19 ธ.ค. 2021 เวลา 19:43 • ประวัติศาสตร์
ลอนดอนวันที่ 9 (ตอน 1) ไปวังเคนซิงตัน (Kensington Palace) รำลึกถึงเจ้าหญิงไดอาน่า
การเดินไปที่เคนชิงตันต้องผ่านสนามหญ้ากว้างใหญ่ อากาศฤดูใบไม้ร่วงหนาวมากสำหรับคนไทยอย่างเรา ลมก็ยิ่งพัดแรง รู้สึกว่านานแสนนานก็ไปไม่ถึงสักที แต่แล้วขาเราก็พามาจนได้
พระราชวังเคนซิงตันนั้นเดิมเป็นคฤหาสน์แห่งหนึ่งซี่งพระเจ้าวิลเลี่ยมทรงซื้อจากผู้สืบตระกูลของเอิร์ลแห่งนอตติงแฮมในปี ค.ศ. 1689 เนื่องจากพระองค์เป็นโรคหอบหืดและพบว่าที่นี่มีอากาศดีจึงเหมาะกับการเป็นที่พำนัก และได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่โดยคริสโตเฟอร์ เรน สถาปนิกเอกของกรุงลอนดอนนั่นเอง หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเช่นเดียวกับวังเก่าอื่นๆของอังกฤษ
เคนซิงตันถูกใช้เป็นที่ประทับมาหลายยุคสมัยจนกระทั่งในยุคของพระราชินีวิคตอเรียก็ได้รับเกียรติอันสูงยิ่งในการเป็นที่ประสูติของพระองค์ และเมื่อได้ขึ้นครองบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักรก็ได้ประกาศว่าตราบใดที่ยังทรงมีชีวิตอยู่พระราชวังแห่งนี้จะไม่มีวันถูกทำลายเป็นอันขาด ในรัชสมัยนี่เองที่เคนซิงตันได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเพื่อให้รัฐสภาอนุมัติเงินในการบูรณะ อย่างไรก็ตามเมื่อพ้นยุคของพระองค์ไปแล้วก็ได้รับภัยคุกคามจากการทิ้งระเบิดทำลายกรุงลอนดอนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต้องถูกบูรณะอีก หลังจากนั้นก็ได้เป็นที่ประทับของเจ้าหญิงไดอาน่าในปี 1981 - 1997 ตั้งแต่อยู่กับฟ้าชายชาร์ลจนถึงทรงหย่า
อนุสาวรีย์เจ้าหญิงไดอาน่าที่เคนซิงตัน
จะเห็นได้ว่าพระราชวังแห่งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ในราชวงศ์ต่างๆ หลายพระองค์ แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือควีนวิคตอเรียซึ่งประทับเป็นอนุสาวรีย์โดดเด่นอยู่หน้าพระราชวังและทรงพระสิริโฉมมากเพราะเป็นรูปควีนขณะยังเป็นสาวสวยหุ่นดีอยู่ พอมายืนอยู่ด้านหน้าก็จะได้ยินพระสุรเสียง (ซี่งเปิดจากลำโพงตัวใดตัวหนึ่งที่ซ่อนอยู่) บอกเล่าแนะนำพระองค์ ให้เราได้พอรู้จัก “เราคือควีนวิคตอเรีย...และก็....” เล่าอะไรไปเรื่อย ซึ่งเราก็ฟังไม่ค่อยชัด
ที่วังนี้มีการจัดแสดงแบบนิทรรศการ โดยมีหุ่นกระดาษขนาดเท่าคนจริงเพื่อให้จินตนาการถึงชีวิตในราชสำนักยุคนั้น การบรรยายเรื่องราวแต่ละห้องใช้การเขียนลงบนป้ายผ้าใบซึ่งแขวนตั้งไว้ แต่บางครั้งข้อความก็ปรากฏอยู่บนตัวหุ่น (เป็นเรื่องราวของคุณผู้หญิงหรือคุณผู้ชายที่หุ่นนั้นเป็นตัวแทนอยู่) และบางทีก็ปรากฏอยู่บนชามกระเบื้องในห้อง บอกเล่าของดีที่ควรได้ชม
หุ่นกระดาษบางตัวก็มีข้อความบรรยายไว้ อย่างเช่นตัวนี้ เล่าเรื่องสตรีสูงศักดิ์ และวีรกรรมที่ได้ทำไว้
บางทีก็เล่าเรื่องบนจานเซรามิค อย่างเช่นใบนี้เล่าเรื่องกิจกรรมประจำวันของควีนแมรี่
ส่วนห้องรับแขกของกษัตริย์ (King’s Drawing Room) มีจิตรกรรมล้ำค่าอยู่บนผนัง เขียนโดย Giorgio Vasariโดยมีต้นแบบจากภาพร่างของไมเคิลแองเจโล เป็นภาพเทพวีนัสร่างท้วมเอนกายนอนเปลือยมีกามเทพน้อยกำลังหยอกล้อโอบกอดจากทางด้านหลังเพื่อจุมพิตมารดาของเธอ ด้านซ้ายมีโต๊ะที่มีผ้าคลุมวางแจกันกุหลาบอยู่ แขวนคันธนูกับหน้ากากไว้สองอัน กล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งความงามที่จะสามารถปลดปล่อยอาวุธแห่งรักได้
จิตรกรรมวีนัสและกามเทพ โดย Giorgio Vasari https://www.rct.uk/collection/405486/venus-and-cupid
King’s Drawing Room
ห้อง Privy Chamber เป็นอีกห้องที่น่าสนใจเนื่องจากมุ่งเน้นการตกแต่งในสไตล์อังกฤษโดยเฉพาะ เหตุผลนั้นมิได้ขึ้นกับความชอบหรือรสนิยมส่วนพระองค์เลย แต่เกิดจากความต้องการเสริมภาพลักษณ์ของพระเจ้าจอร์จที่ 2 เนื่องจากในรัชกาลก่อน พระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงมีปัญหารุนแรงในด้านความเป็นอังกฤษ เนื่องจากเป็นกษัตริย์อังกฤษที่ไม่สามารถตรัสภาษาอังกฤษได้ !!! เพราะพระองค์เติบโตที่เยอรมัน ดังนั้นเมื่อถึงยุคของพระราชโอรสจึงต้องพยายามสร้างพระองค์ให้มีความเป็นอังกฤษอย่างแรงโดยโปรดให้มีการพูดเป็นภาษาอังกฤษในราชสำนักแทน และยังได้อุปถัมภ์ค้ำชูศิลปินอังกฤษจำนวนมากอีกด้วย
หนึ่งที่ขอนำชมคือห้องเข้าเฝ้า (Presence Chamber) จากบันทึกที่มีอยู่ทำให้ทราบว่าจุดประสงค์ของการมาเฝ้านั้นมีต่างๆนานา เช่น มีการขอยกโทษประหาร การขอให้มอบสิทธิบัตรเครื่องปั่นฝ้ายแบบใหม่ กลุ่มแม่หม้ายทหารเรือมาขอรับบำนาญต่อจากสามีซึ่งเสียชีวิตไป ซึ่งกษัตริย์ได้ทรงมาดูแลด้วยตัวพระองค์เอง
https://www.rct.uk/collection/922150/the-presence-chamber-kensington-palace
ส่วนห้อง King Callery นั้นเป็นที่สะสมงานศิลปะจำนวนมาก ความน่าสนใจคือ ตั้งแต่พระนาง Caroline ซึ่งเป็นราชินีสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 2 สวรรคต สิ่งของในห้องก็ถูกทิ้งไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม แม้แต่ฟืนในเตาผิงก็ไม่มีการขยับเขยื้อน
นอกจากห้องหับสวยหรูมากมายแล้ว สิ่งต่อไปที่จะขอแนะนำคือบันไดพระราชา (King , & Staircase) ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ที่ผนังเป็นรูปบุคคลจำนวนมากยืนอยู่ที่ราวระเบียงหันหน้ามาต้อนรับพวกเราซึ่งกำลังก้าวเดินขึ้นไป บุคคลเหล่านี้ล้วนมีตัวตนอยู่จริงอีกทั้งยังเป็นคนดังหรือเป็นข้าราชบริพารคนสำคัญทั้งนั้น
ตัวอย่างของบุคคลสำคัญเช่น คริสโตเฟอร์ เรน สถาปนิกที่เราแสนจะเบื่อ (เพราะเจอเขาบ่อยมากเกิน) วิลเลียม เคนท์ (William Kent) ศิลปินผู้วาดภาพ ก็ได้ใส่ตัวเขาลงไปในภาพพร้อมกับชู้รักที่อยู่ข้างๆด้วย Mohammed & Mustapha (with beard) ชายรับใช้ของตุรกีของพระราชาที่เคยเป็นเชลยสงครามและได้มาเป็นข้าราชบริพารของพระเจ้าจอร์จที่ 1 โดยโมฮัมหมัดนั้นทำหน้าที่ดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและคอยช่วยพยาบาลดูแลพระองค์ในยามที่ป่วยเป็นริดสีดวง ด้วยเหตุนี้จึงมีคนแอบเมาท์ว่าสงสัยจะเป็นคู่เกย์กัน (ซึ่งก็ไม่จริงหรอกนะ)
ดาวเด่นอีกคนที่เราจะได้เจอคือเด็กผมฟูใส่ชุดสูท ซึ่งมีชื่อว่า Peter เป็นเขาเป็นเด็กชายที่ถูกพบขณะเดินเปลือยกายในป่าที่เยอรมันและได้ถูกนำมาที่ลอนดอนและได้เป็นที่สนใจของคนอังกฤษในฐานะเด็กแปลกที่มีลักษณะยังเป็นเหมือนคนป่า ไม่สามารถพูดคุยได้ แต่ยังมีความโชคดีที่เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งเวลส์ได้ให้การอุปถัมภ์ค่าเลี้ยงดูและมอบหมายให้หมอคนหนึ่งทำการสอนหนังสือ ซึ่งก็ประสบความล้มเหลว อย่างไรก็ตามในที่สุดเขาสามารถพูดได้สองคำ คือคำว่า "Peter" และ "King George " สามารถฮัมเพลงได้สองสามเพลง อีกทั้งมีคนให้ความเห็นว่าสามารถเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นต้องการสื่อสารด้วย
Peter คือเด็กที่ยืนอยู่คนที่สองจากซ้าย
สิ่งของจัดแสดงชิ้นสำคัญอีกชุดหนึ่งที่เคนซิงตันภูมิใจนำเสนอก็คือเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของราชสำนัก เราจะไดเห็นสไตล์ของแฟชั่นในยุคต่างๆจากหุ่นกระดาษที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งช่วงยุครุ่นเรื่องทางการค้าของอังกฤษนั้น มีสินค้าและวัตถุดิบต่างๆมาป้อนให้กับการผลิตมาก เครื่องใช้และสิ่งตกแต่งหรูหราจึงได้เฟื่องฟูขึ้น โดยเฉพาะกระโปรงแบบที่บานออกด้านข้างราวกับเอาแผงกระดานขนาดใหญ่มาใส่ไว้ในกระโปรง จนเวลาเดินสวนกันต้องคอยหลบหลีกไม่ให้กระโปรงชนกัน อย่างไรก็ตามการกางออกของกระดานก็ทำให้เปิดโอกาสในการมีพื้นที่สำหรับอวดลวดลาย การตกแต่งผืนผ้า ได้อย่างเต็มที่ ยิ่งเวลาเต้นรำคงกินที่มากเลย ต้องมีระยะห่างจากกันเป็นเมตร น่าจะนำมาใช้ในเรื่อง Social distance ในช่วงโควิดนะ
นอกเหนือจากชุดหรูเหล่านี้แล้วยังมีคอลเลคชั่นฉลองพระองค์ของพระราชวงศ์วินเซอร์มาจัดแสดงอยู่ ทั้งของควีนอลิซาเบธที่ 2 เจ้าหญิงมากาเร็ต และเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่งทั้ง 3 พระองค์เป็นตัวแทนของยุคสมัยต่างๆ โดยชุดของควีนแสดงฉลองพระองค์ในยุคทศวรรษ 50 ส่วนเจ้าหญิงมากาเร็ตเป็นตัวแทนของทศวรรษ 60 และเจ้าหญิงไดอาน่าเป็นตัวแทนของทศวรรษ 80 การจัดแสดงเหล่านี้จึงสะท้อนแฟชั่นอังกฤษที่เกิดจากอิทธิพลทั้งภายในและภายนอก ตัวอย่างเช่น ทศวรรษที่ 50 โลกทั้งใบได้อิทธิพลจากสไตล์นิวลุคของดิออร์ ฉลองพระองค์ของควีนก็สะท้อนปรากฎการณ์นี้ ส่วนดีไซเนอร์หลวงของชาวอังกฤษก็ได้สร้างแนวคิดที่สำคัญเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Norman Hartnell ได้ให้คำแนะนำว่าราชวงศ์อังกฤษควรใส่ชุดสีอ่อนเพราะจะได้ไม่เป็นที่โดดเด่นในฝูงชน เป็นต้น
ส่วนเจ้าหญิงมากาเร็ตนั้น ทรงมีอิสรภาพในการเลือกมากกว่า ไม่ต้องถูกบังคับตามกรอบให้ใช้ดีไซน์เนอร์อังกฤษอย่างควีนอลิซาเบธ เราจึงได้เห็นภาพของพระองค์ในฐานะผู้นำแฟชั่นด้วยชุดต่างๆซึ่งเป็นที่สนใจของสื่ออยู่เสมอ
และอีกผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจของวงการแฟชั่นก็คือเจ้าหญิงไดอาน่านั่นเอง ตั้งแต่ทรงผมเลดี้ได (ใครบางคนอาจจะเคยตัดผมทรงนี้มาแล้วในช่วงนั้น) และชุดอื่นๆอีกมาก ดังนั้นเวลาพระองค์เสด็จไปที่ใด ประเทศไหน จะมีผู้คนและสื่อต่างๆคอยสังเกตชุด (บางทีหนึ่งในนั้นอาจเป็นดีไซเนอร์สิ้นคิดที่คอยหาไอเดียจากชุดของเธอ) แต่สิ่งที่ผู้ชมวังเคนซิงตันต้องการจะดูมากที่สุดก็คือชุดเจ้าสาวที่พระองค์สวมใส่ในการอภิเษกสมรส ซึ่งต้องขอบอกว่าเสียใจ เพราะมันไม่ได้อยู่ที่นี่
ชุดเจ้าสาวซึ่งไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ยังมีคนถามหาอยู่ (สงสัยจะเอาไปตัดเลียนแบบเปล่า)
นอกจากนี้ นิทรรศการยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของแฟชั่นระดับโลกที่ส่งผลมาถึงราชสำนัก เช่น ในยุค 60 อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบป๊อบมาแรง ทศวรรษ 70 วัฒนธรรมฮิปปี้ก็มีอิทธิพลต่อแฟชั่นอังกฤษ รวมทั้งอิทธิพลของฮอลลีวู้ด เช่น ภาพยนตร์ซีรี่ย์เรื่อง Dynasty ที่มีตัวแสดงเป็นชันชั้นสูง แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าวาววับ ซึ่งส่งผลมาสู่เจ้าหญิงไดอาน่า ที่ได้นิคเนมจากสื่อว่า Dynasty Di เมื่อทรงฉลองพระองค์สไตล์นั้นด้วย
แม้ว่าเคนซิงตันจะเป็นที่ประทับของกษัตริย์หลายพระองค์ แต่ผู้ที่คนมาชมวังคิดถึงที่สุดคงไม่เป็นใครอื่น นอกเสียจากเจ้าหญิงไดอาน่าซึ่งมาประทับอยู่ที่นี่ตั้งแต่ 1983 และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง ฝูงชนผู้เศร้าสร้อยก็ได้มาที่นี่เพื่อวางช่อดอกไม้เพื่อแสดงการไว้อาลัยอย่างสุดซึ้ง ภาพกองดอกไม้พะเนินเทินทึกหน้าประตูพระราชวังบ่งชี้ความอาลัยของชาวอังกฤษได้ดี เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ความสูญเสียแห่งชาติที่สำคัญช่วงหนึ่ง
PHOTO: MIKE HOLLIST/DAILY MAIL/SHUTTERSTOCK https://www.readersdigest.ca/culture/princess-diana-kensington-palace-memorial/
ต่อไป ขอแถมภาพนิทรรศการ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์วินเซอร์เอาไว้ให้ดูกันนะ
ทางเข้าห้องน้ำ เขียนลวดลายดอกไม้กระจุ๋มกระจิ๋ม น่ารักดี
แต่ที่น่ารักยิ่งขึ้นคือป้ายหน้าห้องน้ำ (ซ้ายมือของภาพ) เตือนให้เรารู้ว่า นี่คือห้องน้ำในวังนะจ๊ะ ต้องไม่ธรรมดา พอเราเข้าไปใช้ ก็รู้ตัวเลยว่าเราเป็นชาววัง
และที่แน่นอนก็คือ พระองค์ประทับอยู่ในวังแห่งนี้ตลอดกาล อย่างน้อยก็ในความทรงจำ
ในนิทรรศการแฟชั่นมี VDO นางแบบ ฉายอยู่ สวยดี (ไม่รู้ว่านางแบบแต่ละนางแทนสมาชิกในราชวงศ์รึเปล่า)
ใครอยากดู VOD คลิกตรงนี้ได้ฮะ
ยังไม่หมด ของแถมอีก คือสวนสวยในพระราชวัง อากาศหนาวๆแบบนี้ ออกไปผึ่งแดดข้างนอก สบายใจ
เลี้ยงเป็ดเลี้ยงนกริมสระ สบายใจ ได้บุญ
โฆษณา