Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InfoStory
•
ติดตาม
30 ธ.ค. 2021 เวลา 04:19 • ไลฟ์สไตล์
ชวนรู้จัก "ไวน์ร้อน (Mulled wine)" เครื่องดื่มยอดนิยมประจำฤดูหนาว
เทศกาลคริสต์มาสเพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อไม่กี่วัน
และช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองปีใหม่ 2022 ก็กำลังจะมาถึง !
แต่ไม่ว่าจะเป็นการฉลองในเทศกาลไหนก็ตามในช่วงฤดูหนาว
เราก็จะเห็นเมนู “ไวน์ร้อน” โผล่ออกมาเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นในซีรี่ส์ต่างประเทศ หรือว่า ตามภาพถ่ายในตลาดคริสต์มาสของเพื่อน ๆ ที่กำลังไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงนี้เนอะ
ไวน์ร้อน หรือ ชื่อภาษาอังกฤษก็คือ “Mulled Wine” แต่ถ้าเรียกเป็นชื่อตามแต่ละประเทศ เราก็อาจจะเห็นได้หลายชื่อ เช่น Vin Chaud, Glühwein หรือ Glögg
ถึงแม้ว่าชื่อจะต่างกัน แต่แท้จริงแล้ว มันก็รากฐานมาจากสูตรหลักแบบเดียวกัน เพิ่มเติมด้วยเอกลักษณ์หรือความชอบของคนแต่ละประเทศ (เช่น บรั่นดี วอดก้า หรือ เครื่องเทศ)
เพื่อให้เห็นภาพกันมากขึ้น งั้นวันนี้พวกเรา InfoStory จะขอเพื่อน ๆ ออกไปส่องโลกของ “ไวน์ร้อน” กับภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตากันเหมือนเดิม
ไปรับชมกันได้เลย !
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเพิ่มเติม เชิญทางนี้ได้เลยจ้า
เดิมทีการทำไวน์ร้อน เชื่อกันว่าเป็นการนำไวน์ที่เหลือหรือกำลังเสื่อมคุณภาพ มาต้มและผสมกับเครื่องเทศชนิดต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า จนกลายเป็นอีกวิธีที่จะใช้ประโยชน์ของไวน์ได้อย่างดีที่สุด (ต้องบอกว่าคุ้มที่สุดจะดีกว่าเนอะ)
แต่ในปัจจุบันการดื่มเมนูไวน์ร้อน ไม่ได้ดื่มเพราะต้องการนำไวน์ที่เหลือมาใช้ประโยชน์เพื่อความคุ้มแบบนั้นแล้ว
เพราะว่ามันคือ รสชาติของความอร่อย ความรู้สึกสนุก (Festive) และยังช่วยคลายความเย็น ในฤดูหนาว โดยเฉพาะของทางฝั่งยุโรปและสแกนดิเนเวีย (จริง ๆ ที่แคนาดาก็นิยมดื่มกันเยอะนะ)
พบเห็นได้ทั่วไปในตลาดคริสต์มาสเลยจ้า
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า “ไวน์ร้อน” มันมีต้นกำเนิดมายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้วนะ !
(ไม่ใช่เมนูประยุกต์สมัยใหม่แบบที่เราเข้าใจ)
ว่ากันว่า ไวน์ร้อนหรือไวน์อุ่น (Mulled Wine) คือ ไวน์แดงต้มผสมน้ำตาลและเครื่องเทศ ที่ถูกคิดค้นโดยชาวโรมันในศตวรรษที่ 2 ที่ต้องการดื่มเพื่อคลายความหนาวและเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง
แต่ในสมัยนั้นชาวโรมันจะเรียกเครื่องดื่มนี้ว่า “Conditum Paradoxum” ขอสารภาพตรง ๆ ว่าพวกเราไม่มั่นใจว่าจะแปลชื่อนี้ออกมาอย่างไร
แต่เอาเป็นว่ามันก็คือไวน์ร้อนในแบบฉบับดั้งเดิม ที่มีไวน์แดงผสมน้ำผึ้งต้มกับเครื่องเทศ (เช่น พริกไทยใบกระวานและหญ้าฝรั่น)
กล่าวคือ ทั้งไวน์องุ่นและเครื่องเทศเหล่านี้ เป็นวัตถุดิบที่ค้าขายกันผ่านเส้นทางสายไหม (Silk Road) จากอนุทวีปอินเดีย อาหรับจนไปถึงจีน
ซึ่งพอวัตถุดิบเหล่านี้มาผสมต้มรวมกันกับไวน์ ก็ทำให้เกิดความอร่อยเพลิดเพลิน และยังเป็นเครื่องดื่มคลายความหนาวเย็นได้ดี นั่นเอง
1
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 12 เมนูไวน์ต้มนี้ ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งชาวฝรั่งเศสและชาวสเปน ก็จะเรียกเมนูนี้ว่า “Spicy Wine” (ซึ่งยังไม่ได้เรียกว่าไวน์ร้อนหรือ mulled wine นะ)
จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 13 พระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ (Henry III of England) ได้เดินทางไปยังเมืองมงเปอลีเยร์ (Montpellier) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
แน่นอนว่าพระองค์ได้ชิมเมนูไวน์ใส่เครื่องเทศที่มีรสเผ็ดหวาน แถมยังมีความอุ่นอีกด้วย แตกต่างจากไวน์ธรรมดาทั่วไป พระองค์จึงถูกใจและได้นำสูตรการทำ กลับมาที่อังกฤษ
ตรงจุดนี้เลยเชื่อกันว่า คำว่าไวน์ร้อน/ไวน์อุ่น (Mulled Wine) น่าจะถูกเรียกโดยชาวอังกฤษมาตั้งแต่ตอนนี้
Henry III of England
เมืองมงเปอลีเยร์ (Montpellier) ฝรั่งเศส
ก่อนที่เมนูไวน์ร้อนเนี่ย จะเริ่มเป็นเครื่องดื่มประจำเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลฉลองขึ้นปีใหม่ ในช่วงศตวรรษที่ 15 โดยค่อย ๆ แพร่หลายจากชาวเยอรมันไปจนถึงชาวสวีเดน
(ว่ากันว่าเริ่มเผยแพร่จากกลุ่มชนชั้นสูง ยกตัวอย่างเช่น กุสตาฟที่ 1 แห่งสวีเดนที่ไปชิมแล้วเกิดติดใจ หรือ
ยอห์นที่ 4 เคานต์แห่งอาร์มัคของฝรั่งเศสที่ได้นำเมนูไวน์ร้อนนี้ ไปเผยแพร่กับชนชั้นสูงชาวเยอรมัน)
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่าเมนู “ไวน์ร้อน” ก็ยังเป็นเครื่องดื่มที่สะท้อนวัฒนธรรม (โดยเฉพาะการกิน) ของแต่ละประเทศได้ดีอีกด้วยนะ
เรื่องนี้พวกเราอาจต้องขอย้อนกลับไปในช่วงสมัยโรมันโบราณก่อนเลย ตั้งแต่โน้นเลยสมัยปี ค.ศ. 1420 ที่เครื่องดื่มไวน์ร้อน/ไวน์อุ่น กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง
สาเหตุที่เจ้าไวน์ร้อนนิยมในชนชั้นสูงอย่างพวกขุนนาง ก็เพราะว่าคนสมัยนั้น เขาจะนิยมหมักไวน์ลงในลังไม้ที่เคลือบด้วยทองคำ โดยจะผสมกับเครื่องเทศพิเศษต่างๆ เช่น อบเชย, กานพลู, วานิลลา หรือแม้แต่กัญชา ก็นับส่าเป็นส่วนผสมพิเศษอีกด้วยนะ
(ไม่นับเรื่องลังไม้ทองคำ แน่นอนว่าเครื่องเทศเอง มันก็แสดงเรื่องของฐานะและชนชั้นได้อยู่)
แต่ว่าในปัจจุบัน การดื่มไวน์ร้อนอาจไม่ได้แสดงถึงสถานะทางสังคมแบบในสมัยก่อนฃ
ด้วยคอนเซปต์ของเครื่องดื่มที่ง่ายแสนง่าย คือ ไวน์แดงต้มกับเครื่องเทศท้องถิ่น
พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำง่าย ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเยอะและมีราคาถูก
เจ้าเมนูไวน์ร้อน ก็เลยจะออกมาอยู่ในรูปแบบของวิถีชีวิตหรือผลผลิตท้องถิ่นในแต่ละประเทศแทน
ยกตัวอย่างเช่น
- ทวีปอเมริกาใต้จะเรียกเครื่องดื่มนี้ว่า นาเวกาโด(Navegado) โดยจะมีส่วนผสมอื่นที่เพิ่มเข้ามาจากสูตรหลักได้แก่ ถั่วอัลมอนด์ กับลูกเกด
- สเปนและโปรตุเกส ที่นิยมรสชาติออกหวานผสมเผ็ดร้อน ก็จะมีการเติมเหล้าหวานอย่างเช่น Sweet Madeira เพิ่มเข้าไป และเรียกเมนูไวน์ร้อนนี้ว่า “Vino Caliente” / “Vinho Quente”
Vino Caliente ของสเปน
แต่ไม่ว่าจะเป็นสูตรของประเทศไหนก็ตาม ทุกที่ต่างก็มีรากฐานของสูตรหลักการผสมแบบเดียวกันทั้งนั้นละเนอะ ขอแค่เป็นไวน์แดงต้มอุ่น ๆ กับน้ำตาลและเครื่องเทศ ก็เป็นพอ (หรือบางที่อาจมีผสมไวน์ขาวอย่างเช่น Glühwein ที่อาจผสมไวน์ขาวรีสลิ่งเข้าไป)
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปเช่นเคย
งั้นพวกเราขอตัวไปเตรียมวัตถุดิบสำหรับต้มไวน์ร้อนฉลองปีใหม่ก่อนดีกว่า !
ขอให้เพื่อน ๆ พักผ่อนให้เต็มที่กันในวันหยุดสิ้นปี
ท่านไหนที่กำลังออกเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ พวกเราก็ขอให้เดินทางปลอดภัยนะคร้าบ :):)
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
https://www.aveine.paris/.../the-mulled-wine-origins-and.../
https://happykitchen.rocks/german-mulled-wine-gluhwein/
https://vinepair.com/.../8-delicious-mulled-wine-recipes.../
https://www.forbes.com/.../mulled-wine-ideas-from.../
...
https://www.vintageroots.co.uk/best-mulled-wine-recipes.../
https://en.wikipedia.org/wiki/Mulled_wine
https://th.wine-now.asia/blog/what-is-mulled-wine.html
เครื่องดื่ม
ไวน์
ความรู้รอบตัว
10 บันทึก
10
17
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ส่องโลกของเครื่องดื่ม ! (Into the World of Beverages)
10
10
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย