7 ม.ค. 2022 เวลา 05:00 • สุขภาพ
เวลามีไข้ ทำไมหมอต้องถามว่า “เดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ ลุยโคลนมาหรือไม่”
ผู้ป่วยรายหนึ่ง มีไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นมา 3 วัน โดยไม่มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ซักประวัติผู้ป่วยและมีจังหวะหนึ่ง แพทย์ยิงคำถามว่า ผู้ป่วยมีประวัติเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ ลุยโคลนมาหรือไม่ เราเป็นผู้ป่วยเมื่อได้ยินคำถามนี้ เราเข้าใจไหมครับว่า คำถามนี้สำคัญอย่างไร หรือเราจะตอบไปส่ง ๆ ว่า ไม่มีไว้ก่อน โดยไม่ได้ไตร่ตรองว่าในช่วงวันเวลาที่ผ่านมา เราไปประสบเหตุการณ์อย่างว่าหรือไม่
ก่อนอื่น ขออนุญาตบอกว่า คำถามที่แพทย์ถามแล้ว ส่วนใหญ่ เป็นคำถามที่ต้องการได้มาซึ้งข้อมูลที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วย เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำ และให้การรักษาอย่างเหมาะสม
คำถามที่ว่า เดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ ลุยโคลนมาหรือไม่ นั้น เป็นคำถามเกี่ยวกับประวัติความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยอาจติดมาจากการสัมผัสน้ำในแหล่งน้ำ ที่มีเชื้อโรคอยู่ เชื้อโรคที่ว่า คือ เล็ปโตสไปโรสิส (leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนู นั่นเอง เชื้อโรคชนิดนี้สามารถติดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว หมู สุนัข ม้า แกะ และ แพะ สัตว์พวกนี้อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยก็มี สำหรับคนนั้นมักจะติดเชื้อชนิดนี้มาจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อม ซึ่งผ่านมาจากสัตว์ที่ติดเชื้อปัสสาวะออกมา โดยปัสสาวะของสัตว์มีเชื้อนี้ ดังนั้นเชื้อโรคนี้จึงมักปะปนกับน้ำ หรือแหล่งน้ำ และเชื้อโรคชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายคนผ่านรอยแยก แตก หรือแผลบริเวณผิวหนัง
เมื่อเราติดเชื้อโรคฉี่หนู จะมีอาการ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง และปวดศีรษะ สามารถพบภาวะตาแดงอักเสบร่วมด้วยได้ เชื้อชนิดนี้ มีระยะฟักตัวของโรคราว 5-14 วัน ดังนั้น การที่แพทย์ถามว่า เดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ ลุยโคลนมาหรือไม่ ให้ผู้ป่วยลองนึกย้อนไปราว ๆ สองอาทิตย์ที่ผ่านมาว่ามีประวัติตามที่แพทย์บอกหรือไม่ อาชีพที่เราทำมีความเสี่ยงไหม เช่น เป็นชาวนา ชาวประมง ชาวสวน ทำงานที่ตลาดสด หรือในช่วงสองสัปดาห์ มีฝนตก ต้องเดินออกจากบ้านไปลุยฝน ลุยน้ำ เหยียบน้ำขังบ้างหรือเปล่า
ถ้าเราเข้าใจถึงที่มาและเหตุผลของคำถาม “เดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ ลุยโคลนมาหรือไม่” เวลาเรามีไข้ เราก็จะค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ นึกย้อนถึงประวัติความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่มากับน้ำตัวนี้ และสามารถให้ประวัติกับแพทย์ได้เป็นอย่างดี เพื่อประโยชน์ของตัวผู้ป่วยเอง และช่วยให้แพยท์ที่ดูแล นึกถึงโอกาสเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคที่มากับน้ำดังกล่าว
เมื่ออ่านจบแล้ว เราคงเข้าใจแล้วนะครับว่า เวลามีไข้ ทำไมหมอต้องถามว่า “เดินย่ำน้ำ ลุยน้ำ ลุยโคลนมาหรือไม่”
#รู้ทันหมอ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา