20 ธ.ค. 2021 เวลา 09:27 • สุขภาพ
The emotional doctor หมออารมณ์
เคยได้ยินไหมครับว่า บางครั้งหรือส่วนใหญ่เรามักตัดสินปัญหาต่าง ๆ ด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล ตามที่หนังสือ The emotional man มนุษย์อารมณ์โดยอาจารย์ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เขียนไว้ ด้วยหลักฐานและการทดลองต่าง ๆ ชี้ชัดว่ามนุษย์เราให้ความสำคัญกับอารมณ์มากกว่าเหตุผลในการคิดหรือการตัดสินใจต่างๆ เรามีทั้งสองตัวตน ทั้งมนุษย์อารมณ์และมนุษย์เหตุผลในคน ๆ เดียวกัน
หมอหรือแพทย์ก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่เราๆในฐานะคนไข้ ที่รักษากับหมอ ๆ เราคาดหวังว่าหมอจะเป็นมนุษย์อารมณ์หรือมนุษย์เหตุผลมากกว่ากัน เรื่องนี้ไม่ต้องคิดมากเลย เราคงคาดหวังว่าหมอต้องเป็นมนุษย์เหตุผลสิ ต้องใช้ข้อมูล หลักฐานทางการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วย การสางตรวจทางห้องปฏิบัติด้วยเหตุและผลที่ควรจะเป็น นำมาสู่การวินิจฉัยอย่างแม่นยำ และเลือกการรักษาอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นหลักในการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราคาดหวัง อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดทุกครั้ง ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า หมอก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ที่ตัวตนเขามีทั้งสองด้านคือ อารมณ์และเหตุผล ดังนั้น หมอเอง ก็เป็นมนุษย์อารมณ์ ได้เช่นกัน และจะบอกว่า หลาย ๆ ครั้ง หมออารมณ์นั้น แสดงตัวตนออกมาบ่อยกว่าหมอเหตุผลด้วยซ้ำ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
เหตุการณ์แรก ผู้ป่วยรายหนึ่งมีอาการน้ำมูก ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ มีไข้ ตรวจคอหอยไม่พบหนอง ผลตรวจไม่พบโควิด หมอสั่งจ่ายยา Augmentin มาให้ทาน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ สถานการณ์แบบนี้เจอบ่อย ๆ มาก ทั้ง ๆ ที่อาการน้ำมูก เสียงแหบ และไม่พบคอหอยเป็นหนอง นั้น บ่งชี้ว่า การติดเชื้อนั้นเป็นเชื้อไวรัสมากกว่าเชื้อแบคทีเรีย การรักษาภาวะนี้คือแค่การบรรเทาอาการ โดยไม่จำเป็นต้องให้ทานยาปฏิชีวนะ ถ้าเราถามหมอกลับไปทำไมต้องกินยาดังกล่าว หมอคงจะอ้ำๆอึ้ง ตอบแถๆ ไปว่า อาจเป็นติดเชื้อแบคทีเรียได้ (บ่งชี้ว่าอารมณ์มาก่อนเหตุผล)
เหตุการณ์ที่สอง ผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน มาด้วยอาการจุกแน่นลิ้นปี่ 6 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล รู้สึกเหนื่อย เพลีย จึงรีบมาพบแพทย์ แพทย์ถามประวัติไม่กี่คำ เอามือกดท้อง และบอกว่าเป็นโรคกระเพาะ และสั่งยาลดกรดกลับไป หลังกลับบ้านไป ปรากฏว่าอาการผู้ป่วยทรุดลง จุกลิ่นปี่มากขึ้น หน้ามืด หมดสติ และถูกส่งมาโรงพยาบาล สุดท้ายผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ทำไมหมอคนแรกจึงวินิจฉัยไม่ได้ เขาใช้เหตุผลอะไรในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะ เขาไม่สงสัยเลยหรือว่าผู้ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ก็ได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจ (ถ้าใช้เหตุผลอย่างครอบคลุม อาการดังกล่าวเกิดได้จากหลายภาวะ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน โรคถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ หลอดเลือดแดงในช่องท้องฉีกขาด และอีกหลายโรค)
บางครั้งการตัดสินใจแบบหมออารมณ์นั้น เราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การตัดสินใจโดยสัญชาตญาณ หรือ intuitive thinking หรือ system 1 thinking (ระบบความคิดที่ 1 ตาม Daniel Kahnemann) เป็นระบบที่ตัดสินอะไรอย่างรวดเร็วตามแบบแผนความคิดที่เรามีแต่ดั้งแต่เดิม ใช้อารมณ์มาร่วมตัดสินใจ โอกาสผิดพลาดสูง แต่อย่างไรก็ตามมีความเร็ว ช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างฉับพลันทันเหตุการณ์ (สามารถอ่านเพิ่มเติมใน https://www.blockdit.com/posts/601e93fb76c3130bc0a09c02 และ https://www.blockdit.com/posts/601e9332ba66b20bab34cdc1)
แม้ว่าความคิดระบบที่ 1 จะมีอารมณ์มาเกี่ยวข้องนั้น จะมีข้อบกพร่อง แต่ในชีวิตทุกวันน้ัน เราใช้ระบบความคิดนี้บ่อย ๆ หมอก็เช่นกัน ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ทางการแพทย์มักจะไม่มีปัญหา เนื่องจากปัญหาที่พบส่วนใหญ่ไม่มีความซับซ้อน ระบบความคิดนี้จึงสามารถทำงานได้ดี แต่เมื่อเจอปัญหาที่ซับซ้อน มีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย โอกาสผิดพลาดย่อมสูงขึ้นดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่สอง
เวลาไปตรวจกับหมอ เมื่อมีข้อสงสัยในวินิจฉัย ในการตรวจ และการรักษา คนไข้สามารถสอบถามหมอได้ครับ ส่วนหนึ่งเป็นการกระตุ้น หมอเหตุผลให้แสดงตัวตนออกมามากกว่าหมออารมณ์ ในสถานการณ์สำคัญ ๆ ที่พอมีเวลา เราอยากให้หมอเหตุผลมาดูแลเรามากกว่า แต่เราคาดหวังเช่นกัน ว่าในสถานการณ์ที่หมออารมณ์ทำงานนั้น จะต้องทำงานอย่างถูกที่ถูกเวลา และถ้าเป็นไปได้ พาหมอเหตุผลออกทำงานกับหมออารมณ์ไปด้วยกันได้ยิ่งดี
ถ้าไปหาหมอครั้งต่อไป ลองคิดสนุกๆดูนะครับว่า คุณได้ตรวจกับ “หมออารมณ์” หรือ “หมอเหตุผล “
#รู้ทันหมอ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา