20 ธ.ค. 2021 เวลา 14:15 • ปรัชญา
“สังโยชน์เบื้องปลาย”
“ …​ ครั้งหนึ่งพระอนุรุทธะ ก็ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระสารีบุตร
ท่านก็เล่าให้ฟังว่า กระผมเนี่ยมีทิพยจักขุ
สามารถตรวจดูได้ทั้งพันโลกธาตุเลย
เป็นผู้ที่ปรารภความเพียร ไม่ยิ่งหย่อน
มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน
มีกายที่สงบระงับ มีจิตใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหว
แต่ถึงกระนั้นน่ะ กระผมก็ยังไม่หมดสิ้นซึ่งอุปาทาน
ยังไม่สามารถทำอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นไปได้
ท่านพระสารีบุตรก็เลยกล่าวว่า
การที่ท่านมีความรู้สึกว่า
สามารถตรวจดูได้ทั้งพันโลกธาตุเนี่ย
เป็นมานะของท่าน
1
มานะคือความถือตัวถือตน
แต่อันนี้มันเป็นมานะละเอียด ว่าเราทำนั้นได้ ทำนี้ได้
เป็นมานะละเอียด
การที่ท่านมีความรู้สึกว่า
มีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น
มีกายที่สงบระงับ มีจิตใจที่มั่นคง
นั้นเป็นอุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่าน
ก็เป็นความฟุ้งซ่านละเอียด ๆ
อันนี้สังโยชน์เบื้องปลายแล้ว
ส่วนการที่ท่านมีความรู้สึกว่า
ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถหมดสิ้นซึ่งอุปาทาน
ยังไม่สามารถทำอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นไปได้
เป็นกุกกุจจะ คือความรำคาญใจ
ท่านจงละธรรม ๓ ประการนี้เสีย
จงมีจิตใจที่ตั้งมั่น น้อมจิตเข้าสู่อมตธาตุเถิด
เวลาภิกษุได้รับคำสอนแล้วก็ปฏิบัติ เจริญสมณธรรม
จนสามารถเปลี่ยนจากใจที่หลงวกวนอยู่กับสิ่งต่าง ๆ
จนเกิดมีสติที่ตั้งมั่น มีสติมั่นคง มีจิตตั้งมั่นขึ้นมาได้
พระพุทธองค์ก็จะทรงสอนให้ยิ่งขึ้นไปว่า
น้อมจิตเข้าสู่อมตธาตุ หรือคำว่า เปลื้องจิต
เราจะพบพระสูตรตรงนี้อยู่เสมอเลย
น้อมจิตเข้าสู่อมตธาตุ
เพราะฉะนั้น “อมตธาตุ” โผล่ขึ้นมาแล้วนะ
อมตธาตุคือธาตุบริสุทธิ์
ที่ไม่มีการเกิดปรากฏ ไม่มีการเสื่อมปรากฏ คงสภาวะเช่นนั้น
1
ซึ่งการที่จะน้อมจิตเข้าสู่อมตธาตุได้
ต้องมีจิตใจที่ตั้งมั่นก่อน
ต้องเปลี่ยนจากใจที่ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย
จนมาเป็นจิตใจที่ตั้งมั่นได้ก่อน
ด้วยการอบรมสติปัฏฐาน ๔ ทำให้มาก เจริญให้มาก
จนเกิดจิตใจที่ตั้งมั่น
แสดงว่าสภาวธรรมของพระอนุรุทธะในขณะนั้นเนี่ย
เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่นแล้ว
ทรงฌานสมาบัติแล้ว แล้วก็มีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว
แต่ติดเรื่องสังโยชน์เบื้องปลาย คือเรื่องละเอียด
มานะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ
เบื้องปลายทั้งนั้น เป็นสังโยชน์เบื้องปลายทั้งนั้น
ส่วนสังโยชน์เบื้องต้น ท่านไม่ได้มีปัญหาแล้ว
เป็นเบื้องปลาย ก็ให้ละสิ่งเหล่านี้เสีย …​“
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา