22 ธ.ค. 2021 เวลา 06:58 • ประวัติศาสตร์
สวีเดน: การพิสูจน์ตัวตนของราชวงศ์ ภายใต้คำถามกษัตริย์มีไว้ทำไม
ในความเคลื่อนไหวของ 'สถาบันกษัตริย์'
  • การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยไม่เสียเลือดเนื้อ แต่เน้นการเจรจาต่อรองระหว่างกษัตริย์และประชาชน
  • เมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็ง กษัตริย์สวีเดนยอมถูกลดบทบาทอำนาจ และรับฟังประชาชน เพื่อคงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์
  • ภาพลักษณ์กษัตริย์สวีเดนที่พยายามวางตัวให้เหมาะสม ด้วยความอดทนและมั่นคง แม้เสียงวิพากวิจารณ์อาจสั่นคลอนราชบัลลังก์
หากพูดถึงประเทศสวีเดน ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นเมื่อนึกถึง คือภาพของประเทศที่มีรัฐสวัสดิการเข้มแข็ง รัฐบาลจัดการภาษีของประชาชนให้ออกมาในรูปแบบของบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ การศึกษา หรือบริการด้านสุขภาพ ที่ฟรี มีคุณภาพ และเหมาะกับความต้องการของคนในประเทศ ส่วนอีกภาพที่อาจปรากฏตามมา คือภาพของราชวงศ์ที่ได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกถึงเรื่องการวางตัวได้อย่างเหมาะสมในฐานะประมุข
การวางตัวอย่างสงวนท่าทีเมื่อออกสู่สาธารณะและปฏิบัติตัวให้อยู่ห่างจากการเมืองของราชวงศ์สวีเดนนั้น สืบเนื่องจากสวีเดนเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ก่อนที่จะมีการปกครองดังเช่นปัจจุบันนั้น สวีเดนเคยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ผู้นำหรือกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว
Charles XI
กล่าวย้อนไปสมัย พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 11 (Charles XI, ค.ศ. 1660-1697) ผู้สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นเมื่อช่วงสงครามสกัวเนีย (Scanian War, ค.ศ. 1675-1679) พระองค์ทรงใช้สงครามครั้งนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ด้วยมองว่าอาณาจักรต้องมีผู้นำทัพที่เข้มแข็ง จึงรวบอำนาจการตัดสินใจต่างๆ ไว้ที่พระองค์เอง
เมื่อสงครามคลี่คลายลงและสวีเดนได้รับชัยชนะ พระองค์จึงเชื่อว่า รูปแบบการปกครองเช่นนี้มีประสิทธิภาพ[1] จึงได้ยึดรูปแบบการปกครองดังกล่าว โดยเปลี่ยนแปลงกฎหมายและรัฐธรรมนูญของอาณาจักรตั้งแต่นั้นมา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาทิ เรื่องที่ดิน (land) ได้มีนโยบายเวนคืน (reduktion) ที่ดินหลวงจากบรรดาขุนนางอาวุโสเพื่อหารายได้กลับคืนสถาบัน ทำให้ที่ดินของกษัตริย์ยุคก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ และมีเงินมากพอโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ หรือด้านระบบราชการ ในปี 1682 สภาบริหารแห่งแผ่นดิน (The Council of State) ถูกเปลี่ยนเป็นสภาบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (The King’s Council)[2] เป็นต้น
เมื่อครั้งสิ้นรัชกาลพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 11 พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 12 (Charles XII) พระราชโอรสพระองค์เดียวของพระองค์ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1682-1718 และนำพาสวีเดนเข้าสู่สงครามอีกครั้งในปี ค.ศ. 1700-1721 นั่นก็คือ ‘มหาสงครามเหนือ’ (The Great Northern War) ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้นสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ราษฎรจำนวนไม่น้อยต้องล้มตาย ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจของอาณาจักรตกต่ำอย่างที่สุด ยุคสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 12 จึงถือเป็นยุคสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เหตุการณ์เหล่านี้คือผลพวงจากการกระทำของกษัตริย์ที่นำพาสวีเดนเข้าสู่สงครามนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อมุ่งหวังขยายอำนาจและความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจนต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างมหาศาล แต่คำถามที่น่าสนใจคือ เพราะเหตุใดราชวงศ์สวีเดนจึงยังครองบัลลังก์และสืบสันตติวงศ์มาได้จนถึงปัจจุบันโดยไม่ถูกล้มล้าง ทั้งยังสามารถดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของรัฐมาจนทุกวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นที่ยอมรับของประชาชน
  • สมเด็จพระราชินีนาถอูลริกา: อำนาจที่ถูกลดทอน เมื่อยุคสมัยแห่งเสรีภาพมาถึง
“ดังที่เราได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในใจของเราเอง ดังที่ได้ประกาศแก่สภาบริหาร และดังที่เราจะประกาศต่อไปนี้ เราขอประกาศล้มเลิกสิ่งที่เรียกกันว่า อำนาจอธิปไตย ซึ่งตัวเราตลอดจนทายาทและสายโลหิตของเรา เราขอประกาศและสละอำนาจดังกล่าวไปชั่วนิรันดร์…”[3]
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระราชินีนาถอูลริกา (Ulrika Eleonora) ที่พาอาณาจักรหลุดพ้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และก้าวเข้าสู่ ‘ยุคแห่งเสรีภาพ’ (The Age of Liberty) ในการประชุมสภาฐานันดร (ประกอบด้วย ขุนนาง นักบวช พ่อค้าคนเมือง และชาวนา) ณ กรุงสต็อกโฮล์ม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 1718 โดยก่อนการประกาศดังกล่าว พระองค์ทรงยินยอมสละพระราชอำนาจตามเงื่อนไขของสภาฐานันดร
ก่อนจะเล่าถึงเงื่อนไขที่ว่า ต้องกล่าวย้อนไปถึงหลังพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 12 สิ้นพระชนม์ มหาสงครามเหนือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สั่นคลอน เพราะกษัตริย์เป็นผู้เดียวที่ทรงตัดสินใจทำสงครามจนนำมาสู่การสูญเสียสถานะประเทศมหาอำนาจ ทำให้ราษฎรบางส่วนต่างคับข้องใจกับระบอบดังกล่าว แต่ถึงอย่างนั้น อีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ระบอบการปกครองดังกล่าวสิ้นสุดคือ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 12 ทรงไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดาในการสืบต่อสันตติวงศ์ อำนาจในการพิจารณาประมุขคนต่อไป จึงอยู่ที่สภาฐานันดรตามกฎหมายและจารีตประเพณีการปกครองของสวีเดน
สองบุคคลสำคัญที่ขึ้นครองราชย์ ได้แก่ เจ้าหญิงอูลริกา เอลิโอนอรา (Ulrika Eleonora) พระขนิษฐภคินีของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 12 และ ชาร์ลส์ เฟรเดอริก (Charles Frederick)
สมเด็จพระราชินีนาถอูลริกา (Ulrika Eleonora)
พระราชนัดดาของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 12 โดยสภาฐานันดรเลือกเจ้าหญิงอูลริกา เอลิโอนอรา ขึ้นครองราชย์ เนื่องด้วยพระองค์ทรงปรารถนาที่จะขึ้นเป็นประมุข สภาฐานันดรจึงเล็งเห็นช่องทางในการต่อรองเพื่อลดทอนอำนาจของกษัตริย์ โดยเสนอเงื่อนไขร่วมจาก 3 สถาบันการเมืองในรัฐสภา ประกอบด้วย สภาบริหาร กองทัพ และสภาฐานันดร เพื่อร่วมกันตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ว่าคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 1720 มีเนื้อหาหลักคือ สถาบันกษัตริย์จะไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบสมบูรณาญาสิทธิ์อีกต่อไป การจะออกกฎหมาย การเก็บภาษี การตัดสินใจทำสงครามหรือสนธิสัญญาสันติภาพใดๆ จะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของตัวแทนในสภาฐานันดรเท่านั้น[4]
แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกมาเพื่อลดอำนาจขององค์อธิปัตย์ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และกำหนดขอบเขตพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้คำแนะนำของสภาบริหาร โดยไม่สามารถบริหารได้ตามพระราชหฤทัย ทั้งนี้ สภาบริหารจะต้องปฏิบัติตามเจตจำนงของรัฐสภา จึงกล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐสภานั่นเอง[5]
รัฐธรรมนูญฉบับ 1720 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่รูปแบบ ‘ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ’ (Constitutional Monarchy) และเป็นจุดเริ่มต้นของ สภาริกสด็อก (Riksdag) ที่ประสงค์จะลดทอนระบอบการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กษัตริย์เพียงผู้เดียว โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ได้เกิดการนองเลือดแต่อย่างใด ทว่าเป็นกระบวนการต่อรองและหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างกษัตริย์และพลเรือน
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จพระราชินีนาถอูลริกาทรงครองบัลลังก์ต่อไปได้เพียง 1-2 ปีเท่านั้น เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบอบการปกครองแบบใหม่นี้ได้ พระองค์ได้พยายามใช้พระราชอำนาจในรูปแบบเดิม และไม่รับฟังคำแนะนำใดๆ ของสภาบริหาร ด้วยมองว่าสภาบริหารยังเป็นสภาบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับสภาบริหาร จนสภาบริหารเสนอให้พระองค์สละราชสมบัติ และให้พระสวามี พระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 1 (Frederick I) ขึ้นครองราชย์แทน
พระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 1 (Frederick I)
เป้าหมายของรัฐสภาในการให้พระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 1 ขึ้นครองราชย์แทนคือ ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมความนิยมลง เนื่องจากพระองค์ไม่ได้เป็นชาวสวีเดนโดยกำเนิด ส่วนการยอมสละราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถอูลริกา เพื่อหวังว่าพระสวามีจะสามารถดึงอำนาจพระมหากษัตริย์กลับมาได้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฝั่งพลเรือนสามารถประนีประนอมผลประโยชน์ของกันและกันได้ เช่น เรื่องการเวนคืนทรัพย์สิน
ก่อนหน้านี้ฐานันดรชาวนาสนับสนุนพระเจ้าเฟรเดอริก ที่ 1 เพราะต้องการให้อำนาจของกษัตริย์ถ่วงดุลกับขุนนางหรืออภิชน แต่ฐานันดรอภิชนสามารถเจรจากับฐานันดรชาวนาในเรื่องนี้ได้ ด้วยการไม่ให้สิทธิ์ในการขยายประโยชน์และอภิสิทธิ์ที่มีอยู่แล้วของอภิชน และยอมให้ฐานันดรพ่อค้าคนเมืองและนักบวชสามารถครอบครอง ‘ที่ดินเสรี’ (free land) บางประเภทไว้ได้ ซึ่งฐานันดรชาวนาก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยยืนยันตามประเพณีดั้งเดิมที่ให้ชาวนาที่ทำกินในที่ดินของพระมหากษัตริย์ (crown peasant) มีสิทธิ์ที่จะซื้อที่ดินที่ทำกินอยู่นั้นมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้[6]
  • กษัตริย์กุสตาฟ ที่ 3: ยุคเรืองปัญญาจากกษัตริย์ผู้ก่อการรัฐประหาร
ยุคแห่งเสรีภาพมีช่วงอายุได้เพียง 54 ปี (ค.ศ. 1718-1772) เท่านั้น เมื่อ พระมหากษัตริย์กุสตาฟ ที่ 3 (Gustav III) ขึ้นครองราชย์ในปี 1746 และได้ก่อการรัฐประหารด้วยพระองค์เองในปี ค.ศ. 1772[7]
กษัตริย์กุสตาฟ ที่ 3 (Gustav III)
ก่อนการรัฐประหารโดยกษัตริย์กุสตาฟ ที่ 3 ต้องเท้าความไปถึงปี ค.ศ. 1730 ที่เกิดการแบ่งขั้วอำนาจเป็น 2 กลุ่มการเมือง โดยกลุ่มหนึ่งมีชื่อว่า แฮตส์ (Hats) และอีกกลุ่มคือ แคปส์ (Caps) เป็นสองขั้วอำนาจทางการเมืองที่ต่างกัน โดยกลุ่มแฮตส์สนับสนุนฝรั่งเศส มีอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยม และอาศัยพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 12 ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการสู้รบ เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ เพื่อปลุกระดมความรักชาติและเรียกร้องให้มีการทวงคืนดินแดนของสวีเดนจากรัสเซีย เพื่อสถาปนาตัวเองขึ้นมาใหม่ในฐานะมหาอำนาจ ส่วนกลุ่มแคปส์ที่มีหัวหน้ากลุ่มคือ อาร์วิด ฮอร์น (Arvid Horn) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารหรือเทียบเท่านายกรัฐมนตรี สนับสนุนรัสเซียที่แม้จะเคยเป็นศัตรูกันมาก่อน แต่เพื่อรักษาสันติภาพไว้จึงมีแนวคิดตรงข้ามกับกลุ่มแฮตส์ และมีอุดมการณ์การเมืองเชิงเสรีนิยมประชาธิปไตย
พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 12
อาร์วิด ฮอร์น
จนช่วง ค.ศ. 1738-1765 กลุ่มแฮตส์ครองอำนาจและนำสวีเดนเข้าสู่สงครามกับรัสเซียถึง 2 ครั้ง และพ่ายแพ้ทั้งสองครั้ง ความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่มเริ่มดุเดือดมากขึ้น และเกิดปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาทางการคลังได้ ทำให้กษัตริย์ต้องเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง โดยในปี 1772 พระเจ้ากุสตาฟ ที่ 3 ได้ทำรัฐประหารด้วยพระองค์เองโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ทว่าก็ใช้กองกำลังทหารที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เข้ายึดอำนาจฝ่ายรัฐสภา และเริ่มปฏิรูปแบบบนลงล่างด้วยการเสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พระองค์ทรงร่างเองมาบังคับใช้ นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับ 1772 จนสามารถต้านเกลียวคลื่นแนวคิดเสรีนิยมเอาไว้ได้ โดยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ฐานันดรต่างๆ จะไม่สามารถประชุมได้ตามใจชอบ แต่จะรวมตัวกันได้ต่อเมื่อถูกเรียกเท่านั้น และต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้คุมวาระการประชุม[8]
นอกจากนี้ พระเจ้ากุสตาฟ ที่ 3 ยังปฏิรูปสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการทรมานนักโทษ ลดประเภทความผิดของโทษประหาร เพิ่มเงินเดือนข้าราชการโดยใช้ระบบการสอบเข้า เพื่อคัดคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานแทนการแต่งตั้ง ให้เสรีภาพของสื่อมากขึ้นในปี 1774 และปี 1789 ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความเท่าเทียมกันของทุกคนภายใต้กฎหมาย ทั้งอนุญาตให้ประชาชนสามารถซื้อที่ดินของกษัตริย์และขุนนางได้
แม้จะดูเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีและประชาชนได้ผลประโยชน์ ทว่านโยบายเหล่านี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อปกป้องไว้ซึ่งสถาบัน โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพสื่อที่แม้จะมีการลดการเซ็นเซอร์เนื้อหาต่างๆ แต่ยังคงเซ็นเซอร์งานประพันธ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทววิทยา หรือเนื้อหาที่อาจเป็นผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์[9]
อย่างไรก็ตาม แม้ยุคการปกครองของกษัตริย์กุสตาฟ ที่ 3 จะดูเป็นยุครุ่งเรืองทางปัญญา (enlightened) แต่กระนั้นก็ยังคงเป็นการปกครองจากกษัตริย์ที่บัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเอง ทำให้พระองค์ไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่าขุนนาง จนนำมาสู่การลอบปลงพระชนม์ในปี 1792 และสิ้นพระชนม์ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา จนมาถึงสมัย พระเจ้ากุสตาฟ ที่ 4 อดอล์ฟ (Gustav IV Adolf) พระราชโอรสของพระเจ้ากุสตาฟ ที่ 3 ที่ขึ้นครองราชย์ในปี 1792 แต่ก็จำต้องสละราชบัลลังก์ในปี 1809 จากการรัฐประหารของคณะบุคคล 1809 (a group of officers) เนื่องจากพระองค์หมดความชอบธรรมในการนำพาประเทศเข้ารบกับรัสเซียเพื่อรักษาฟินแลนด์ แต่กลับพ่ายแพ้ ทำให้อำนาจกลับมาอยู่ที่รัฐสภา
  • จุดเริ่มต้นของราชวงศ์สวีเดนที่กษัตริย์เป็นประมุขแค่ในนาม
หลังการสละราชสมบัติของพระเจ้ากุสตาฟ ที่ 4 อดอล์ฟ รัฐสภาได้รวมตัวประชุมและเห็นพ้องต้องกันว่า ควรลดอำนาจของพระมหากษัตริย์รวมถึงราชวงศ์ลง จึงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาด้วยหลักการ ‘รัฐธรรมนูญมาก่อน พระมหากษัตริย์ทีหลัง’[10] จนเกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 1809 ที่ยึดตราสารการปกครอง (Instrument of Government) ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานที่กำหนดหลักการของประชาธิปไตย และอธิบายถึงวิธีการปกครองประเทศ สิทธิในประชาธิปไตย และการแบ่งอำนาจสาธารณะ
ตราสารดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 14 และนำมาใช้ครั้งแรกช่วงปี 1634 จากนั้นในปี 1809 ได้ประกาศใช้อีกครั้งเพื่อมุ่งแบ่งอำนาจระหว่างรัฐสภาและพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่เป็นประมุขของอาณาจักร ส่วนรัฐบาลทำหน้าที่บริหารและปกครองประเทศ และศาลต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและยุติธรรม[11]
ตลอดศตวรรษที่ 19 สถาบันกษัตริย์สวีเดนให้ความสำคัญกับการพยายามรักษาอำนาจท่ามกลางสภาพสังคมที่เริ่มเข้าสู่ยุคเสรีนิยมและเป็นสังคมประชาธิปไตยมากขึ้น จนทำให้ราชวงศ์ต้องปรับตัวเพื่อรักษาไว้ซึ่งราชวงศ์ และพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้รัฐสภาริกสด็อก ยังคงยอมรับกษัตริย์ในฐานะประมุข จนเมื่อ พระเจ้ากุสตาฟ ที่ 5 (Gustav V) ขึ้นครองราชย์ในปี 1907-1950 ด้วยท่าทีที่ดูเหมือนเต็มใจยอมรับการปกครองด้วยระบบรัฐสภา พร้อมดำรัสว่า “อยู่กับประชาชน เพื่อปิตุภูมิ” จนปี 1911 ฝั่งเสรีนิยมชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย พระเจ้ากุสตาฟ ที่ 5 จึงแต่งตั้ง คาร์ล สตาฟฟ์ (Karl Staaff) ผู้นำเสรีนิยมให้เป็นนายกรัฐมนตรี
พระเจ้ากุสตาฟ ที่ 5 (Gustav V)
ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 พระเจ้ากุสตาฟ ที่ 5 ทรงไม่เห็นด้วยกับการลดงบประมาณด้านกลาโหมของรัฐบาลเสรีนิยม และได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ ลานพระราชวัง ในกรุงสตอกโฮล์ม ต่อหน้าชาวนาสวีเดนกว่า 30,000 คน ที่ต่อมาได้เดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้มีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศให้สูงขึ้น เป็นชนวนมาสู่ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์สวีเดนและนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกเหตุการณ์นั้นว่า ‘The Courtyard Crisis’ โดยพระองค์ถูกกล่าวหาจากรัฐสภาว่าใช้อำนาจเกินขอบเขต เนื่องจากราชวงศ์ควรอยู่ห่างการเมือง
การเดินขบวนส่งผลให้รัฐบาลเสรีนิยมต้องลาออก จากนั้นพระเจ้ากุสตาฟ ที่ 5 ทรงแต่งตั้งรัฐบาลอนุรักษนิยมภายใต้การนำของ ยาลมาร์ ฮัมมาร์เคิลด์ (Hjalmar Hammarskjöld) ขึ้นมาแทน ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงเพียงระยะสั้นจนการเลือกตั้งในปี 1917 มาถึง ฝั่งเสรีนิยมและประชาธิปไตยสังคมนิยม (The Liberals and Social Democrats) ได้รับความนิยมและชัยชนะอย่างล้นหลาม แม้พระเจ้ากุสตาฟ ที่ 5 จะแต่งตั้งรัฐบาลอนุรักษนิยมขึ้นมาก็ไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้พระองค์ไม่มีทางเลือกและจำใจต้องแต่งตั้งรัฐบาลผสมเสรีนิยม-ประชาธิปไตยสังคมนิยมขึ้น โดยมีผู้นำคือ นิลส์ เอเดิน (Nils Edén)
รัฐบาลผสมได้ปฏิรูประบบการเลือกตั้งโดยขยายสิทธิพลเมืองให้ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง และยังขยายอำนาจลงไปถึงระดับการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยความเห็นชอบจากส่วนกลาง สิ่งเหล่านี้ทำให้แรงกดดันจากกลุ่มต่างๆ ลดลง เพราะพวกเขามีตัวแทนในสภาและมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองมากขึ้น ขณะเดียวกัน อำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของกษัตริย์ตามพระทัยก็ถูกยกเลิกไป สถาบันกษัตริย์จึงต้องยอมรับฐานะของตนที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และในปี ค.ศ. 1920 อำนาจของสถาบันก็ลดลงเรื่อยๆ พร้อมกับก้าวเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่นำโดยพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมที่ปกครองมาอย่างยาวนาน และประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมอื่นๆ ในยุโรปและโลก[12]
จนเวลาล่วงเลยมาถึงปี 1974 รัฐสภาจึงได้ลงมติถอดอำนาจบริหารทั้งหมดออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ ทำให้บทบาทของราชวงศ์สวีเดนเป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์และพิธีการเท่านั้น
  • ภาพลักษณ์ราชวงศ์สวีเดนกับข้อครหาการมีอยู่ของสถาบัน
ปัจจุบันสวีเดนอยู่ในรัชสมัยของราชวงศ์แบร์นาด็อต (Bernadotte) โดยมี สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ (​​Charles XVI Gustav) เป็นประมุข ผู้ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1973 จนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ | photo: Kungahuset.se/The Royal Court, Sweden
การวางตัวและการรักษาภาพลักษณ์ของราชวงศ์สวีเดนเป็นไปในทิศทางที่ดีเสมอมา จากผลสำรวจของ Medieakademien องค์กรไม่แสวงผลกำไรของสวีเดน ถึงความนิยมและเชื่อมั่นในสถาบันกษัตริย์ปี 2011 อยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มขึ้นเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020[13] อย่างไรก็ตาม ความนิยมในสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มขึ้นก็มาพร้อมกับข้อครหาต่างๆ เช่นเดียวกัน
กล่าวคือ ในกรณี เจ้าหญิงวิคตอเรีย มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน (HRH Crown Princess Victoria) พระองค์เป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และทำให้ราชวงศ์เป็นที่ชื่นชมมากขึ้น โดยในปี 2020 พระองค์ได้ตรัสถึงเทศกาลไพรด์ (Stockholm Pride’s Digital Parade) ผ่านเว็บไซต์และยูทูบของสำนักพระราชวังสวีเดน เพื่อเป็นการสนับสนุน LGBTQ+ สร้างความประทับใจให้กับประชาชนอย่างมาก จนผู้อ่านนิตยสาร QX โหวตให้พระองค์ได้รับรางวัลในงาน ‘Gay GALA’
“เทศกาลไพรด์ไม่ได้เป็นแค่เพียงเทศกาลฤดูร้อน แต่มันคือการเฉลิมฉลองที่แสดงถึงสิทธิมนุษยชนด้วย… ในหลายประเทศ ความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนหนุ่มสาวถูกบังคับให้ต้องหลบซ่อนและปฏิเสธความรักของพวกเขา รวมถึงตัวตนของพวกเขาด้วย คน LGBTQI ถูกข่มเหง รังแก หรือแม้กระทั่งถูกคุมขัง สำหรับฉัน นี่คือสิ่งที่พิลึกอย่างมาก… คุณมีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง โดยมีพวกเราหลายคนคอยสนับสนุน และฉันคือหนึ่งในนั้น…”[14]
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงจัดตั้งกองทุนมกุฎราชกุมารวิคตอเรีย (Crown Princess Victoria Fund) เพื่อจัดกิจกรรมสันทนาการและกิจกรรมสำหรับเด็กที่มีความทุพพลภาพและเจ็บป่วย อีกทั้งพระองค์ยังเป็นผู้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อมุ่งแก้ปัญหาน้ำและสุขภาพ โดยเป็นตัวแทนในการออกตรวจทั้งภายในประเทศสวีเดนเองและทั่วโลกด้วย
แม้พระองค์จะได้เสียงตอบรับจากประชาชนในทิศทางที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งช่วงพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงวิคตอเรีย มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน กับ เจ้าชายดาเนียล ดยุคแห่งเวสเตร์เยิตลันด์ ในปี 2010 ก็ถูกประชาชนตั้งคำถามอย่างมากถึงงบในการจัดงานที่สูงถึง 20 ล้านโครนา หรือราว 74 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งมาจากภาษีประชาชน และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลขอให้ประชาชนพยายามประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งช่วงที่ทั้งสองพระองค์ได้ประกาศหมั้น ทำให้สมาคมสาธารณรัฐสวีเดน (The Swedish Republican Association) องค์กรที่เรียกร้องให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ของประเทศสวีเดน มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หรือราว 6,000 คน และมีคนมากกว่า 56,000 คน เข้าร่วมกลุ่ม Facebook เพื่อเรียกร้องที่จะปฏิเสธการจ่ายค่าพิธีอภิเษกสมรส
ทั้งนี้ การกล่าวว่าราชวงศ์สวีเดนแทบจะไม่มีบทบาททางการเมือง แม้แต่การตรากฎหมายใหม่ของรัฐสภาก็ไม่จำเป็นต้องขอให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และราชวงศ์สวีเดนมีฐานะเป็นประมุขในเชิงสัญลักษณ์และพิธีการเท่านั้น แต่ในแง่ขอบเขตการแสดงอำนาจของกษัตริย์ก็อาจไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดเจนเสมอไป ดังกรณีที่สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ ทรงออกมาแสดงความเห็นถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปลายปี 2020 ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าพวกเราล้มเหลว มีคนจำนวนมากที่เสียชีวิต และนั่นเป็นสิ่งที่แย่มาก” ผ่านรายการโทรทัศน์ประจำปีของราชวงศ์สวีเดน[15]
อีกทั้งรายได้ของราชสำนักบางส่วนก็มาจากภาษีประชาชน กล่าวคือ ราชวงศ์สวีเดนมีรายได้จาก 4 ช่องทาง ได้แก่ จากการบริหารราชสำนัก (The Court Administration) จากการบริหารพระราชวัง (The Palace Administration) จากการบริหารทรัพย์สินที่ดินหรือรายได้จากสัญญาเช่า (The Royal Djurgården Administration) และจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ (The Private Finances of the Royal Family) โดยสองส่วนแรกมาจากงบประมาณรายปี และเป็นเงินจากภาษีประชาชน ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินราว 136 ล้านโครนา[16] หรือประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี
การกล่าวว่าราชวงศ์สวีเดนอยู่ห่างจากการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจพูดได้เต็มปาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณจำนวนไม่น้อยก็มาจากภาษีประชาชน ทำให้ราชวงศ์สวีเดนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจำนวนสมาชิกราชวงศ์มีเพิ่มขึ้นด้วย ประกอบกับรัฐสภาสวีเดนประกาศ “จะทบทวนหลักการบางอย่างที่ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ ซึ่งรวมถึงจำนวนพระราชวงศ์ที่ขยายใหญ่ขึ้นเมื่อหลายปีก่อน”[17] โรเจอร์ ลุนด์เกรียน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราชวงศ์สวีเดนกล่าวกับ BBC ทำให้วันที่ 7 ตุลาคม 2019 ราชสำนักสวีเดนได้ออกประกาศพระราชโองการของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน ถึงการถอดพระราชนัดดา 5 พระองค์ จากการเป็นสมาชิกพระบรมวงศ์ อันประกอบด้วย พระโอรสและพระธิดารวม 3 พระองค์ในเจ้าหญิงมาเดอลีน (Princess Madeleine)
และ 2 พระโอรสในเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป (Prince Carl Philip) สำหรับพระราชธิดา เจ้าหญิงเอสเทล (Princess Estelle) และพระราชโอรส เจ้าชายออสการ์ (Prince Oscar) ในมกุฎราชกุมารีวิคตอเรีย (Crown Princess Victoria) จะยังคงมีสถานะเป็นราชวงศ์ดังเดิม[18]
อย่างไรก็ตาม การถอดพระราชนัดดาทั้ง 5 พระองค์ พ้นจากการเป็นพระบรมวงศ์ (Royal House) โดยไม่มีตำแหน่งสมเด็จ (Royal Highness) อีกต่อไป และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติกรณียกิจเป็นทางการนั้น ทั้ง 5 พระองค์ จะยังคงมีคำนำหน้าเป็นดยุคหรือดัชเชสอยู่เช่นเดิม
ภายหลังการประกาศดังกล่าว เจ้าหญิงมาเดอลีนและเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป พระราชธิดาและพระราชโอรสของสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ ก็ได้กล่าวผ่านอินสตาแกรมส่วนพระองค์ โดยเจ้าหญิงมาเดอลีนตรัสว่า “คริส (พระสวามี) และเรามองว่า เป็นการดีที่ลูกของเราจะได้มีโอกาสเลือกอนาคตชีวิตของตัวเองในฐานะที่เป็นปัจเจกคนหนึ่ง…ซึ่งนี่เป็นการตัดสินใจที่คิดมานานแล้ว”
ส่วนเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป ตรัสว่า “วันนี้พระราชาทรงประกาศการตัดสินให้บุตรของเราไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จอีกต่อไป ซึ่งเราเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่ดี เพราะอเล็กซานเดอร์และกาเบรียลจะได้มีทางเลือกในชีวิตที่อิสระมากขึ้น”
เมื่อพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์สวีเดนของประชาชนแล้ว ในแง่ตัวบทกฎหมาย สวีเดนเองก็มีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์และราชวงศ์อยู่ และถือเป็นความผิดทางอาญา หากผู้ใดดูหมิ่นกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ โดยในประมวลกฎหมายอาญา (The Swedish Criminal Code) หมวด 18 มาตรา 2 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดตามบทที่ 3-5 อันเกี่ยวกับการกล่าวร้ายพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ในราชสำนัก หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ประมุขแห่งรัฐในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาจต้องถูกตัดสินจำคุกสี่ปี หรือ หกปี ถ้าเป็นการดูหมิ่นอย่างร้ายแรง
และในหมวดที่ 18 มาตรา 8 ระบุว่า การฟ้องคดีในหมวด 3-5 อันเกี่ยวกับการกล่าวร้ายพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่กล่าวถึงในมาตรา 2 พนักงานอัยการมิอาจดำเนินการฟ้องได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล เว้นแต่จะมีผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำนั้น เช่นเดียวกับการพยายาม การเตรียมการ การสมรู้ร่วมคิดเพื่อกระทำการดังกล่าว หรือปกปิดการกระทำดังกล่าวก็ตาม[19]
จากการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ในกรณีต่างๆ ข้างต้น ยังไม่มีเหตุการณ์ใดที่นำไปสู่การตัดสินตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวกับประชาชน อีกทั้งในปี 2001 สำนักข่าว The New York Times รายงานว่า วัยรุ่น 4 คน อายุ 16 และ 17 ถูกศาลตัดสินว่า มีความผิดอาญาจากการปาครีมเค้กใส่พระพักตร์ของพระมหากษัตริย์คาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ ระหว่างเสด็จเยือนสวนสาธารณะ พร้อมตะโกนใส่ว่า “เพื่อกษัตริย์และปิตุภูมิ” ซึ่งโทษครั้งนี้ทำให้พวกเขาถูกปรับ 370 ดอลลาร์ หรือราว 12,000 บาท และถูกตัดสินข้อหาทำร้ายร่างกาย ทว่าก็ยังไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ถึงขั้นจำคุก อีกทั้งสำนักข่าว TT News Agency ของสวีเดนระบุอีกว่า นี่เป็นเหตุการณ์ความผิดทางอาญาครั้งแรกในความทรงจำของพวกเขาเลยก็ว่าได้[20]
แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ไว้ แต่ราชวงศ์สวีเดนก็ไม่ได้ถูกกระทำให้เป็นดั่งเทวราชาที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์การกระทำหนึ่งๆ ได้ หากการวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งบางส่วนเห็นได้จากการตกแต่งรูปสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ กับรูปทรงหมวกชนิดต่างๆ จนเกิดเป็นมีมตลกมากมายบนโลกเซียล แต่ก็ไม่มีข่าวหรือเกิดคดีความจากการกระทำเหล่านั้น
photo: http://zverige.com/kingkong/
แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ไว้ แต่ราชวงศ์สวีเดนก็ไม่ได้ถูกกระทำให้เป็นดั่งเทวราชาที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์การกระทำหนึ่งๆ ได้ หากการวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งบางส่วนเห็นได้จากการตกแต่งรูปสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล ที่ 16 กุสตาฟ กับรูปทรงหมวกชนิดต่างๆ จนเกิดเป็นมีมตลกมากมายบนโลกเซียล แต่ก็ไม่มีข่าวหรือเกิดคดีความจากการกระทำเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์สวีเดนที่มีภาพลักษณ์ที่ดีมาโดยตลอด ก็ยังถูกจับตามองต่อไปว่า ในยุคสังคมสมัยใหม่สถาบันกษัตริย์จะยังคงมีความจำเป็นและคู่ควรที่จะดำรงอยู่หรือไม่ เนื่องจากในปี 2016 สื่อสวีเดนอย่าง Expressen และ Nyheter 24 รายงานว่า ส.ส. จำนวนหนึ่งจาก 5 พรรคการเมือง พยายามเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในรัฐสภาสวีเดน หนึ่งในนั้นคือ แยสมิน ลาร์สสัน (Yasmine Larsson) ส.ส. จากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย วัย 33 ปี ได้กล่าวว่า “สวีเดนควรออกจากยุคกลางได้แล้ว…เห็นได้ชัดว่าระบอบกษัตริย์ไม่สามารถเข้ากับระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะบทบาทของประมุขคือการสืบทอดของตระกูลตระกูลหนึ่ง ถึงเวลาแล้วที่ประมุขแห่งรัฐต้องเสริมสร้างวิถีประชาธิปไตยด้วยสมรรถนะและความสามารถ”[21]
เชิงอรรถ
[1] “During the Scanian War, he had assumed what was effectively dictatorial power” https://www.historylearningsite.co.uk/sweden-1611-to-1718/charles-xi-of-sweden/
[2] “Charles XI of Sweden” The History Learning Site, 25 Mar 2015. 5 Dec 2021. https://www.historylearningsite.co.uk/sweden-1611-to-1718/charles-xi-of-sweden/
[3] การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่สี่), ไชยันต์ ไชยพร https://www.posttoday.com/politic/columnist/627979
[4] ปรีดี หงษ์สต้น, History of Scandinavia ประวัติศาสตร์สแกนดิเนเวีย, กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป, 2564. 155
[5] การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่ห้า), ไชยันต์ ไชยพร https://yournewsday.com/การสิ้นสุดระบอบสมบูรณา-5/
[6] การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่แปด), ไชยันต์ ไชยพร https://www.posttoday.com/politic/columnist/630549
[7] ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน, ไชยันต์ ไชยพร https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/123427
[8] Chapter 11: The Swedish Transition to Democracy, http://rdc1.net/class/BayreuthU/Perfecting%20Parliament%20%28Chap%2011%29.pdf
[9] “Enlightened Monarchy” in Practice. Reforms, Ceremonies, Self-Fashioning and the Entanglement of Ideals and Values in Late Eighteenth-Century Sweden. https://core.ac.uk/download/pdf/33732809.pdf
[10] “Constitution first, King later” http://www.olofpetersson.se/_arkiv/skrifter/rf1809.pdf
[12] ปรีดี หงษ์สต้น, History of Scandinavia ประวัติศาสตร์สแกนดิเนเวีย, กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป, 2564. 213,222
[15] โควิด-19: กษัตริย์สวีเดนทรงระบุ ประเทศล้มเหลวในการรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ https://www.bbc.com/thai/international-55354297
[17] Swedish King Carl Gustaf removes grandchildren from royal house https://www.bbc.com/news/world-europe-49958085
เขียน: ธัญชนก สินอนันต์จินดา
โฆษณา