28 ม.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
เวลาไปตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด จะดูค่าการทำงานไตเองได้อย่างไร
ปัจจุบันมีการตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน มีการส่งตรวจหลายอย่าง ทั้งเลือด ปัสสาวะ ฟิล์มเอ็กซเรย์ทรวงอก คลื่นไฟฟ้าหัวใจ บางที่อาจมีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องด้วย เมื่อตรวจเสร็จเราจะได้ผลการตรวจออกมาหลายอย่าง ปรินต์ออกมาเป็นกระดาษพร้อมอักษรภาษาอังกฤษ และตัวเลขมากมาย บางที่ดีหน่อยมีแปลไทยและแปลผลตรวจให้ด้วย
วันนี้ผมจะมาบอกเกี่ยวกับการดูผลเลือดค่าการทำงานไตด้วยตนเอง เผื่อมีโอกาสจะได้ดูเองและเข้าใจมัน โดยทั่วไปเมื่อตรวจเลือดเกี่ยวกับการทำงานของไต จะมีสารในเลือดที่เกี่ยวข้องได้แก่ BUN และ Creatinine
BUN อ่านว่า บียูเอ็น ไม่ใช่บันที่แปลว่าขนมปังนะครับ แต่มันคือตัวย่อที่มาจาก Blood Urea Nitrogen คือ ไนโตรเจนในสารประกอบยูเรีย หรือพูดง่าย ๆ คือ ยูเรีย นั่นเอง ยูเรียเป็นสารที่มีการสร้างในร่างกายโดยตับ ได้มาจากเมตาบอลิสมของโปรตีน (ส่วนใหญ่มาจากอาหารที่เรารับประทาน เช่น เนื้อสัตว์ หมู ไก่ ปลา เนื้อ กุ้ง ปลาหมึก ไข่ ถั่ว นม) สารตัวนี้มีการดูดซึมกลับและขับออกที่ไต ดังนั้นเวลาไตทำงานลดลง ค่า BUN จะสูงขึ้น
ส่วน Creatinine อ่านว่า ครีอะตินีน เป็นสารที่สร้างมาจากเมตาบอลิสมของกล้ามเนื้อลายในร่างกาย กล้ามเนื้อมีการสร้างและสลายอยู่ตลอดเวลา Creatinine นี้ จะถูกกรองออกมาที่ไต มีการขับออกมาทางไต เมื่อการทำงานไตลดลง ค่า Creatinine จะสูงขึ้น เหมือน BUN
ปกติ หมอ ๆ เค้าดูค่าอะไรที่จะบ่งบอกถึงค่าการทำงานไต เพราะค่า BUN และ Creatinine เปรียบเสมือนของเสียในร่างกาย เมื่อค่าการทำงานไตลดลง ค่าของเสียเหล่านี้ก็จะสูงขึ้น แต่มันไม่ได้บอกถึงค่าการทำงานไตโดยตรง
ปัจจุบันมีการตรวจหาค่าการทำงานไต โดยวัดจากค่าอัตราการกรองของสารชนิดหนึ่ง ๆ ที่ถูกกรองออกมาโดยตรง สารนั้นไม่มีการดูดซึมหรือหลั่งออกมาจากเซลล์ท่อไต สารชนิดนี้ อาจเป็นสารอินูลิน หรือสารกัมมันตรังสีชนิดต่าง ๆ ที่สามารถตรวจจากเลือดหรือจากปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการตรวจดังกล่าวมีความยุ่งยาก ราคาแพงและอยู่ในงานวิจัยเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้นำมาใช้ในการตรวจโรคตามปกติ
 
แล้วเราใช้ค่าอะไรในการบอกค่าการทำงานไต?
การบอกค่าการทำงานไตนั้น จะใช้สารที่เราสามารถตรวจได้สะดวกในเลือด และสารนั้นควรเป็นสารที่มีความคงที่ ณ เวลาหนึ่ง ๆ ถูกกำจัดโดยการกรองออกจากไต และมีการดูดซึมหรือหลั่งออกจากท่อไตเพียงเล็กน้อย สารที่มีคุณสมบัติที่พอจะเข้าได้สารลักษณะดังกล่าว คือ สาร Creatinine นั่นเอง ส่วน BUN นั้นมีมักมีค่าไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ขึ้นอยู่อาหารที่รับประทาน มีการดูดซึมที่ท่อไตในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับ Creatinine ดังนั้นเราจึงใช้ Creatinine ในการประมาณค่าของการทำงานไต
นักวิจัยได้นำค่า Creatinine มาประมาณค่าการทำงานไต โดยเทียบกับอัตราการกรองของไต ที่วัดจากวิธีมาตรฐาน (ที่ยุ่งยากและราคาแพงดังที่บอก) โดยสร้างเป็นสมการเพื่อประมาณค่าการทำงานไต เราเรียกค่านี้ว่า estimated Glomerular Filtration Rate หรือ eGFR หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า อัตราการกรองไตซึ่งเป็นค่าที่ประมาณการจากสมการ สมการเหล่านี้มีการพัฒนามาโดยตลอด ถ้าดูในใบตรวจเลือดอาจเห็นค่า eGFR รายงานตามสูตรของสมการ เช่น eGFR CKD-EPI, eGFR MDRD หรือ eGFR Thai GFR เป็นต้น สำหรับคนไทยเราสามารถเลือกดูในสมการ eGFR Thai GFR ได้ เนื่องจากพัฒนาเพื่อบอกค่าประมาณการทำงานไตของคนไทยโดยเฉพาะ แต่ถ้าไม่มีค่านี้ สามารถเลือกดูค่าในสมการอื่นแทนก็ได้ครับ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะรายงานเป็น eGFR CKD-EPI
ดังนั้น นอกจากการดูค่า Creatinine ในเลือด ซึ่งบ่งถึงการมีของเสียนี้มากขึ้นกว่าปกติหรือเปล่า โดยทั่วไปค่า Creatinine ในเลือดมีค่าประมาณ 0.7-1.1 mg/dL แต่ถ้าจะดูค่าการทำงานไต ให้ดูค่าอัตราการกรองไต หรือ eGFR โดยมีหน่วยคือ ml/min/1.73m2 ค่าปกติคือ มากกว่า 60 ml/min/1.73m2 ถ้าค่าต่ำกว่า 60 ให้สงสัยว่าอาจมีโรคไตเรื้อรังอยู่ ต้องตรวจเพิ่มเติมต่อไป ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคไตเรื้อรังแม้ว่าค่า eGFR จะมากกว่า 60 ได้เช่นกัน เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมใน post หน้า ๆ เรื่องโรคไตเรื้อรัง (CKD: Chronic Kidney Disease)
สำหรับค่า Creatinine ในเลือดอาจมีค่าสูงกว่าปกติได้ในคนที่มีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ โดยที่ค่าการทำงานไตอยู่ในเกณฑ์ปกติ (สามารถอ่านบทความเพื่มเติม: https://www.blockdit.com/posts/61dd62157b9cea1d8c007292)
1
เมื่อได้อ่านบทความนี้จบแล้ว ลองไปสำรวจดูนะครับว่าค่าการทำงานไตเราปกติหรือเปล่า ถ้าผิดปกติ อย่าลืมไปหาหมอนะครับ หรือแม้ว่าค่าการทำงานไตปกติ แต่มีอาการที่สงสัยโรคไต เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด ตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางคืนบ่อย ๆ กลั้นปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่ง ขาบวม หรือมีโรคที่มีความเสียงต่อโรคไต ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ควรไปรับการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ นอกจากตรวจเลือดนะครับ ถ้ามีโรคไตระยะเริ่มต้นที่มีค่าการทำงานไตยังปกติ การรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มสามารถลดโอกาสเกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายและลดโอกาสการฟอกไตได้นะครับ
เแหล่งอ้างอิง: https://www.kidney.org/atoz/content/gfr

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา