10 ม.ค. 2022 เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น
ยุทธจักรวาลกิมย้ง
ตอน 18 : เทพธิดาใจพิสุทธิ์ดาบคู่ทลายฟ้า
Blockdit Originals ซีรีย์บทความพิเศษ
ตั้งแต่นวนิยายเรื่องแรกในปี 1955 กิมย้งเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์มาตลอด แต่มีไม่กี่เรื่องที่มันเป็นนิยายเอกเทศ ไม่อิงประวัติศาสตร์ท่อนใด หรือชี้ยุคแต่เหตุการณ์ในยุคนั้นไม่ส่งผลต่อตัวเรื่อง
ผลงานหมายเลข 7 ของกิมย้ง
เทพธิดาม้าขาว (白馬嘯西風 / White Horse Neighs in the Western Wind)
1
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ปี 1961
หญิงสาวชาวฮั่น หลี่เหวินซิ่วกับพ่อแม่หนีหนีโจรกลุ่มหนึ่งกลางทะเลทราย พ่อแม่นางตาย หัวหน้าคนร้ายชื่อเฉินต๋าไห่ ต้องการแย่งแผนที่เกาชัง (เกาชังเป็นพื้นที่ในทะเลทราย ในเขตซินเจียงปัจจุบัน) เฉินต๋าไห่ฆ่าพ่อแม่นาง
หลี่เหวินซิ่วหนีไปที่เขตคาซัก พบผู้เฒ่าจี้ ชายชราชาวฮั่นคนหนึ่ง ดูแลนาง
หลี่เหวินซิ่วเติบใหญ่ขึ้น พบเด็กหนุ่มคาซักชื่อซูผู่ ทั้งสองรักกัน แต่บิดาของเขาไม่ยอมรับหญิงฮั่น ทั้งสองจึงแยกกัน
หลายปีต่อมา หลี่เหวินซิ่วพบจอมยุทธ์หัวฮุย ในทะเลทราย รักษาอาการบาดเจ็บของเขา หัวฮุยมีฉายาในยุทธจักรว่า ดัชนีเดียวสะท้านเจียงหนาน
หัวฮุยจึงรับนางเป็นศิษย์ สอนวิทยายุทธ์
หลี่เหวินซิ่วกลับบ้าน พบซูผู่มีรักใหม่
1
วันหนึ่งเฉินต๋าไห่เดินทางถึงบ้านนาง เขารื้อบ้าน และพบแผนที่ฉบับนั้น
แผนที่นั้นมีความลับ เมื่อถูกโลหิต ความลับก็เผย
เฉินต๋าไห่จะฆ่าซูผู่และครอบครัว หลี่เหวินซิ่วปลอมตัวเป็นคนแก่ ไปจัดการเฉินต๋าไห่ด้วยวิทยายุทธ์ที่เรียนมา
เฉินต๋าไห่หนีไปได้พร้อมแผนที่ เดินทางไปถึงเกาชัง หลี่เหวินซิ่วกับซูผู่ และอีกห้าคนตามล่ากลุ่มโจร เดินทางไปถึงเกาชัง พวกเขาไม่พบสมบัติตามที่คาดไว้ แต่พบ ‘ปิศาจ’
คนรักของซูผู่ถูก ‘ปิศาจ’ จับตัวไป ‘ปิศาจ’ ก็คือจอมยุทธ์คนหนึ่งปลอมตัวมา
‘ปิศาจ’ เล่าว่าตนต้องหลบซ่อนที่นี่ เพราะศิษย์ของตนทรยศ
1
ศิษย์ของเขาก็คือ ผู้เฒ่าจี้
‘ปิศาจ’ ก็คือหัวฮุย
ที่แท้ผู้เฒ่าจี้เป็นชายอายุสามสิบกว่าปลอมเป็นคนแก่
ผู้เฒ่าจี้กับหัวฮุยสู้กัน หัวฮุยตาย
หลี่เหวินซิ่วได้ยินความลับที่ซ่อนที่เกาชัง หลังจากนั้นนางก็จากเกาชังไปสู่แผ่นดินกลางของจีน
เทพธิดาม้าขาว เป็นนวนิยายขนาดสั้น ผู้อ่านงานกิมย้งอาจไม่ชินกับงานสั้น หรืออาจไม่จุใจ แต่ก็ยังมีลายเซ็นของกิมย้งอยู่
มันแสดงบรรยากาศของเมืองจีนชายขอบ ซึ่งชาวจีนฮั่นต้องปรับตัวอยู่กับชาวพื้นเมือง
1
ผลงานหมายเลข 8 ของกิมย้ง
1
อวงเอียตอ (鴛鴦刀 / Mandarin Duck Blades)
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ปี 1961
ฉากคือยุคราชวงศ์ชิง ราชองครักษ์กลุ่มหนึ่งขนส่งสิ่งของไปที่พระราชวัง มันดาบคู่หนึ่งเรียกว่า อวงเอียตอ
1
อวงเอียตอเป็นสิ่งที่ชาวบู๊ลิ้มปรารถนา เพราะเชื่อว่ามันเก็บซ่อนความลับบางอย่าง
ชาวยุทธจักรหลายกลุ่มพากันแย่งชิงอวงเอียตอ ในที่สุดมันก็ตกอยู่ในมือของสามีภรรยาสองคู่ คือหยวนก้วนหนานกับเซียวจงฮุ่ย และหลินยี่หลงกับเหรินเฟยเอี้ยน
ทั้งหมดพบกับราชองครักษ์ จ๋อเทียนเสียง เป็นจอมยุทธ์ฝีมือสูง ปลอมแปลงตนในสภาพคนตาบอด
สามีภรรยาสองคู่หนีไปซ่อนในวัดแห่งหนึ่ง ขณะที่ถูกตามล่าโดยจ๋อเทียนเสียงและพวก
2
หลินยี่หลงกับเหรินเฟยเอี้ยนสอนวิชาให้อีกคู่หนึ่ง เป็นกระบวนท่าดาบคู่ กระบวนท่านี้ครอบคลุมจุดอ่อนกันและกัน และเพิ่มอานุภาพของเพลงดาบ ด้วยกระบวนท่านี้ พวกเขาก็เอาชนะจ๋อเทียนเสียงได้
ต่อมาหยวนก้วนหนานไปเยือนบ้านของเซียวจงฮุ่ย บิดานางคือเซียวปั้นเหอ ฉลองวันเกิดอายุ 50 เซียวปั้นเหออาศัยอยู่กับภรรยาทั้งสอง คุณนายหยางกับคุณนายหยวน
จ๋อเทียนเสียงและพวกปรากฏตัวเพื่อแย่งชิงดาบ ขณะที่ทหารกลุ่มหนึ่งบุกเข้ามาจับตัวเซียวปั้นเหอ ซึ่งเผยว่าเป็นบุคคลที่ทางการต้องการตัว
เกิดการต่อสู้ และต่อมามีการเผยความลับว่า หยวนก้วนหนานที่แท้ก็คือบุตรชายที่สูญหายไปนานของคุณนายหยวน ทำให้เขากลายเป็นลูกพี่ลูกน้องของภรรยาของเขาเอง
พวกเขาไปซ่อนตัวในถ้ำใกล้เคียง เซียวปั้นเหอเผยความจริง
เซียวปั้นเหอเล่าว่าตนเองเคยเป็นกบฏ หลบในวังในคราบขันที ในคุกในวัง เขาพบกับกบฏอีกสองคนที่ถูกจับขังพร้อมครอบครัวคือ หยวนกับหยาง หลังจากทั้งสองถูกประหาร เซียวปั้นเหอก็ช่วยภรรยาและลูกๆ ของทั้งสอง
1
บุตรชายของหยวนคือหยวนก้วนหนาน แตกจากกลุ่มขณะหนี เซียวปั้นเหอพาคุณนายหยางกับคุณนายหยวนมาอยู่ด้วย ภาพภายนอกคือสามี แต่จริงๆ ไม่ใช่
เซียวปั้นเหอเลี้ยงบุตรสาวของหยางจนโต ใช้แซ่ของตน ก็คือเซียวจงฮุ่ย
นี่หมายความว่า หยวนก้วนหนานกับเซียวจงฮุ่ยไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน ยังเป็นสามีภรรยาได้
เซียวปั้นเหอเผยความลับของดาบ มีอักษรจารึกว่า “ผู้มีเมตตามิอาจโค่นล้มได้”
อวงเอียตอ เป็นเรื่องแรกๆ ที่มีพล็อตการซ่อนความลับในอาวุธ ต่อมาขยายความขึ้นและลึกขึ้นใน ดาบมังกรหยก ที่เป็นอาวุธคู่เหมือนกัน คือกระบี่อิงฟ้ากับดาบฆ่ามังกรในผลงานอันดับถัดไป (หมายเลข 9) ดาบมังกรหยก
ผลงานหมายเลข 10 ของกิมย้ง
มังกรแก้ว / หลั่งเลือดมังกร / กระบี่ใจพิสุทธิ์ (連城訣 / A Deadly Secret)
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Southeast Asia Weekly (東南亞周刊) และหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ในปี 1963
เต๊กฮุ้นเป็นชายหนุ่มชาวบ้าน อาศัยที่บ้านนอก เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เช็กเชี่ยงฮวด เขารักกับเช็กฮวง ลูกสาวของอาจารย์
วันหนึ่งทั้งสามไปร่วมงานวันเกิดของบ้วนจิ้นซัว ศิษย์ผู้พี่ของอาจารย์ เกิดการวิวาทกัน เช็กเชี่ยงฮวด แทงบ้วนจิ้นซัว แล้วหลบหนีไป เต๊กฮุ้นถูกใส่ความว่าขโมยของและข่มขืนภรรยาน้อยของบ้วนจิ้นซัว ถูกจับเข้าคุก
1
เต๊กฮุ้นถูกลงโทษสถานหนัก ไหปลาร้าถูกร้อยโซ่จนพิการ เช็กฮวงเริ่มถอนหัวใจจากเขา เพราะเริ่มเชื่อว่าเต๊กฮุ้นลวนลามหญิงอื่น
1
ภายในคุกเต็กฮุ้นพบนักโทษคนหนึ่งชื่อ เต็งเตียน ซึ่งถูกขังในห้องเดียวกัน ทุกๆ เดือนเต็งเตียนถูกผู้คุมลากตัวไปซ้อม หลังจากนั้นเต็งเตียนก็มาระบายอารมณ์ใส่เขา ซ้อมเขา
2
วันหนึ่งเต็กฮุ้นได้ข่าวว่าเช็กฮวงแต่งงานกับลูกชายของบ้วนจิ้นซัว เขารู้สึกเสียใจท่วมท้น จึงผูกคอตาย แต่เขาฟื้นขึ้นมา พบว่าเต็งเตียนใช้พลังลมปราณซิ้นเจียวเก็งช่วยเขาฟื้นจากความตาย
1
เต็งเตียนดีกับเขาเป็นคนละคน เนื่องจากครั้งแรกเชื่อว่าทางการส่งเต๊กฮุ้นมาสืบความลับจากเขา แต่เมื่อเต๊กฮุ้นฆ่าตัวตายจริงๆ เขาก็เชื่อว่าเต๊กฮุ้นไม่ใช่สายของทางการ
1
เต็งเตียนบอกว่าเต็กฮุ้นฆ่าตัวตายในเวลาที่พอเหมาะ เพราะหากเป็นเมื่อหลายเดือนก่อน เขาก็ช่วยไม่ได้ เพราะยังฝึกวิชาลมปราณนี้ไม่สำเร็จ
เต็งเตียนบอกเต๊กฮุ้นว่า โทษของการขโมยของและล่วงเกินภรรยาน้อยของบ้วนจิ้นซัว ไม่หนักถึงขนาดใช้โซ่ร้อยไหปลาร้า โทษใช้โซ่ร้อยไหปลาร้านั้นใช้สำหรับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ เห็นชัดว่าเป็นการวางแผนใส่ความเต๊กฮุ้น หมายใช้เขาล้วงความลับจากเต็งเตียน
ตั้งแต่นั้นมา เต็งเตียนก็สอนวิชาพลังลมปราณให้แก่เต็กฮุ้น จนวันหนึ่งทั้งสองก็แหกคุกออกไป เต็งเตียนไปหาคนรักชื่อเล้งซึงฮั้ว แต่พบว่านางตายแล้ว ด้วยความเศร้าใจ เต็งเตียนกอดหีบศพ และถูกพิษบนโลงศพเสียชีวิต
เต๊กฮุ้นนำศพของเต็งเตียนไปฝังไว้คู่กับเล้งซึงฮั้ว และพบความลับภายในโลงศพของนาง บนฝาโลงชั้นในมีรอยเล็บของนางขีดจารึกเคล็ดวิชาอย่างหนึ่ง
เต๊กฮุ้นออกไปเผชิญโลกตามลำพัง พบหลวงจีนป้อเฉีย แห่งนิกายดาบโลหิต ซึ่งเป็นศัตรูของเต็งเตียน เขาฆ่าหลวงจีนป้อเฉีย สวมชุดจีวรของหลวงจีนป้อเฉียเพื่อพรางตัว และพบกับหลวงจีนฮวยตอเล่าโจ๊ว หัวหน้านิกายดาบโลหิต
ระหว่างการต่อสู้กับชาวยุทธจักร ฮวยตอเล่าโจ๊วหนี พาเต๊กฮุ้นไปด้วย โดยจับหญิงสาวนาม จุ้ยเซ็ง เป็นตัวประกัน หนีไปด้วยกัน
ฮวยตอเล่าโจ๊วจับได้ว่าเต๊กฮุ้นไม่ใช่ศิษย์ในสำนัก ใช้ฝ่ามือทำร้ายเต๊กฮุ้น แต่กลับช่วยให้เขาบรรลุวิชา
พวกเขาติดในหุบเขาหิมะ พร้อมกับคนในสำนักฝ่ายธัมมะคนหนึ่งชื่อ ฮวยทิกั้ง
เมื่อรอดออกมาจากหุบเขาได้ ฮวยทิกั้งใส่ความว่าเต๊กฮุ้นกับจุ้ยเซ็งมีความสัมพันธ์กัน
1
ในที่สุดเต๊กฮุ้นก็พบความลับของซู่ซิมเกี่ยม รวมทั้งคลี่คลายปริศนาการหายไปของอาจารย์ และพบความจริงว่าอาจารย์ของเขาเป็นคนร้ายกาจ และชาวยุทธจักรไปแก่งแย่งชิงสมบัติกัน
เต๊กฮุ้นเบื่อหน่ายต่อพฤติกรรมของชาวยุทธจักร ความโลภ ความหลงในอำนาจ เขาตัดสินใจปลีกตัวจากยุทธภพ เขาพาลูกสาวของเช็กฮวงไปเลี้ยงที่หุบเขาหิมะ ที่นั่นเขาพบจุ้ยเซ็งรอเขาอยู่
นวนิยายเรื่อง กระบี่ใจพิสุทธิ์ ไม่ได้บ่งบอกชัดเจนว่าใช้ฉากเป็นสมัยใด แต่ในฉบับปรับปรุง ตัวละครอู๋ลิ่วฉี ‘ขอทานเหล็ก’ ในเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ ปรากฏในเรื่องนี้ แสดงว่าฉากของเรื่องคือยุคราชวงศ์ชิง
จำลอง พิศนาคะ เป็นคนแรกที่แปลเรื่องนี้เป็นไทย ชื่อ มังกรแก้ว​ (สังเกตว่าหลังจากชื่อ มังกรหยก ชื่อเรื่องอื่นก็มักขึ้นต้นด้วยมังกร) ต่อมา น. นพรัตน์ แปลใช้ชื่อว่า หลั่งเลือดมังกร แล้วเปลี่ยนเป็น กระบี่ใจพิสุทธิ์
ชื่อเรื่องเดิมคือ ซู่ซินเจี้ยน (ซู่ซิมเกี่ยม) แปลว่า กระบี่ใจพิสุทธิ์ ชื่อไทยสุดท้ายจึงตรงกับชื่อแรกที่สุด
1
หลายคนเชื่อว่านวนิยายเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก The Count of Monte Cristo ของ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ แต่หากเราอ่านที่มาของเรื่องนี้ ซึ่งกิมย้งใช้ชีวิตจริงของนักโทษที่ปู่ของเขาเคยช่วย เรื่องนี้ก็อาจไม่ได้มาจากงานของ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ อีกประการมันเป็นคนละคอนเส็ปต์
1
ตัวละครอาจารย์เช็กเชี่ยงฮวด ถูกพัฒนาต่อไปเป็นงักปุกคุ้ง ในเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร
แม้จะเป็นนวนิยายในสเกลกลางๆ ไม่ยาวไป ไม่สั้นไป แต่กิมย้งอัดซับพล็อตเด่นๆ เข้าไปอย่างไม่ยั้ง
นวนิยายเรื่องนี้มีความยาวขนาดกลาง กะทัดรัด อัดเนื้อหาและซับพล็อตเข้าไปเต็มที่ กลมกล่อม แม้จะไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงเท่า มังกรหยก ดาบมังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร และ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า แต่มันเป็นเพชรเม็ดงามเม็ดหนึ่ง
1
ผลงานหมายเลข 12 ของกิมย้ง
มังกรทอง / เทพบุตรทลายฟ้า / มังกรทลายฟ้า (俠客行 / Ode to Gallantry)
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หมิงเป้า 11 มิถุนายน 1966- 19 เมษายน 1967
เรื่องเปิดฉากที่เด็กหนุ่มกำพร้าร่อนเร่ มีชื่อเรียกว่า ‘ไอ้ลูกสำส่อน’ (狗雜種 แปลตรงตัวว่า ไอ้ชาติสุนัข) เขาไม่รู้หนังสือ วันหนึ่งมีคนพาเขาไปที่สำนักแห่งหนึ่ง ทุกคนเชื่อว่าเขาคือเจี๊ยะตงเง็ก หัวหน้าสำนักสุขนิรันดร์ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ
‘ไอ้ชาติสุนัข’ เชื่อว่าเขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเจี๊ยะตงเง็กที่หายไป
แม้แต่คนรักของเจี๊ยะตงเง็ก ชื่อติงตัง ก็เชื่อว่าเขาคือเจี๊ยะตงเง็ก
เพื่อพิสูจน์ให้เขาเชื่อ ก็บอกตำแหน่งแผลเป็นของเจี๊ยะตงเง็ก ปรากฏว่าในตัวเขาก็มีแผลเป็นตำแหน่งเดียวกัน
‘ไอ้ชาติสุนัข’ จึงจำเป็นต้องเป็นเจี๊ยะตงเง็ก ผจญภัยไปในยุทธจักร
เขาถูกคนจากสำนักภูเขาหิมะตามล่า เพราะเจี๊ยะตงเง็กลวนลามหลานสาวของหัวหน้าสำนัก
เขาพบว่าเจี๊ยะตงเง็กเป็นชายหนุ่มเจ้าชู้
ในที่สุดเขาก็รู้ความจริงว่า ทุกๆ สิบปี สำนักต่างๆ ในยุทธจักรได้รับเทียบเชิญจากเกาะลึกลับแห่งหนึ่ง ที่เรียกว่า ‘เกาะวีรบุรุษ’ เทวฑูตจากเกาะนั้นมาเชิญเจ้าสำนักทั้งหลายไปกินข้าวต้มเดือนสิบสองด้วยกัน
บรรดาเจ้าสำนักทั้งหลายไปกินข้าวต้มเดือนสิบสองไม่มีใครได้กลับมา ล้วนสาบสูญไป เชื่อว่าถูกลวงไปฆ่า เพื่อทำลายสำนักยุทธจักร
จึงไม่มีใครอยากไป
เขาถูกจับเอามาสวมรอยแทนเจี๊ยะตงเง็กเพื่อไปเกาะวีรบุรุษ
เขาพัวพันอยู่กับเหตุการณ์วุ่นวายในยุทธจักร ท้ายที่สุดเขาก็ไปที่เกาะวีรบุรุษ และพบกับความแปลกใจ
ในตอนท้ายเรื่อง เผยว่าพ่อแม่ของเขาคือสองสามีภรรยา เจี๊ยะเช็งกับเมี่ยงยิ้ว เจ้าของฉายา กระบี่คู่ขาวดำ มีลูกชายฝาแฝดคู่หนึ่ง คือเจี๊ยะตงเง็กกับเจี๊ยะตงเกียง เจี๊ยะตงเกียงถูกบ๊วยฮวงโกวที่แอบหลงรักเจี๊ยะเช็งลักพาตัวไป เรียกเด็กว่า ‘ไอ้ลูกสำส่อน’
ทั้งสองเชื่อว่าตงเกียงถูกบ๊วยฮวงโกวฆ่าตาย จึงทุ่มเทความรักให้กับเจี๊ยะตงเง็ก ถูกตามใจจนเสียคน เจี๊ยะเช็งจึงส่งลูกชายไปเป็นศิษย์ของฮงบ้วนลี้ ฉายา มังกรวาตะอัคคี เรียนวิชาที่สำนักเซาะซัว
สองคนเป็นฝาแฝด แต่นิสัยต่างกันโดยสิ้นเชิง ‘ไอ้ชาติสุนัข’ เจี๊ยะพั่วเทียน เป็นคนซื่อ ฉลาด ส่วนเจี๊ยะตงเง็ก นิสัยไม่ดี หลอกสตรี
มังกรทลายฟ้า (แปลตรงตัวว่าการเดินทางของแขกจอมยุทธ์) เป็นนิยายขนาดกลางของกิมย้ง เป็นการแหวกตนเองออกไปจากเส้นทางเดิม ไม่ใช่ก้าวใหญ่ แต่เป็นก้าวที่น่าสนใจ และพิสูจน์ว่า กิมย้งไม่ชอบเขียนตามรอยเดิม และยังกลับไปพัฒนางานเก่าให้ดีขึ้น
พล็อตฝาแฝดคล้ายบางเรื่องของเชกสเปียร์ส เช่น Twelfth Night และ The Comedy of Errors
ในปี 1977 กิมย้งเขียนคำตามในนวนิยาย มังกรทลายฟ้า พ.ศ. 2532 (แปลโดย น. นพรัตน์) ดังนี้
“เพราะบุคคลสองคนมีใบหน้าคลับคล้ายก่อเกิดเป็นความเข้าใจผิดนานัปการ ตำนานเรื่องราวอันเก่าแก่เช่นนี้ ไม่อาจนับเป็นโครงเรื่องอันหนักแน่นในนวนิยายได้ แม้ว่า วิลเลียม เช็คสเปียร์เคยใช้พี่ชายน้องชายฝาแฝด พี่สาวน้องสาวฝาแฝดเป็นพล็อตเรื่องอยู่บ่อยครั้ง แต่ผลงานเหล่านี้ไม่อาจนับเป็นบทละครที่ดีที่สุดของท่าน
2
นวนิยาย เฮียบแขะเหง (มังกรทลายฟ้า) เรื่องนี้ ที่ข้าพเจ้าต้องการเขียนคือความรักความผูกพันที่เจี๊ยะเช็ง สองสามีภรรยามีต่อผู้บุตร ดังนั้นเจี๊ยะพั่วเทียนกับเจี๊ยะตงเง็ก มีเค้าหน้าคลับคล้ายหาใช่หลักสำคัญของเรื่องไม่...”
แม้ในมุมของกิมย้ง ธีมเรื่อง มังกรทลายฟ้า คือความรักของพ่อแม่ แต่มันครอบคลุมกว้างกว่านั้น
นิยายกำลังภายในเป็นเพียงตระกูลหนึ่งของเรื่องแต่ง ที่ใช้องค์ประกอบของวิทยายุทธ ยุทธจักร การต่อสู้ ฯลฯ ทว่าโดยแก่นของเรื่อง มันก็ยังเป็นเรื่องราวของคน การดิ้นรนของคน ความเห็นแก่ตัวของคน
และ มังกรทลายฟ้า ก็สามารถสะท้อนสันดานคน การเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขันได้อย่างชัดเจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา