8 ม.ค. 2022 เวลา 03:00 • การศึกษา
อะไรซ่อนอยู่ใต้ 'มุกตลก'
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-photo/playful-happy-handsome-guy-laughing-shut-mouth-giggle_9798464.htm#query=laugh&from_query=luagh&position=2&from_view=search
หลาย ๆ คนคงเคยหัวเราะ เพราะมุกตลกคำถาม มุกคำผวน เรื่องเล่าตลกโปกฮา ฯลฯ อ่านบทความอะไรที่ตลก หรือบางคนอาจจะไม่ตลกด้วยกับมุกเหล่านั้น เพราะมีมุกตลกมากมายที่มีลักษณะ เสียดสี ล้อเลียน หรือคุกคามทางเพศ ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียน จะพามาส่องถึงสิ่งที่ซ้อนอยู่ภายใต้มุกตลก ด้วยมุมมองแนวคิดของจิตวิเคราะห์
ทำไมมนุษย์อย่างเราถึงหัวเราะกับมุกตลก? เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า ทำไมมนุษย์เราถึงหัวเราะกับมุกตลก ซึ่งก็มีทฤษฎีหลายอันที่พยายามจะอธิบายพฤติกรรมเหล่านี้ เช่น
ทฤษฎีความไม่สอดคล้องกัน (Incongruity Theory) ที่อธิบายไว้ว่า อารมณ์ขันเกิดจากการพบว่าสิ่งที่คาดว่าจะเกิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นคนละอย่างกัน และเราสามารถคลี่คลายหาคำตอบได้ว่าสองสิ่งนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร สิ่งนี้เรียกว่าการ ‘เก็ตมุก’
เช่น
นาย ก: เจอคนเข้าตา ทำยังไงดี?
นาย ข: ก็ล้างออกด้วยน้ำสะอาดสิ
เมื่อเห็นคำว่าคนเข้าตา เรานึกว่านั่นหมายถึงคนที่เราชอบ แต่พบว่าคนเข้าตาที่พูดถึงคือคนเข้าไปอยู่ในตา นี่คือความไม่สอดคล้องของสิ่งที่เราคาดคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และเราเก็ตว่านี่เป็นการเล่นคำจากสองความหมายของคำว่า “คนเข้าตา” ตามแนวคิดนี้การเก็ตมุกคือหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ชุดตรรกะใหม่ที่ช่วยเพิ่มแง่มุมให้เราคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคตได้ดีขึ้น นี่เป็นเหตุว่าทำไมเจอมุกซ้ำแล้วไม่ขำ ก็เพราะเราเรียนรู้รูปแบบตรรกะนี้ไปแล้วนั่นเอง
ทฤษฎีความเหนือกว่า (Superiority Theory) โดยแนวคิดนี้มองว่าคนเราหัวเราะคนที่ทำผิดพลาดหรือประสบเคราะห์ร้าย เพราะสิ่งนี้ทำให้เรามีความสุขที่ได้รู้สึกเหนือกว่าผู้อื่น เช่น การหัวเราะเพราะเห็นคนอื่นลื่นล้ม
แต่ในบทความนี้จะขอพูดถึง ทฤษฎีการปลดปล่อย (Relief Theory) ของ Sigmund Freud (ซิกมันด์ ฟรอยด์) บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ซึ่งฟรอยด์ได้มีความเห็น วิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องตลกไว้มากมาย จนอาจกล่าวได้ว่า ในบรรดานักจิตวิเคราะห์แล้ว ไม่มีใครเล่าเรื่องตลกได้ดีไปกว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ โดยทฤษฎีนี้ได้อธิบายไว้ว่า อารมณ์ขัน เป็นการปลดปล่อย แรงขับทางเพศและความก้าวร้าว ที่ถูกสะสมไว้ในจิตใต้สำนึก (Unconscious) ออกมาในรูปแบบที่จิตใจด้านคุณธรรม (Superego) ของตัวเรายอมรับได้ เราจึงหัวเราะไปกับมุกตลกที่มีลักษณะ เหยียดเสียดสี ลามก
กระบวนการของจิตใจในเข้าใจมุกตลก มีทำงานเป็น 2 ส่วนคือ Primary Process และ Secondary Process โดยเนื้อหาที่เรารับรู้จากมุกตลก คือการทำงานของ Secondary Process ที่มีเหตุมีผล ถ้าแปลความหมายมุกตลกตรงตัวตามตัวอักษรจะทำให้มุกตลกนั้นไร้ความตลกลงไปทันที ส่วนการทำความเข้าใจความตลกนั้น เป็นการใช้กลไกถดถอย (Regression) เพียงบางส่วนเพื่อลดระดับของจิตใจจาก Secondary Process ไปอยู่ที่ Primary Process ซึ่งเป็นกระบวนการจิตใจแบบเด็กๆ ในกระบวนการตรงนี้เองที่ทำให้เราเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ในมุกตลก และเป็นการปลดปล่อยความตึงเครียดในจิตใจออกมาเป็นอารมณ์ขัน หรือเสียงหัวเราะ
การที่เรามีอารมณ์ขันเกิดจาก
1. การถอยกลับไปใช้ Promary Process ชั่วคราว ซึ่งเป็นการปลดเปลื้องภาระความเป็นผู้ใหญ่ชั่วคราว
2. แรง ID ถูกระบาย ทำให้เกิดความสบายใจ (สำคัญ)
โดยทั่วไปในเรื่องตลกจะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 คนขึ้นไป คือ ผู้เล่า, ผู้เป็นเป้าหมาย และผู้ฟัง คนที่หัวเราะคือคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เล่า
เช่นคำว่า "ผ่าไฟแดง" ถ้าแปลความหมายของคำนี้ด้วย Secondary Process จะหมายถึงการขับขี่รถเร็วโดยไม่หยุดรอสัญญาณไฟจราจร แต่ถ้าหากแปลความหมายด้วย Primary Process จะหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีประจำเดือน คำเหล่านี้ถ้าหากใช้ในบริบทที่เหมาะสมก็จะเรียกเสียงหัวเราะได้ แต่หากใช้โดยไม่ดูกาลเทศะมันก็อาจนำพาปัญหาความขัดแย้งมาให้ได้
สามารถศึกษาเรื่องของ Primary Process และ Secondary Process ได้ที่บทความ "โครงสร้างของจิตใจ"
มุกตลก การเล่นคำ สำนวนสุภาษิต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนถูกซ้อนไปด้วยความปรารถนาเพศและความก้าวร้าวของมนุษย์ทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นการปลดปล่อย เติมเต็มช่วงของพัฒนาการในวัยต่าง ๆ ของจิตใจด้วย ได้แก่ Oral, Anal, Phallic, Latency และ Genital stage อีกด้วย (ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เป็นสำนวน เนื่องจากเป็นสำนวนที่คุ้นเคย ง่ายต่อการเข้าใจ และถ้านำมาใช้อย่างถูกจังหวะก็สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้ด้วยเช่นกัน)
- ปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม หากแปลตรงตัวด้วย Secondary Process จะหมายถึงเด็กที่เพิ่งกินนมแม่ทำให้ยังมีกลิ่นของนมติดอยู่ แต่ถ้าแปลความหมายของประโยคนี้ด้วย Primary Process จะหมายถึงคนที่ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ ยังไม่มีอาวุโส อย่าเพิ่งริทำงานใหญ่ ซึ่งความหมายเหล่านี้ถูกซ่อนไปด้วย ความก้าวร้าว ดูถูกดูแคลน และยังเกี่ยวข้องกับ Oral stage ในวัยทารกที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องค่อยพึ่งพิงแม่ที่เป็นคนคอยดูแล
- ปอกกล้วยเข้าปาก (ขออนุญาตข้ามความหมายในส่วน Secondary Process) ถ้าหากแปลความหมายลึกลงไปในจิตใจของบุคคลแล้ว กล้วยคือสิ่งทดแทน (Displacement) เต้านมของแม่ การเอากล้วยเข้าปากจึงเชื่อมโยงไปถึงประสบการณ์ในวัยทารก (Oral stage) ที่แม่เป็นคนป้อนนมเข้าปากโดยที่ทารกไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก อีกทั้งบริบทการปอกกล้วยก็เทียบได้กับบริบทของการเปิดเสื้อของแม่เพื่อนำเต้านมออกมาให้ทารกกิน รูปร่างของปากเวลาที่กินกล้วยก็มีลักษณะแบบเดียวกับเวลากินนมจากเต้าของแม่ หรือก็คือบริบทของคำว่าปอกกล้วยเข้าปากที่แปลว่า ง่ายๆ มันถูกเชื่อมโยงกับประสบการณ์การกินนมในช่วงทารก ที่เป็นช่วงเวลาง่ายๆ เช่นกัน
- กำขี้ดีกว่ากำตด สำนวนนี้ถ้าแปลด้วย Secondary Process ที่มีเหตุผล จะพบความขัดแย้งกับตัวเองว่ากำขี้จะไปดีกว่ากำตดได้ยังไง ขี้สกปรกจะตายไป แต่ถ้าลองมองลึกลงไปในความปรารถนาของจิตใจจะพบว่า ในพัฒนาการทางจิตใจช่วง Anal stage เด็กจะมีความพอใจจากการเล่นละเลงอุจจาระ แต่พฤติกรรมดังกล่าวไม่เหมาะสมจึงถูกพ่อแม่ห้ามความปรารถนาเหล่านี้และถูกเก็บกดลงไปใน จิตใต้สำนึก (Unconscious) สำนวน กำขี้ดีกว่ากำตด จึงเป็นเหมือนการชดเชยและปลดปล่อยความปรารถนาใน Anal stage ที่เคยถูกห้ามไว้เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก
หลังจากอ่านบทความนี้จบ เวลาเจอเรื่องเล่า สำนวนเล่นคำ มุกตลก คุณอาจจะไม่ขำมันอีกเลยก็ได้นะ
โฆษณา