย์กลางออกมาบ้าง แต่ในแง่ของงบดุลของประเทศ Ike ก็ยังเชื่อว่าควรจะรักษาให้อยู่ในระดับสมดุล และไม่ยอมลดอัตราภาษีเมื่อมีคนร้องขอในภาวะที่เศรษฐกิจชะงักเล็กน้อย
ซึ่งที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า Ike เชื่อว่า การใช้จ่ายหรือวางแผนจากศูนย์กลางที่มากเกินไปเป็นสิ่งไม่ดี และมีความคล้ายคลึงกับโซเวียดในขณะนั้น ซึ่งมันสะท้อนต่อมาในการบริหารงานด้านอื่นด้วย ที่หลายครั้งตัว Ike เลือกที่จะคอยยืนมองอยู่ด้านหลัง และปล่อยให้คนที่เกี่ยวข้องเป็นคนจัดการกันเอง
แต่ทว่า ก็มีเหตุการณ์ที่ Ike ได้แสดงถึงความเด็ดขาดเช่นกัน เมื่อถึงคราวจำเป็น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีกฎหมาย “Brown vs. Board of Education ออกมา โดยกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ทำให้ยกเลิกการแบ่งแยกโรงเรียนสำหรับคนผิวสีและผิวขาว
ประเด็นเกิดขึ้นที่เมือง Little Rock, Arkansas เมื่อผู้ว่าการรัฐในขณะนั้น ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่จะอนุญาตให้คนทุกเชื้อชาติเข้าเรียนโรงเรียนเดียวกัน จนส่งทหารเข้าไปปิดโรงเรียนไว้ว่า ห้ามนักเรียนผิวสีเข้าไปเรียน
ซึ่งทาง Ike ก็ได้ทำการตอบโต้ โดยการส่งทหารจากทางการเข้าไปเช่นกัน เพื่อเป็นการยืนยันเด็กผิวสีที่เลือกเรียนที่โรงเรียนแห่งนั้น จะได้เข้าเรียนจริงๆ
ในยุคของไอเซนอาวร์ ถือเป็นยุคที่อเมริกาได้เห็นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก จากการที่ เขาได้สร้างบรรยากาศแห่งความสงบและความมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะการไม่นำอเมริกาเข้าสู่สงครามโดยตรงกับประเทศไหนเลยในช่วงนี้ และก็ได้สร้างแนวทางทางการทูตที่มีส่วนหล่อหลอมตัวตนของอเมริกาไม่น้อย
ท้ายที่สุด ไอเซนฮาวร์ยังเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมในยุคสมัยของเขาอย่างท่วมท้น จากการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายทั้งสองวาระ และก็ยังมีการจัดอันดับผลงานของเขาโดย C-SPAN ที่ก็ได้ให้คะแนนประธานาธิบดี ผู้ซึ่งเป็นนายพลห้าดาวคนนี้ ไว้สูงเป็นลำดับที่ห้าตลอดกาลด้วย
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
หนังสือ The Age of Eisenhower by William I. Hitchcock
fbclid=IwAR19_jYnbZTvD3LaPdEo5GHrauqRweUcyCjUm5OzmyJMvK8xQDkfuRJLSh0
โฆษณา