Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
17 ธ.ค. 2021 เวลา 08:58 • ปรัชญา
“วิหารธรรมในระดับสมาธิ”
1
“ … ในระดับของ ฌานที่ 2 มันก็มีทั้ง
สมาธิระดับต้น ระดับกลาง และก็ระดับละเอียด
ตรงเต็มฌานที่ 2 จิตสังขารมันจะระงับลงไป
พอจิตสังขารระงับ เสียงพูดในใจจะหายไป
4
เพราะฉะนั้นถ้าใครเข้าถึงสมาธิระดับเต็มฌานที่ 2
วิตก วิจาร ก็หายไป
ถ้าใครเรื่องของการกำหนดบริกรรม
พุทโธ ยุบหนอพองหนอ
พวกนี้หลุดออกไปหมดเลย
ถ้าใครมาทางลมหายใจ ลมหายใจก็ระงับไป
พอหนอ ยุบหนอ การกระเพื่อมหน้าอกหน้าท้อง
หายไปหมดเลย
เหลือแต่สภาวธรรมในระดับของสมาธิ
ก็คือ ปีติกับสุข นั่นเอง
อยู่กับปีติ ความแผ่ซ่าน
อยู่กับสุข คือความเบาสบาย
นั่นคือวิหารธรรมในระดับสมาธิ
เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นแต่ละคน จะเริ่มไม่เหมือนกัน
แต่เมื่อเข้าสู่ระดับสมาธิ
สภาวะมันเหมือนกันนั่นแหละ
เกิดปีติ เกิดสุข ก็อยู่กับสภาวะเหล่านี้แหละ
อยู่กับความรู้สึกตัว อยู่กับความแผ่ซ่าน
อยู่กับความเบาสบาย อยู่กับความตั้งมั่น
เต็ม ฌานที่ 2 มันจะมีความผ่องใส
ธรรมอันเอกปรากฏขึ้น จิตตั้งมั่น
และเมื่ออยู่กับสภาวะไปเรื่อย ๆ
ปีติมันก็จะจางคลายไป
ปีติมันอยู่ได้แค่ระดับ ฌานที่ 2
พอละเอียดกว่านี้ ปีติก็จางคลายไป
ความรู้สึกกาย ความรู้สึกตัวก็จางคลายไป
แต่ความรู้สึกของจิตใจ จะเด่นขึ้นมาแทน
ความรู้สึกของจิตใจในระดับนี้ก็คือความสุขเบาสบาย
มันจะเบาขึ้น ประณีตขึ้น จนมันกายเบา จิตเบา
เกิดความโปร่งโล่ง เบาสบาย … “
“สุขเบาสบาย ฌาน 3 “
“ … ตรงจากฌานที่ 2 เข้าถึงฌานที่ 3
จิตตสังขารระงับแล้ว มันถึงโล่ง
มันรู้สึกเหมือนสมองหายไป
เพราะว่ามันไม่มีเสียงพูดใจใจแล้ว
ส่วนเสียงภายนอก ก็จะห่างออกไปเรื่อย ๆ
ใครที่ปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าเสียงมันเริ่มห่าง
นั่นแหละ มันเริ่มเข้าถึงสมาธิ
พอเริ่มแตะฌานที่ 3 เสียงมันก็จะห่างออกไปไกลละ
เสียงหายไป จิตตสังขาร เสียงพูดในใจหายไป
เสียงภายนอกห่างออกไป
แล้วเราก็จะได้ยินพวกเสียงที่มันเป็น
คลื่นความถี่ธรรมชาติ
ใครปฏิบัติแล้วมันหูวิ้ง ๆ
มันได้ยินวิ้ง ๆ หรือคลื่นความสงบ
นั่นคือคลื่นความถี่ของธรรมชาติ
อันนี้เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าเริ่มมีสติตั้งมั่น
มันจะได้ยินเสียงคลื่นความถี่ของธรรมชาติ
บางคนเรียกว่าเสียงแห่งความสงบ เสียงวิเวก
บางทีมันก็เป็นเสียงจิ้งหรีดเรไรบ้าง
เสียงวิ้ง ๆ บ้าง
บางคนไม่เข้าใจสภาวะ
นึกว่า เอ๊ะ น้ำในหูไม่เท่ากันหรือเปล่า ไปหาหมอ
ให้สังเกตใจ บอกแล้วว่าสภาวะอะไรเกิดขึ้น
ใ้ห้สังเกตใจ
ถ้าใจเราตั้งมั่นก็เป็นเรื่องของสภาวธรรม
ถ้าใจไม่ตั้งมั่นก็เป็นเรื่องของอาการกายภาพต่าง ๆ
สมาธิแบบนี้มันจะได้ยินคลื่นความถี่ธรรมชาติเป็นปกติ
ยิ่งสติทรงตัว มันได้ยินจนปกติเลย
มันจะวิ้ง ๆ อยู่อย่างนั้น
หรือว่ามันจะได้ยินเป็นคลื่นแห่งความสงบต่าง ๆ
ในฌานที่ 3 นี้ เกิดความโล่งโปร่ง เบาสบาย
พอเราฝึกมาถึงตรงนี้
เราจะนั่งปฏิบัติได้นานละ
ใหม่ ๆ 5 นาที 10 นาที ครึ่งชั่วโมง ใช่ไหม ?
แต่พอถึงตรงนี้มันไม่อิ่ม ไม่เบื่อ ในการปฏิบัติ
จะนั่งชั่วโมง สองชั่วโมง 3 ชั่วโมงมันก็นั่งได้
มันเข้าถึงความโล่งเบาสบาย
ระดับฌานที่ 3 นี้ถือว่าจิตเริ่มเข้าสู่ความละเอียดแล้ว
แล้วก็ถ้าว่าโดยฐานของสติปัฏฐาน
จะเริ่มเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า ฐานของจิต
สมาธิระดับฌานที่ 1 ที่ 2 นี้จะเป็นฐานของเวทนา
ที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เป็นชั้นความรู้สึกตัวเป็นหลัก
แม้กระทั่งความซาบซ่านก็ยังอยู่ในชั้นความรู้สึกตัว
ปีติ มันเป็นชั้นความรู้สึกตัว
แต่ระดับฌานที่ 3 เป็นต้นไปจะเข้าสุ่ฐานของจิตแล้ว
ความเบาสบายเป็นความรู้สึกของจิต
อยู่กับความเบาสบายไปเรื่อย
ที่เรียกว่านามกายใส ๆ
มันเป็นเรื่องของ ความรู้สึกของจิตแล้ว
เข้าสู่ระดับของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ความละเอียดระดับนี้
หลายคนก็จะเริ่มรู้สึกถึงกระแสธรรมารมณ์
ที่ผุดขึ้นมาจากใต้ลิ้นปี่
เวลามันมีความรู้สึกต่าง ๆ ผุดขึ้น
จิตที่ละเอียดระดับนี้จะเริ่มรู้เท่ากัน
การทำงานของจิต
มันจะเป็นพลังงานใส ๆ ที่ผุดขึ้นมา ๆ
ไม่ว่าจะเป็นพลังงานความเศร้า พลังงานความโกรธ
พลังงานอารมณ์ ความรู้สึก
มันจะเป็นพลังงานที่ผุด ๆ ๆ ขึ้นมา
ถ้าใครเรียนอภิธรรม ก็จะพูดถึงเรื่องของ
จิต ที่เกิดที่หทัยวัตถุ
ตรงนี้มันเป็นอายตนะใจ
มันเป็นธรรมารมณ์ที่ผุดขึ้นมา
ผลผลิตการผุดตรงนี้
มันเกิดทั้งที่เป็นผลผลิตของจิตเราเองด้วย
แล้วก็เกิดจากการที่เราไปรับผลผลิตจากจิตคนอื่นด้วย
เวลาจิตมันเริ่มโล่งเบา จิตมันเปิดกว้าง
มันก็จะเริ่มไปรับ สัมผัส อารมณ์ ความรู้สึก ของคนรอบข้าง
เวลามันผุด มันก็จะผุดขึ้นมาที่ใจของเรา
ที่ว่าเราไปอยู่ใกล้คนที่กำลังเศร้า
ความเศร้าก็จะผุดขึ้นมาในใจของเราเอง
เราไปอยู่ใกล้คนที่กำลังหงุดหงิด
ความหงุดหงิดก็ผุดขึ้นมาในใจของเราซะเอง
ถ้าเราไม่รู้เท่าทันการทำงานของจิตตรงนี้
บางทีเราก็ เอ … ฉันนี่ เครื่องรวนไปแล้วมั้ง
บางทีมันเป็นการทำงานของจิต
ก็คือเราไปรับอารมณ์
เพราะฉะนั้นจิตละเอียดระดับฌานที่ 3
มันถึงเริ่มสัมผัสความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นได้
ที่เรียกว่า เจโตปริยญาน คือญานรู้วาระจิต
มันก็คือสัมผัสได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ
ตรงนี้ พอจิตละเอียดระดับนี้
มันเริ่มเปิด เราถึงต้องเรียนรู้เรื่องของวสี … “
“อุเบกขาในฌาน 4”
“ … พออยู่กับความสุขเบาสบาย
จนเต็มกำลัง เต็มฌานที่ 3 จิตจะร่าเริงเบิกบาน
ความสุขมันจะให้วิหารธรรมที่เบิกบาน
จิตเบิกบาน จิตยิ้ม
อยู่ตรงนี้ จิตมันยิ้มอยู่นั่นแหละ
บางทีนี่ถ้าเราอยู่วิหารธรรมเบาสบายเป็นหลัก
มันยิ้มอยู่อย่างนั้น ใครมาว่าก็ไม่โกรธ
ยิ้มอยู่อย่างนั้น
บางทีคนรอบข้างก็เริ่ม เอ๊ะ แปลก ๆ อะไรก็ยิ้ม
มันเป็นวิหารธรรม พอถึงสุขนะ
จิตมันยิ้มเองโดยธรรมชาติ มันเป็นสัจธรรม
เพราะฉะนั้นสภาวะแต่ละระดับมันก็จะมี
คุณสมบัติที่แตกต่างกัน
พอเราอยู่กับความสุขไปเรื่อย ๆ
ถึงจุดหนึ่ง แม้กระทั่งสุขตรงนี้มันก็จางคลายไป
ก็จะเข้าถึงสมาธิที่ละเอียดขึ้นไปอีก
ในระดับของฌานที่ 4 นี้
ก็จะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า อุเบกขา
อุเบกขาจะเป็นความนิ่ง เฉย เป็นลักษณะเด่น
นิ่งอยู่ เฉยอยู่
เนื้อของอุเบกขา คือเนื้อของความเฉย
มันจะประณีตกว่าสุข
คือมันจะทำให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นมาก
จิตจะตั้งมั่นกว่าสุขเบาสบาย
สุขเบาสบายนี่จิตมันจะชอบลอย ๆ เบิกบาน
บางทีมันก็เหมือนคนกำลังยิ้ม ๆ
แต่พอเข้าอุเขกขาปุ๊บ จิตนิ่งตั้งมั่น วางเฉย
ทีนี้ปากไม่ยิ้มละ หุบละ นิ่ง
นิ่ง ตั้งมั่น
สุขเบาสบายเนี่ย วิหารธรรมของเทวดา ภาคทิพย์
ส่วนอุเบกขา เป็นวิหารธรรมของพรหม
ถ้าเราเคยได้ยินว่า พรหมมีความสุข สงบ
นั่นแหละ วิหารธรรม เมื่อเข้าถึงอุเบกขา สุขสงบ
มันเป็นความสุขที่ประณีตกว่าเรื่องของ สุขเบาสบาย
อุเบกขา เมื่อเข้าถึงปุ๊บ จิตนิ่งเฉย ตั้งมั่น
เข้าถึงความเป็นกลางของจิต
จิตหลุดจากอารมณ์ทั้งหมดเลย ไม่ยึด ไม่เกาะกับอะไร
ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
สติ เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่
เข้าถึงอุเบกขา ความตั้งมั่นของจิต
ตรงนี้จิตจะเป็นลักษณะเด่น คือ เกิดความตื่นรู้ขึ้นมาเลย
ตั้งมั่น ตื่นรู้ จิตตั้งมั่น ตื่นรู้ขึ้นมา
จากชั้นความรู้สีกตัวทั่วพร้อม
ก็จะส่งเข้าสู่ฐานของจิต ที่ตั้งมั่นตื่นรู้ขึ้นมา
เมื่อจิตตั้งมั่น ตื่นรู้ เนี่ย
จิตหลุดออกจากอารมณ์ต่าง ๆ
จึงเกิดสภาวธรรมคู่ขึ้นมา
ก็คือผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ขึ้นมา
อย่างปกติ ใหม่ ๆ เราดูลมหายใจ
มันก็จะกลายเป็นเนื้อลมหายใจไป
แต่พอเกิดจิตตั้งมั่นปุ๊บ มันแยกกาย แยกจิต
ลมหายใจก็ถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้
อารมณ์ต่าง ๆ ก็กลายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ใจรู้อยู่
แม้กระทั่งกาย มันก็วางกาย
ฐานของกาย มันก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ใจรู้อยู่
มันจะเกิดสภาวธรรมคู่
แล้วเกิดการแยกขันธ์ในเบื้องต้น
ก็คือแยกกาย แยกจิต นั่นเอง
พอปฏิบัติเข้าถึงจิตตั้งมั่นตรงนี้
มันแยกกาย แยกจิต
ที่ครูบาอาจารย์สอนแยกกาย แยกจิต แยกจิตผู้รู้
แยกยังไง แยกไม่เป็น
หาไม่เจอ จิตผู้รู้เป็นยังไง … ไม่ต้องหา
มันเกิดขึ้นโดยสภาวธรรม
เมื่อเราฝึกสติปัฏฐานไปเรื่อย
จนเกิดจิตตั้งมั่นขึ้นมาเนี่ย
มันแยกกาย แยกจิต ออกมาเองโดยธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นการแยกกาย แยกจิต หรือ แยกธาตุ แยกขันธ์
มันเกิดขึ้นโดยสภาวธรรม
มันไม่ได้เกิดขึ้นที่ว่า เราจะไปพยายามแยกว่า
นี่รูปนะ นี่นามนะ นี่กาย นี่ใจ
อันนั้นมันใช้สัญญา มันใช้มันสมอง
แต่การแยกที่แท้จริง มันเกิดขึ้นโดยสภาวธรรม
พอจิตเข้าถึงฐานกาย มันวางกายปุ๊บ
มันเกิดแยกออกเลย
อย่างเวลาเราเดิน
ปกติเราก็รู้สึกว่ากายมันเป็นเนื้อเดียวกัน
แต่พอเข้าฐานจิตปุ๊บ มันแยกเลย
มันจะรู้สึกว่า กายก็ส่วนกาย
มันเหมือนหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไป แต่ใจรู้อยู่
มันแยกกาย แยกจิต
ทำความเข้าใจนะ
มันแยกโดยสภาวธรรม
มันไม่ได้แยกโดยการใช้มันสมองนะ
ใครเคยเรียนธรรมะ บางทีแยก อ่ะนี่รูปนะ นี่นาม
อันนี้มันแยกโดยใช้มันสมองนะ
แต่โดยสภาวธรรม มันถึงจะแยกจริง ๆ
พอจิตตั้งมั่น แยกกาย แยกจิตขึ้นมา จิตมีความตั้งมั่น
ตรงนี้แหละสะสมเรื่องของกำลังสติที่ตั้งมั่น
พอเข้าถึงอุเบกขานะ อยู่กับอุเขกขาไปเรื่อยเนี่ย
ท่านทั้งหลายจะได้ลิ้มรสแห่งความสงบวิเวก
นิสัยเปลี่ยนเลย
ปกติเราอาจจะชอบพูดคุย เฮฮา ชอบไปเที่ยว
ชอบการทำการละเล่นต่าง ๆ อะไรก็ตาม
เพลินอยู่กับโลก
แต่พอเข้าถึงอุเบกขา จิตตั้งมั่น
เข้าถึงความสงบวิเวกปุ๊บ
ไม่อยากจะไปยุ่งกับความวุ่นวายละ
มันเป็นความวุ่นวายไปละ
นิสัยมันเปลี่ยน กลับเป็นคนชอบสันโดษ
ชอบความสงบวิเวก
ชอบดื่มด่ำกับรสแห่งความสงบ
พอปฏิบัติเข้าถึงอุเบกขานะ
แล้วอยู่กับความนิ่งเฉยไปเรื่อย ๆ
จะเข้าใจเลยในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
คำว่า ความสงบ คำเดียวนี่
แต่ละคนเข้าใจไม่เหมือนกันหรอก
แม้กระทั่งตัวเราเอง
เมื่อเราเข้าถึงความลึกซึ้งของความสงบในแต่ละระดับ
เราก็เข้าใจไม่เหมือนกัน
ถึงได้บอกว่า ธรรมะเนี่ย
มันไม่ใช่ใช้มันสมองหรือใช้ตรรกะตีความ
มันเป็นเรื่องของการหยั่งเข้าถึงความลึกซึ้งในธรรม
เมื่อเข้าถึงความลึกซึ้งขนาดไหน
ก็จะเกิดความเข้าใจที่เรียกว่า การรู้แจ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป
มันเหมือนเราต้องกิน ต้องกินรสอาหาร ต้องกินน้ำ
เราก็เข้าใจ
ถ้าเราแค่ศึกษา มันก็เหมือนเราศึกษาตำรับตำรา
แต่เราไม่เคยดื่มจริง
มันไม่มีทางเข้าใจหรอก มันใช้มันสมอง
สมัยพุทธกาล เขาไม่ได้เรียนอะไรกันมากเลย
บางทีฟังธรรม โพ่ง หลุดพ้นเลย เข้าถึงธรรมเลย
มันรู้แจ้ง มันหยั่งเข้าถึงโดยธรรมชาติ
เพราะฉะนั้นพอปฏิบัติเข้าถึงอุเบกขานี่
มันดื่มด่ำกับรสแห่งความสงบ
จิตมันปล่อยวางความวุ่นวายภายนอกออกไป
โดยธรรมชาติ
พอเข้าถึงอุเบกขานะ ชีวิตเนี่ย ง่ายขึ้นเยอะเลย … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
อ้างอิง :
https://youtu.be/jgY_UCgimiA
https://youtu.be/cAbWbbGViTk
https://youtu.be/4E1EWc47vJg
Photo by : Unsplash
12 บันทึก
22
8
17
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เกล็ดธรรมคำครู
12
22
8
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย