22 ธ.ค. 2021 เวลา 23:24 • สุขภาพ
ทำไมหมอต้องถาม: คนไข้ลุกขึ้นมาหอบเหนื่อยตอนกลางคืนไหมครับ
หมอเป็นวิชาชีพที่ทำงานคล้ายกระบวนการศาลยุติธรรม โดยโรคที่ผู้ป่วยเป็นเปรียบเสมือนผู้กระทำความผิด โดยก่อให้เกิดความเจ็บป่วย ไม่สุขสบายทั้งกายและใจในตัวคนไข้ คนไข้เองเปรียบเหมือนผู้เสียหาย ผู้ร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บนั้นนั้น บางครั้งก็มีความยากและความสลับซับซ้อนในการค้นหาตัว หาหลักฐาน หรือพยาน เพื่อมายืนยันความผิด และนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิด โดยการให้ยารักษาด้วยยา การผ่าตัด หรือการให้คำแนะนำ เพื่อทำให้ผู้เสียหายดีขึ้น เกิดการฟิ้นฟู และหายจากผลกระทบจากผู้ร้ายดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการรักษาอย่างจำเพาะต่อโรคที่วินิจฉัย
ขั้นตอนหนึ่งในการตรวจรักษาผู้ป่วย หรือผู้เสียหาย คือ การหาหลักฐานเพื่อนำมาประกอบความผิดของผู้ร้ายนั้น หมอต้องใช้ “คำถาม” ถามผู้เสียหายหรือผู้ป่วย ถึงรูปพรรณสัณฐาน ร่องรอยการกระทำผิด พยานแวดล้อมจากญาติหรือผู้เกี่ยวข้องผู้เห็นเหตุการณ์ต่อการเจ็บป่วย การถามคำถามจึงเป็นกระบวนการสำคัญกระบวนการหนึ่งในการช่วยวินิจฉัยโรค และนำมาสู่การรักษาอย่างถูกต้อง
ผู้ป่วยรายหนึ่งมาตรวจโรงพยาบาลด้วยอาการเหนื่อยหอบ เวลาออกแรง เดินได้ไม่ไกลต้องหยุดพักเพราะเหนื่อย เมื่อหมอเข้ามาตรวจและได้ฟังว่าผู้ป่วยมาด้วยอาการเหนื่อยหอบ ในสมองหมอขณะนั้นเริ่มทำงานโดยเกิดกระบวนการคิดเพื่อหาสาเหตุของอาการหรือตัวผู้กระทำความผิด เพื่อที่จะได้มาซึ่งข้อมูล จึงถามคำถามหนึ่งออกไปโดยอัตโนมัติว่า “คนไข้ลุกขึ้นมาหอบเหนื่อยตอนกลางคืนไหมครับ” ถ้าเราเป็นคนไข้เอง เราสงสัยไหมว่า หมอเค้าถามคำถามนี้ไปทำไม มันช่วยในการวินิจฉัยโรคอย่างไร คำถามที่ถามนี้ เป็นคำถามที่มีความจำเพาะเจาะจงกับภาวะหัวใจวาย หรือ heart failure ที่มาที่ไปเป็นอย่างไรมาฟังกัน
การทำงานของหัวใจในภาวะปกติ เหมือนปั๊มน้ำคอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และไปฟอกเติมออกซิเจนที่ปอด หัวใจห้องซ้ายจะบีบเลือดแดงที่มีออกซิเจนสูงไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆของร่างกาย ส่วนหัวใจห้องขวามีหน้าที่รับเลือดดำออกซิเจนต่ำมา และสูบฉีดไปฟอกที่ปอดเพื่อทำการฟอกและเติมออกซิเจนทำให้เลือดมีออกซิเจนหรือเลือดแดง และส่งไปยังหัวใจห้องซ้าย
สำหรับภาวะหัวใจวายเป็นภาวะที่หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย กรณีหัวใจห้องด้านซ้ายทำงานผิดปกติ บีบเลือดออกไปน้อยลง ส่งผลให้เลือดค้างอยู่ในปอด ทำให้มีภาวะน้ำท่วมปอด มีการแลกเปลี่ยนก๊าซผิดปกติ ออกซิเจนในเลือดต่ำลง ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ส่วนถ้าหัวใจห้องด้านขวาทำงานผิดปกติ เลือดจะไม่สามารถเข้าสู่หัวใจห้องขวาได้ ทำให้เลือดค้างอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้มีอาการบวมน้ำ ที่สังเกตง่าย ๆ คือ ขาสองข้างบวม
เมื่อคนไข้มีภาวะหัวใจวาย โดยเฉพาะหัวใจห้องด้านซ้ายทำงานลดลง ในระยะเริ่มต้น อาจยังไม่พบว่าผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยเวลาออกแรงมากนัก แต่จะพบว่าผู้ป่วยอาจมีอาการลุกขึ้นมาหอบเหนื่อยตอนกลางคืน ในภาวะหัวใจวายเริ่มต้น เมื่อนอนราบไปแล้วราว 1-2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะรู้สึกหายใจเหนื่อยและต้องลุกขึ้นมาทำให้การหายใจดีขึ้น บางรายนั้น ถึงกับต้องออกไปเดินสูดอากาศที่หน้าต่าง อาการเหนื่อยที่เกิดขึ้นจึงทุเลา และกลับไปนอนต่อได้ แต่ก็อาจลุกขึ้นมาหอบหลังนอนหลับไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง เช่นเดิม เป็น ๆ หาย ๆ ไปทุกรอบของการนอนหลับ ในภาษาทางการแพทย์ เรียกภาวะนี้ว่า Paroxysmal Nocturnal Dyspnea (PND)
ทำไมผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวาย โดยเฉพาะหัวใจห้องด้านซ้ายทำงานผิดปกติ ในระยะเริ่มต้นจึงเกิดอาการดังกล่าว ทำไมเกิดขึ้นเวลาเข้านอนไปแล้วด้วย กลางวันทำไมไม่เป็น มีคำอธิบายดังนี้
เวลานอนหลับไป ระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายจะอยู่ในโหมดพัก ไม่ติ่นตัว หรือเรียกว่ามีการทำงานพาราซิมพาเธติก (parasympathetic) ทำงานเด่นกว่าระบบซิมพาเธติก (sympathetic) ซึ่งระบบ sympathetic นั้นมีลักษณะที่จะกระตุ้นให้เราตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว บีบแรง มากขึ้น เหมือนเราออกกำลังกาย ส่วนเวลานอนในะระยะแรกนั้นตรงข้ามกันเลย หัวใจบีบแรงลดลง เต้นช้าลง และจากการที่มีระบบ parasympathetic เหนือกว่า
นี่เองเป็นเหตุให้เวลาเข้านอนไปแล้ว ในผู้ป่วยที่มีหัวใจทำงานลดลงอยู่แล้ว ทำงานแย่ลงไปอีกในการนอนระยะเริ่มต้น ๆ ทำให้เลือดจากส่วนต่าง ๆ ที่ไหลเวียนกลับมาสู่หัวใจและไปที่ปอด ไม่สามารถออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดในขณะนอน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบขึ้นมา จากนั้นผู้ป่วยจึงต้องลุกขึ้นมา ซึ่งการลุกขึ้นมาทำให้เเลือดจากที่สูงไหลลงสู่ที่ต่ำ เลือดเข้าไปที่ปอดลดลง ทำให้ลดอาการเหนื่อยหอบลงได้ นอกจากนี้คนไข้บางรายถึงกับออกไปเดินสูดอาการ การเดินนี่เองเป็นการเปลี่ยนจากที่ร่างกายใช้ระบบ parasympathetic เป็นระบบ sympathetic ซึ่งเมื่อทำน้อย ๆ ก็จะกระตุ้นให้หัวใจทำงานดีมากขึ้น ส่งผลให้ภาวะน้ำท่วมปอดลดลงและหายเหนื่อยในที่สุด
ดังนั้น เวลาหายใจหอบเหนื่อย แล้วมีอาการหายใจหอบเหนื่อยเวลานอนหลับไปแล้ว เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญของภาวะหัวใจวาย ถ้ามีอาการดังกล่าว ให้รีบไปหาหมอโดยเร็ว เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุ เพื่อทีจะได้รักษาต่อไป
ต่อไปนี้ เมื่อถูกถามว่า “คนไข้ลุกขึ้นมาหอบเหนื่อยตอนกลางคืนไหมครับ” ก็ไม่ต้องสงสัยละครับว่า ทำไมหมอต้องถามคำถามนี้
#รู้ทันหมอ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา