23 ม.ค. 2022 เวลา 14:59 • ธุรกิจ
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเลือกที่จะไม่ใช้เงินอนาคตตอนนี้? ไม่ใช้ก่อนผ่อนทีหลัง
พวกเราส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการเป็นหนี้หรือความร่ำรวยบนกองหนี้ บางคนกลัวการเป็นหนี้ บางคนจำเป็นต้องเป็นหนี้ และบางคนการเป็นหนี้คือกุญแจสู่ชีวิตที่ร่ำรวย
พวกเราส่วนใหญ่กำลังใช้เงินรายได้อนาคตอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง
จากคำถามชวนกันคิดเมื่อตอนที่แล้ว…
“ความสามารถในการหารายได้ดูเหมือนจะเป็นเครื่องจักรหลักในการดำรงชีวิตของพวกเราใช่หรือไม่? หากเราใช้ความสามารถและเวลาทั้งหมดในการแสวงหารายได้สูงสุดจะถือว่าเป็นวิถีของการมีการเงินที่ดีและมั่นคงหรือไม่?”
แน่นอนว่าพวกเรามีความฝันความหวังในรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต่างๆ กันไป นิยามความสำเร็จที่บ้างก็ถูกกำหนดโดยตัวเรา ครอบครัว หรือสังคม
มีคนกล่าวไว้ว่า “ฝันให้ไกลไปให้ถึง” เพื่อให้มีพละกำลังบนเส้นทางแห่งความฝันความหวัง ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะที่พวกเราเริ่มเดินทางบนเส้นทางนี้ แล้วมันคือเส้นทางเดิมที่เดินทางกันมาตลอดหรือเปล่านะ?
คุ้นๆ ไหมคะว่าวันนั้นที่โรงเรียนอนุบาลมีการสอบเลื่อนชั้นก็จัดลำดับคะแนน แม้กระทั่งเล่นกีฬาเล่นเกมก็มีการจัดลำดับคะแนน สอบเข้าโรงเรียนก็มีการจัดลำดับคะแนน สัมภาษณ์เข้าทำงานก็มีการจัดลำดับคะแนน ประกวดความงามก็ยังจัดลำดับคะแนนเลย
พวกเราวนเวียนในโลกของคะแนน โลกของตัวเลขกันมาตั้งแต่เด็กๆ เกือบทุกอย่างในชีวิตถูกกำหนดเป็นตัวเลขและมีการจัดสรร ใครมีคะแนนมากกว่า มีเงินมากกว่า ก็มักจะได้รับการจัดสรรก่อน
ผลลัพธ์จากการจัดสรรทำให้เราได้รับโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า นั่นหมายถึงรายได้ที่ดีกว่า และเงินที่มากพอจะใช้จ่ายตามที่ฝันไว้ แล้วพวกเราส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะฝันต่อให้ไกลมากขึ้น วนไปอย่างนั้น
มีคนกล่าวไว้อีกนั่นแหละว่า “หากคุณหยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับคุณถอยหลัง” หรือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” เกิดเป็นแรงผลักดันในสังคมปัจจุบันให้ผู้คนต้องสร้าง “เครื่องจักรในการหารายได้ในการดำรงชีวิต” รอบแล้ว รอบเล่า ที่พวกเราใช้งานเครื่องจักรนี้กันโชกโชนทุกวิถีทางที่ทำได้
ตอนนี้หลายคนอาจจะมีคำถามในใจกันว่า แล้วเราจะใช้ชีวิตตามฝันได้อย่างไร โดยไม่ให้เครื่องจักรพังไปซะก่อน? และหลายคนก็อาจจะเลือกที่จะเป็นหนี้เพื่อสร้างฝันให้เร็ว บนต้นทุนที่เรียกว่าดอกเบี้ย บวกกับความเสี่ยงที่อาจชำระคืนหนี้ไม่ได้เพิ่มเข้าไปอีก อย่างที่เราคุยกันในตอนที่แล้ว
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก… พวกเราทำยังไงนะตอนที่สอบเข้าโรงเรียนในฝันไม่ได้ หรือตอนที่ไม่ได้กินขนมเพราะขนมหมดก่อนถึงคิวเรา หรือตอนที่เงินไม่พอจะเล่นเกม
แน่นอนว่าชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปบนเส้นทางเดิมที่เลี้ยวไปมา อยากให้มันไปตรงๆ เร็วๆ มันก็ไม่ได้อย่างใจ ความฝันมันก็ยังอยู่ของมันอย่างนั้นแหละ เราก็ขีดเขียนเส้นทางเดินแต่ละวันกันไปเรื่อยๆ
แล้วอะไรล่ะที่เราจะทำได้ในความไม่แน่นอนของชีวิตและปัจจัยต่างๆ รอบตัว?
“เครื่องจักรในการหารายได้ในการดำรงชีวิต” ของเราไงล่ะ ที่เราบริหารจัดการได้ จะให้เดินเครื่องอย่างไร กี่ชั่วโมงต่อวัน กี่วันต่อสัปดาห์ จะผลิตรายได้เท่าไหร่แต่ละวันแต่ละเดือน และนั่นคือการทำงานให้ได้เงิน เรียกว่า “เงินที่ได้รับจากการทำงาน” และการให้เงินทำงาน เรียกว่า “เงินที่ได้รับจากการบริหารเงิน”
แล้วมันต่างกันอย่างไรล่ะ?
การทำงานเพื่อให้ได้เงิน บางคนก็ทำตั้งแต่เด็กๆ แล้ว บางคนทำงานเล็กๆ น้อยๆ ในร้านเกม ร้านอาหาร ที่บ้านหรือโรงเรียน เพื่อให้ได้เงินมาซื้อขนมมาเล่นเกม ซื้อของที่อยากได้ เงินส่วนนี้พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เงินส่วนนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่มีความเสี่ยง อย่างที่เป็นอยู่ในภาวะโควิด เศรษฐกิจไม่ดี งานหายาก งานรายได้ดีก็หายาก และงานที่ทำอยู่ก็ไม่แน่นอนเหมือนเมื่อก่อน
อยากแนะนำพวกเราว่าช่วงแรกๆ ของชีวิตในวัยทำงาน หัวใจคือ การอดออมและบริหารเงิน การสร้างฝันให้เป็นจริงเร็วเกินไปด้วยการเป็นหนี้เร็วเกินไป มากเกินไป ใช้ก่อนผ่อนทีหลัง จะอันตรายมากๆ
เพราะเมื่ออนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน แล้วรายได้จากอนาคตในการทำงานจะแน่นอนได้อย่างไร?
ถ้าเราสร้างฝันวันละนิด เราก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน ไม่ได้อยู่นิ่งหรือถอยหลัง และก็จะมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายเอามาบริหารเงินเหล่านั้นให้งอกเงยเพิ่มพูนได้ นั่นคือ “เงินที่ได้รับจากการบริหารเงิน” ที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยเช่น ลงทุนหุ้นหรือกองทุนที่มีพื้นฐานดีมีศักยภาพในอนาคต ลงทุนในหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีความคล่องตัวสูง และอื่นๆ อีกมากมาย บนความเสี่ยงที่เราเข้าใจจริงๆ จะแตกต่างกับการเก็งกำไร ซึ่งออกแนวตาดีได้ตาร้ายเสียซะมากกว่า นอกจากฝันจะไม่เป็นจริงแล้วยังจะเสียเงินไปโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
แล้วอดออมมากก็ยิ่งดีเหรอ?
ชวนกันคิดนะคะ สมมติว่าเรามีเงินออมอยู่ 100,000 บาท นำไปบริหารซื้อหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ก็จะมีรายได้ส่วนเพิ่มจากการบริหารเงิน 100,000 x 5% = 5,000 บาทต่อปี ถ้าเรามีเงินออมเพื่อลงทุน 1,000,000 บาท เราก็จะมีรายได้ส่วนเพิ่มจากการบริหารเงิน 1,000,000 x 5% = 50,000 บาท นี่คือผลลัพธ์ทวีคูณของเงินออมที่เป็นเงินตั้งต้นในการบริหารเงินและอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน ทำให้ “เงินที่ได้รับจากการบริหารเงิน” งอกเงยเพิ่มพูน เดี๋ยวเราจะมาคุยกันต่อในตอนต่อๆ ไปว่าทำไมช่วงแรกๆ ของวัยทำงานกับการอดออมและบริหารเงินจึงสำคัญมาก
ตอนเด็กๆ เราไม่ทิ้งความฝัน แถมมีความฝันใหม่ๆ เสมอๆ อาจเพราะเรายังเด็กเกินกว่าจะแยกระหว่างความฝันกับความเป็นจริงได้ มีคุณพ่อคุณแม่คอยดูแล มีเวลาในการเติบโต เรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกใบนี้ แล้วพวกเราตอนนี้ล่ะ หากเลือกที่จะฝันให้ไกลมากขึ้นๆ หากเลือกรูปแบบชีวิตในฝันที่มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตแล้ว พวกเราก็ต้องบริหารทั้งเงินรายได้และความฝัน หากสามารถบริหารให้สมดุลในจังหวะที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เราก็น่าจะได้คำตอบในใจกันบ้างล่ะว่า ชีวิตดีๆ อาจไม่ได้มีแต่ในนิยาย
แน่นอนมันยากมากที่เราจะบอกว่าความสามารถในการหารายได้ไม่ใช่ “เครื่องจักรหลักในการดำรงชีวิต” ของพวกเรา ตราบที่เราเลือกที่จะฝันให้ไกล มีความต้องการต่างๆ ในชีวิตมากมาย
แน่นอนว่าการใช้ความสามารถและเวลาทั้งหมดในการแสวงหารายได้สูงสุดเป็นวิถีของการมีการเงินที่ดีและมั่นคงของพวกเราหลายคน เพราะมันคือนิยามของความสำเร็จ เพราะมันคือหนทางที่พวกเราหลายคนใช้มาแล้วและประสบผลสำเร็จ และเพราะพวกเราหลายคนรักและสนุกในงานที่ทำ
แน่นอนสำหรับพวกเราที่เลือกทางลัดในการแสวงหารายได้สูงสุด ฝันที่เป็นจริงบนพื้นฐานของเงินที่ได้มาทางลัดก็ย่อมมีความแน่นอนน้อยลงไปด้วย เพราะทางลัดไม่ใช่ทางหลักและยากที่จะพัฒนาเป็นทางหลัก หากเผลอลัดเข้าไปแล้วกลับเข้าทางหลักเร็วทันก็ดีไป เพราะผลลัพธ์ของการหารายได้ทางลัดมากเกินไปอาจจะหนักหนาสาหัสกว่าการเป็นหนี้เพราะการสร้างฝันเร็วเกินไปซะอีก
พวกเราหลายคนตอนนี้ อาจมีคำถามว่า…
เราจะสามารถบริหารเงินรายได้และความฝันให้สมดุลในจังหวะที่เหมาะสมได้จริงๆ เหรอ? มันก็ยากอยู่นะ?
เราไม่ควรนำเงินรายได้ในอนาคตมาใช้เลยจริงๆ เหรอ? แล้วธนาคารให้วงเงินเครดิตหรือวงเงินสินเชื่อเราทำไมล่ะ? มันยังไงนะเนี่ย?
ดีค่ะ ชวนกันคิด ชวนกันถาม แล้วมาติดตามกันต่อตอนต่อไปนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา