20 ธ.ค. 2021 เวลา 01:08 • สิ่งแวดล้อม
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 11: "ส. เสือ"🐯
🕛ระยะเวลาการอ่าน 7-9 นาที
สัตว์ที่ซ่อนอยู่ในตัวอักษรไทยในตอนนี้ เป็นนักล่าที่มาพร้อมลายอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งมีประโยชน์ในการพรางตัวเพื่อช่วยในการออกล่าเหยื่อ สัตว์ตัวนั้นก็คือ “ส เสือดาว-คะนอง”
เสือและแมวจัดอยู่ในวงค์ Felidae เป็นสัตว์กินเนื้อ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 วงศ์ย่อย ได้แก่ 🐯'วงศ์ย่อยเสือหรือ superfamily Pantherinae' และ 🐱'วงศ์ย่อยแมว หรือ superfamily Felinae'
🐯สัตว์ในวงศ์ย่อยเสือหรือวงศ์ย่อยเสือใหญ่ ได้แก่ เสือโคร่ง🐅 เสือดาว 🐆เสือจากัวร์ เสือลายเมฆและสิงโต🦁 เป็นต้น ซึ่งนับว่ามีจำนวนชนิดไม่มากเมื่อเทียบกับสัตว์ในวงศ์ย่อยแมว
🐱โดยสัตว์ในวงศ์ย่อยแมวหรือวงศ์ย่อยเสือเล็ก ประกอบด้วยสัตว์ที่หลากหลายกว่าซึ่งบางชนิดอาจมีชื่อไทยว่าเสือแต่ความจริงแล้วจัดอยู่ในวงศ์ย่อยแมว อาทิ เสือปลา เสือไฟ เสือพูม่า เสือชีตาร์ เซอร์วัล Lynx แมวป่า ไปจนถึงแมวบ้านที่มีทั้งแมวพันธุ์ดั้งเดิมและแมวที่ได้รับการผสมพันธุ์เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าในปัจจุบัน🐈🐈‍⬛
สำหรับประเทศไทยพบสัตว์ในวงศ์เสือและแมว จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ เสือกระต่าย แมวลายหินอ่อน แมวป่าหัวแบน เสือดาวและเสือดำ เสือโคร่ง เสือปลา เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว
ซึ่ง 8 จาก 9 ชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในสถานภาพที่ถูกคุกคาม มีเพียงแมวดาวเท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ในสถานะที่ไม่น่าเป็นห่วง ทั้งนี้ ปัจจัยคุกคามที่ทำให้สัตว์ในวงศ์เสือและแมวนั้นมีประชากรลดน้อยลงนั้นมีหลายประกาน แต่สองปัจจัยหลักก็คือ 'การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย' และ 'การถูกลักลอบล่า'🔫
เสือในสื่อ📰🐅
ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวจะเห็นว่ามีเสือ 2 ชนิดที่เป็นที่พูดถึง ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วเหตุผลของการเป็นข่าวเกี่ยวโยงโดยตรงกับปัจจัยคุกคามของเสือทั้งสองปัจจัยตามที่กล่าวมา
ผู้เข้าชิงคนแรกก็คือ ‘เสือดำ’ จากแฮชแท็ก #อย่าให้เสือดำต้องตายฟรี
ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นมากว่า 3 ปี จากกรณีนักธุรกิจบริษัทชื่อดังถูกจับขณะลักลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และปัจจุบันแม้ว่าคดีจะสิ้นสุดโดยศาลฎีกาพิพากษาแล้วเสร็จ...
แต่ชีวิตเสือดำและสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่ถูกล่าก็ไม่อาจฟื้นคืนมา
ผู้เข้าชิงคนที่สองก็คือ ‘เสือปลา’ จากแฮชแท็ก #savechana
กรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่ถูกภาคประชาชนออกมาการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อตกลงที่จะต้องจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็นในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม เพราะการปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นผังเมืองสีม่วงย่อมส่งผลให้ประชาชนในพื้นไม่สามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อีกต่อไป
ซึ่งการที่คนยังได้รับผลกระทบขนาดนี้แล้วพืชและสัตว์ในพื้นที่ๆ จะกระทบขนาดไหน เพราะป่าก็เปรียบเสมือนบ้านของพืชและสัตว์เหล่านั้น
ดังนั้น หากมี ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ เกิดขึ้นแทนที่ ‘พื้นที่ชุ่มน้ำจะนะ’ หนึ่งในสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ระดับโลกอย่าง "เสือปลา" ก็อาจจะหายไปตลอดกาลก็เป็นได้
จากผู้เข้าชิงทั้งสองแอดขอเลือกเขียนเรื่อง.....‘เสือปลา’ ก็แล้วกันนะคะ เพราะจากการลองหาข้อมูลก็พบว่าเจ้าเสือปลานี่ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจให้เล่าถึงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว (ส่วนเสือดำหรือเสืออื่น ๆ ขอยกยอดไปปีเสือแล้วกันเนอะ)
🐯🎣เสือปลาหรือเสือแผ้ว (Prionailurus viverrinus)
Photo by Karen Povey Via:https://news.mongabay.com/2016/08/out-of-sight-out-of-mind-asias-elusive-fishing-cat-in-trouble/
ดูจากหน้าแล้วเสือปลาเหมือนแมวมากว่าเสืออีกนะ ซึ่งความจริงแล้วเจ้าเสือปลาก็จัดเป็นหนึ่งใน 40 สายพันธุ์ของแมวป่าทั่วโลก โดยมีชื่อภาษาอังกฤษคือ fishing cat ซึ่งก็มีที่มาจากการที่อาหารโปรดของเสือปลาคือปลานั่นเอง
ขนาดของเสือปลาเมื่อเทียบกับสัตว์ในวงศ์เสือใหญ่ มนุษย์และแมวบ้าน https://www.ted.com/talks/ashwin_naidu_the_link_between_fishing_cats_and_mangrove_forest_conservation/transcript#t-36666
การที่เสือปลามีอาหารโปรดเป็นปลานั้นก็มาจากถิ่นอาศัยนั่นเองเพราะเสือปลามักอาศัยอยู่ป่าบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ป่าละเมาะ ป่าพรุ ป่าชายเลน หรือป่าเสื่อมโทรมใกล้ชุมชน ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เสือปลาจะกินอาหารจำพวก ปลา ปู หอย หนู นก กบ งูและสัตว์ขนาดเล็ก
เสือปลามีถิ่นที่อยู่อาศัยกระจายในวงกว้างแต่ไม่ต่อเนื่องในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ป่าของประเทศอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ริมทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา พื้นที่ปากแม่น้ำสาละวิน อิรวดี สินธุโขง และสินธุ
ในประเทศไทย มีรายงานการพบในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและตามแนวชายฝั่งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยและในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ระหว่างปี พ.ศ. 2550-2559 ได้มีรายงานการพบในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำนอกพื้นที่คุ้มครองในจังหวัดพิษณุโลก อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดสงขลา และบริเวณป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานีอีกด้วย
แผนที่แสดงถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลาที่มีการรายงานในประเทศไทย ที่มา:https://www.thainationalparks.com/species/fishing-cat
รักน้ำ💧 รักปลา🐟 รักเสือปลา🐯
ความคิดที่ว่า ‘แมวไม่ชอบน้ำ’ ดูเหมือนจะไม่จริงเสมอไป อย่างน้อยก็มีเสือปลาเป็นแมวที่รักการว่ายน้ำและจับปลาเป็นชีวิตจิตใจ และได้มีการปรับตัวเพื่อให้เหมาะสมกับการอาศัยและหากินใกล้แหล่งน้ำ
ลำตัวของเสือปลามีขนาดที่ใหญ่กว่าแมวบ้านทั่วไปสองเท่า รูปร่างอ้วนหนาบึกบึน แม้ว่าดูเผินๆ จะไม่ต่างกับญาติ ๆ แมวและเสือเท่าไหร่
แต่เสือปลามีหัวกลมและยาวซึ่งมีส่วนช่วยในการดำน้ำ มีหางที่ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับแมวทั่วไป โดยมีความยาวเพียงครึ่งหนึ่งของลำตัวเนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้หางเพื่อการทรงตัวดังนั้นหางสั้น ๆ นี้จึงมีประโยชน์ที่ใช้เป็นหางเสือขณะว่ายน้ำ
เสือปลามีดวงตากลมโต และมีหูที่สั้นและกลมซึ่งขณะดำน้ำเสือปลาจะจะพับหูเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู นอกจากนี้ยังมีมีขนสองชั้นซึ่งจะช่วยให้อบอุ่นและแห้งในขณะว่ายน้ำ
เท้าหลังของเสือปลามีกรงเล็บที่ยื่นออกเล็กน้อยและสามารถหดกลับได้ซึ่งช่วยในการยึดเกาะพื้นและนำปลาขึ้นจากน้ำ และแม้ว่าจะมีเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างนิ้วเท้าเท้าเป็นพังผืด แต่การวิจัยพบว่าไม่มีการพัฒนามากไปกว่าของ Bobcat ดังนั้น พังผืดนี้จึงไม่ได้ช่วยในการว่ายน้ำของเสือปลาสักเท่าไหร่🐾
https://fishingcat.org/the-fishing-cat/
ไร้พื้นที่ชุ่มน้ำ ไร้ปลา ก็ไร้เสือปลา😔
เสือปลาเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่แต่เดิมพบเห็นได้ทั่วไปในที่ลุ่มภาคกลาง แต่ต่อมาการขยายของเมืองทำให้ที่อยู่อาศัยของเสือปลาลดลงและปัจจุบันเหลือประชากรเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และกระจัดกระจาย
การสูญเสียและการแย่งแยกพื้นที่ชุ่มน้ำภายในแผ่นดินและตามแนวชายฝั่ง การแผ้วถางเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพื้นที่การเกษตร การทำเกษตรเคมีทำให้แหล่งน้ำเป็นพิษ การทำนากุ้ง ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลาจากการที่เสือปลาไปฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านทำให้เสือปลาบางส่วนถูกชาวบ้านฆ่าตาย นอกจากนี้ การระบายน้ำเสีย มลภาวะ การจับสัตว์น้ำมากเกินไปก็เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการลดลงของประชากรเสือปลาเช่นกัน
การจะอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าชั้นบนสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเสือปลานั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติร่วมกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของเสือปลาต่อระบบนิเวศที่หากรักษาไว้ได้ก็จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป
ตลอดจนนโยบายของภาครัฐบางประการ เช่น นโยบายการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบใหม่อาจสร้างแรงจูงใจเชิงลบให้เจ้าของที่ดินต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเสือปลาและสัตว์ชนิดอื่น ดังนั้นจึงควรเพิ่มแรงจูงใจเชิงบวกที่จะยกเว้นการจัดเก็บภาษีในที่ดินที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์
ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงสังคมและวัฒนธรรมควบคู่ไปการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทั้งคนและสัตว์อยู่รอด #SaveChana #SaveFishingCat
อ้างอิง
โฆษณา