Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storyteller
•
ติดตาม
24 ธ.ค. 2021 เวลา 10:14 • ประวัติศาสตร์
“พุกาม (Bagan)” จุดเริ่มต้นการสร้างจักรวรรดิพม่า
3
"ความศรัทธา เปรียบเสมือนพลังความเชื่อมั่นอันแรงกล้า ซึ่งจะก่อให้เกิดความปราถนาจนไปถึงจุดที่สามารถรังสรรค์สิ่งมหัศรรย์ขึ้นมาได้"
4
ในยุคโบราณ ศรัทธาเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการขับเคลื่อนและก่อกำเนิดสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม...
4
ความเชื่อได้ผลักดันให้มนุษย์เนรมิตสิ่งต่างๆ ก่อร่างรวมเป็นอารยธรรมอันยิ่งใหญ่...
1
เช่นเดียวกันกับดินแดนที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้...
ดินแดนที่ตั้งอยู่ ณ คาบสมุทรใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...
ดินแดนที่เป็นศูนย์รวมความหลากหลายของชาติพันธุ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก...
1
ดินแดนที่ก่อร่างขึ้นมาภายใต้กระแสเศรษฐกิจในยุคโบราณ...
ดินแดนที่ถูกผลักดันด้วยศรัทธาจนรังสรรค์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันยิ่งใหญ่และทรงคุณค่า...
ดินแดนซึ่งถูกขนานนามว่า ทะเลเจดีย์ อันเป็นศูนย์รวมความเชื่อพุทธศาสนาแห่งยุคสมัย...
1
ดินแดนซึ่งรวมอำนาจอันหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว...
และนี่ คือเรื่องราว "พุกาม (Bagan)" จุดเริ่มต้นการสร้างจักรวรรดิพม่า
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
4
1
ภาพจาก Travel.Earth
ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องราวแบบจริงๆจังๆ แน่นอนครับว่า ผมจะพาทุกท่านไปโฟกัสกับลักษณะภูมิศาสตร์ของเรื่องราวกันก่อน เพราะมันสำคัญและเป็นตัวกำหนดแทบทุกอย่างเลยล่ะครับ...
พื้นที่ที่เป็นฉากหลังของเรื่อง ในปัจจุบันเราจะรู้จักกันในชื่อประเทศเมียนมาร์หรือพม่านั่นเอง (ซึ่งผมขออนุญาตเรียกว่าพม่าแล้วกันนะครับ)
ลักษณะของพื้นที่พม่า ให้ทุกท่านจินตนาการภาพเหมือนเพชรที่มีปลายแหลมเฟี้ยวยาวๆ ด้านล่าง
ในส่วนของภูมิประเทศให้ทุกท่านลองนึกภาพตาม โดยจะมีแนวเทือกเขาหลักๆ 3 เทือกเขา คือ...
ทางด้านเหนือ เป็นเทือกเขาปัตไก ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างพม่ากับอินเดีย...
ถัดลงมาจากปัตไก จะเป็นทางด้านตะวันตก ซึ่งมีเทือกเขาอาระกันโยมาตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่...
1
อีกด้านหนึ่ง คือ ด้านตะวันออกเฉียงใต้ จะมีเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งหลายท่านคงคุ้นเคยกันเพราะตรงจุดนี้จะเป็นพรมแดนระหว่างพม่ากับไทยนั่นเองครับ...
1
ส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดจากตะนาวศรีขึ้นไปจะเป็นที่ราบสูงฉาน...
และในส่วนสุดท้าย ตอนกลางของดินแดนนี้จะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งมีแม่น้ำ 3 สายหลักไหลผ่าน
1
ด้านซ้ายจะเป็นแม่น้ำชินด์วิน...
ด้านขวาจะเป็นแม่น้ำสาละวิน...
1
และตรงกลางจะเป็นแม่น้ำอิระวดี...
ซึ่งแม่น้ำเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งก่อกำเนิดชุมชน อาณาจักร และอารยธรรมทั้งหลายแหล่ของดินแดนแห่งนี้นั่นเอง
ภาพจาก Wikipedia (ลักษณะภูมิประเทศของพม่า)
ใช่แล้วครับ ผมใช้คำว่าทั้งหลายแหล่ ดินแดนที่เราเรียกว่าพม่านี้ไม่ได้มีแค่คนพม่าเท่านั้น!
แต่ดินแดนแห่งนี้เป็นจุดศูนย์รวมความหลากหลายของผู้คนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว
โดยมีกลุ่มคนหรือกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 135 กลุ่ม...
1
1
ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ในหลายๆ กลุ่มต่างมีความขัดแย้งกันเอง และพยายามแย่งชิงความเป็นใหญ่ในดินแดนแห่งนี้
แต่ที่มีจำนวนมากๆ บทบาทเด่นๆ และมีความทะเยอทะยานสูง จะมีดังนี้ครับ...
"พม่า" ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่องในครั้งนี้ มีจำนวนมากที่สุด...
"มอญ" เป็นตัวละครรองที่เป็นคู่กัดกับตัวละครเอกอยู่เสมอ...
"ไทใหญ่" ถือว่าเป็นตัวละครที่เหมือนเงียบๆ แต่ความเป็นจริงคือยิ่งใหญ่พอตัวเลยล่ะครับ...
1
"ยะไข่" นี่ก็เด่นพอสมควร ฟัดกับตัวละครหลักค่อนข้างบ่อย...
2
ที่เหลือจะเป็น คะฉิ่น, ชิน, คะยา, กะเหรี่ยง ฯลฯ ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างน้อย แต่ก็สร้างปัญหาให้กับตัวละครหลักๆ ได้เหมือนกัน...
1
เอาล่ะครับ ทุกท่านน่าจะพอมองเห็นภาพรวมว่า ในดินแดนนี้มีกลุ่มคนที่ได้สร้างวัฒนธรรมของตนเองขึ้น และแน่นอนว่า การครอบครองความเป็นใหญ่ในดินแดนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อมีกลุ่มคนหลายก๊กหลายเหล่าที่พร้อมฟัดกันอยู่ตลอดเวลาขนาดนี้
แต่ในช่วงเริ่มแรกนั้น ได้มีคนกลุ่มหนึ่งผงาดโดดเด่นและสร้างสรรค์อาณาจักรตนเองขึ้นมา
1
คนกลุ่มนั้นคือ "พยู (Pyu)" และความรุ่งเรืองของดินแดนนี้ได้เริ่มต้น ณ อาณาจักรของพวกพยู ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ "ศรีเกษตร"
1
ภาพจาก Myanmar Tour Company (ความหลากหลายของผู้คนในพม่า)
กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าพยู มีการสันนิษฐานครับว่าอพยพมาจากอินเดีย แล้วเข้ามาตั้งรกรากสร้างบ้านแปงเมืองที่พม่าตอนล่าง
ซึ่งในเวลาต่อมากระแสเศรษฐกิจของโลกก็เริ่มมา การค้าก็เริ่มบูม...
อินเดียได้มีการติดต่อทำการค้ากับโรมัน โดยตัวของอินเดียนั้นต้องการทองเป็นอย่างมาก แล้วเผอิญว่าในพม่าตอนล่างนั้นมีทองอยู่เป็นตันๆ เลยทีเดียว!
การค้าที่คึกคักนี้ ทำให้พยูเริ่มมีความมั่งคั่งขึ้นจนสร้างอาณาจักรศรีเกษตรของตนเองขึ้นมาในที่สุด...
แต่ช้าก่อนครับ! การค้าของอินเดียไม่ได้แค่ทำให้พยูและศรีเกษตรรุ่งเรืองเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังคงมีมหาอำนาจอีกสองผงาดขึ้นมาเช่นกัน...
2
ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรของมอญทางตอนใต้และอาณาจักรของยะไข่ทางตะวันตก
ซึ่งศรีเกษตรของพยูจะอยู่ระหว่างกลางเป็นไส้แซนด์วิชของทั้งสองอาณาจักรนี้...
1
แต่ศรีเกษตรและกองกำลังของพยูมีความแข็งแกร่งและโดดเด่นกว่าชาวบ้านชาวช่อง จึงตัดสินใจเข้าตีและยึดอาณาจักรของมอญทางตอนใต้ได้สำเร็จ!
1
เมื่อยึดตอนใต้ซึ่งติดกับทะเลได้ มันยิ่งทำให้การค้าของพยูมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ความมั่งคั่งและความยิ่งใหญ่ก็ทวีคูณมากขึ้นไปอีก
ศรีเกษตรและพวกพยูถือได้ว่าเป็นมหาอำนาจที่ควบคุมดินแดนแห่งนี้อยู่นานพอสมควร แต่ในท้ายที่สุดช่วงปลายมีความแตกแยกและขัดแย้งกันภายใน (หลักฐานในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย) จึงทำให้ศรีเกษตรเริ่มเสื่อมลง
ผนวกกับมีมหาอำนาจรายใหม่อย่างน่านเจ้าได้ขยายอิทธิพลของตัวเองลงมาและเข้าตีศรีเกษตรจนแตก เลยทำให้พวกพยูทิ้งเมืองศรีเกษตรแล้วอพยพขึ้นไปทางเหนือในที่สุด
1
เรื่องราวของพยูหลังจากนี้ค่อนข้างเป็นปริศนาและมืดมนทีเดียวครับ เพราะเหมือนอยู่ๆ พวกนี้จะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เลยทีเดียว...
2
ซึ่งหลังจากยุคของพยู ก็ได้มีกลุ่มคนหน้าใหม่ที่ผงาดขึ้นมามีอำนาจ...
กลุ่มคนหน้าใหม่ที่ผมกำลังจะพูดถึง คือ พม่านั่นเองครับ
โดยมีการสันนิษฐานว่าพวกพยูที่หายไป จริงๆ แล้วไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่มีการผสมผสานเชื้อชาติเข้ากับคนกลุ่มอื่นๆ จนกลายเป็นพม่านี่แหละ (ย้ำว่าเป็นเพียงแค่การสันนิษฐานเท่านั้น...)
1
ซึ่งกลุ่มคนพม่านี่แหละ ก็ได้เริ่มรังสรรค์อาณาจักรของตัวเองขึ้นมา...
1
และแล้วตำนานอันยิ่งใหญ่ในชื่อ "พุกาม" ก็ได้เริ่มต้นขึ้น...
2
ภาพจาก UNESCO (โบราณสถานของพยู)
ภาพจาก TripAdvisor (เจดีย์บาวบาวกยีของพยู)
ภาพจาก Classical Numismatics (เหรียญของพยู แสดงให้เห็นถึงความเป็นพ่อค้าที่ก้าวหน้ามากทีเดียวเพราะมีการใช้เหรียญเงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแล้ว)
ภาพจาก Google Map (ที่ตั้งอาณาจักรพุกาม)
การเริ่มต้นของพุกามนั้นยังคงเป็นเรื่องปริศนาครับ เพราะมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก แต่คาดเดาได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นมาในช่วงปลายของศรีเกษตร ประมาณ ค.ศ.108 ซึ่งที่ตั้งของอาณาจักรอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำชินด์วินมาบรรจบกับแม่น้ำอิระวดี
2
พุกามเริ่มมีหลักฐานเป็นเรื่องเป็นราวแบบชัดเจนก็ปาเข้าไปในช่วง ค.ศ.1044 !
2
โดยในช่วงเวลาแห่งความว่างเปล่านั้น เรารู้เพียงแค่ว่ามีกษัตริย์ปกครองอยู่ 40 องค์ และมีชื่อปรากฏเพียงองค์เดียว (กษัตริย์สอระหัน)
5
คราวนี้เรามาที่ช่วงเวลา ค.ศ.1044 กันดีกว่าครับ เพราะในช่วงเวลานี้เรื่องราวของพุกามเริ่มมีหลักฐานปะติดปะต่อได้ เพราะเป็นช่วงที่เริ่มพีคและกำลังสร้างตัวเป็นมหาอำนาจในดินแดนภายใต้การนำของกษัตริย์ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพม่า...
กษัตริย์ผู้มีนามว่า "อนุรุท" หรือทุกท่านอาจจะคุ้นเคยกันในชื่อ "อโนรธา (Anawrahta)"
ภาพจาก Living + Nomads (อโนรธา)
ในช่วงก่อนที่อโนรธาจะขึ้นเป็นกษัตริย์ การเมืองภายในของพุกามค่อนข้างรุนแรงเชือดเฉือนกัน เพราะมีการแย่งชิงอำนาจภายในกันตลอดเวลา
1
ซึ่งบิดาของอโนรธาในตอนแรกนั้นเป็นกษัตริย์ แต่ทว่า โดนแย่งชิงอำนาจและถูกเตะออกจากบัลลังก์พร้อมถูกบังคับให้บวช
1
ทำให้ช่วงชีวิตวัยเด็กของอโนรธาจึงค่อนข้างล้มลุกคลุกคลานพอสมควร แต่พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก็ได้เข้าไปเป็นทหารในกองทัพและไต่เต้าจนมีอำนาจพอตัวเลยทีเดียว...
หลังจากนั้น อโนรธาก็ได้ท้าดวลกับผู้ที่แย่งอำนาจบิดาของตัวเอง (ซึ่งไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นใคร)
โดยในท้ายที่สุด ก็สามารถตัดหัวเสี้ยนหนามคนนั้น พร้อมริบอำนาจกลับมาแล้วคืนให้บิดาของตนเอง...
1
แต่ทว่า บิดาไม่เอาคืน อโนรธาจึงต้องขึ้นเถลิงอำนาจเองในที่สุด
และนี่ คือเรื่องราวการขึ้นสู่อำนาจของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพุกาม (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตำนานและเรื่องเล่ามากกว่าจะมีหลักฐานแบบตัวอักษรร่วมสมัยอยู่จริงๆ)
พอขึ้นสู่อำนาจแล้ว อโนรธาซึ่งเป็นคนที่เจนจัดทางด้านการทหารพอสมควรก็ทำการปฏิรูปกองทัพของพุกามครั้งใหญ่ครับ
ไม่ว่าจะเป็นการนำยุทธวิธีการรบแนวใหม่เข้ามาอย่างการใช้ช้างศึกในกองทัพ...
1
หรือการเพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบของทหาร ใครฝ่าฝืนคำสั่งทางทหารคือตัดหัวลูกเดียว!
2
ความเด็ดขาดที่ว่านี้ทำให้กองกำลังของพุกามพัฒนาจนกลายเป็นม้ามืดรายใหม่ที่เข้ามาเป็นผู้เล่นแย่งชิงดินแดน...
ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้ออยู่หลายรายทีเดียวครับ...
1
ทั้งอาณาจักรของไทใหญ่ทางตะวันออก...
1
อาณาจักรของยะไข่ทางตะวันตก...
และอาณาจักรมอญทางใต้ (ซึ่งหลังจากศรีเกษตรแตกก็ได้ลืมตาอ้าปากและผงาดขึ้นมาใหม่)
2
โดยพุกามก่อนหน้านี้จะเป็นอย่างไรนั้นเราไม่รู้ แต่ที่รู้คือเมื่อเข้าสู่ยุคของอโนรธา พุกามก็พร้อมเป็นเสือหนุ่มที่จะขย้ำศัตรูให้สยบแทบเท้า
และแล้วสลักระเบิดของสงครามก็เริ่มเคลื่อนที่ เมื่อพระสงฆ์มอญรูปหนึ่งได้เดินทางมาถึงพุกาม
1
พระสงฆ์รูปนี้มีนามว่า "ชิน อรหัน (Shin Alahan)" ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับพุกามในอนาคตข้างหน้า...
1
ภาพจาก PiPiWiki (ชิน อรหัน)
ชิน อรหันได้เดินเท้าจากทางใต้มาจนถึงพุกามและได้เข้าพบอโนรธา พร้อมสามารถเทศน์และหว่านล้อมให้อโนรธาเลื่อมใสและเกิดศรัทธาในความเชื่อแบบพุทธเถรวาท
1
ความเชื่อดั้งเดิมของพุกามจะยึดโยงอยู่กับเรื่องของผีและบรรพบุรุษ...
แต่เมื่ออโนรธาหันไปฝักใฝ่ในความเชื่อแบบใหม่อย่างพุทธเถรวาท ในเวลาไม่นานความเชื่อนี้ก็ได้ครอบคลุมไปทั่วพุกามจนกลายเป็นความเชื่อหลัก
คราวนี้เมื่อเกิดความเชื่อแบบใหม่ ก็ต้องมีคัมภีร์อย่างพระไตรปิฎกเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าพระไตรปิฎกนั้นกษัตริย์มอญเป็นผู้ครอบครองอยู่...
อโนรธาจึงติดต่อไปที่กษัตริย์มอญว่า "ขอพระไตรปิฎกให้พวกเราซักเล่มหน่อยสิ" แต่กษัตริย์มอญตอบกลับว่า "อย่าหวังว่าจะได้เลย พวกป่าเถื่อน!" (มอญในช่วงนั้นมองพุกามและพม่าเป็นเพียงพวกคนเถื่อน)
1
คราวนี้ก็เป็นเรื่องสิครับ อโนรธาจึงเปิดสงครามกับมอญอย่างฉับพลันเพื่อสั่งสอนให้รู้ว่าใครเป็นใคร! โดยส่งขุนพลเอกอย่าง "จานซิตา (Kyanzittha)" เข้าสู่สมรภูมิรบ...
ด้วยแสนยานุภาพของกองทัพพุกาม ในเวลา 3 เดือนก็สามารถถล่มเมืองสะเทิม (Thaton) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมอญจนราบพนาสูร พร้อมกวาดต้อนสมบัติและเชลยศึกกลับพุกามครั้งใหญ่...
1
และแน่นอนครับว่า อโนรธาก็ได้พระไตรปิฎกมาเป็นตัวแทนในการชี้นำทางความเชื่อของพุกามในที่สุด...
1
1
การถล่มมอญ ทำให้ชื่อเสียงของอโนรธาและพุกามดังสะเทือนไปทั่วทั้งยุทธภพของพม่ารวมถึงดินแดนข้างเคียงเลยทีเดียว
เมืองเล็กๆ ต่างพากันมาสวามิภักดิ์ ส่วนเมืองใหญ่ๆ ก็เริ่มเกรงๆ...
3
หลังจากชนะมอญ ความทะเยอทะยานของอโนรธาก็ทวีคูณยิ่งขึ้นครับ มีการยกทัพไปเปิดศึกกับยะไข่ทางตะวันตก ซึ่งแม้จะไม่ได้ชนะแบบเด็ดขาดเนื่องจากเสียเปรียบด้านภูมิประเทศ (แถบยะไข่จะเป็นภูเขาสูงค่อนข้างสลับซับซ้อน) แต่ก็ทำให้ยะไข่ยอมอ่อนโอนและอยู่ใต้อำนาจของพุกามในที่สุด
หลังจากนั้นมีการเปิดศึกกับไทใหญ่และสามารถจบแบบเดียวกับยะไข่...
ทำให้ในขณะนี้ พุกามกลายเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในพม่า และตัวของอโนรธาก็สามารถรวบรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของคนพม่า
4
คราวนี้แหละครับ จักรวรรดิของพม่าก็ได้เริ่มต้นขึ้น และอโนรธาไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น มีการเปิดสงครามข้ามภูมิภาค โดยเข้าไปตีอาณาจักรแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และตีไปจนถึงเขมร ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงปลายของยุคเขมรพระนคร
และแน่นอนครับว่า การเข้าไปตีดินแดนต่างๆ เหล่านี้ พม่าไม่ได้นำเพียงดาบและหอกไปเท่านั้น แต่ยังนำความเชื่อในพุทธศาสนาแบบเถรวาทไปด้วย ทำให้ดินแดนที่ทัพพม่าย่ำกรายลงไปไม่ได้มีเพียงกลิ่นคาวเลือด แต่กลับเกิดดอกผลของพุทธเถรวาทในดินแดนเหล่านั้นขึ้นมาด้วย...
1
ความเชื่อของพุทธแบบเถรวาทก็ได้กระจายและเริ่มบูมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพราะพุกามนี่แหละครับ...
ภาพจาก Word Press (จักรวรรดิพุกาม)
พุกามกลายเป็นศูนย์รวมความเชื่อของพุทธแบบเถรวาทภายใต้การนำของอโนรธาและชิน อรหัน...
ไม่เพียงเท่านั้นเศรษฐกิจของพุกามก็คึกคักไม่แพ้กัน...
หากทุกท่านดูที่ตั้งของพุกามอีกครั้งจะเห็นได้ว่า พุกามตั้งอยู่หลังเทือกเขาอาระกันโยมา ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นเขตเงาฝน (ฝนตกน้อยเพราะอยู่หลังเขา) ทำให้จุดที่พุกามตั้งค่อนข้างร้อนและแห้งแล้งสุดๆ!
1
แต่ถึงอย่างไร เศรษฐกิจของพุกามกกลับรุ่งเรืองแบบพรวดพราด นั่นก็เพราะว่าจุดที่พุกามตั้งอยู่เป็นเส้นทางการค้าทางบกที่เรียกว่า "เส้นทางสายไหม (Silk Road)"
1
แสดงให้เห็นครับว่า เศรษฐกิจของพุกามไม่ได้ยึดโยงอยู่กับการเกษตร แต่ยึดโยงอยู่กับการเป็นจุดแวะพักและขนถ่ายสินค้าตามเส้นทางการค้าขนาดใหญ่นี้
ความมั่งคั่งบวกกับความศรัทธาในพุทธเถรวาท ก็ได้ทำให้พุกามมีการรังสรรค์สถาปัตยกรรมแห่งความเชื่ออย่างเจดีย์ให้ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ดอยู่ทั่วอาณาจักร
4
เรียกได้ว่า อโนรธาเป็นกษัตริย์ผู้รวมดินแดนพม่าให้เป็นปึกแผ่นและเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ให้กับพุกามอย่างแท้จริง
2
แต่วาระสุดท้ายของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่นี้ก็เป็นปริศนาลึกลับเช่นเดียวกัน...
บ้างก็ว่าถูกลอบสังหาร...
1
บ้างก็ว่าถูกควายป่าขวิดจนเสียชีวิต...
1
ซึ่งสาเหตุจริงๆ จะเป็นอย่างไรไม่สามารถรับรู้ได้แน่ชัด
และหลังจากการสิ้นของอโนรธา โอรสคือ "สอลู" ก็ได้ขึ้นเถลิงอำนาจต่อ
แต่สอลูประสบการณ์ค่อนข้างน้อย ทำให้ต้องการผู้มีประสบการณ์เข้ามาช่วยชี้แนะ ซึ่งหวยก็ไปตกที่อดีตขุนพลคนสำคัญในยุคของอโนรธาอย่าง "จานซิตา"
ภาพจาก The World Travel Guy (เจดีย์ชเวซีโกน สร้างขึ้นเพื่อฉลองในการชนะมอญ)
ภาพจาก istock (เจดีย์ในพุกาม)
ภาพจาก Thaiger (เจดีย์ในพุกาม)
คราวนี้เรามาพูดถึงต้นกำเนิดของชายที่ชื่อว่าจานซิตากันดีกว่า...
โดยเทือกเถาเหล่ากอของจานซิตาเป็นปริศนาพอๆ กับการตายของอโนรธาเลยทีเดียว แต่ก็มีการสันนิษฐานว่าจานซิตาแท้จริงแล้วเป็นโอรสของอโนรธาเองนั่นแหละ! โดยฝั่งแม่เป็นเจ้าหญิงจากอินเดียที่ถูกนำตัวมาถวายอโนรธา (แต่ก็มีการสันนิษฐานอีกหลายทางว่าจานซิตาไม่ได้มีสายเลือดของอโนรธา)
ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ จานซิตาก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อยกว่าอโนรธาเลยล่ะครับ
ในช่วงที่กษัตริย์สอลูครองอำนาจ แน่นอนครับว่าบารมีและออร่าไม่สามารถเทียบกับพ่อได้อยู่แล้ว ทำให้หลายๆ เมืองที่แต่ก่อนยอมอโนรธา แต่บัดนี้ก็เริ่มกระด้างกระเดื่องกับสอลู ซึ่งตัวการใหญ่ที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือมอญ...
3
โดยวันดีคืนดีมอญก็ตัดสินใจประกาศแยกตัวออกจากพุกาม ทำให้สอลูต้องยกทัพไปถล่มมอญเพื่อสยบความซ่า...
แต่ทว่า กองทัพพุกามในครั้งนี้กลับแพ้มอญอย่างยับเยิน ซ้ำร้ายกว่านั้นคือกษัตริย์สอลูโดนจับตัดหัวอย่างอนาจ
ชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้มอญก็เริ่มได้ใจและไม่รอช้า ยกทัพเข้าตีพุกามในทันที!
แต่แล้ว ฮีโร่ก็ได้ปรากฏตัวขึ้น จานซิตาได้ใช้ประสบการณ์ระดับปรมาจารย์ในสนามรบป้องกันเมืองอย่างเหนียวแน่นและใช้แผนดักโจมตีทัพมอญจากด้านหลังจนแตกกระเจิง
เหล่าขุนนางและผู้มีอำนาจในพุกามต่างเล็งเห็นแล้วล่ะครับว่า "ไม่มีใครเหมาะจะเป็นกษัตริย์เท่าคนนี้อีกแล้วล่ะ"
1
ว่าแล้วจานซิตาก็ถูกยกขึ้นเป็นกษัตริย์ของพุกามในที่สุด...
แน่นอนครับว่า จานซิตามีออร่าและบารมีความเป็นผู้นำไม่น้อยกว่าอโนรธาเลย จึงทำให้เมืองที่เคยกระด้างกระเดื่องก็กลับโอนอ่อนอีกครั้งในที่สุด
1
และยุคพีคของพุกามก็กลับมาอีกครั้ง ซึ่งในยุคของจานซิตาเรียกได้ว่าพุกามเจริญถึงขีดสุดยิ่งกว่ายุคอโนรธาทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และสถาปัตยกรรม
1
ความศรัทธาอันแรงกล้าได้เนรมิตเจดีย์ในพุกามจำนวนมหาศาลซึ่งมีการคาดว่าอาจแตะถึงระดับ 10,000 แห่ง! (ปัจจุบันเหลือรอดอยู่ประมาณ 4,000 แห่ง)
2
ซึ่งพุกามหลังยุคจานซิตาก็เจริญอย่างต่อเนื่องไปเกือบ 200 ปี
จนกระทั่ง มัจจุราชอันน่าเกรงขามนามว่า "มองโกล" ได้เริ่มย่างกรายเข้ามาในพม่า...
ภาพจาก World Top Top (วิหารธรรมยางยี วิหารที่ใหญ่ที่สุดในพุกาม)
ภาพจาก Locationscout (วิหารสัพพัญญู)
ภาพจาก Bagan Travel (วิหารสัพพัญญู)
ภาพจาก Myanmar River (วิหารอนันดา
ในช่วงยุคสุดท้ายนั้น พุกามอยู่ภายใต้การนำของกษัตริย์นรสีหบดี ซึ่งมีสตอรี่ที่น่าสนใจทีเดียวครับ...
โดยนรสีหบดีค่อนข้างจะเป็นกษัตริย์ที่โหดร้ายเอาเรื่อง ใครขัดใจคือถูกลงโทษหรือไม่ก็ตาย อีกทั้งมีการสร้างเจดีย์มิงกลาเซดี (Mingalazedi Pagoda) ซึ่งถือได้ว่าเป็นเจดีย์องค์สุดท้ายของพุกาม
แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ภายในเจดีย์มีจารึกที่บันทึกกิตติศัพท์สุดแฟนตาซีของนรสีหบดีไว้ว่า...
3
"นรสีหบดีเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ บัญชาการกองทัพพุกามจำนวนกว่า 36 ล้านคน!
"นรสีหบดีร่างกายเหนือมนุษย์มาก สามารถซัดแกงกะหรี่ได้วันละ 300 จาน!"
2
"อีกทั้งนรสีหบดียังเต็มไปด้วยเสน่ห์เกินห้ามใจ มีสนมกว่า 3,000 คน!"
1
ในช่วงของนรสีหบดีถือได้ว่าพุกามเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อมและอ่อนแอลง ผนวกกับมหาอำนาจต่างชาติรายใหม่ได้เริ่มผงาดขึ้นมา โดยมหาอำนาจรายนี้เป็นผู้ที่เคยมีอิทธิพลกว้างไกลกว่าครึ่งโลก
ทุกท่านคงคุ้นเคยกับชื่อมองโกล นักรบแห่งทุ่งหญ้าในมองโกเลีย ชื่อเสียงความแข็งแกร่งและความน่ากลัวของมองโกลนั้น ขจรขจายไปทั่วทั้งตะวันออกกลางหรือแม้กระทั่งในยุโรป
และในช่วงปลายของพุกามนั้นตรงกับสมัยของผู้นำมองโกลคือกุบไลข่าน ซึ่งกรีธาทัพจนสามารถโค่นล้มราชวงศ์ของจีนและยึดครองจีนได้สำเร็จ!
1
เมื่อได้จีนแล้ว กุบไลข่านจึงส่งสัญญาณไปที่อาณาจักรต่างๆ รอบๆ จีนให้รู้ว่า "ตอนนี้จีนเป็นของมองโกลแล้ว เพราะฉะนั้น พวกเอ็งทั้งหลายจงมาสวามิภักดิ์ต่อมองโกลซะ!" พร้อมส่งทูตไปทวงบรรณาการจากอาณาจักรต่างๆ
1
แน่นอนครับว่า พุกามก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ทว่า นรสีหบดีปฏิเสธ "เรื่องอะไรจะยอม!" พร้อมจับคณะทูตของกุบไลข่านตัดหัวทั้งขบวน!
1
เป็นเรื่องสิครับทีนี้ เมื่อนรสีหบดีไปกระตุกหนวดพญาเสืออย่างกุบไลข่านเข้า
ว่าแล้วทัพมองโกลอันหฤโหดก็เข้าตีพม่า ซึ่งอาจจะตึงมือมองโกลกว่าที่อื่นๆ หน่อยเนื่องจากทัพมองโกลไม่คุ้นชินกับภูมิประเทศของพม่าที่เป็นป่าและภูเขา อีกทั้งอากาศก็ค่อนข้างร้อน แต่ในท้ายที่สุดพุกามก็ไม่สามารถต้านทานทัพมองโกลอันแข็งแกร่งได้ ท้ายที่สุดก็ถูกตีจนเข้าประชิดนครหลวง...
นรสีหบดีตกใจแทบสิ้นสติ หนีตายอพยพออกจากเมืองในทันที!
และแล้วพุกามอันยิ่งใหญ่ก็ถูกทัพมองโกลเข้าทำลายจนย่อยยับ...
เมื่อศูนย์กลางอำนาจถูกทำลายไป เหล่าชาติพันธุ์และอาณาจักรที่เคยอยู่ภายใต้พุกามก็พากันแยกตัวออกไป...
2
มอญ ยะไข่ ไทใหญ่ ต่างประกาศเอกราชและสร้างอาณาจักรตนเองขึ้นมาอีกครั้ง...
จักรวรรดิพม่าอันยิ่งใหญ่อายุกว่าพันปีอย่างพุกามก็ถึงกาลอวสาน...
ภาพจาก Pinterest (เจดีย์มิงกลาเซดี)
ภาพจาก ZbrushCentral (ภาพเสมือนกุบไลข่าน)
ภาพจาก TravelQuest (ทัพมองโกลถล่มพุกาม)
แม้พุกามจะล่มสลายลงไป แต่มรดกและอิทธิพลยังคงอยู่...
อิทธิพลของพุกามคือได้ทำให้ความเชื่อแบบพุทธเถรวาทเข้าครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...
มรดกที่ยังคงอยู่ คือ สถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่อย่างเจดีย์จำนวนมหาศาลซึ่งรังสรรค์โดยการขับเคลื่อนของศรัทธาอันแรงกล้า...
และการก่อกำเนิดจนรุ่งเรืองของพุกามได้ทำให้ชนชาติพม่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในดินแดนแห่งความหลากหลายนี้...
ถึงแม้จักรวรรดิของพม่าอย่างพุกามจะหมดบทบาทลงไปและทำให้เหล่าชนคนพม่ากระจัดกระจายไปอยู่ใต้ปกครองของคนกลุ่มอื่นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง...
แต่ทว่า การล่มสลายของพุกามหาใช่จุดจบของคนพม่าไม่ การล่มสลายของพุกามกลับเป็นฐานให้พวกเขาก้าวขึ้นไปอีกขั้น...
1
และในกาลอนาคตข้างหน้า พวกเขาจะกลับมาเป็นตัวละครสำคัญและสั่นสะเทือนภูมิภาคอีกครั้ง…
ภายใต้ชื่อแห่งอำนาจ ที่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิพม่าครั้งที่สอง...
"ตองอู (Toungoo)"
2
References
Aung - Twin, Michael. A History of Myanmar Since Ancient Times : Traditions and Transformations. London, Reaktion Books, 2012.
Goh, Geok Yian. Bagan and the World : Early Myanmar and Its Global Connections, ISEA, 2017.
Hall, D.G.E. A History of South - East Asia. New York : St. Martin's Press, 1981.
130 บันทึก
111
13
87
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
South East Asia Story
130
111
13
87
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย