30 ธ.ค. 2021 เวลา 08:09 • สุขภาพ
ภาวะสะอึก ภาวะธรรมดาที่อาจไม่ธรรมดา
“ฮิก.........ฮิก.........ฮิก.........ฮิก.........ฮิก.........”
เมื่อเราได้ยินเสียงนึ้ออกมาจากใครบางคน หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง เราคงรู้ว่ามันเสียงอะไร มันคือเสียงสะอึกนั่นเอง คงไม่มีใครไม่เคยสะอึก ต้องมีอย่างน้อยสักครั้งในชีวิตที่เป็น
ภาวะสะอึก (hiccup) เป็นภาวะที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง (เป็นกล้ามเนื้อสำคัญในการหายใจ)และตามมาด้วยการปิดของกล่องเสียงอย่างฉับพลันในระยะเวลา 35 มิลลิวินาที (หรือเท่ากับ 35 ใน 1000 หน่วยของวินาที หรือ 0.035 วินาที) หลังการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหายใจดังกล่าว เวลากล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างซ๊โครงหดตัวนั้น จะมีลมผ่านไปยังทางเดินหายใจ ผ่านกล่องเสียง และเมื่อมีการปิดกล่องเสียงตามมา ทำให้เกิดเสียง "ฮิก" เกิดขึ้น
ภาวะสะอึกพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ ในมารดาตั้งครรภ์ก็สามารถรู้สึกได้ถึงการสะอึกของทารกในครรภ์เป็นพักๆ เป็นจังหวะ และพบว่าทารกเมื่อเกิดมามีการสะอึกได้ราว 2.5% ของเวลาทั้งหมดต่อวัน อาการสะอึกจะลดลงเมื่อเด็กโตขึ้น และจะเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ภาวะสะอึกไม่พบในสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือนก ปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีไหนมาอธิบายว่าทำไมมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องสะอึก เป็นจากวิวัฒนาการหรือไม่ ยังไม่มีใครทราบ ยังคงเป็นปริศนาต่อไป
กลไกของภาวะสะอึกนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ ตัวรับเข้าสู่ศูนย์กลาง (afferent limb) ศูนย์กลาง (central processing) และตัวส่งออกจากศูนย์กลาง (efferent limb) เป็นไปตามวงจรปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (reflex arc) ซึ่งพบได้ในร่างกายส่วนอื่น ๆ
ขอตัวอย่างของวงจรปฏิกิริยาสะท้อนกลับตัวอย่างง่าย ๆ เวลาเราถูกตะปูตำเท้า สัญญาณความเจ็บปวดจะส่งจากตัวรับเข้าสู่ศูนย์กลาง ได้แก่ ผิวหนังไปเส้นประสาท ต่อไปยังไขสันหลังซึ่งเป็นศูนย์กลางจากนั้นสัญญาณจากไขสันหลังจะส่งไปยังสองส่วน ส่วนแรกไปยังกล้ามเนื้อขาและเท้ากระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกร็งและหดขาออกมาจากตะปู ส่วนอีกสัญญาณจะส่งจากไขสันหลังขึ้นไปยังสมองและตีความว่าหลังสัมผัสแล้วมีอาการเป็นอย่างไร เจ็บปวดแค่ไหน อยากให้สังเกตดีๆ เวลาเราโดนอะไรตำ เราจะพบว่า เราหดแขนหรือขาหลบก่อนที่เราจะรู้สึกเจ็บปวดเสียอีก นั่นเป็นเพราะวงจรปฏิกิริยาสะท้อนกลับของตัวรับ ศูนย์กลาง และตัวส่งออก ผ่านจากไขสันหลังนั่นเอง
สำหรับวงจรสะท้อนกลับของการสะอึกนั้น มีตัวรับเข้าสู่ศูนย์กลาง คือ เส้นประสาท phrenic, vagus และ sympathetic ซึ่งอยู่ในช่องท้อง ช่องทรวงอกบริเวณหัวใจ หลอดอาหาร บริเวณลำคอด้านใน และส่งไปยังศูนย์กลาง คือ บริเวณก้านสมอง (brainstem) จากนั้นจะส่งสัญญาณไปยังตัวส่งออก ผ่านเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงและกล่องเสียง ดังนั้น เมื่อมีความผิดปกติของการทำงานของวงจรดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นส่วนของตัวรับ ศูนย์กลาง หรือตัวส่งออก จะส่งผลให้เกิดภาวะสะอึก
ส่วนใหญ่ภาวะสะอึกมักเกิดจากสิ่งรบกวนในช่องท้อง หลอดอาหารหรือลำคอ เช่น การรับประทานอาหารรสจัด เผ็ดมาก การดื่มน้ำอัดลมหรือ การรับประทานอะไรเร็วๆ รับประทานอาหารปริมาณมาก ทำให้หลอดอาหารขยายตัว กระเพาะอาหารขยายตัว ท้องอืด ทำให้เราสะอึก ซึ่งอาการสะอึกมักจะดีขึ้น ใช้เวลาไม่นานก็หายไป หรือเมื่อท้องหายอืดแล้ว
แล้วอะไรที่ทำให้ภาวะสะอึกไม่ธรรมดาหละ สะอึกที่ไม่ธรรมดานั้น มักเป็นภาวะสะอึกที่เป็นแล้วไม่หาย หรือเป็นนานเกินกว่า 48 ชั่วโมง เรียกว่า intractable or persistent hiccup หรือเป็นการสะอึกที่ไม่หยุดหย่อนนั่นเอง
สาเหตุของสะอึกที่ไม่ธรรมดานี้มีได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
โรคของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ส้นเลือดสมองอุดตัน เส้นเลือดสมองแตก หลอดเลือดสมองโป่งพอง), มะเร็งในก้านสมอง, ภาวะการอักเสบของเนื้อสมอง (neuromyelitis optica, multiple sclerosis), ภาวะสมองได้รับบาดเจ็บ, ภาวะชัก, ภาวะติดเชื้อในสมอง
โรคของระบบประสาทส่วนปลาย ทั้งตัวรับสัญญานและตัวทำงาน เช่น โรคของช่องทรวงอก โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร ตั้งแต่ในช่องลำคอ หลอดอาหาร ลงไปถึงช่อท้อง มะเร็งของทางเดินอาหาร
สาเหตุอื่น ๆ เช่น การให้ผ่าตัดที่รบกวนวงจรการสะท้อนกลับของวงจรการสะอึก การให้ยาเคมีบำบัดบางตัว ยาสเตียรอยด์ ยาบางชนิด หัตถการทางการแพทย์ที่รบกวนระบบประสาท ภาวะผิดปกติของเกลือแร่ เช่น โซเดียมต่ำในเลือด ภาวะไตวาย การรับประทานแอลกอฮอล์ เป็นต้น
จะเห็นว่าสะอึกที่เราคิดว่าธรรมดา สาเหตุอาจไม่ธรรมดาก็ได้ ถ้าเราหรือคนใกล้ตัวสะอึกติดต่อกันอย่างไม่หยุดหย่อน แล้ว ควรมาพบแพทย์ครับ อย่ารอ เพราะสาเหตุบางอย่างอันตรายถึงชีวิตได้ และหลาย ๆ สาเหตุสามารถรักษาได้ สะอึกที่ดูธรรมดา สาเหตุอาจไม่ธรรมดาเสมอไป
เอกสารอ้างอิง
Straus C, Vasilakos K, Wilson RJA, Oshima T, et al. 2003. A phylogenetic hypothesis for the origin of hiccough. BioEssays 25: 182–8.
Chang FY, Lu CL. Hiccup: Mystery, Nature and Treatment. J Neurogastroenterol Motil 2012;18:123-130. https://doi.org/10.5056/jnm.2012.18.2.123

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา