23 ม.ค. 2022 เวลา 05:00 • สุขภาพ
ทำไม เราต้อง “ลูบคลำสัมผัส” ร่างกายบริเวณที่เราเจ็บปวด
เหตุการณ์แรก เวลาคุณเดินในบ้านแล้วไม่ระมัดระวัง แล้วเข่าไปกระแทกขอบประตู คุณรู้สึกเจ็บปวดเข่ามาก ตอนนั้นคุณจะตอบสนองอย่างไร
เหตุการณ์สอง ลูกสาวตัวเล็กของคุณเดินเล่นในสวน เธอวิ่งเร็วมาก จนไปสะดุดก้อนหิน ล้มลงศอกกระแทกพื้น เธอร้องไห้เสียงดังลั่น คุณรีบวิ่งเข้าไปหาเธอ นอกจากการปลอบประโลมเธอแล้ว คุณทำอะไรกับลูกสาวตัวน้อยของคุณ
สำหรับสองเหตุการณ์นี้ เมื่อมีร่างกายไม่ว่าของเราหรือของลูกได้รับบาดเจ็บแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา ถ้าสังเกตดี ๆ เรามักจะต้องเอามือของเราไปลูบคลำสัมผัสร่างกายของตัวเราหรือของลูกบริเวณที่เจ็บปวดอยู่ โดยลูบ ๆ คลำ ๆ ด้วยความอ่อนโยน ไม่ใช่การขยำ ขยี้ หรือบีบ ไม่งั้นมันจะปวดยิ่งไปกว่าเดิม
ถามว่าเราลูบคลำสัมผัสไปทำไม ลองนึกดูดี ๆ นะครับ มันช่วยให้เราลดอาการเจ็บปวดหรือเปล่า มันช่วยให้เราอารมณ์ผ่อนคลาย ทำให้เราคลายความรู้สึกเจ็บปวดหรือเปล่า หรือเราทำไปตามสัญชาตญาณ ไม่รู้ทำไปทำไม วันนี้ผมมีคำตอบให้ครับว่า ทำไม เราต้องลูบคลำสัมผัสร่างกายบริเวณที่มีความรู้สึกเจ็บปวด
การลูบคลำ หรือสัมผัสบริเวณที่เราเจ็บปวดนั้น สามารถลดอาการเจ็บปวดได้ครับ(tactile induced analgesia)
คำอธิบายคืออะไร ผมขออธิบายพื้นฐานของประสาทสัมผัสของมนุษย์ ประสาทสัมผัสการรับรู้บริเวณผิวหนังของร่างกายนั้น มีการรับสัมผัสผ่านใยประสาทหลากหลายรูปแบบ เช่น ใยประสาทสัมผัสรับการกระตุ้นจากการสัมผัสบริเวณพื้นผิว (mechanoreceptors) ใยประสาทสัมผัสจากความรู้สึกเจ็บปวดและอุณหภูมิร้อนเย็น (nociceptors and thermoreceptors) นอกจากนี้ยังมีใยประสาทสัมผัสรับรู้ต่ำแหน่งของร่างกายอีกด้วย (proprioceptors) ดังนั้นเมื่อเราได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกหรือล้มดังเหตุกาณ์ตัวอย่าง ผิวหนังซึ่งได้รับการกระตุ้นความเจ็บปวดจะส่งสัญญาณไปยังใยประสาทสัมผัสจากความรู้สึกเจ็บปวดส่งไปยังไขสันหลังและส่งต่อไปยังสมองเพื่อรับรู้และแปลสัญญาณออกมาเป็นความรู้สึกเจ็บปวด
แล้วการสัมผัสด้วยการลูบคลำ ทำไมถึงลดอาการเจ็บปวดได้ นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาและมีทฤษฎีมาอธิบาย ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า Gate control theory of pain หรือเรียกว่าทฤษฎีประตูควบคุมประสาทสัมผัสจากความรู้สึกเจ็บปวด
ทฤษฎีนี้อธิบายว่า เมื่อมีการกระตุ้นของเส้นใยประสาทการรับสัมผัสพื้นผิว (คือการรับสัมผัสจากการลูบคลำสัมผัสนั้นเอง) สามารถยับยั้งการกระตุ้นใยประสาทสัมผัสความรู้สึกเจ็บปวดได้ โดยอธิบายว่าใยประสาททั้งสองนั้น ส่งสัญญาณไปยังบริเวณไขสันหลังในระดับเดียวกัน และมีเซลล์บริเวณดังกล่าวทำหน้าที่เหมือนเป็นประตูคอยเปิดและปิดสัญญาณประสาทความรู้สึกเจ็บปวด กล่าวคือ เมื่อมีการสัมผัสแบบรูปคลำผิวหนัง จะมีการนำสัญญาณการสัมผัสนี้ส่งไปยังเส้นใยประสาทรับรู้การสัมผัสพื้นผิว ส่งไปยังไขสันหลัง และจะทำการปิดกั้นประตูสัญญาณความเจ็บปวดไปด้วย ดังนั้นการส่งสัญญาณประสาทความรู้สึกเจ็บปวดจะเข้าประตูนี้ลดลงและส่งไปยังสมองซึ่งทำหน้าที่แปลความรู้สึกเจ็บปวดลงลงนั่นเอง
เวลาเรารู้สึกคันผิวหนังก็เช่นเดียวกันครับ การเกา การลูบสัมผัส หรือถูจุดที่คันสามารถลดอาการคันได้ ก็สามารถอธิบายจาก Gate control theory of pain (อาการคัน = อาการปวดน้อย ๆ)
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า นอกจาก Gate control theory of pain นี้ ยังมีคำอธิบายอื่น ๆ ที่อธิบายว่าการลูบคลำสัมผัสนั้นสามารถลดความรู้สึกเจ็บปวดได้ เช่น การลูบคลำสัมผัสสามารถปรับสัญญาณความเจ็บปวดจากบริเวณอื่นนอกไขสันหลังได้ ทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดลดลง การลูบคลำสัมผัสยังส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ ทำให้เราแปลความรู้สึกเจ็บปวดเปลี่ยนไป เรื่องอารมณ์และจิตใจนี่อาจจะอธิบายได้ว่า เมื่อเด็กน้อยเจ็บปวดบริเวณเข่า เราไปลูบหลัง ไปกอดบริเวณที่ไม่ใช่บริเวณที่เขาเจ็บ ก็สามารถลดอาการเจ็บปวดลงได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เราทำไปในชีวิตประจำวันนั้น มันมีคำอธิบายอยู่ เมื่อเราเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เราก็จะทำมันอย่างมีความหมายยิ่งขึ้น เมื่อเจอเหตุการณ์ดังสองเหตุการณ์ข้างต้น เมื่อเราหรือลูกเราเจ็บปวด เราก็จะไปลูบคลำสัมผัสด้วยความอ่อนโยน และให้กำลังใจด้วย เพื่อไปกระตุ้นใยประสาทสัมผัสที่รับการกระตุ้นจากการสัมผัสพื้นผิวทำงาน และไปปิดประตูใยประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด และด้วยความห่วงใยที่เรามีให้จากการสัมผัสดังกล่าว สมองก็จะมีการปรับรับสัญญาณความรู้สึกเจ็บปวดให้บรรเทาลงไปอีก
เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ทำให้มีความรู้สึกเจ็บปวดทางกาย ลองทำดูนะครับ มันช่วยลดอาการเจ็บปวดได้จริง ๆ ถ้าดีไปกว่านั้น ให้กำลังใจและความห่วงใยด้วยครับ ความเจ็บปวดจะลดลงได้อีกเป็นกอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา