4 ก.พ. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
ภาวะน้ำเป็นพิษคืออะไร แล้วเราสามารถดื่มน้ำเปล่าได้มากเท่าไรจึงจะไม่เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ
เคยได้ยินข่าวนักเรียนเตรียมทหารถูกซ่อมจนเสียชีวิต ด้วยการกินน้ำ 40 ลิตรไหมครับ การกินน้ำมากขนาดนี้ ทำไมคนไข้ถึงเสียชีวิต แล้วคน ๆ นึงกินน้ำได้มากสุดเท่าไรต่อวัน
วันนี้จะมาตอบคำถามเหล่านี้กันครับ
ที่มา: https://hilight.kapook.com/view/164291
ภาวะปกติ ร่างกายจะมีกลไกรักษาภาวะสมดุลน้ำ ถ้าได้น้ำมากเกินไป ไตจะขับน้ำส่วนเกิน และทำให้ร่างกายเกิดภาวะสมดุล
กลไกการรักษาสมดุลน้ำ เกิดจากการที่ไตทำงานอย่างปกติ สามารถเจือจางปัสสาวะได้ ทำให้น้ำปัสสาวะมีองค์ประกอบของน้ำให้มากที่สุด เพื่อจะขับน้ำส่วนเกินออก
การดื่มน้ำที่มากจนเกินความสามารถของไตในการขับน้ำออกหรือความสามารถในการเจือจางปัสสาวะ จะทำให้มีน้ำส่วนเกินในหลอดเลือด ทำให้เลือดมีความเจือจาง ส่วนหนึ่งจะทำให้ระดับโซเดียมซึ่งเป็นเกลือแร่หลักในเลือดมีความเข้มข้นลดลง การที่เลือดมีความเจือจาง มีสารน้ำอยู่ในสัดส่วนที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันเซลล์สมองยังคงมีระดับความเข้มข้นของสารเท่า ๆเดิม ไม่ได้เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับในเลือด ดังนั้นด้วยหลักการออสโมซิส (osmosis) น้ำจะเคลื่อนที่จากตำแหน่งที่น้ำมากไปยังบริเวณที่มีน้ำน้อย (หรือบริเวณเข้มข้นน้อยไปสู่บริเวณเข้มข้นมาก)
น้ำจากหลอดเลือดจะเคลื่อนที่เข้าไปสู่เซลล์สมองส่งผลให้สมองบวมน้ำ เมื่อสมองบวมมากเข้า จะกดก้านสมองซึ่งเป็นส่วนสำคัญ เป็นศูนย์การหายใจ ดังนั้นเมื่อสมองบวมและกดก้านสมองจะทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ เมื่อสมองบวมจะทำให้เกิดอาการชัก มีอาการซึม ปลุกไม่ตื่น
เราเรียกกลุ่มอาการที่เกิดจากการกินหรือได้รับน้ำในปริมาณมากเกินความสามารถที่ไตจะขับน้ำออกได้ทัน จะทำให้เกิด ”ภาวะน้ำเป็นพิษ” (water intoxication)
แล้วคนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ กินน้ำได้มากสุดเท่าไร ที่จะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ
ภาวะปกติ ถ้าเรารับประทานน้ำปริมาณมาก ๆ ไตจะทำงานโดยทำให้ปัสสาวะเจือจางมากที่สุด โดยไตสามารถทำให้ปัสสาวะเจือจาง โดยมีความเข้มข้นของปัสสาวะต่ำสุดราว 50 มิลลิออสโมลต่อลิตร (mOsm/kg H2O)
และโดยปกติคนทั่วไปจะกินอาหาร มีสสาร ทั้งเกลือแร่ กรดอะมิโน น้ำตาล และสารต่าง ๆ ราว 900 มิลลิออสโมลต่อวัน
ดังนั้น ถ้าเทียบว่าปัสสาวะที่เจือจางที่สุดมีสสาร 50 มิลลิออสโมล จะมีปริมาตรน้ำปัสสาวะมากสุดคือ 1 ลิตร ถ้าคนปกติกินอาหารที่มีสสาร 900 มิลลิออสโมล ซึ่งในภาวะสมดุลสสารเหล่านั้นที่กินไป จะขับมาทางปัสสาวะ 900 มิลลิออสโมลเช่นกัน เมื่อเทียบแล้วจะสามารถขับน้ำปัสสาวะที่เจือจางที่สุด ออกมาได้มากสุด เท่ากับ 900 หารด้วย 50 ได้เท่ากับ 18 ลิตรต่อวันนั่นเอง
ดังนั้น คนปกติแบบเรา ๆ ที่ไตทำงานปกติ รับประทานอาหารปกติ (มีสสารรวม ๆ 900 มิลลิออสโมลต่อวัน) จะสามารถขับน้ำปัสสาวะที่เจือจางสุด ๆ ได้มากถึง 18 ลิตรต่อวัน (ไตสามารถขับน้ำปัสสาวะด้วยอัตราเร็วประมาณ 800 ซีซี ถึง 1 ลิตรต่อชั่วโมง)
ถ้ารับประทานน้ำมากกว่า 18 ลิตรต่อวัน จะทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เหมือนในข่าวการซ่อมนักเรียนเตรียมทหาร ที่กินน้ำไปถึง 40 ลิตร!!! ในระยะเวลาสั้น ๆ ย่อมทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษข้างต้น เกิดภาวะสมองบวม ซึม ชัก หยุดหายใจ และเสียชีวิตลงในที่สุด
นอกจากนี้ในผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารน้อยลง หรือผู้ที่มีปัญหาโรคไต ไตจะสามารถขับน้ำส่วนเกินได้น้อยกว่าปกติ ทำให้คนกลุ่มนี้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้ง่าย แม้จะกินน้ำปริมาณไม่มาก (ถ้ากินอาหารน้อย มีสสารรวมกัน ได้ 100 มิลลิออสโมลต่อวัน ถ้าไตขับน้ำปัสสาวะเจือจางที่สุดได้ 50 มิลลิออสโมลต่อลิตร ไตจะขับน้ำได้มากสุดเพียง 100/50 เท่ากับ 2 ลิตรต่อวันเท่านั้น ถ้ากินน้ำเกิน 2 ลิตรต่อวัน จะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ)
จะเห็นว่า แม้ว่าน้ำจะมีประโยชน์มากมาย แต่ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ กินมากเกินไปโดยไม่ระวัง อาจนำมาซึ่งหายนะได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537231/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา