21 ธ.ค. 2021 เวลา 01:12 • ปรัชญา
"จิตรู้ กับ จิตหลง"
5
" … ธรรมะอยู่กับตัวเรา ธรรมะไม่ได้อยู่ที่อื่นหรอก
แสวงหาออกไปข้างนอกเท่าไหร่ก็ไม่เจอ
ย้อนกลับเข้ามา โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง
ธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง
2
ฉะนั้นไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาไปที่โน่นที่นี่
ยิ่งแสวงหามาก ยิ่งเนิ่นช้า เสียเวลา
ดูของจริงลงปัจจุบันไป ดูในกายในใจของเรา
อย่างหลวงพ่อ หลวงพ่อเคยชินอยู่คนเดียว
พอสอนตอนเช้า สอนเสร็จแล้ว
เข้ากุฏิอยู่ของเราคนเดียว มีลมหายใจเป็นเพื่อน
หายใจออก หายใจเข้า รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ
พวกเราก็ต้องฝึกให้จิตใจมันมีเครื่องอยู่
อยู่กับลมหายใจ หรือลมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
เราจะบริกรรมบทอื่นก็ได้ เอาที่ถนัด
หรือจะรู้ร่างกายก็ได้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึก
ร่างกายเคลื่อนไหว เราทำงานบ้านอย่างนี้
กวาดบ้าน ถูบ้าน เห็นร่างกายมันทำงาน
ใจเราเป็นคนรู้คนดูไป
ฝึกทุกวันๆ ให้มากที่สุด ใจเราจะค่อยๆ มีพลังขึ้นมา
มันจะตั้งมั่นโดยเราไม่ได้เจตนาให้ตั้งมั่น
มันตั้งของมันได้เอง ขอให้ปฏิบัติให้สม่ำเสมอเท่านั้นล่ะ
มีสติระลึกรู้ไป ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก
จิตใจมันทำงาน มันเคลื่อนไหว คอยรู้สึกไป
แล้วเวลามันไปรู้ร่างกาย
บางทีจิตมันไหลลงไปที่กายก็รู้สึกอีก
อย่างเราหายใจออก หายใจเข้า จิตมันไหลลงไป
ตามลมหายใจเข้าไป เรารู้ว่าจิตมันเคลื่อนไป
เราเดิน บางคนหัดเดิน เท้ากระทบพื้นอะไรอย่างนี้
จิตไหลไปอยู่ที่เท้า ให้รู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่เท้าแล้ว
1
“ทำกรรมฐานแต่ไม่รู้ทันจิตของตัวเอง ยังไม่จัดว่าเป็นจิตตสิกขา”
ถ้าเราไม่รู้ทันจิตของตัวเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แต่ไม่รู้ทันจิตของตัวเอง ยังไม่จัดว่าเป็นจิตตสิกขา
เราจะได้สมาธินอกศาสนาพุทธไป
เพ่ง นิ่ง จ้องก็ว่างๆ ไปอะไร หรือบางทีก็เครียดๆ ไป
ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง
แล้วพอจิตเรามันเคลื่อนไป รู้ทันมันไปเรื่อยๆ
พอจิตเคลื่อนแล้วรู้ทัน การเคลื่อนนั้น
จิตมันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งไปหาอารมณ์
เช่น เราทำกรรมฐาน หายใจออก หายใจเข้า
จิตฟุ้งซ่าน คือจิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ
แค่นี้ก็ฟุ้งแล้ว
หรือเราพิจารณาร่างกาย
เราดูลงไปในร่างกาย จิตเราไหลเข้าไปในร่างกาย
อันนี้ก็ฟุ้งซ่านแล้ว
ไหลไปในรูป ในกลิ่น ในเสียง ในรส ในโผฏฐัพพะ
ไหลไปหาธรรมารมณ์ต่างๆ
เช่น จิตมันมีความสุขแล้ว
จิตมันก็ไหลเข้าไปนอนอยู่ในความสุข
หรือจิตมีความโกรธเกิดขึ้น
จิตมันไหลไปจมอยู่ในความโกรธ
อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ยังใช้ไม่ได้
ต้องมีสติรู้ทันลงไปอีกชั้นหนึ่งว่าตอนนี้จิตมันไหลไป
ไหลไปในร่างกาย
หรือไหลไปในอารมณ์ที่เป็นนามธรรมต่างๆ อะไรอย่างนี้ รู้ทันไป
หรือจิตเคลื่อนไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ทางทวารทั้ง 6 จิตมันเคลื่อนไป รู้ทันมัน
จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ได้ทั้งสติ ได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ ได้ทั้งปัญญา
ถ้าเราทำตรงนี้ได้ การภาวนามันจะสั้นนิดเดียวเลย
ไม่มีอะไร ทั้งวันจิตมีอยู่ 2 ชนิดเอง คือจิตรู้กับจิตหลง
บางคนได้ยินอย่างนี้ก็สงสัยอีก
เมื่อก่อนหลวงพ่อชอบพูดว่าเผลอไป รู้แล้วก็เพ่ง
ทำไมตอนนี้มาพูดว่ามีแค่จิตรู้กับจิตหลง
จิตเพ่งก็เป็นจิตหลงชนิดหนึ่ง หลงไปเพ่ง
มันเคลื่อนไปจมอยู่ในอารมณ์อันเดียว
ฉะนั้นถ้าเราคอยรู้ทัน ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง
แล้วเรารู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไป เรารู้ทัน
พอรู้ทันแล้วจิตมันก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเอง
เราก็รู้ทันอีกว่าจิตมันตั้งมั่น
พอจิตมันตั้งมั่น ก็อย่าไปประคองไว้
พอมันกระทบอารมณ์ใหม่ มันไหลไปอีก รู้อีก
ไหลแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ อย่าไปกลัวจิตไหล
แล้วก็ไปประคองให้นิ่งๆ ไว้ อันนั้นก็หลงเหมือนกัน หลงเพ่ง
ถ้าเราทำตรงนี้ได้ จิตไหลแล้วรู้ๆ
ต่อไปพอไหลปุ๊บรู้ปั๊บเลย
เพราะจิตมันจำการไหลได้ มันจำอาการที่จิตเคลื่อนไป มันจำได้
มันเห็นจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ เห็นบ่อยๆ
ในที่สุดมันก็จำได้ว่าจิตเคลื่อนเป็นอย่างนี้
ทันทีที่จิตเคลื่อน สติจะเกิดเอง
เพราะสติเกิดจากถิรสัญญา
การที่จิตมันจำได้แม่นยำถึงสภาวะ
อย่างมันเคลื่อนแล้วเห็น เคลื่อนแล้วเห็นบ่อยๆ
มันจำได้ว่าการเคลื่อนเป็นอย่างนี้
พอเคลื่อนปุ๊บ สติจะเกิดเองเลย ไม่ได้เจตนาให้เกิด
เพราะฉะนั้นจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ สิ่งแรกที่เราได้ สติ
ถ้าจิตเคลื่อนแล้ว เรารู้ เท่ากับเราเจริญอินทรียสังวรอยู่
ถ้าเราไม่รู้ จิตก็หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ฟุ้งซ่านไปทางทวารทั้ง 6
ถ้ามันเคลื่อนแล้วเรารู้
มันก็ไม่ไหลไปทางทวารทั้ง 6 ตั้งมั่นขึ้นมา
อินทรียสังวรก็เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นอย่างเวลาคนทั่วๆ ไป
ตาเห็นรูปอย่างนี้ เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วอะไรไม่รู้
เรียกว่าไม่มีอินทรียสังวร
ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส
กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด
แล้วจิตใจมันเกิดอะไรขึ้นมา
เช่น มันเคลื่อนไปหาอารมณ์ทั้งหลาย เรารู้ทัน
จิตมันจะสงบตั้งมั่นขึ้นมา จิตก็เป็นปกติ
จิตปกติก็คือจิตที่มันไม่หลงไปนั่นเอง
มันตั้งมั่นอยู่โดยไม่ได้เจตนา
ฉะนั้นเราฝึกเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตมันเป็นปกติ
จิตที่เป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสครอบงำนั่นล่ะ
จิตมันจะมีศีลอัตโนมัติขึ้นมา
อย่างกิเลสมันเกิด เรามีสติรู้ทัน กิเลสดับ
กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ รับรองว่าเราไม่ทำผิดศีล
เรามีศีลที่เรียกอินทรียสังวรเกิดขึ้นอัตโนมัติเลย
ฉะนั้นการที่จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ อันแรกเราได้สติ
เคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บๆ รู้เร็วขึ้นๆ จิตเคลื่อนแล้วรู้อย่างนี้
จิตก็ไม่ถูกกิเลสครอบงำ เราจะมีศีลอัตโนมัติเกิดขึ้น
เรียกเป็นอินทรียสังวรศีล เป็นศีลสูง
ศีลสูงกว่าศีลที่เราตั้งใจถือเป็นข้อๆ
อินทรียสังวรไม่ได้เป็นข้อๆ มีข้อเดียว
คือคอยมีสติรู้เท่าทันจิตตนเองเท่านั้น
มันสังวรเอง สำรวมเอง
ฉะนั้นเราคอยรู้ทัน จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป
นอกจากจะได้สติ ได้ศีลแล้ว
ตรงที่เราเคลื่อนแล้วเรารู้ ขณะที่รู้การเคลื่อนจะดับ
จิตจะไม่เคลื่อน จิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ
ตัวนั้นคือตัวสมาธิ
เพราะฉะนั้นจิตเคลื่อนแล้วเรารู้
สิ่งที่เราจะได้คือสมาธิที่ดี เป็นสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่น
แต่ถ้าจิตเคลื่อนแล้วไม่รู้
จิตก็ไปจมอยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง
ไปแช่อยู่กับอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่ใช่สมาธิที่ดี
เป็นสมาธิที่จมที่แช่ นอนนิ่งอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง
สงบ แต่ไปไหนต่อไม่ได้ มันก็ซื่อบื้อ อยู่อย่างนั้น
มันเหมือนงู งูมันจับเหยื่อได้ มันกินเหยื่อไปเสร็จแล้ว
มันก็ไปนิ่งๆ นอนนิ่งๆ อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะย่อยหมด
จิตซึ่งมันไม่ค่อยฉลาด ไม่มีความตั้งมั่น
มันไปกินอารมณ์ เข้าไปเสพอารมณ์
แล้วมันก็นอนแน่นิ่งอยู่กับอารมณ์อย่างนั้น
คล้ายๆ งู ดูไปๆ จิตที่หลงไปนอนนิ่งๆ อยู่กับอารมณ์
มันเหมือนงูที่กินเหยื่อแล้ว ท้องยังป่องอยู่
นอนอยู่อย่างนั้น เสียเวลา
หาความเจริญก้าวหน้าอะไรไม่ได้หรอก
ฉะนั้นเวลาจิตมันเคลื่อน เรารู้ไปเรื่อยๆ
สติก็จะเกิด ศีลก็จะเกิด แล้วจิตก็จะตั้งมั่น
ตั้งมั่นคือไม่เคลื่อนโดยไม่ได้บังคับ
ถ้าบังคับให้มันไม่ตั้งมั่น คือเพ่ง หลงเหมือนกัน
จิตไหลเหมือนกัน แต่ไหลไปจมอยู่ในอารมณ์อันเดียว
เหมือนงูไปกินเหยื่อเรียบร้อยแล้ว นอนนิ่งๆ อยู่อย่างนั้น
ถ้าเรารู้ทัน จิตก็ไม่จมลงไปในอารมณ์
จิตจะดีดตัวขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ดู
การที่เรามีสติเรารู้ จิตไหลแล้วรู้ๆ
ก็มีสติ มีศีล มีสมาธิแล้ว เรายังมีปัญญาด้วย
เราจะเริ่มเห็นความจริง
จิตที่มันตั้งมั่น มันก็ไม่เที่ยง
เดี๋ยวมันก็ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจใหม่
ไหลทางใจ ส่วนใหญ่ก็ไหลไปทำกรรมฐานนี่ล่ะบางที
ถ้าคนที่ไม่ได้ฝึกก็คือไหลไปคิด
พวกที่ฝึกกรรมฐานมาแล้ว
ไหลไปจมอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน นิ่งสงบอยู่ในใจ
ฉะนั้นเราจะไม่รักษาจิตผู้รู้
เรามีสติจนจิตตั้งมั่นขึ้นมา มีสมาธิที่ถูกต้อง
เราจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา … "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 ธันวาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มจาก :
...
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา