Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storyteller
•
ติดตาม
26 มี.ค. 2022 เวลา 10:17 • ประวัติศาสตร์
“ตองอู (Toungoo)” มหาอำนาจจากขุนเขา
ในกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งในโลกปัจจุบันและโลกยุคโบราณนั้น...
ผู้ที่เข้าถึงและควบคุมเศรษฐกิจทั้งเรื่องการผลิต การค้า และตลาด ต่างเป็นผู้ที่สามารถเข้ากุมอำนาจทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม...
เช่นเดียวกับหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาที่ไร้ซึ่งทรัพยากร...
หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ใจกลางดงมหาอำนาจที่ฟาดฟันกันอยู่ตลอดเวลา...
หมู่บ้านซึ่งรวบรวมผู้คนที่แตกกระจายให้กลับมาเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว...
หมู่บ้านซึ่งพัฒนาตัวเองแบบเงียบๆ จนกลายเป็นอาณาจักรที่เริ่มมั่นคง...
อาณาจักรที่เริ่มมั่นคงนี้ ก็ได้เกิดความทะเยอทะยานจนมองเห็นช่องทางในการควบคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ...
1
และอำนาจทางเศรษฐกิจก็ได้นำพาให้อาณาจักรแห่งนี้ก้าวทะยานไปสู่การควบคุมอำนาจทางการเมืองในระดับภูมิภาคและสร้างความเป็นจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ในที่สุด...
การล่มสลายของพุกาม...
กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการค้าโลก...
เกมการแย่งชิงอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง...
สงครามระดับข้ามภูมิภาค...
และนี่ คือเรื่องราวอันโลดโผนของจักรวรรดิพม่าครั้งที่สอง
"ตองอู" มหาอำนาจจากขุนเขา
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
3
เรื่องราวนี้เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากบทความ "พุกาม" จุดเริ่มต้นการสร้างจักรวรรดิพม่า หากท่านใดยังไม่เคยอ่าน สามารถย้อนกลับไปอ่านก่อนได้เพื่อความต่อเนื่องและได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น (แต่จะอ่านเฉพาะบทความนี้ก็ได้เช่นกัน)
หลังจากการล่มสลายของพุกามซึ่งเป็นจักรวรรดิพม่าครั้งที่หนึ่ง ด้วยน้ำมือของมองโกล ทำให้กลุ่มชนคนพม่าต่างกระจัดกระจายกันออกไป
1
ศูนย์กลางอำนาจที่ล่มสลายไปอย่างพุกาม ทำให้กลุ่มชาติพันธ์อื่นนอกจากพม่าได้ลืมตาอ้าปาก สร้างอาณาจักรและความยิ่งใหญ่ของตนเองขึ้นมา
โดยเฉพาะทางด้านเหนือได้กลายเป็นเขตอิทธิพลของพวกไทใหญ่ซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ที่อังวะ (Inwa)...
1
และทางด้านใต้ได้กลายเป็นเขตอิทธิพลของมอญซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ที่พะโค (Bago)...
ทั้งสองอาณาจักรในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นมาเฟียใหญ่ที่ห้ำหั่นกันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงสมัยสงครามสองกษัตริย์ระหว่างมังฆ้องแห่งอังวะและราชาธิราชแห่งพะโค
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกขั้วอำนาจทางด้านตะวันตกที่เติบโตขึ้นมาอย่างยะไข่ ซึ่งมีบทบาทเข้ามาร่วมแจมกับความวุ่นวายในครั้งนี้เป็นครั้งคราวอีกด้วย
2
จะเห็นได้เลยครับว่า หลังพุกามแตกบทบาทการเป็นผู้นำของคนพม่าได้หดหายไป และพากันเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างไทใหญ่
1
โดยเฉพาะในอังวะที่ประชาชนส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ไทใหญ่แต่กลับเป็นคนพม่า แต่มีเจ้าไทใหญ่เป็นผู้ปกครอง (กล่าวง่ายๆ คือพม่าเป็นกลุ่มคนที่ถูกปกครองในอังวะ)
ซึ่งในเวลาต่อมา การถูกปกครองโดยไทใหญ่ทำให้คนพม่าบางกลุ่มไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ เพราะนโยบายการปกครองเอื้อให้กับคนไทใหญ่มากกว่า ดังนั้นเหล่าคนที่ไม่พอใจก็พากันแห่ไปสร้างหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีคนพม่าเป็นคนปกครองเองในช่วง ค.ศ.1280
โดยหมู่บ้านที่ว่านี้ตั้งอยู่ในหุบเขาแถบลุ่มแม่น้ำสะโตง (ทางตอนกลางของพม่า) ซึ่งถูกขนานนามว่า "ตองอู"
การก่อร่างสร้างตัวของตองอูในตอนแรกนั้นแทบไม่ได้มีใครสนสนใจเลย เพราะทั้งไทใหญ่ มอญ ยะไข่ต่างวุ่นอยู่กับการโรมรันฟันแทงกันเองอยู่
ถึงขนาดที่หัวหน้าหมู่บ้านที่ชื่อสิงหคบา ทำการตั้งตองอูเป็นรัฐอิสระ ไม่เพียงเท่านั้นยังสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ของพม่า ก็ยังคงไม่มีผู้ใดสนใจอีกเช่นเคย ซึ่งส่งผลดีต่อตองอูในการเติบโตได้อย่างสะดวก...
2
อีกทั้งภัยสงครามระหว่างอังวะและพะโคได้ทำให้กลุ่มคนพม่าหลายครอบครัวพากันอพยพเข้าสู่ตองอูมากยิ่งขึ้นไปอีก
2
ตองอูที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นจนตั้งตัวได้ก็เริ่มถูกเพ่งเล็งในที่สุด ทั้งอังวะและพะโคก็เริ่มพยายามรุกรานทั้งทางการทูต การเมือง และการทหาร
ซึ่งเหล่ากษัตริย์ตองอูก็ยอมเข้าข้างฝ่ายนั้นฝ่ายนี้บ้างแล้วแต่สถานการณ์ในช่วงนั้นจะพาไปเพื่อเอาตัวเองให้รอด (ตองอูตั้งอยู่ใจกลางระหว่างอังวะและพะโคทำให้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่อทั้ง 2 อาณาจักร)
1
จนเวลาล่วงผ่านไปประมาณ 200 ปี ได้เกิดผู้นำที่มีความทะเยอทะยานและมีแนวคิดอยากที่จะสร้างตองอูให้กลายเป็นมหาอำนาจ
โดยผู้นำที่ว่านี้คือกษัตริย์ตองอูผู้มีนามว่า "เมงจีโย"
ภาพจาก Go Myanmar Tour (ตองอู)
ภาพจาก Global News Myanmar (อนุสาวรีย์เมงจีโย)
ในช่วงสมัยของเมงจีโย ตองอูมีความมั่นคงสูงมากและเริ่มมีฐานะที่ทัดเทียมกับอังวะและพะโค ถึงขนาดที่กษัตริย์อังวะยกเจ้าหญิงให้กับเมงจีโยซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มชื่อเสียงบารมีให้กับกษัตริย์ตองอูขึ้นไปอีก
2
ด้วยเหตุนี้แหละครับ ทำให้เมงจีโยเกิดความคิดในการรวมพม่าเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง!
แต่ทว่า ยังไม่ทันได้เริ่มต้นทำตามความฝัน เมงจีโยก็ดันป่วยและตายไปก่อน...
1
ทิ้งความฝันและความทะเยอทะยานไว้กับโอรสวัย 14 ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์ตองอู ซึ่งกษัตริย์หนุ่มน้อยนี้มีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่เกิดเลยทีเดียว...
1
เนื่องจากตำนานเล่าขานว่าในช่วงที่กษัตริย์หนุ่มน้อยเกิดนั้นเป็นช่วงเวลาค่ำมืด แต่ตอนที่คลอดออกมานั้น ทั้งดาบ หอก และชุดเกราะในห้องสรรพาวุธต่างส่องประกายแวววาวราวกับฉายแสง ทำให้เมงจีโยเชื่อมั่นว่า "เจ้าเด็กคนนี้ในอนาคตต้องกลายเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ของตองอูอย่างแน่นอน!"
และในเวลาที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงพิธีสวมมงกุฏ กษัตริย์หนุ่มก็ได้สร้างวีรกรรมสุดบ้าบิ่นเอาไว้อีกด้วย โดยเป็นธรรมเนียมที่กษัตริย์หนุ่มจะต้องเข้าพิธีเจาะหู ซึ่งต้องทำในวัดใดวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงในพม่า...
โดยกษัตริย์หนุ่มได้เลือกทำพิธีที่วัดพระธาตุมุเตา (เจดีย์ชเวมอดอ) ซึ่งปัญหาอยู่ที่วัดแห่งนี้ดันตั้งอยู่ในพะโค...
แต่กษัตริย์หนุ่มไม่ได้สนใจ เลือกทหารข้างกาย 500 คน ลอบเข้าไปในพะโค กลางดงของมอญเพื่อทำพิธีเจาะหูอย่างหน้าตาเฉย...
2
ซึ่งแน่นอนครับว่าโดนจับได้! แต่กษัตริย์หนุ่มก็ได้นำทหารตีฝ่าวงล้อมมอญออกมาและหายไปในกลีบเมฆทิ้งความงงงวยให้กับเหล่ามอญที่อยู่ในพะโค...
ด้วยเหตุนี้ ชื่อเสียงของกษัตริย์หนุ่มแห่งตองอูยิ่งขจรขจายไปทั่วแผ่นดินพม่า ซึ่งทั้งไทใหญ่และมอญก็ต่างเริ่มหวั่นเกรงความบ้าบิ่นในตัวกษัตริย์องค์ใหม่ของตองอู
และชื่อของกษัตริย์หนุ่มก็จะเริ่มถูกกล่าวขานอย่างเกรงขามไปทั่วแผ่นดินพม่าว่า "ตะเบงชเวตี้"
ภาพจาก Movearound Journey (เจดีย์ชเวมอดอ)
ภาพจาก ภาพยนตร์สุริโยไท (ตะเบงชเวตี้ในฉบับภาพยนตร์)
ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องราวการขยายอำนาจของตะเบงชเวตี้ ผมขอเล่าถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นนายทหารข้างกายนามว่า "ชินเยทูต"
โดยชินเยทูตมีอายุแก่กว่าตะเบงชเวตี้ประมาณ 2-3 ปี แต่ทั้งคู่นั้นก็เติบโตมาด้วยกัน ทำให้ตะเบงชเวตี้ไว้ใจชินเยทูตมาก เรียกได้ว่าเป็นทั้งนักรบ ที่ปรึกษา และเพื่อนสนิทในเวลาเดียวกัน
แต่แล้วปัญหาก็เกิดเมื่อชินเยทูตดันไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพี่สาวของตะเบงชเวตี้ แล้วโดนจับได้ ซึ่งแน่นอนครับว่าการทำแบบนี้ในช่วงนั้นถือว่าเป็นกบฏต้องตายสถานเดียว!
ปัญหาที่เกิดขึ้น ตะเบงชเวตี้ต้องปรึกษากับเหล่าขุนนางอยู่นานโขทีเดียวครับว่าจะจัดการอย่างไร ซึ่งในท้ายที่สุดก็เห็นแก่พี่สาวและความเป็นเพื่อนสนิทของชินเยทูต "ถ้ารักกันมากก็แต่งงานกันซะให้มันจบๆ"
การตัดสินใจในครั้งนี้ทำให้ชินเยทูตมีนับถือและความจงรักภักดีต่อตะเบงชเวตี้ยิ่งขึ้นไปอีก และเหมือนตะเบงชเวตี้จะคิดถูกที่เก็บชินเยทูตเอาไว้ เพราะชายคนนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างตองอูให้เป็นมหาอำนาจในอนาคต...
1
ภาพจาก Pate Kadir (ชินเยทูต)
เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ตะเบงชเวตี้ก็ได้เริ่มแผนการ ซึ่งเป้าแรกที่ได้เพ่งเล็งไว้คือการสร้างความมั่งคั่งให้กับตองอู
เล่าก่อนครับว่าในสมัยพุกามนั้น ความมั่งคั่งเกิดจากการที่พุกามอยู่ในเส้นทางการค้าทางบกอย่างเส้นทางสายไหม แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เส้นทางสายไหมก็ได้ถูกลดความสำคัญลงไป กระแสการค้าโลกได้แปรเปลี่ยนไปเป็นการค้าตามชายทะเล
ซึ่งตองอูเป็นเมืองที่อยู่ลึกในหุบเขา การที่จะสร้างความมั่งคั่งจากการค้าแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ตะเบงชเวตี้จึงเล็งที่จะยึดเมืองท่าให้ได้เป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเมืองพะโค เมาะตะมะ และทวาย ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของมอญ...
แต่การตีเมืองเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ เลย ทำให้ตะเบงชเวตี้ต้องยกทัพไปยึดเมืองท่าอื่นๆ ของมอญก่อนเพื่อหาเงินมาซื้อปืนใหญ่และจ้างทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส
โดยในที่สุดก็ตีได้เมืองพะสิม ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สามารถเปิดสู่เส้นทางการค้านานาชาติได้ ทำให้ตองอูเริ่มอู้ฟู่ขึ้นมาบ้าง
ก้าวต่อมา ตะเบงชเวตี้ก็ตัดสินใจใช้ตองอู (ทางด้านเหนือ) และพะสิม (ทางด้านตะวันออก) เป็นฐานที่มั่นในการเข้าตีพะโคทั้งสองด้าน ซึ่งครั้งแรกดันเจอลมมรสุมทำให้แผนต้องพับไปก่อน...
ครั้งที่สองใน ค.ศ.1535 ก็ตัดสินใจเข้าตี แต่พะโคกลับเหนียวเกินไปทำให้ตีไม่แตก...
1
ครั้งที่สามใน ค.ศ.1536 ก็เข้าตีอีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จโดนตีถอยกลับมา ล้มเหลวไม่เป็นท่า...
1
ตะเบงชเวตี้เห็นแล้วว่าแค่การทหารคงไม่สามารถล้มพะโคได้ จึงวางแผนใช้การเมืองส่งคนลอบเข้าไปเสี้ยมให้กษัตริย์และขุนนางแตกคอกันเอง ซึ่งใช้เวลาถึง 2 ปี การเมืองภายในของพะโคจึงเริ่มปั่นป่วน (ในระหว่างนั้นตองอูก็มีการปรับปรุงฟื้นฟูกองทัพขึ้นมาใหม่ด้วย)
4
เมื่อทุกอย่างสุกงอมแล้ว ก็ตัดสินใจกรีธาทัพประชิดพะโคอกีครั้งใน ค.ศ.1538 และในครั้งนี้จากเมล็ดพันธ์ความแตกแยกที่ตะเบงชเวตี้ได้เพาะเอาไว้ ทำให้สามารถเข้ายึดพะโคได้อย่างไม่ยากเย็น...
2
เมื่อยึดพะโคได้แล้ว ก็เดินเกมอย่างรวดเร็วเข้าตีเมาะตะมะ ซึ่งใช้เวลาล้อมเมืองอยู่เกือบ 7 เดือน จึงยึดได้สำเร็จ
การได้ทั้งพะโคและเมาะตะมะทำให้ดินแดนทางใต้ของมอญแทบทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจของตะเบงชเวตี้ กลายเป็นว่าตองอูสามารถควบคุมเมืองท่าแทบทั้งหมดจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ...
1
และรายต่อไปคือเหล่าไทใหญ่ที่อยู่ทางด้านเหนือ ว่าแล้วก็กรีธาทัพเข้าตีเมืองแปร (ศูนย์อำนาจอีกแห่งนอกจากอังวะ) ซึ่งเมื่อเจ้าเมืองแปรเห็นแบบนั้นก็ขนหัวลุกสุดขีด ไปขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจทางด้านตะวันตกอย่างยะไข่ให้เข้ามาช่วย...
ยะไข่ซึ่งเห็นความซ่าของตองอูมานานแล้ว จึงอยากที่จะสะกัดขาเอาไว้บ้าง เลยพยายามยกทัพเข้ามาขวางตองอู
ทางด้านตะเบงชเวตี้ก็ได้แบ่งทัพออกเป็นสองส่วน โดยส่วนหนึ่งให้แม่ทัพคู่ใจอย่างชินเยทูตไปยันทัพยะไข่เอาไว้ ส่วนตะเบงชเวตี้จะเข้าไปเก็บเมืองแปรเอง...
ด้วยเงินทุนที่หนาทำให้ทัพตองอูมีปืนใหญ่ ปืนคาบศิลา และทหารรับจ้างโปรตุเกสช่วยรบซึ่งยากที่จะมีใครต่อกรได้ ทัพยะไข่จึงถูกตีแตกไปอย่างง่ายดาย และเมืองแปรก็ถูกยึดไปโดยปริยาย...
เมื่อได้เมืองแปร ตะเบงชเวตี้ก็แผ่อิทธิพลเข้าสู่อังวะจนสำเร็จได้ในที่สุด และสามารถสร้างตองอูให้เป็นใหญ่ในดินแดนพม่าได้สำเร็จ พร้อมย้ายเมืองหลวงจากตองอูไปพะโค เพื่อที่จะควบคุมเมืองท่าและการค้าได้สะดวกขึ้น (ไทยรู้จักเมืองพะโคในช่วงสมัยนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "หงสาวดี")
และแล้วก็เหลือเพียงมหาอำนาจเดียวอย่างยะไข่ที่ยังเป็นเสี้ยนหนามตำตาอยู่ ซึ่งในเวลาไม่นานตะเบงชเวตี้ก็ยกทัพเข้าตีเมืองมรหังซึ่งเป็นศูนย์อำนาจของยะไข่
แต่ทว่า ยังไม่ทันจบเกมกับยะไข่ ปัญหาก็ได้เกิดขึ้นก่อนเมื่อมีมหาอำนาจทางด้านตะวันออกได้แผ่อิทธิพลเข้ามาและพยายามเข้าควบคุมเมืองท่าของพม่า
มหาอำนาจรายนี้อยู่ ณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและมีศูนย์กลางอำนาจคือ "อยุธยา"
1
ภาพจาก Google Earth (ศูนย์อำนาจต่างๆ)
ระหว่างที่วุ่นอยู่กับการตียะไข่อยู่นั้น อยุธยาก็ใช้โอกาสนี้แผ่อำนาจเข้ามาเพื่อยึดเมืองท่าโดยการเข้าตีเมืองทวาย...
ตะเบงชเวตี้เห็นว่าการรักษาอำนาจในเมืองท่ามีความสำคัญมากกว่า จึงตัดสินใจพับโครงการยึดยะไข่ไปก่อน และยกทัพกลับพะโคเพื่อเปิดสงครามกับอยุธยาแบบเต็มตัว
2
ว่าแล้วใน ค.ศ.1548 ก็ทำการยกทัพใหญ่เข้าตีอยุธยา แต่ทว่าศึกนี้ต่างจากศึกก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัดเลยล่ะครับ เนื่องจากอยุธยาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่แพ้กัน ทำให้มีเงินทุนซื้ออาวุธปืนและจ้างทหารโปรตุเกสเข้าห้ำหั่นกับกองทัพพม่าอย่าสูสี...
อีกทั้งอยุธยาเป็นเมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบ ทำให้ตะเบงชเวตี้ไม่สามารถตีอยุธยาแตกได้ง่ายๆ จนต้องถอนทัพกลับในที่สุด การปิดเกมกับอยุธยาจึงยืดเยื้อออกไปอีกเช่นกัน
และเมื่อกลับมาพักอยู่พะโค ตะเบงชเวตี้ผู้ซึ่งทำสงครามมาตลอด 20 ปีแบบไม่ได้หยุดพัก จึงใช้เวลานี้ในการพักผ่อนอย่างเต็มที่ครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเผอิญว่าดันพักผ่อนจนติดลมจนไม่เป็นอันทำอะไรเลยล่ะครับ!
1
กลับกลายเป็นว่าแต่ละวันตะเบงชเวตี้เอาแต่ออกไปล่าสัตว์และดื่มเหล้าสูตรใหม่หมักจากผลไม้ที่ชาวโปรตุเกสนำมาให้ลิ้มลอง และติดเหล้าจนโงหัวไม่ขึ้นเลยทีเดียว...
และเมื่อผู้นำไร้ซึ่งสมรรถภาพในการปกครอง เหล่ามอญที่รอจังหวะอยู่แล้วก็ทำการก่อกบฏเพื่อปลดแอกตนเองขึ้น ตัวของชินเยทูตจึงยกทัพเพื่อไปปราบมอญ ทิ้งทหารกองหนึ่งให้อยู่กับตะเบงชเวตี้
ซึ่งระหว่างที่ชินเยทูตกำลังวุ่นกับการสั่งสอนมอญอยู่นั้น ขุนนางมอญที่แทรกซึมอยู่ภายในก็ได้จัดการเก็บตะเบงชเวตี้ จบตำนานกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งตองอูในวัย 36 ปี และหลังจากนั้นเหล่ามอญก็ทำการยึดเมืองพะโคและขับไล่พม่าออกไป...
เมื่อพะโคเกิดการลุกฮือ โดมิโนตัวต่อไปอย่างเมาะตะมะก็เกิดการลุกฮือของมอญขับไล่พม่าออกไปเช่นเดียวกัน ลามไปถึงแม้กระทั่งแปรก็มีการประกาศตัวเป็นอิสระ!
1
เรียกได้ว่าตลอด 20 ปีที่ตะเบงชเวตี้ได้สร้างมานั้นได้แตกสลายลงในเวลาไม่กี่วัน ความไร้อำนาจและความสิ้นหวังเข้าครอบคลุมเหล่าชนคนพม่าอีกครั้ง
แต่ทว่า ชินเยทูตกลับไม่คิดแบบนั้น สิ่งที่เขาได้ร่วมสร้างกับตะแบงชเวตี้มันต้องไม่จบลงอย่างง่ายดายแบบนี้...
ว่าแล้วชินเยทูตก็ทำการรวบรวมเหล่าทหารพม่าที่กระจัดกระจายออกไปให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งและกลับไปยังตองอูพร้อมสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์
ซึ่งชายที่ชื่อชินเยทูตนี้ เวลาต่อมาทั่วโลกต่างรู้จักเขาในชื่อ "บุเรงนอง"
2
ภาพจาก ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร (บุเรงนองในฉบับภาพยนตร์)
หลังจากที่เตรียมพร้อมแล้ว ทัพตองอูก็เข้ายึดเมืองแปรกลับคืนมาก่อนเป็นสเตปแรก...
1
และต่อมาบุเรงนองคิดว่าการยึดเมืองท่าคืนมาจากมอญเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงกรีธาทัพเข้าตีพะโค ซึ่งเหล่ามอญที่เพิ่งจะก้าวขึ้นสู่อำนาจนั้นไม่สามารถต้านทานความเก๋าเกมของบุเรงนองและทัพตองอูได้ จึงแพ้อย่างราบคาบในที่สุด...
การกลับมาของตองอูภายใต้บุเรงนองนั้นรวดเร็วซะจนมอญตั้งตัวแทบไม่ทัน หลังจากพะโคแตกในเวลาไม่นานเมืองท่าที่เหลือก็พากันสยบยอมในที่สุด...
1
คราวนี้แหละครับ อำนาจที่ตะเบงชเวตี้ได้เคยสร้างไว้ บุเรงนองนำกลับมาอีกครั้งได้สำเร็จ และไม่รอช้าที่จะสานต่องานที่ไม่เสร็จอย่างการตีอยุธยา
1
แต่บุเรงนองเปลี่ยนหมากในการเดินเกมครั้งนี้ใหม่ โดยการเข้าตีอังวะและลากเข้าสู่ที่ราบสูงไทใหญ่ เป็นการปราบเหล่าไทใหญ่ให้อยู่ภายใต้อำนาจของพม่าอย่างเด็ดขาดก่อน
จากนั้นหมากต่อไปจึงเดินทัพเข้าตีเชียงใหม่ พร้อมแผ่อำนาจเข้าสู่หลวงพระบาง และใช้เมืองเหล่านี้เป็นศูนย์อำนาจปฏิบัติการเผด็จศึกอยุธยา
และใน ค.ศ.1563 บุเรงนองก็เดินหมากเก็บหัวเมืองเหนือของอยุธยาอย่างกำแพงเพชร สุโขทัยจนเรียบและเข้าประชิดอยุธยาเพื่อทำการรุกฆาต...
1
ซึ่งจากการโดนตัดกำลังจากหัวเมืองเหนือ ทำให้อยุธยายันทัพตองอูได้ลำบากมากยิ่งขึ้น แต่แล้วบุเรงนองยังไม่ได้ปิดเกมกับอยุธยาอย่างเด็ดขาด เหล่ามอญที่อยู่ในพะโคก็ได้ลุกฮือขึ้นก่อกบฏเพื่อปลดแอกตนเองอีกครั้ง!
2
บุเรงนองจึงต้องนำทัพกลับไปพะโคอย่างหัวเสียเพื่อดับซ่าเหล่ากบฏมอญ ซึ่งมารู้ในภายหลังว่ามอญเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากไทใหญ่และอยุธยา
ความโกรธสุดขีดของบุเรงนองได้ทำให้มอญกบฏถูกจับเผาทั้งเป็น พร้อมๆ กับการเผาโบราณสถานและพระราชวังในพะโคจนเหี้ยน!
2
และหลังจากเผาจนหมดแล้ว บุเรงนองก็สั่งให้สร้างวังขึ้นมาใหม่แบบใหญ่โตอลังการยิ่งกว่าเดิม
และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเสร็จและมั่นใจว่ามอญจะไม่หือไม่อือขึ้นมาอีก บุเรงนองก็เดินหมากเข้าตีอยุธยาอีกครั้งใน ค.ศ.1568 โดยผ่านเมาะตะมะ พิษณุโลก และเข้าประชิดเมืองหลวง
1
บุเรงนองมีประสบการณ์จากการรบกับตะเบงชะเวตี้ที่เมืองบางเมืองใช้เพียงแค่กองทัพไม่สามารถตีแตกได้ แต่ต้องใช้อย่างอื่น เช่น การเมืองเข้าร่วมด้วย โดยบุเรงนองได้พยายามเสี้ยมและซื้อตัวขุนนางอยุธยาให้ช่วยเปิดประตูเมือง จนในที่สุดทัพตองอูก็สามารถเข้าตีและพิชิตอยุธยาได้สำเร็จ พร้อมกวาดต้อนเชื้อพระวงศ์และประชาชนไปพะโคเพื่อเป็นเชลย...
การเผด็จศึกอยุธยาซึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ตองอูซึ่งกลายเป็นจักรวรรดิพม่าครั้งที่สองนั้น มีเขตอิทธิพลที่กว้างไกลมากยิ่งกว่าพุกาม
1
และตองอูในยุคบุเรงนองก็สามารถผูกขาดการค้าและเศรษฐกิจในแถบอ่าวเมาะตะมะแต่เพียงผู้เดียว กลายเป็นมหาอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจของภูมิภาคไปโดยปริยาย...
อยุธยา เมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบ
หลังจากจัดการอยุธยาได้แล้ว เสี้ยนหนามสุดท้ายของตองอูและคนพม่าคือมหาอำนาจทางตะวันตกอย่างยะไข่ แต่ยังไม่ทันจะได้เริ่มแผนการ บุเรงนองก็ดันป่วยและจากไปใน ค.ศ.1581 ทำให้โอรสอย่างนันทบุเรงต้องขึ้นมาสานต่อเป็นกษัตริย์
คราวนี้แหละครับ การจากไปของบุเรงนองได้ส่งผลให้กลุ่มชนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้พม่าเริ่มวางแผนที่จะปลดแอกตัวเองอีกครั้ง ซึ่งแม้แต่ผู้ปกครองที่เป็นพม่าในหัวเมืองต่างๆ ก็ยังมีแนวคิดปลดแอกตัวเอง
1
และแล้ว เจ้าเมืองอังวะและแปรก็ทำการประกาศอิสรภาพ ทำให้นันทบุเรงต้องยกทัพไปตีเมืองเหล่านี้คืน และมีการเรียกให้เจ้าชายจากอยุธยานามว่า "พระนเรศวร" ซึ่งเคยเป็นเชลยในสมัยบุเรงนอง ให้ยกทัพมาช่วยตีอังวะและแปร
1
แต่เหมือนว่าการเรียกตัวมาในครั้งนี้จะเป็นแผนลอบสังหารเจ้าชายอยุธยาของนันทบุเรง (ซึ่งในส่วนนี้เป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างคลุมเคลือ) ทำให้แทนที่พระนเรศวรจะไปช่วยตีอังวะและแปร กลับวกเข้าตลบหลังเข้าตีพะโคแทน!
แต่นันทบุเรงปิดเกมกับอังวะเร็วกว่าที่คาด ทำให้พระนเรศวรต้องกวาดต้อนผู้คนที่เป็นคนไทยหนีการตามล่าของนันทบุเรงกลับไปอยุธยา แล้วทำการประกาศอิสรภาพจากการปกครองของจักรวรรดิพม่าในที่สุด...
การแยกตัวของอยุธยา ทำให้นันทบุเรงเดือดมากยิ่งขึ้น! แล้วยกทัพเข้าตีอยุธยาแต่สุดท้ายปัญหาเรื่องชัยภูมิของอยุธยาที่มีแม่น้ำล้อมรอบก็ทำให้ทัพพม่าตีอยุธยาไม่แตกจนต้องถอนทัพกลับ
ซึ่งนันทบุเรงก็ไม่ตัดใจ ทำการยกทัพเข้าตีอยุธยาอีก 5 ครั้ง! แต่ก็เหลวไม่เป็นท่าทุกครั้งไป โดยในครั้งสุดท้ายโอรสของนันทบุเรงซึ่งเป็นอุปราชก็ถูกฆ่าตายกลางสนามรบใน ค.ศ.1592
การพ่ายแพ้แบบรัวๆ ทำให้ทัพพม่าอ่อนแอลงเรื่อยๆ อยุธยาจึงเป็นฝ่ายเอาคืนบ้าง ทำการยกทัพเข้าตีเมืองท่าอย่างทวาย ตะนาวศรี และเมาะตะมะ ตัดกำลังทางเศรษฐกิจของพม่าลงไป และในไม่ช้าก็เข้าประชิดพะโค แต่ยังไม่ทันจบเกม ทัพจากเมืองตองอูก็ลงมาช่วยได้ทัน ทำให้อยุธยาต้องถอนทัพชั่วคราว...
แต่ทว่า การหมกมุ่นอยู่กับอยุธยาของนันทบุเรง รวมถึงการเสียเมืองท่าที่คุมอำนาจเศรษฐกิจ ทำให้อำนาจของนันทบุเรงลดลงถึงขีดสุด!
เมื่อทัพตองอูลงมาช่วยพะโค เจ้าเมืองแปรและอังวะก็ใช้โอกาสนี้ยกทัพเข้าตีตองอู และจากนั้นก็เข้าประชิดพะโค...
อีกทั้งยังมีทัพยะไข่เข้ามาตีเมืองท่าทางฝั่งตะวันออกและเข้าประชิดพะโคเช่นเดียวกัน...
ไม่เพียงเท่านั้นทัพอยุธยาก็จะเข้ามาประชิดพะโคผสมโรงด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง (แต่มาไม่ทันเพราะเมืองถูกตีแตกก่อน)
แน่นอนครับว่า พะโคไม่อาจต้านทานการรุมกระทืบในครั้งนี้ได้ นันทบุเรงถูกคุมตัวเป็นนักโทษ ซึ่งถูกฆ่าในภายหลังตอนเดินทางเข้าเมืองตองอู
การล่มสลายของพะโคภายใต้อำนาจของพม่านั้น ทำให้ศูนย์อำนาจของจักรวรรดิพม่าครั้งที่สองได้ล่มสลายลงไปด้วยในที่สุด...
1
ภาพจาก masasom (สงครามระหว่างพม่าและอยุธยา)
หลังพะโคแตก ดินแดนพม่าก็แตกออกเป็นหลายก๊กหลายเหล่าอีกครั้ง และถึงแม้ในภายหลังนั้น ตองอูจะถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ฐานอำนาจก็ยังไม่เทียบเท่าในช่วงจักรวรรดิพม่าในยุคบุเรงนอง...
เกมการแย่งชิงอำนาจในดินแดนความหลากหลายนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป...
ไทใหญ่ทางด้านเหนือก็ทำการปลดแอกและสร้างอำนาจตัวเองอีกครั้ง...
ยะไข่ที่เป็นรัฐอิสระตั้งแต่แรก ก็สร้างอำนาจและเข้าตีเมืองท่าทางตะวันตกและทางใต้ของพม่าทำการควบคุมเมืองท่าทางการค้า...
มอญที่ในช่วงพะโคถูกถล่มนั้น ได้ถูกฆ่าและสังหารหมู่ไปเป็นจำนวนมากจากการแย่งชิงอำนาจของพม่า ยะไข่ และไทใหญ่ พากันแตกกระจัดกระจายหลบหนีไปทั่วภูมิภาค...
1
แต่ในภายหลังมอญก็ได้มีการรวมตัวกันจนเติบโตแล้วเข้าควบคุมพม่าในตอนล่างได้อีกครั้ง และยังมีการขยายอิทธิพลเข้าควบคุมตองอูและพม่าตอนกลาง...
ตองอูและอังวะต่างถูกมอญเข้าตีจนล่มสลายซึ่งเป็นการปิดฉากราชวงศ์ตองอูไปในที่สุด...
แต่ทุกท่านครับ เช่นเดียวกับพุกามที่การล่มสลายในครั้งนี้ของตองอูนั้นไม่ได้เป็นจุดจบ...
ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากที่สุดในดินแดนนี้ของคนพม่านั้น ในอนาคตจะมีการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งและปลดแอกจากมอญ ภายใต้การนำของชายที่ชื่อว่า "อองไจยะ"
ผู้ซึ่งเริ่มต้นรังสรรค์จักรวรรดิพม่าครั้งที่สาม ในยุคสมัยที่เรียกว่า...
"คองบอง (Konbaung)"
1
References
Aung - Twin, Michael. A History of Myanmar Since Ancient Times : Traditions and Transformations. London, Reaktion Books, 2012.
Hall, D.G.E. A History of South - East Asia. New York : St. Martin's Press, 1981.
Smith, Robert. The Rise and Fall of the Toungoo Empire. Scott Valley : CreateSpace Independent Publishing Platform, 2017.
1
65 บันทึก
56
2
30
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
South East Asia Story
65
56
2
30
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย