26 ธ.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Ronald Reagan กับการ “พลิกวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ”
1
โรนัลด์ วิลสัน เรแกน (Ronald Wilson Reagan) ประธานาธิบดีคนที่ 40 ของอเมริกา (1981-1989) ผู้เป็นอดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ นักแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อดัง และผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย
2
Ronald Reagan กับการ “พลิกวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ”
เรแกนเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีที่โดดเด่นและได้รับความนิยมสูง มีหลายคนยกให้เขาเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคนหนึ่ง ในช่วงที่เขาเข้ารับตำแหน่ง สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
1
ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงประวัติความเป็นมา เรื่องราวที่สำคัญของ Reagan และเขามีการดำเนินนโยบายอย่างไรในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐในครั้งนี้
📌 ประวัติของ Ronald Reagan
Reagan ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยยูเรกาในปี 1932 ด้วยปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต และได้ทำงานเป็นผู้จัดรายการวิทยุในรัฐไอโอวาอยู่เป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้น เขาย้ายไปที่รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อเป็นนักแสดง และเขาก็เริ่มมีชื่อเสียงจากการปรากฏตัวในภาพยนตร์ฮอลลีวูดกว่า 50 เรื่อง
1
เรแกนเคยสนับสนุนพรรคเดโมแครต (Democratic Party) แต่เขาเห็นว่าพรรคเดโมแครตอ่อนข้อให้กับคอมมิวนิสต์มากเกินไป ซึ่งเรแกนนั้นพยายามที่จะต่อต้านอิทธิพลของระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้เขาได้หันไปสนับสนุนพรรครีพับลิกันแทน (Republican Party) และนั่นคือ จุดเริ่มต้นในชีวิตทางการเมืองของเขา
หลังจากที่อาชีพการแสดงของเรแกนจบลง เขากลายเป็นที่รู้จักและโด่งดังในฐานะโฆษกของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ด้วยความที่เขาเคยเป็นนักแสดงทำให้เขามีความสามารถในการพูดที่เหนือชั้น ทุกคำปราศรัยของเขามักจะดึงดูดและเข้าถึงผู้ฟังได้ง่าย ทำให้คนฟังรู้สึกอบอุ่นและชื่นชม นั่นจึงทำให้เขาได้รับฉายาว่า The Great Communicator หรือนักสื่อสารผู้ยิ่งใหญ่
เขายังได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ชื่อว่า “A Time for Choosing” เพื่อสนับสนุนนาย แบร์รี โกลด์วอเตอร์ ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ถึงแม้ว่าการหาเสียงจะไม่สำเร็จ แต่เป็นการจุดประกายชื่อเสียงทางการเมืองของเรแกนอย่างสิ้นเชิง
ในสุนทรพจน์ได้กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่รัฐบาลควรมีส่วนร่วมน้อยที่สุด และเรแกนได้เผยถึงหนึ่งในอุดมการณ์ของเขาที่ว่า “รัฐบาลไม่สามารถควบคุมเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องควบคุมประชาชน และพวกเขารู้ว่าเมื่อใดที่รัฐบาลกำหนดให้ทำเช่นนั้นจะต้องใช้กำลังและการบีบบังคับเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์” ชาวแคลิฟอร์เนียต่างประทับใจมุมมองของเขา ทำให้เขาได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะนักการเมือง และส่งผลให้ในปี 1967 เขาได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในที่สุด
หลังจากที่เรแกนดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ เขาเป็นตัวเลือกที่ชัดเจนที่สุดในการเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาสามารถเอาชนะได้ด้วยคะแนนนิยม 51% และทำให้เขาได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 40 ของประเทศ ในวัย 69 ปี ซึ่งเป็นบุคคลที่อายุมากที่สุดในสมัยนั้นที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (หลังจากนั้นมีนายโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ที่เข้ารับตำแหน่งด้วยอายุ 70 และ 78 ปี)
📌 Reaganomics
ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เรแกนได้เข้ารับตำแหน่งในช่วงจังหวะที่สหรัฐกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายด้าน ทำให้เขาได้ริเริ่มวิธีการแบบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางการเงินที่หลายคนเรียกว่า Reaganomics หรือนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นไปทางด้านอุปทาน
แต่ในช่วงต้นของการดำเนินนโยบาย เศรษฐกิจสหรัฐกลับถดถอยลงไปอีก ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่สนใจประชาชน คะแนนความนิยมของเรแกนลดลงไป 35% และผู้คนต่างเรียกเหตุการณ์นั้นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเรแกน (Reagan Recession) แต่เรแกนก็ยังคงยืนยันที่จะดำเนินนโยบายต่อไป
ซึ่งเราจะมาเจาะลึก 4 นโยบายหลักๆ ที่เรแกนใช้ในการแก้ปัญหาครั้งนี้กัน
📌 นโยบายลดภาษีอากร
เรแกนได้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับทุกคนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด โดยในปี 1982 มีการลดภาษีเงินได้จาก 70% เป็น 50% และลดเหลือ 28% ในปี 1987 อีกทั้งยังลดภาษีนิติบุคคลจาก 48% เป็น 34% เขามีทฤษฎีว่าเมื่อมีการลดภาษีเป็นเงินลดลง รัฐบาลจะได้รายได้ชดเชยจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยการลดภาษีสำหรับคนรวยจะช่วยทำให้พวกเขาจับจ่ายใช้สอยและมีการนำเงินไปลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งในระยะยาวแล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
📌 การลดบทบาทของรัฐบาล
เรแกนเชื่อว่ารัฐบาลควรลดการแทรกแซงในทุกภาคส่วนเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินไปอย่างเสรี ดังที่เขาได้กล่าวว่า “รัฐบาลไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่รัฐบาลคือตัวปัญหา” ทำให้เขาได้ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่ประธานาธิบดีคนก่อนๆ เคยควบคุมไว้ อย่างเช่นให้ความยืดหยุ่นแก่สายการบินในการกำหนดราคาค่าโดยสารหรือมีส่วนลดค่าโดยสาร หรือการยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติลดลงจาก 36$ และ $1.25 มาอยู่ที่ $12 และ 82 เซ็นต์ ภายในเวลา 5 ปี
การยกเลิกข้อจำกัดในด้านราคา นำไปสู่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง ทำให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ มีการเติบโต อีกทั้งผู้บริโภคยังได้ประโยชน์จากบริการที่เพิ่มขึ้นและราคาสินค้าที่ต่ำลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวได้ดีขึ้น
ประโยชน์ของผู้บริโภคจากการยกเลิกกฎระเบียบ
📌 ลดการใช้จ่ายของรัฐบาล
เรแกนมีการลดเงินทุนสำหรับสวัสดิการในประเทศหลายโครงการ รวมถึงประกันสังคม โครงการฝึกงาน โครงการเพื่อสุขภาพ การศึกษา รวมทั้งสิ้น 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการเติบโตของการใช้จ่ายภาครัฐลดลงจาก 4% ในสมัยของประธานาธิบดีคนก่อนมาเป็น 2.5% ซึ่งนโยบายนี้ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งเรแกนนำเงินไปใช้ในการสนับสนุนการป้องกันประเทศในการต่อต้านคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตแทน
📌 การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
รัฐบาลกลางสหรัฐมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่พุ่งสูงถึง 21.5% ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมอย่างภาคการผลิตและการก่อสร้าง หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐถูกกดดันให้ผ่อนคลายนโยบาย แต่เขาเชื่อว่าถ้าลดอัตราดอกเบี้ยลงจะไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ และจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก ซึ่งต่อไปเราจะมาดูกันว่าในระยะยาวแล้ว Reaganomics ส่งผลกับเศรษฐกิจสหรัฐไหนด้านไหนบ้าง
1
📌 ผลของ Reaganomics
หลังจากปี 1983 เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยนักเศรษฐศาสตร์บางคนได้กล่าวว่า นโยบายของเรแกนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ
ในระยะเวลา 8 ปีที่เรแกนดำรงตำแหน่ง GDP ขยายตัวถึง 26% โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยของ GDP อยู่ที่ 3.6% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 2.7% ในช่วงแปดปีก่อนหน้า ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 14 เท่า มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านตำแหน่ง อัตราการว่างงานลดลงเฉลี่ย 1.7% ต่อปี และเขาสามารถแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่เคยสูงถึง 13.5% ให้เหลือเพียง 4.1%
Unemployment Rate
GDP Growth
แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายการลดภาษีอากรทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก และส่งผลให้เกิดภาระหนี้สินมหาศาล นักวิจารณ์บางคนยังกล่าวว่านโยบายของเขาสนับสนุนเพียงแค่กลุ่มผู้มีรายได้สูง โดยมีการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้น 4.83% ในขณะที่รายได้ของกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเติบโตเพียงแค่ 2.4% และ 1.8% ตามลำดับ
📌 บทสรุป
เราได้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากในยุคของเรแกน จากการที่เขาได้ริเริ่มดำเนินนโยบายใหม่และได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมอย่างล้นหลาม ส่งผลให้ในปี 1984 เขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ไปอย่างขาดลอย ด้วยการชนะการเลือกตั้ง 49 มลรัฐฯ จากทั้งหมด 50 มลรัฐฯ
ถึงแม้ว่ามาตรการสำหรับนโยบาย Reaganomics จะไม่สำเร็จทั้งหมด และอาจมีคำวิจารณ์หรือผลกระทบในด้านลบอยู่บ้าง แต่ผลที่ออกมาได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในช่วงเวลาสั้นๆ ผลผลิตมวลรวมในประเทศเติบโตขึ้นมาก ผู้คนหลายล้านคนมีงานทำและมีรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายหรือดำเนินธุรกิจของตัวเองภายใต้กฎระเบียบที่ลดลง ซึ่งนั่นทำให้เรแกนได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง
ผู้เขียน : ศศิชา เป่าแตรสังข์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference
โฆษณา