9 มี.ค. 2022 เวลา 01:19 • ไลฟ์สไตล์
“ใครมีนิสัยแย่ ๆ ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไหม ? “
“ … สติปัฏฐาน 4 นี่แหละที่เปลี่ยนจากมนุษย์ธรรมดา
เป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพสูง
ถ้าเราปรารถนาที่จะพัฒนาตนเอง
หรือว่าขัดเกลานิสัยที่ไม่ดีต่าง ๆ
สติปัฏฐาน 4 คือ ตอบโจทย์
ใครมีนิสัยแย่ ๆ ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไหม ?
บางคนโมโหร้าย เจ้ากี้เจ้าการ เรื่องมาก
บางคนก็คิดจับจด กลับไปกลับมา
บางคนก็อารมณ์หลายขั้ว อะไรต่าง ๆ
ฝึกสติปัฏฐาน สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ทั้งหมดเลย
จากคนอารมณ์ร้อน ก็จะเป็นคนที่ใจนิ่ง เย็นสงบ
จากคนที่มักคิดวกวน กลับไปกลับมา ทำอะไรผิดพลาด
ก็จะเป็นคนที่มีการตัดสินใจที่เฉียบคมขึ้น
มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่สูงขึ้น
มีการจัดการกับอารมณ์ กับปัญหาต่าง ๆ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะโลกในยุคสมัยนี้
เขาให้ความสำคัญเรื่องของ EQ
เรื่องของการจัดการกับอารมณ์ วุฒิภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ
ฝึกสติปัฏฐาน ตอบโจทย์พวกนี้ทั้งหมดเลย
นี่แค่ประโยชน์เบื้องต้นเท่านั้นนะ
ที่เราจะได้รับจากการฝึกสติปัฏฐาน 4 ตรงนี้
โดยเฉพาะเข้าถึงวิหารธรรมที่ซาบซ่านทั่วกายตรงนี้นะ
นอกจากจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลในทางโลกแล้วนะ
เราจะได้เริ่มเข้าถึงวิหารธรรมที่เรียกว่า วิหารธรรมอันเป็นทิพย์
1
เราอาจจะได้เคยได้ยินได้ฟังว่า
เทวดา นางฟ้า มีความสุขอันเป็นทิพย์
หลายคนได้ยินได้ฟังว่าเทวดา ชาวสวรรค์
มีความสุขกว่าชาวโลกมากนะ
หลายคนก็ปรารถนาว่าตายแล้วก็อยากไปเกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า
เสวยความสุขอันเป็นทิพย์ต่าง ๆ
ไม่ต้องรอตาย
ฝึกสติปัฏฐาน 4 สามารถเข้าถึงวิหารธรรมอันเป็นทิพย์ได้เลย
สัมผัสกันตรง ๆ
เทวดาจะมีวิหารธรรมหลัก
ถ้าเป็นชั้นต้น ก็คือ ความแผ่ซ่าน ความซาบซ่านทั่วกาย
ถ้าเป็นเทวดาที่สูงขึ้นไป วิหารธรรมหลัก คือ ความสุขเบาสบาย
เพียงแค่เราฝึกสติปัฏฐาน จนเพิกอารมณ์หยาบ ๆ ได้
เข้าถึงความซาบซ่านเอิบอาบทั่วทั้งกาย
รู้สึกถึงความเพลินสบาย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่มีสติตั้งมั่นนี่แหละ
เมื่อนั่งอยู่ ก็ประดุจนั่งอยู่บนบัลลังก์อันเป็นทิพย์
เมื่อยืนอยู่ ก็ประดุจยืนอยู่บนที่ยืนอันเป็นทิพย์
เมื่อเดินอยู่ ก็ประดุจเดินอยู่บนที่เดินจงกลมอันเป็นทิพย์
เมื่อนอนอยู่ ก็ประดุจว่านอนอยู่บนที่นอนอันเป็นทิพย์
เสวยสภาวะอันเป็นทิพย์เลย ตั้งแต่ความซ่านเป็นต้นไป
มันจะเพลินสบายอยู่อย่างนั้นน่ะ
เหมือนเรานอนแช่ในสปาอยู่ตลอดเวลา
เคยเข้าสปากันไหม ? ไม่เคยเข้าหรอก ไม่ทัน
แต่ว่ามันก็คงเพลินสบาย ใช่ไหม ?​
ปีติ จะให้ความรู้สึกเพลินสบายอยู่อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าจึงอุปมาว่า ประดุจว่าแช่อยู่ในน้ำเย็นชุ่มฉ่ำชื่นใจ
ซาบซ่านเอิบอาบทั่วทั้งกาย
เธอทำกายนี้ให้ชุ่มไปด้วยปีติ
ไม่มีส่วนใดของกายที่ปีติไม่ถูกต้อง
นั่นคือสภาวะของทุติยฌาน ฌานที่ 2
ผรณาปีติ เป็นลักษณะเด่น มันแผ่ซ่านทั่วกาย
เข้าถึงวิหารธรรมอันเป็นทิพย์
พออยู่กับความแผ่ซ่านไปเรื่อย ๆ
ก็จะเริ่มเกิดความสุขเบาสบายด้วย
ปีติ เป็นชั้นของความรู้สึกตัว มันจะแผ่ซ่าน
เพียงแค่เราแช่อยู่กับความแผ่ซ่านไปเรื่อย ๆ
ที่ใช้คำว่า แช่ เนี่ย
มันก็เหมือนเราแช่น้ำน่ะ
จริง ๆ แค่เริ่มรู้สึกตัวทั่วพร้อมเป็น แล้วเราแช่
อย่างเวลานอน เราแช่อยู่กับความรู้สึกตัว
สภาวะ ถ้าเราวางใจถูกนะ
มันเหมือนเราแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำนั่นแหละ มันเพลินไง
ถามว่าเวลาเราแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำ
เราต้องมาเครียด หลับตาปี๋ไหม ?​
ไม่ มันรีแลซ์ผ่อนคลาย มันคลายทุกอย่าง
นั่นแหละคือการวางใจที่ถูกต้อง
ในการฝึกสติปัฏฐาน 4
เพราะฉะนั้นให้สังเกต เวลานอนภาวนาดี ๆ
สภาวะมันละเอียดกว่าตอนนั่ง
เพราะว่าบางทีตอนนั่งเราตั้งใจ มันเกร็ง
มันยังไม่เป็นธรรมชาติ มันยังไม่รีแลกซ์
เรายังไม่สามารถปลดล็อคปมตรงนี้ออกไปได้
เมื่อใดที่เราปลดคลายล็อคตรงนี้ออกไป
จะเหมือนเรานอนแช่ในน้ำ
เราจะเข้าสภาวะโดยธรรมชาติเลย
แล้วทีนี้การแช่แบบนี้ ไม่ใช่แค่นอนหรอก
ยืน เดิน นั่ง นอน ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
เหมือนนั่ง ที่นั่งก็เป็นทิพย์
เดิน ก็ที่เดินอันเป็นทิพย์
นอน ก็ที่นอนอันเป็นทิพย์
มันมีแต่วิหารธรรม เป็นสภาวธรรมต่าง ๆ …​“
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา