24 ม.ค. 2022 เวลา 15:22 • ธุรกิจ
อยากให้ “เงินทำงาน” เริ่มยังไงดี? มาสำรวจ “ระยะปลอดภัยทางการเงิน” ของพวกเรากันค่ะ
หลายคนคงเคยได้ยินคำถาม “ถ้าต้องหยุดงาน จะสามารถอยู่ได้กี่เดือนกี่ปี?”
มันหมายถึง “ระยะความปลอดภัยทางการเงิน” คำนวนจาก เงินออมเงินลงทุนที่เรามีว่าจะรองรับ “ค่าใช้จ่ายปกติ” ของเราได้กี่เดือนกี่ปี
สมมติว่าตอนนี้เรามีเงินออมเงินลงทุนรวม 360,000 บาท และมี “ค่าใช้จ่ายปกติ” เดือนละ 30,000 บาท เราจะมีระยะความปลอดภัยทางการเงินที่ประมาณ 12 เดือนนั่นเอง
วินัยทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อยากให้พวกเรามองข้ามไป และอยากเน้นให้เริ่มให้เร็วที่สุดตั้งแต่เด็กๆ เพื่อที่เราจะได้รับประโยชน์สูงสุดจาก “การให้เงินทำงาน” อะไรบ้างล่ะ?
  • 1.
    มีรายได้เพิ่มที่เพิ่มพูนงอกเงยทุกวัน นอกเหนือจากรายได้จากการทำงาน
  • 2.
    มีเงินออมเงินลงทุนสะสมเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา เช่น เริ่มมีครอบครัว มีลูก รักษาพยาบาล ซื้อบ้านซื้อรถ ทำให้เรามีทางเลือกว่าจะซื้อเงินสดทั้งหมด เงินสดบางส่วนกู้บางส่วน ช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ย และลดความเสี่ยงการไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ถ้าขาดรายได้ในอนาคต
  • 3.
    สร้างระยะปลอดภัยทางการเงิน หากต้องหยุดงานและขาดรายได้
  • 4.
    เป็นเงินทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจของเราในอนาคต
ทีนี้มาทำความรู้จักกับ “ค่าใช้จ่ายปกติ” ในแต่ละเดือนของพวกเรากันค่ะ
มีสิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำให้พวกเราติดตามเสมอในการใช้จ่ายแต่ละครั้ง คือ การกำหนดค่าเฉลี่ยของ “ค่าใช้จ่ายปกติ” ที่เราควรใช้จ่ายให้อยู่ไม่เกินระดับนี้ในแต่ละวัน ซึ่งถ้าเราทำสำเร็จตามนั้น ค่าใช้จ่ายปกติต่อเดือนจะไม่เกินสัดส่วนของเงินรายได้ที่ตั้งใจไว้ เช่น ไม่เกิน 60% ของเงินรายได้แต่ละเดือน เพื่อที่จะมีเงินอีก 40% ไปให้ “เงินทำงาน”
2
ตัวอย่าง:
สมมติว่า ในแต่ละเดือน เรามีเงินรายได้ 50,000 บาท (หลังหักภาษี เป็นเงินสดที่ใช้จ่ายได้) ตอนนี้เรายังเป็นเด็ก ยังเพิ่งเริ่มทำงาน เรายังไม่มีหนี้ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ และไม่ต้องดูแลครอบครัว
มาลองวางแผนตัวอย่าง “ค่าใช้จ่ายปกติ” ในแต่ละเดือน ให้ไม่เกิน 60% ของเงินรายได้ เราเริ่มกันที่ค่าใช้จ่ายประมาณนี้เลยค่ะ
โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต 1,000 บาท
เดินทาง 3,000 บาท
อาหาร 9,000 บาท
กาแฟ ชาไข่มุก 2,000 บาท
สังสรรค์ 10,000 บาท
ของใช้ส่วนตัว 5,000 บาท
รวมค่าใช้จ่ายปกติ 30,000 บาท
“ค่าใช้จ่ายปกติ” ของแต่ละคนแตกต่างกันไป ลองคำนวนกันดูนะคะ ว่าตอนนี้ค่าใช้จ่ายปกติของเราคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่แล้วของเงินรายได้ต่อเดือน
ถามว่า… เราใช้จ่ายมากกว่า 60% ของเงินรายได้แต่ละเดือนได้ไหม?
ได้แน่นอน แต่อย่าลืมว่าการนำเงินไปใช้มากขึ้นหมายถึง เรากำลังเสียโอกาสนำเงินส่วนนี้ไปบริหารให้ “เงินทำงาน”
มันอาจจะดูไม่มากในช่วงแรก แต่เงินส่วนนี้จะเพิ่มพูนทบทวีคูณไปเรื่อยๆ ตามอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับ เช่น หุ้นหรือกองทุนที่มีรายได้เงินปันผลและ capital gain, หุ้นกู้หรือพันธบัตรที่มีผลตอบแทนรายปีคงที่ (fixed income), อสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้ค่าเช่าและกำไรจากการขาย และทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ อีกมากมาย
การลงทุนมีความเสี่ยง ต้องศึกษาให้ดีก่อนเลือกลงทุนทุกครั้ง อย่ามองแต่ผลตอบแทนเป็นหลัก เพราะอาจสูญเสียเงินออมเงินลงทุนทั้งจำนวนได้
ฝากไปคิดต่อ ลองวางแผน ลองทำกันดูนะคะ อาจจะยังเกินๆ ขาดๆ บ้าง อย่างน้อยเราก็จะได้รู้จักสุขภาพทางการเงินของเรากันมากขึ้น และสามารถออกแบบสุขภาพทางการเงินที่ดีในอนาคตได้ด้วยค่ะ แล้วมาคุยกันต่อตอนต่อไปค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา