16 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กแห่งอินเดีย
2
ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นผู้หญิงในอินเดียก้าวขึ้นมามีบทบาทอยู่แถวหน้าของการเมือง แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้รับการขนานนานว่าเป็น “สตรีเหล็กแห่งอินเดีย” ผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย
2
เธอครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 3 สมัย ในระหว่างทศวรรษ 1960 ถึง ทศวรรษ 1980 และยังเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงเพียงคนเดียวของอินเดียตราบจนปัจจุบันนี้
เธอคนนั้นคือ คุณอินทิรา คานธี ที่มีชีวิตโลดแล่นในวงการการเมืองอินเดียมาอย่างยาวนาน เรื่องราวนโยบายทางเศรษฐกิจของอินเดียในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งเป็นอย่างไร วันนี้ Bnomics จะมาเล่าให้ฟังโดยเน้นไปที่ช่วงสมัยแรกๆ ของเธอ ซึ่งตรงกับช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970
📌 ก้าวแรกของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทศวรรษ 1960
ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขออธิบายเพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสนก่อนว่า คุณอินทิรา คานธี คนนี้ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับมหาตมะ คานธี นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชของอินเดียแต่อย่างใด เธอเป็นบุตรสาวของคุณชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย
1
คุณอินทิรา คานธี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในปี 1966 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอินเดียกำลังเผชิญปัญหาอยู่พอดี เธอจึงต้องมารับช่วงต่อปัญหาทางการคลังอันเนื่องมาจากสงครามปากีสถานในปี 1965 ประกอบกับภัยแล้งที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตขาดแคลนอาหารอีก จึงเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอินเดียติดหล่มเศรษฐกิจถดถอยที่สุดนับตั้งแต่ประกาศเอกราชมา
ในตอนแรกเหล่าสมาชิกสภาก็ต่างมองว่าเธอน่าจะอ่อนแอและสามารถใช้เป็นหุ่นเชิดได้ง่ายๆ อาจเนื่องมาจากเธอเป็นผู้หญิง แต่จากการตัดสินใจออกนโยบาย และภาวะผู้นำที่เธอได้แสดงให้ทุกคนเห็น ก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสายต่อทุกคนว่าเธอเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมและทรงอิทธิพลเป็นอย่างมากในประวัติศาสตร์การเมืองอินเดีย
📌 การปฏิบัติเกษตรกรรม (The green revolution) คือภารกิจสำคัญลำดับแรกๆ
เนื่องจากอินเดียหลังจากประกาศเอกราชในปี 1947 ยังคงเป็นเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม ซึ่งโดยมากก็จะเป็นเกษตรกรจากชนบทที่ยังไม่ได้นำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ในการเพาะปลูก ผู้นำในยุคนั้นจึงมุ่งเน้นนโยบายเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตทางอาหารเพื่อต่อสู้กับความหิวโหยของคนจำนวนมากในประเทศที่ยังเผชิญกับยากจน จนเกิดเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี
1
เป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตได้ถูกวางรากฐานมาตั้งแต่สมัยคุณชวาหะร์ลาล เนห์รู บิดาของคุณอินทิรา คานธี ในสมัยนั้นคุณเนห์รู เน้นไปที่การวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเกษตรกรรมในยุคใหม่ และต่อมานโยบายการปฏิวัติเกษตรกรรม ถึงได้ถูกชูขึ้นมาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 4
ในสมัยของคุณอินทิรา คานธี เพื่อหวังให้ภาคการเกษตรกรรมของอินเดียมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ถูกผลักดันขึ้นมาจากนักการเมือง, นักวิทยาศาสตร์, และที่สำคัญคือคุณจิดัมบารัม สุบรามาเนียม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของอินเดียในช่วงกลางทศวรรษ 1960 กับคุณ Norman Borlaug นักวิทยาศาสตร์พันธุ์พืชที่ได้รับรางวัลโนเบล
1
แนวคิดเบื้องหลังของการปฏิวัติเกษตรกรรมนั้นตรงไปตรงมาเลยคือ แนวคิดที่จะเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรกรรมจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การใช้เทคโนโลยีในการเกษตร
กลยุทธ์การทำเกษตรกรรมแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า High Yielding Varieties Programme (HYVP) จึงถูกนำมาผนึกกับการปฏิวัติเกษตรกรรมในยุคนั้น โดยรัฐให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ลูกผสม (Hybrid seeds) พวกข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าวฟ่างสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีความทนทานและให้ผลผลิตสูง มีการใช้ปุ๋ยเคมี, ยาฆ่าแมลง, สารกำจัดวัชพืช ติดตั้งระบบชลประทาน ตลอดจนภาครัฐช่วยให้ชาวนาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ความรู้ และรับการฝึกฝนเทคโนโลยีใหม่ๆ
1
รัฐบาลของคุณอินทิรา คานธี ได้เพิ่มการลงทุนไปในภาคเกษตรกรรมเป็นเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 1968 ถึง 1973 ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ จึงทำให้อินเดียสามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตอาหารได้ มีผลผลิตอาหารจำพวกธัญพืช โดยเฉพาะข้าวสาลี เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด การผลิตอาหารโดยรวมของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การนำเข้าอาหารสุทธิของอินเดียจึงลดลงมาจากปีละ 10.3 ล้านตัน ในปี 1966 เหลือเพียง 3.6 ล้านตัน ในปี 1970 และกลายมาเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืชของโลกได้ในที่สุด
3
📌 ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงธนาคาร ผ่านการโอนธนาคารไปเป็นของรัฐ (Nationalization of Banks)
1
ในช่วงเวลาที่เธอเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียติดลบและเผชิญกับเงินเฟ้อถึง 2 หลัก ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจที่จะออกนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น อย่างแรกที่เธอทำก่อนนั่นคือ การโอนธนาคารไปเป็นของรัฐ
เหตุผลเบื้องหลังของนโยบายนี้ก็เพื่อช่วยให้คนอินเดียและเกษตรกรที่ยากจนสามารถเข้าถึงระบบธนาคารที่ทันสมัยได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วธนาคารของอินเดียไม่ค่อยจะยอมปล่อยเงินกู้ให้กับภาคเกษตรกรรม เนื่องจากธนาคารเอกชนดำเนินการโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายใหญ่ กรรมการของธนาคารชั้นนำก็ยังดำรงตำแหน่งกรรมการในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายแห่ง จึงนำไปสู่ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
1
ภายใต้กฎหมายการธนาคารปี 1968 จึงกำหนดให้ธนาคารต้องเปลี่ยนแปลงกรรมการและห้ามให้เงินกู้แก่กรรมการหรือแก่บริษัทของตนเอง โดยมี National Credit Council ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลให้ระบบธนาคารสอดคล้องไปกับแผนและเป้าหมายการพัฒนาของภาครัฐ
ในเดือนกรกฎาคม ปี 1969 ธนาคารหลักทั้ง 14 แห่ง ซึ่งมีเงินฝากรวมกันคิดเป็น 85% ของเงินฝากทั่วประเทศในขณะนั้น จึงถูกโอนมาเป็นของรัฐ โดยคุณอินทิรา คานธี ออกมาประกาศว่าว่าเป้าหมายหลักที่ทำนั้นก็เพื่อเพิ่มแหล่งเงินกู้ให้กับภาคเกษตรกรรม, อุตสาหกรรมขนาดเล็ก และภาคการส่งออก
ผลจากนโยบายนั้น ทำให้ธนาคารขยายสาขาในชนบท และเงินกู้สำหรับภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นจริงๆ อย่างไรก็ตาม กลับพบปัญหาว่าธนาคารของรัฐนี้ไปส่งเสริมระบบทุนนิยมแบบพวกพ้อง โดยปล่อยสินเชื่อทั้งที่ยังไม่ประเมินผลกำไรของธุรกิจที่มาขอสินเชื่อ แต่กลับปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทพวกพ้องของตน หรือตามที่นักการเมืองผู้มีอำนาจสั่งมา จึงทำให้ธนาคารของรัฐเต็มไปด้วยปัญหาหนี้เสียที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงทุกวันนี้
📌 นโยบายขจัดความยากจน 20 อย่าง (20 Point Programme)
1
นอกจาก 2 นโยบายที่ช่วยเหลือคนยากจนและเกษตรกรในชนบทดังที่กล่าวไป้างต้นแล้ว เธอยังได้ออกนโยบายขจัดความยากจนขึ้นมา ซึ่งถูกประกาศผ่านทางวิทยุครั้งแรกในช่วงปี 1975 นโยบายนี้ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้นำแนวสังคมนิยมของเธอเป็นอย่างยิ่ง โดยแนวทางการขจัดความยากจนทั้ง 20 อย่างนั้นประกอบไปด้วย
1
1. ลดราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เพิ่มความคล่องตัวของการจัดซื้อจัดจำหน่ายสินค้าที่จำเป็น และเข้มงวดกับรายจ่ายของรัฐบาล
2. บังคับใช้ระบบเพดานสำหรับการถือครองที่ดิน โดยจะจัดสรรที่ดินที่เกิดจากเพดานที่กำหนดไปให้แก่คนยากจนในชนบท
3. เข้าไปช่วยจัดหาบ้านสำหรับคนที่ไม่มีที่ดินและกลุ่มเปราะบาง
4. ห้ามไม่ให้มีทาสใช้แรงงานเป็นประกัน
5. ช่วยชำระหนี้ในชนบท
6. ทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำภาคเกษตรกรรมและพิจารณาเพิ่มค่าจ้าง
7. มีน้ำสำหรับระบบชลประทานมากขึ้น
8. เร่งพัฒนาพลังงาน
9. พัฒนาอุตสาหกรรมทอผ้า
10. ปรับปรุงคุณภาพเสื้อผ้าและการจัดหาเสื้อผ้าให้ประชาชน
11. การกำหนดเพดานการถือครองที่ดินว่างเปล่าในเมือง
12. ป้องกันการหนีภาษี
13. ออกกฎหมายพิเศษสำหรับการริบทรัพย์สินของผู้ลักลอบนำเข้าสินค้า
14. เปิดเสรีการลงทุน
15. นโยบายใหม่ๆ สำหรับสมาคมแรงงานในอุตสาหกรรม
16. ถนนเพื่อการคมนาคมที่ดีขึ้น
17. การลดหย่อนภาษีเงินได้
18. สินค้าราคาถูกสำหรับนักเรียน
19. ควบคุมราคาหนังสือและเครื่องเขียน
20. รูปแบบการฝึกงานแบบใหม่เพื่อขยายการจ้างงานและการฝึกอบรม
นโยบายขจัดความยากจนของเธอได้ถูกปรับปรุงอยู่หลายหน จนกระทั่งในสมัยของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย คุณนเรนทรา โมดี ก็ได้นำแผนนี้ขึ้นมาพูดอีกครั้ง โดยปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
คุณอินทิรา คานธี จึงถูกจดจำในความแข็งแกร่งของนโยบายของเธอที่ต่อสู้เพื่อคนยากจนและเกษตรกรในชนบท เธอเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียเป็นแบบทุกวันนี้ และชื่อของเธอจะยังคงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของอินเดียต่อไป อย่างที่ยังไม่มีผู้หญิงคนไหนในอินเดียทำได้เช่นเธอ
3
I do not care whether I live or die. I have lived a long life and I am proud that I spend the whole of my life in the service of my people. I am only proud of this and nothing else. I shall continue to serve until my last breath and when I die, I can say, that every drop of my blood will invigorate India and strengthen it.
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
ttps://www.bloombergquint.com/opinion/why-indira-gandhi-nationalised-indian-banks
โฆษณา