Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE EQUATION
•
ติดตาม
22 ม.ค. 2022 เวลา 09:56 • ธุรกิจ
วัยเด็กของพวกเรากับ “การเงิน”
เชื่อหรือไม่ว่าพวกเราเรียนรู้เรื่อง “การเงิน” กันมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
ยังจำกันได้ไหมว่าจะซื้อขนมได้ก็ต้องมีค่าขนมจากคุณพ่อคุณแม่ หลังเลิกเรียนก็พากันไปต่อแถวซื้อลูกชิ้นปิ้ง 10 บาท 20 บาท เล่นเกมตอนเย็นๆ เพียงแต่ตอนนั้นก็ไม่เคยสนใจว่าทำไมต้องใช้เหรียญไปแลกขนม แลกเกมเล่น รู้แต่ว่าถ้าไม่มีเอาไปแลกก็ไม่ได้กินขนม ไม่ได้เล่นเกม
โตขึ้นมาเรียนพิเศษก็เริ่มสงสัยว่าทำไมไม่ได้ไปเรียนพิเศษที่เดียวกับเพื่อนๆ ถามคุณพ่อคุณแม่ก็บอกว่าเรียนที่นี่แหละใกล้บ้าน เดินทางสะดวกและค่าเรียนไม่แพงเกิน ก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แพงคืออะไร? รู้แต่ว่าที่นี่แหละดีแล้ว
เสาร์อาทิตย์ก็อยากแต่งตัว ก็บอกคุณพ่อคุณแม่ว่าอยากได้เสื้อผ้าสวยๆ เหมือนเพื่อนๆ อยากได้ของเล่นเหมือนเพื่อนๆ คุณพ่อคุณแม่ก็เอามาให้บ้างไม่ให้บ้าง ประหยัดคืออะไร? ก็ไม่รู้ว่าทำไมได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ต้องมีวิธีการได้มากันไปต่างๆ นาๆ
ดูเหมือนพวกเราไม่ได้รับรู้กลไกการทำงานของเงินมากนักในวัยเด็กแม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่กับเงินมาตลอด จนเมื่อเริ่มทำงานและต้องจัดหาสิ่งของและบริการด้วยตัวเองจากเงินที่ได้รับในการทำงาน ถ้าทำงานรายได้สูงก็อาจจะยังไม่ได้ใส่ใจเรื่องค่าใช้จ่ายแต่ละวันมากนัก เพราะก็มีพอใช้จ่ายไปเรื่อยๆ ถ้าทำงานรายได้ปานกลางหน่อยก็จะเริ่มฉุกคิดว่าบางวันมีเงินไม่พอกับสิ่งของที่อยากได้และต้องสะสมเงินอยู่เป็นเดือนเพื่อให้ได้มา
จะดีมั้ย ถ้าเราย้อนคิดเรื่องราว “การเงิน” ที่เราเรียนรู้ในวัยเด็ก เพื่อสะท้อนอะไรบางอย่างในการจัดการ “การเงิน” ในวันนี้ของเรา?
วันเวลาผ่านไปคนกลุ่มหนึ่งก็เริ่มได้รับการติดต่อจากธนาคารเพื่อเสนอบัตรเครดิตพร้อมวงเงินเครดิตไว้ใช้จ่าย ผู้คนก็ดีใจว่าไม่ต้องรอสะสมเงินเพื่อซื้อสินค้าที่อยากได้แล้ว อยากได้ก็ซื้อก่อนจ่ายทีหลังด้วยบัตรเครดิต ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยช่วงแรกด้วยจนกว่าจะถึงกำหนดวันชำระเงิน
วันเวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ ก็ซื้อสินค้าและบริการไปเรื่อยๆ จนยอดใช้จ่ายในเดือนสูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับ ทำอย่างไรดีล่ะ?
คนกลุ่มหนึ่งจึงไม่สามารถชำระเต็มจำนวนเมื่อถึงวันครบกำหนดชำระได้ ต้องยอมเสียดอกเบี้ยและเริ่มต้นชีวิตการเป็นหนี้ วนไปทุกเดือนชำระยอดขั้นต่ำไปเรื่อยๆ จนบางครั้งลืมคิดไปว่ายอดดอกเบี้ยที่ชำระในแต่ละเดือนคือเกือบครึ่งของยอดเงินที่จ่ายไป
ยิ่งมีข้อเสนอผ่อนชำระดอกเบี้ย 0% จากร้านค้าด้วยแล้ว สินค้าและบริการหลายอย่างที่เคยดูเกินเอื้อมเพราะแพงกว่าเงินเดือนทั้งเดือนก็ดูจะแค่เอื้อมซื้อหาได้แล้ว มัวแต่ดีใจจนลืมไปว่ามันก็คือการนำเงินรายได้ในอนาคตมาใช้จ่ายก่อนนั่นเอง หากขาดรายได้ในอนาคตก็จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เกิดความเสียหายตามมาเรื่องประวัติการชำระเงิน (credit bureau) และอาจไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารได้ จนต้องหันไปกู้เงินนอกระบบซึ่งเพิ่มภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างมาก จนบางครั้งไม่รู้ว่าจะชำระคืนหนี้ที่มีได้อย่างไร และนั่นคือหนึ่งในเรื่องราวทางการเงินที่พวกเราหลายคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต มากบ้างน้อยบ้าง
คำถามคือแล้วพวกเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่ากำลังใช้เงินรายได้ในอนาคตอยู่หรือเปล่า และใช้มากน้อยแค่ไหน?
อยากแนะนำให้ลองเอายอดค่าใช้จ่ายของสินค้าและบริการที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนมาเขียนไว้ ทุกอย่างที่จ่ายไปทั้งส่วนที่ให้ตัวเองและครอบครัว บวกกับยอดหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือน ผลรวมเรียกว่าภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนของพวกเรา ถ้าผลรวมนี้มีจำนวนสูงกว่ารายได้ต่อเดือนที่พวกเราหามาได้หมายความว่าพวกเรากำลังใช้จ่ายจากเงินรายได้อนาคตกันอยู่ ผลต่างเท่าไหร่ก็คือจำนวนเงินรายได้อนาคตที่เราเอามาใช้ในแต่ละเดือน และระยะเวลาที่ต้องผ่อนชำระหนี้ก็คือระยะเวลาของเงินรายได้อนาคตที่เราเอามาใช้ก่อน
ถ้าอยากรู้ว่ามูลค่าเงินรายได้อนาคตที่เราเอามาใช้ทั้งหมดคือเท่าไหร่ ก็เอาจำนวนเงินรายได้อนาคตที่เอามาใช้ต่อเดือน คูณกับระยะเวลาที่ต้องผ่อนชำระหนี้ได้เลย นั่นล่ะคือสิ่งที่เราเอามาแลกกับสิ่งของและบริการที่เราต้องการในปัจจุบัน บนต้นทุนที่เรียกว่าดอกเบี้ย บวกกับความเสี่ยงที่จะชำระหนี้คืนไม่ได้เพิ่มเข้ามาอีก
เชื่อว่าพวกเราที่อ่านมาถึงจุดนี้จะเริ่มเห็นภาพของ “การเงิน” ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราตั้งแต่เล็ก “เงิน” เป็นสื่อกลางในการกำหนดมูลค่าของสินค้าและบริการ พวกเราใช้เงินในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และแน่นอนที่สุดใช้ในการกำหนดผลตอบแทนที่ได้รับจากการทำงาน ลองนึกดูว่าพวกเรากำหนดเกือบทุกอย่างในชีวิตในรูปมูลค่าตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่ต้องการจากการทำงาน ราคาขายสินค้าที่ต้องการขาย ต้นทุนสินค้าและบริการที่ต้องการซื้อ
รูปแบบของ “เงิน” เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาตั้งแต่อดีตหลังยุคสิ่งของแลกสิ่งของ (barter system) วันนี้ถามเด็กๆ ก็อาจจะบอกว่าเงินก็คือเหรียญดิจิทัล ที่ใช้เล่นในเกมและแลกเปลี่ยนกันในสังคมนั้นๆ หรือพวกเราหลายคนอาจจะบอกว่าเงินก็คือโทรศัพท์ mobile banking หรือ เป๋าตัง ที่เราใช้ในการซื้อขายสินค้าและบริการ ไม่ว่ารูปแบบของเงินจะมีหน้าตาอย่างไร “เงิน” ก็ยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการกำหนดมูลค่าและใช้ในการแลกเปลี่ยนในสังคมนั่นเอง
แน่นอนว่า “การเงิน” มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกเราโตขึ้น เมื่อเรามีความต้องการมากขึ้นและต้องหารายได้มากขึ้นเพื่อใช้จ่ายแลกกับสิ่งที่เราต้องการ และก็เป็นวัฏจักรที่เมื่อเรามีครอบครัวก็เริ่มดูแลเด็กๆ ซื้อบ้านซื้อรถ ดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่ชราและไม่มีรายได้แล้ว
ความสามารถในการหารายได้ดูเหมือนจะเป็นเครื่องจักรหลักในการดำรงชีวิตของพวกเราใช่หรือไม่? หากเราใช้ความสามารถและเวลาทั้งหมดในการแสวงหารายได้สูงสุดจะถือว่าเป็นวิถีของการมีการเงินที่ดีและมั่นคงหรือไม่?
อยากฝากให้พวกเราลองคิดกันดูว่าถ้าใช่ตามนั้นแล้ว จำนวนเงินรายได้ที่พวกเราต้องแสวงหามันคือเท่าไหร่กันนะ น่าคิดใช่ไหมล่ะ แล้วมาติดตามตอนต่อไปกันนะคะ
การเงิน
1 บันทึก
4
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ทักษะ “ธุรกิจ” และ “การเงิน”
1
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย