16 ม.ค. 2022 เวลา 02:02 • สุขภาพ
ทำไมหมอถามละลาบละล้วงหนูจังคะ
สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ (คำว่าวัยเจริญพันธุ์หมายถึงว่า ช่วงอายุอานามที่คน ๆ หนึ่งมีความสามารถในการให้กำเนิดทารกได้ กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจนไปถึงก่อนหมดประจำเดือนนั่นเอง) เมื่อไปตรวจโรคกับหมอ อาจโดนหมอถามคำถามว่า “ประจำเดือนคร้ังล่าสุด มาวันแรกวันไหน” หรือในภาษาอังกฤษที่หมอเขียน คือ Last Menstrual Period (LMP) คำถามนี้ ถ้าไม่ได้เกริ่นนำให้คนไข้ทราบถึงเหตุที่มาที่ไปสำหรับคำถาม และคนที่ถามคนไข้เป็นหมอผู้ชาย คนไข้อาจรู้สึกตะหงิดตะหงิดอยู่ อยากรู้ไปทำไม เรื่องนี้มันเรื่องค่อนข้างจะส่วนตัวอยู่เหมือนกันนะคะ คนไข้อาจคิดในใจว่า ทำไมหมอถามละลาบละล้วงหนูจังคะ
ไม่แปลกเลยครับที่คนไข้จะรู้สึกอย่างนั้น ถ้าหมอไม่ได้บอกหรือไม่เตรียมให้คนไข้รับรู้ก่อนว่าที่มาที่ไปของคำถามถึงประจำเดือนคืออะไร (ซึ่งตามความเห็นส่วนตัว คิดว่าหมอควรจะบอกว่าถามไปทำไม เพราะเรื่องบางเรื่องมันค่อนข้างละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องส่วนตัวของคนไข้)
คำถามถึง ประจำเดือนครั้งล่าสุด มาวันแรกวันไหนนั้น จริง ๆ แล้ว หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ต้องการรู้ว่า “ผู้ป่วยหรือผู้ที่มารับบริการทางการแพทย์นั้นมีโอกาสตั้งครรภ์หรือไม่” ถ้าประจำเดือนขาดมาเกินหนึ่งรอบ หรือทั่วไปคร่าว ๆ ประมาณ 1 เดือนแล้วนั้น อาจเป็นไปได้ว่าหญิงวัยเจริญพันธุ์ผู้นั้นมีโอกาสตั้งครรภ์ (นอกจากภาวะตั้งครรภ์แล้ว ประจำเดือนอาจมาไม่ตรงรอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภาวะเครียด ความเจ็บป่วยเป็นโรคบางอย่าง การได้รับยาบางอย่าง การฉีดยาคุม หรืออยู่ในช่วงที่ประจำเดือนใกล้หมดเข้าสู่วัยทอง)
แล้วการตั้งครรภ์มันไปเกี่ยวอะไรกับคนไข้ที่มาตรวจโรคที่แผนกบางแผนกหรือโรคบางโรคที่ไม่ได้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ นี่เป็นเพราะว่าภาวะการเจ็บป่วยบางอย่าง ถ้าเกิดในผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้มีภาวะต้องสงสัยที่จำเพาะต่อหญิงตั้งครรภ์ได้มากขึ้นกว่าคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ตัวอย่างเช่น หญิงวัยเจริญพันธ์คนหนึ่ง ประจำเดือนไม่มา 2 เดือน มีอาการปวดท้องน้อยด้านขวาล่างอย่างรุนแรงมา 1 วัน ปกติถ้าผู้ป่วยรายนี้ หมอไม่สงสัยภาวะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยรายนี้น่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่ถ้าผู้ป่วยรายนี้มีโอกาสตั้งครรภ์แล้ว นี่เองทำให้หมอที่ดูแลนึกถึงภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูกมากยิ่งขึ้น และต้องตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด
นอกจากภาวะหรือโรคที่อาจพบได้จำเพาะในหญิงตั้งครรภ์แล้ว การสั่งการตรวจและรักษาบางอย่างอาจต้องระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยง เช่น ถ้าตั้งครรภ์แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการส่งตรวจเอกซเรย์ช่องท้องส่วนล่าง เพื่อไม่ให้ตัวอ่อนในครรภ์ได้รับผลกระทบจากรังสีเอกซเรย์โดยไม่จำเป็น การสั่งจ่ายยาบางอย่างอาจเป็นข้อห้ามในหญิงตั้งครรภ์เพราะอาจทำให้ทารกโดยเฉพาะอายุครรภ์อ่อน ๆ เกิดภาวะวิรูปหรือความพิการเกิดขึ้น
เมื่อเข้าใจถึงที่มาที่ไป และวัตถุประสงค์ของการถามคำถามเกี่ยวกับประจำเดือนของหมอเช่นนี้แล้ว คนไข้น่าจะหมดความสงสัยและความเคลือบแคลงใจแล้วนะครับ หมอไม่ได้อยากละลาบละล้วงคนไข้นะครับ และบางครั้งหมอเองต้องขออภัยคนไข้ด้วย ถ้าทำให้รู้สึกไม่สบายใจกับคำถามและไม่ได้บอกว่าถามคำถามนี้ไปทำไม คราวหลังหมอ ๆ จะไม่ลืมบอกนะครับ และถ้าคนไข้อยากรู้ ไม่ต้องเกรงใจหมอ ถามได้เลยครับ
#รู้ทันหมอ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา