21 ม.ค. 2022 เวลา 05:00 • สุขภาพ
เมื่อเป็นไข้ ทำไมหมอต้องถามว่า มีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย หรือเปล่า
ความเจ็บป่วย ไม่สบายกาย มักเกิดขึ้นกับชีวิตเราไม่ว่าวันใด ก็วันหนึ่ง อาการป่วยที่มักเกิดขึ้น เรียกว่าเป็นอาการท็อปฮิต ติดอันดับต้น ๆ ของชีวิตมนุษย์ คือ อาการไข้หรืออาการตัวร้อนที่มิใช่ร้อนตัว อาการไข้เป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่าปกติ ความร้อนที่เกิดขึ้นในร่างกายอาจเกิดจากการที่ร่างกายสร้างความร้อนภายในหรือได้รับความร้อนจากภายนอก การขจัดความร้อนในร่างกายได้น้อยลงกว่าปกติ หรือเกิดจากภาวะเหล่านี้ร่วมกัน ร่างกายมีศูนย์ควบคุมอุณหภูมิที่สำคัญ คือ บริเวณสมองส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus) มีหน้าที่ควบคุมให้อุณหภูมิอยู่ในช่วง 36.1-37.2 องศาเซลเซียส
การติดเชื้อในร่างกาย ไม่ว่าจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา หรือวัณโรค เมื่อเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดไข้ได้ ทำไมการติดเชื้อเหล่านี้จึงเกิดทำให้เกิดอาการไข้ขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นจากเชื้อโรคเหล่านี้ตัวมันเองหรือสารที่มันสร้างขึ้น เรียกว่าสารไพโรเจน (pyrogen) รบกวนการทำงานของสมองส่วนไฮโปธาลามัส ซึ่งควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้ set point หรือจุดที่ร่างกายควบคุมอุณหภูมิให้ปกตินั้นสูงขึ้นไป เปรียบเทียบได้กับการต้มน้ำ เมื่อต้มน้ำ set point ของอุณหภูมิของกาต้มน้ำจะขึ้นไปที่ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดเดิอดของน้ำ
แล้วไข้ หนาวสั่น เกิดจากอะไร เวลาที่ร่างกายมีการติดเชื้อและเมื่อสารไพโรเจนจากเชื้อนั้นถูกปล่อยออกมาอย่างรวดเร็วนั้น จะทำให้ set point ของอุณหภูมิของร่างกายถูกปรับขึ้นไปสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนั้นร่างกายจะตอบสนองโดยการทำให้อุณภูมิของร่างกายสูงขึ้นไปให้ถึง set point ของอุณหภูมิดังกล่าว การที่กล้ามเนื้อมีการหดตัว คลายตัวอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในกลไกในการสร้างความร้อน เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้ไปถึง set point ใหม่ ดังนั้นจะมีการสั่นของกล้ามเนื้อบริเวณต่าง ๆ เกิดขึ้น
ส่วนความรู้สึกหนาวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ set point ของอุณภูมิถูกปรับสูงขึ้น ในขณะที่ร่างกายขณะนั้นอุณภูมิต่ำกว่า set point ทำให้เรามีความรู้สึกว่าอุณหภูมิเราต่ำกว่า set point จึงทำให้รู้สึกหนาว นี่เป็นที่มาของไข้หนาวสั่น เมื่อร่างกายสั่นจนอุณหภูมิร่างกายไปถึง set point แล้ว ก็จะไม่มีอาการหนาวสั่นอีก แต่จะรู้สึกว่ามีไข้ รู้สึกตัวร้อนอย่างเดียว
ทำไมหมอต้องถามว่า มีไข้ ร่วมกับอาการหนาวสั่นหรือไม่ คำถามว่ามีไข้และหนาวสั่นสำคัญอย่างไรนอกเหนือไปจากการปรับ set point ของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว
ไข้หนาวสั่นนั้นอาจบอกสาเหตุของโรคได้ครับ อาการหนาวสั่นของจริงต้องหนาวสะท้านจนฟันกระทบกันเลย มีการสั่นเทิ่มทั้งตัว ความรู้สึกหนาวข้างใน โดยร่างกายไม่สั่นนั้นไม่นับนะครับ ในกรณีที่อาการหนาวสั่นเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ หลาย ๆ ครั้ง การที่มีอาการหนาวสั่นเป็นพัก ๆ หลาย ๆ ครั้ง บ่งบอกว่ามีอะไรบางอย่างมาทำให้ set point ของอุณหภูมิร่างกายถูกปรับขึ้นๆ ลง ๆ เป็นพัก ๆ อย่างรวดเร็ว อะไรบางอย่างที่ว่านั้น ก็คือสารไพโรเจนนั่นเอง
แล้วอะไรทำให้สารไพโรเจนถูกปล่อยออกเป็นพัก ๆ จนไปทำให้เกิดอาการไข้หนาวสั่น คำตอบ คือ การติดเชื้อโรคบางอย่าง ตัวอย่างเช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (แบคทีเรียบางประเภทมีสารชื่อ lipopolysaccharide บนผนังเซลล์ซึ่งเป็นสารไพโรเจน) การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน ภาวะท่อน้ำดีอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน ฝีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะต่าง ๆ ภายใน การติดเชื้อมาลาเรีย ซึ่งโรคที่กล่าวมานี้ เป็นโรคที่อาจมีความรุนแรงสูง อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ดังนั้นแล้ว เมื่อเราเป็นไข้ หมอถามว่ามีอาการหนาวสั่นร่วมด้วยหรือไม่ ให้เราลองนึกดูดี ๆ นะครับว่าเรามีอาการหนาวสั่นด้วยหรือเปล่า หนาวสั่นแบบฟันกระทบกันเลยหรือไม่ และที่สำคัญมีอาการหนาวสั่น เป็น ๆ หาย ๆ เป็นพัก ๆ หลาย ๆ ครั้งหรือไม่ ถ้าเรามีอาการดังกล่าวแล้วนั้น โปรดระวังภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา เพื่อที่จะได้ให้หมอที่ดูแล ได้ตระหนักและทำการตรวจรักษาโรคเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
#รู้ทันหมอ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา