13 ธ.ค. 2021 เวลา 01:58 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 10: "ล ลิง" จั๊กๆ🐵🍌
🕛 ระยะเวลาการอ่าน 5-7 นาที
สัตว์แสนซนที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษรไทยวันนี้ มักจะมาพร้อมภาพจำของความคล่องแคล่วในการปีนป่ายและความฉลาดเฉลียวผสมความเกรี้ยวกราดในบางครั้ง
โดยความฉลาดและความสามารถในการใช้มือหยิบจับนั่นนี่นับเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของสัตว์กลุ่มไพรเมท (prmate) ที่เป็นหนึ่งในญาติของมนุษย์
แต่ ล.ลิง ไต่ราว เจ้าของเรื่องวันนี้จะค่อนข้างขี้อายกว่าลิงที่เราคุ้นเคยกัน จะเป็นลิงตัวไหนไปลองอ่านกันดู
สัตว์กลุ่มลิงหรือกลุ่มไพรเมตเป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีวิวัฒนาการสูงโดยมีสมองขนาดใหญ่และเจริญดี มีเล็บแบนทั้งนิ้วมือและนิ้วเท้า มีพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อน โดยอาศัยและห้อยโหนอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่
ไพรเมตที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ ลิง 🐒ค่าง ชะนี อุรังอุตัง กอริลล่า🦍 ชิมแพนซี🦧 รวมถึงมนุษย์🤸‍♂️
โดยลิงที่พบในประเทศไทยมี 5 ชนิด ได้แก่ ลิงวอก ลิงกัง ลิงเสน ลิงแสมและลิงไอ้เงี๊ยะ
ลิงทั้ง 5 ชนิดของไทยนั้นจัดเป็น “ลิงโลกเก่า” (superfamily Cercopithecoidea) แต่บางครั้งก็พบว่ามีชื่อของลิงชนิดที่ 6 ถูกนับรวมมาด้วยนั่นก็คือ ‘ลิงลม’
แต่ความจริง ‘ลิงลม’ หรือ ‘นางอาย’ ไม่ได้เป็นลิงโลกเก่า เพราะถูกจัดอยู่ในวงศ์ Lorisidae ซึ่งเป็นกลุ่มลิงที่เก่าแก่ (เก่ากว่าลิงโลกเก่าไปอีก) มีวัฒนาการมากว่า 5,000 ปี โดยจัดเป็นญาติใกล้ชิดกับ ‘ลีเมอร์’ ที่น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาจากหนังมาดากัสการ์นั่นเอง
ชื่อไทยของสัตว์ชนิดนี้มีที่มา โดยชื่อ ‘ลิงลม’ นั้นมีที่มาจากความว่องไวในการหลบหนีอย่างเงียบ ๆ ส่วนชื่อ ‘นางอาย’ นั้นมาจากเมื่อเวลาตกใจแล้วมักจะเอาแขนซุกใบหน้าไว้
https://en.wikipedia.org/wiki/File:Slow_loris.jpg
ทั้งนี้ ปกติในตอนกลางวันลิงลมจะค่อนข้างเชื่องช้าจนมีชื่อสามัญ (common name) ภาษาอังกฤษว่า Slow lorises แต่จะว่องไวในเวลากลางคืน
โดยความเชื่องช้านั้นมาจากการที่ลิงลมมีอัตราการเผาผลาญที่ค่อนข้างต่ำเพียง 40% เมื่อเทียบกับค่าปกติในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นที่มีขนาดตัวเท่า ๆ กัน เทียบได้กับตัวสลอธเลยทีเดียว🦥
ในขณะที่อาหารที่ลิงลมกินนั้นเป็นอาหารที่มีแคลอรีค่อนข้างสูง ดังนั้น การที่ระบบเผาผลาญต่ำนั้นอาจมีความสัมพันธ์กันกับความจำเป็นในการกำจัดสารพิษออกจากอาหารอาหารที่กินเข้าไป ตัวอย่างเช่น ลิงลมสามารถกินเปลือกกลูตาซึ่งมีพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
ตาใส ๆ แต่แอบซ่อนไว้ด้วยพิษ🙈
ลิงลมเป็นสัตว์ป่าที่มีรูปร่างหน้าตาน่ารัก มีจุดเด่นคือดวงตากลมโตดูเศร้า ๆ หน้าสั้น หูเล็ก ลำตัวป้อมกลมอ้วนและมีขนนุ่มสั้นเหมือนกำมะหยี่
ในเวลากลางวันจะซ่อนหน้าเพื่อหลบแสงสว่างโดยใช้ใบไม้บังหรืออยู่ในโพรงไม้และจะออกหากินบนต้นไม้เฉพาะในเวลากลางคืน
ลิงลมกินได้ทั้งพืชและสัตว์ (omnivore) อาหารของลิงลม ได้แก่ ผลไม้ ยางไม้ (gums) และแมลงในสัดส่วนเล็กน้อย โดยลิงลมจะออกหากินตัวเดียว เว้นแต่มีลูกอ่อนจะเอาลูกเกาะติดอกไปด้วย
ปัจจุบัน ลิงลมแบ่งออกเป็น 8 ชนิด โดยที่ทุกชนิดนั้นกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดีย จนถึงหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยพบได้ในทุกภาค
ใบหน้าของลิงลมแต่ละชนิดจะมีลายเส้นขีดที่แตกต่างกัน
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/2e/Smit.Faces_of_Lorises.jpg
ภายใต้หน้าตาใสๆ แบ๊วๆ นั้นรู้หรือไม่ว่าลิงลมเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวในโลกที่มีพิษ!
โดยสารพิษดังกล่าวหลั่งออกมาจากต่อมใต้รักแร้ของลิงลม และสันนิษฐานว่าพิษนี้ถูกใช้ในการป้องกันตัว ซึ่งสารพิษที่พบมีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อ เมื่อลิงลมเลียต่อมพิษของตนเองสารพิษก็จะไปผสมกับน้ำลาย
และหากโดนลิงลมกัดก็จะทำให้แผลที่เกิดขึ้นหายช้าและกลายเป็นหลุมเนื้อตายในภายหลัง มนุษย์ที่โดนลิงลมกัดอาจได้รับอันตรายจากพิษที่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากการที่ทางเดินหายใจตีบแคบลงทำให้หายใจลำบากและขาดอากาศหายใจได้
โดยทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ถอดรหัสพันธุกรรมและพบว่าโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้น้ำลายแมวเป็นโปรตีนชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในสารพิษของลิงลม
การค้นพบนี้ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า แมวอาจผลิตโปรตีนที่ทำให้มนุษย์แพ้ขึ้นมาด้วยเหตุผลทางวิวัฒนาการแบบเดียวกันกับลิงลม คือเพื่อป้องกันขับไล่ศัตรูให้ถอยห่าง
ลิงลมกับการลักลอบล่า
ลิงลมจัดเป็นสัตว์ป่าที่มีการลักลอบขายกันมาก ทั้งการจับไปขายเป็น exotic pet เนื่องมาจากหน้าตาที่น่ารัก โดยผู้ขายหรือผู้เลี้ยงมักจะตัดเขี้ยวของลิงลมออกเสียก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้คนเลี้ยงได้รับพิษหรือบาดเจ็บจากการกัดของลิงลมอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้
ซึ่งการทำแบบนี้อาจทำให้ลิงลมบางตัวติดเชื้อและตายจากขั้นตอนนี้ได้ เพราะมักจะโดนตัดเขี้ยวหรือฟันหน้าทั้งซี่บนและล่างออก โดยที่เหลือรากฟันไว้ นอกจากการล่าเพื่อขายเป็นสัตว์เลี้ยงแล้วบางพื้นที่มีการจับนำไปทำเป็นยาบำรุงตามความเชื่ออีกด้วย
ปัจจุบันลิงลมถูกคุกคามจากการถูกล่าและการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ โดยลิงลม 2 ชนิด ของประเทศไทยได้แก่ ลิงลมเหนือ (Nycticebus bengalensis) และลิงลมใต้ (Nycticebus coucang) ถูกจัดอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable)
ทั้งนี้ ลิงลมจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และถูกจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของ CITES คืออนุญาตให้ค้าได้แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายหรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ในธรรมชาติ
อ้างอิง
โฆษณา