25 ม.ค. 2022 เวลา 13:39 • ธุรกิจ
วันนี้จะชวนพวกเรามาลองทำ Action Plan เพื่อสร้าง “เงินให้ทำงาน” และเตรียมการรับมือเงินเฟ้อกันค่ะ
เชื่อว่าปีใหม่นี้ พวกเราส่วนใหญ่ตื่นมาพร้อมข่าว “หมูแพง” ตอนฟังก็เอ๊ะ? มาตกใจจริงจังก็ตอนไปถึงหน้างานควักเงินซื้อหมู… 185 บาทต่อกิโลกรัมเลยเหรอหมูสันนอก! ก่อนปีใหม่ยัง 145 บาทอยู่เลย! จนตอนนี้หายตกใจแล้วกับราคา 224 บาท เพราะมันคือเรื่องจริง…
2
นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านออกมาเตือนเรื่องเงินเฟ้อตั้งแต่ปลายปีก่อน ให้ระวัง มาแน่ เพราะเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลก จะหนักจะเบาแค่ไหนก็ต้องติดตามกันต่อไป
อยากชวนพวกเรามาเริ่มวางแผนรูปแบบการใช้ชีวิตที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนสร้างความยืดหยุ่นให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มเงินออมเงินลงทุนสร้าง “เงินให้ทำงาน” รองรับความเสี่ยงด้านรายได้ในอนาคต และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจกัน ยิ่งเริ่มเร็วก็ยิ่งบรรเทาผลกระทบได้มาก
เริ่มจาก “ค่าใช้จ่ายปกติ” ในแต่ละเดือนของเรา…
  • 1.
    จัดกลุ่มค่าใช้จ่ายปกติเป็นหมวดหมู่หลักๆ พวกเราสามารถเพิ่มลดหมวดหมู่ได้
  • 2.
    พอจัดหมวดหมู่เสร็จ ให้ใส่ตัวเลขค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวดแบบประมาณเฉลี่ยต่อเดือน
  • 3.
    รวม “ค่าใช้จ่ายปกติ” แล้วเป็นเท่าไหร่กันบ้างคะ อย่าเพิ่งตกใจไปถ้าเกิน 60-70% ของเงินรายได้ในเดือน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ปรับ
  • 4.
    ช่องข้างๆ ถัดไปให้เขียน “เป้าหมายค่าใช้จ่ายปกติ” ในแต่ละหมวด
ตัวอย่าง:
สมมติหมวดหมู่ “ค่าใช้จ่ายปกติ” และ “เป้าหมายค่าใช้จ่ายปกติ” ของเราประมาณนี้
หมวดหมู่ ค่าใช้จ่ายปกติ เป้าหมาย
ที่อยู่อาศัย (ค่าเช่า) 5,000 2,500
สาธารณูปโภค 2,000 2,000
(น้ำ ไฟ อินเตอร์เน็ต)
เดินทาง น้ำมัน บัตรโดยสาร 3,000 3,000
รักษาพยาบาล สุขภาพ 2,000 2,000
อาหาร เครื่องดื่ม 12,000 12,000
เสื้อผ้า รองเท้า 5,000 3,000
ของใช้ส่วนตัว โลชั่น อื่นๆ 5,000 4,000
สังสรรค์ รื่นเริง ท่องเที่ยว 5,000 4,000
หนี้ที่ต้องผ่อนชำระ 10,000 10,000
(บ้าน รถ บัตรเครดิต)
รวมค่าใช้จ่ายปกติ 49,000 42,500
เงินรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,000 50,000
(หลังหักภาษี เป็นเงินสดที่ใช้จ่ายได้)
% ของ “ค่าใช้จ่ายปกติ” 98% 85%
เทียบกับ เงินรายได้ในเดือน
การตั้งเป้าหมายที่ดี อยากแนะนำให้ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ พอเราทำสำเร็จแล้ว เราสามารถทะยานสู่เป้าหมายใหม่ได้เสมอ เป็นการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
ทีนี้ ก็มาสร้าง “Action Plan” แบบง่ายๆ กันค่ะ
ตัวอย่าง:
“Action Plan” ของสิ่งที่จะลองทำดู เพื่อให้มีเงินออมเงินลงทุนมากขึ้น บนสมมติฐานว่าเงินรายได้นั้นคงที่
1. ที่อยู่อาศัย (ค่าเช่า)
ย้ายไปอยู่กับคุณพ่อคุณแม่, หา roommate มาแบ่งกันจ่ายค่าเช่า, ย้ายไปเช่าที่ถูกลง
2. สาธารณูปโภค (น้ำ ไฟ สื่อสาร อินเตอร์เน็ต)
เปิดเมื่อใช้ ปิดเมื่อไม่ใช้งาน, ลดจำนวนไฟที่เปิดใช้งาน, เปรียบเทียบ internet package
3. เดินทาง น้ำมัน บัตรโดยสาร
วางแผนการเดินทางลดจำนวนรอบการเดินทาง, ใช้ชีวิตใกล้บ้านมากขึ้นเพื่อลดการเดินทาง
4. รักษาพยาบาล สุขภาพ
ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ เพื่อให้ไม่ป่วยหรือป่วยน้อยลง
5. อาหาร เครื่องดื่ม
ทำอาหารทานเองบ่อยขึ้น
6. เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ
ซื้อเมื่อจำเป็น
7. ของใช้ส่วนตัว โลชั่น และอื่นๆ
ลองเปรียบเทียบสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน
8. สังสรรค์ รื่นเริง ท่องเที่ยว
วนไปตามลายแทงโปรโมชั่นกันเลย
9. หนี้ที่ต้องผ่อนชำระ (บ้าน รถ บัตรเครดิต และอื่นๆ)
หมวดนี้ก็ต้องชำระคืนตามงวดไป แต่ถ้าผ่อนชำระคืนไม่ไหวก็แนะนำให้คุยกับธนาคารเพื่อหาทางออก ช่วงนี้มีมาตรการสนับสนุนต้องศึกษาดู
เป็นยังไงกันบ้างคะ ตอนนี้พวกเราพร้อมเริ่มต้นสร้าง “เงินให้ทำงาน” หรือยังคะ ลองทำดูก่อน ไม่ตึงเกินไป แล้วค่อยๆ ปรับเป้าหมายกันเป็นขั้นๆ
ตอนแรกก็อาจจะทำแค่บางหมวดของ “ค่าใช้จ่ายปกติ” จะได้ทำได้เรื่อยๆ ต่อเนื่องจนเกิดเป็น “วินัยทางการเงิน” ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นไปได้ของความสำเร็จในชีวิตทางการเงินของพวกเรา
ติดตามกันต่อในตอนต่อๆ ไปนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา