Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Environman
•
ติดตาม
26 ม.ค. 2022 เวลา 12:14 • สิ่งแวดล้อม
Palm Packaging - สตาร์ทอัพพัทลุงเปลี่ยน 'ทางปาล์ม' วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ให้เป็น 'ถุงกระดาษเส้นใยธรรมชาติ' ย่อยสลายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้
วัตถุดิบ 'ปาล์ม' นอกจากจะนำมาแปรรูปทำเป็นน้ำมันปาล์มแล้ว ยังสามารถสกัดออกมาเป็นวัถตุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร สบู่ เครื่องสำอาง และอีกมากมาย อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือตัวก้านของมัน หรือที่เราเรียกว่า 'ทางปาล์มน้ำมัน' มีเส้นใยที่สามารถนำมาทำเป็นเสื้อผ้า หนังเทียม หรือกระดาษได้
ที่จังหวัดพัทลุง ก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คิดค้นไอเดียผลิตถุงกระดาษจากทางปาล์ม ทุกอย่างเริ่มต้นจากการที่หนึ่งในสมาชิกไปเป็นทหารเกณฑ์ที่สัตหีบ เขาเล่าให้ฟังว่าช่วงนั้นค่อนข้างมีเวลาว่าง จึงได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยหลายงาน และบังเอิญไปเจองานวิจัยเกี่ยวกับ 'ทางปาล์ม' ซึ่งมีคุณสมบัติในการนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงได้ทดลองนำทางปาล์มที่ถูกทิ้งไว้ตามพื้นรอบๆ บ้านมาทำเป็นกระดาษ
หลังจากนั้น เขาก็กลับมาพัทลุง นำไอเดียและความรู้จากการทดลองมารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อเริ่มกันทำกระดาษจากเยื่อปาล์ม 100% ที่ได้จากสวนหลังบ้านด้วย และจากชาวบ้านในชุมชน พวกเขานำเยื่อปาล์มมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ได้เป็นกระดาษ หลังจากนั้นก็ส่งต่อให้ชาวบ้านนำไปพับเป็นถุง และนำไปขายเพื่อกระจายรายได้ให้กับชุมชน
แม้ว่าเพื่อนๆ แต่ละคนที่มารวมตัวกัน จะเรียนจบจากสาขาที่แตกต่างกัน มีทั้งวิศวกรรมโยธา เศรษฐศาสตร์ บริหาร ศึกษาศาสตร์ แต่ทุกคนก็สามารถร่วมกันออกไอเดีย ผลิตผลงานที่มีประโยชน์ทั้งต่อเราและต่อโลกมากๆ ซึ่งล่าสุดพวกเขาและผลงานก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน U2T National Hackathon 2021 อีกด้วย
วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมารู้จักถึงที่มาที่ไปของน้องๆ รวมถึงทำความเข้าใจว่า 'ทำไมต้องเป็นทางปาล์ม ?' รวมถึงมาเจาะลึกเกี่ยวกับกระบวนการ คุณสมบัติต่างๆ ของปาล์มไปด้วยกัน
ส่วนใครที่สนใจถุงกระดาษนี้ก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Palm Packaging
https://www.facebook.com/Palmpackage/
ทำไมต้องทางปาล์ม ?
น้อง ๆ เล่าให้ฟังว่า ปกติเวลาเขาปลูกปาล์มน้ำมัน เขาจะตัดเอาทะลายปาล์มน้ำมัน หรือที่เราเห็นเป็นเม็ดแดง ๆ น้ำตาล ๆ เนี่ยละไปขาย ซึ่งก่อนเอาทะลายไปขาย มันจะมีทางปาล์มน้ำมันขวางอยู่ ชาวบ้านก็ต้องตัดทิ้ง ปล่อยทิ้งไว้ ไม่ก็เผา พวกเขาเลยนำมันมาแปรรูป เพิ่มมูลค่า จาก 0 บาท กลายเป็น 20 บาท และช่วยลดขยะชีวมวลจากพวกทางปาล์มอีกที
ซึ่งในอนาคตพวกเขาก็วางแผนจะแปรรูปเป็นกระดาษห่อผลไม้ที่สามารถถนอมและยืดอายุผลไม้ได้ และก็หนังเทียมในพวกเครื่องนุ่งห่ม ทีนี้จาก 0 บาทก็กลายเป็น 80 บาท เป็น 400 บาทได้เลย
ต่างจากถุงกระดาษทั่วไปหรือไม่ ?
น้อง ๆ บอกว่า ความแข็งแรงเทียบเท่ากับถุงกระดาษเลย ผ่านการวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแล้ว
ที่ต่างคือ ถุงกระดาษจากทางปาล์มไม่ได้มาจากการตัดต้นไม้ เพราะสามารถเก็บทางปาล์มที่หล่นมาทำได้เลย และกระดาษจากทางปาล์มก็ย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน ไม่ต้องฝัง สามารถโยนทิ้งไปในดินได้เลย ยิ่งดินไหนที่มีหอยทากจะย่อยสลายเร็วภายใน 7 วัน เพราะมันเป็นอาหารของหอยทากได้ ต่างจากถุงกระดาษทั่วไปที่ย่อยสลาย 2-5 เดือน
หรือจะนำกลับมารีไซเคิล วนกลับมาเป็นกระดาษเหมือนเดิมได้ และก็ไม่ต้องกลัวว่าใช้ ๆ อยู่จะยุ่ย เพราะถ้าไม่สัมผัสความชื้นสามารถใช้งานได้นาน 6 เดือน
มาดูวิธีทำกัน
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะอยากรู้ว่ามันมีกระบวนการทำอย่างไร? เหมือนกระดาษสาไหม? น้อง ๆ ได้พาเราไปเยี่ยมชนสวน และโรงผลิตกระดาษที่ทั้งหมดอยู่หลังบ้านของพวกเขา
ขั้นตอนแรก: เตรียมทางปาล์ม
นำทางปาล์มน้ำมันที่สุก เฉพาะตัวแกนตรงกลางมาปอก และซอยเป็นชิ้น ๆ ให้มีขนาด 1 นิ้ว
ขั้นตอนที่สอง: ต้มรอบแรก
นำมาต้มให้เยื่อเปื่อย
ขั้นตอนที่สาม: ต้มรอบสอง
นำเยื่อที่เปื่อยมาล้างกับโซดาไฟ
ขั้นตอนที่สี่: นำมาฟอก
นำเยื่อที่ได้มาฟอกด้วยไฮโดรเจนออกไซด์
ขั้นตอนที่ห้า: นำมาปั่น
ปั่นให้เยื่อละเอียดขึ้น เตรียมขึ้นรูป
ข้อตอนที่หก: ตาก
นำมาตาก ขึ้นรูปเป็นแผ่นกระดาษ
หลังจากนั้น ก็ส่งไปให้ชุมชนพับออกมาเป็นถุงกระดาษต่อไป
ราคาเป็นยังไง ?
มีตั้งแต่ 2.5 ไปจนถึง 7 บาท เป็นราคาที่ไม่รวมโลโก้ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับต้นทุนด้วย น้อง ๆ บอกว่าถ้าขาสารเคมีขึ้นราคา ราคาถุงอาจขึ้นตามไปด้วย เหมือนเนื้อหมู (แหม มีเล่นมุข)
แต่พอได้ยินคำว่าสารเคมีก็อย่าเพิ่งตกใจไป น้อง ๆ ใช้สารเคมี 5% ของน้ำหนักเยื่อเท่านั้น ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับโรงงานกระดาษทั่วไปที่ใช้ประมาณ 30%
จับคู่กับสินค้าในจังหวัดได้ด้วย
อีกหนึ่งความเก๋ น้อง ๆ ได้นำถุงกระดาษของตัวเองไปจับคู่กับสินค้าของจังหวัดพัทลุงบ้างแล้ว อย่างเช่นร้านสมุนไพร หรือผลิตให้กับโรงพยาบาลในการจ่ายยาคนไข้ ล่าสุด มากกว่าถุงกระดาษ ก็ได้เข้าไปทำกล่องรองเท้าหูหิ้วให้กับแบรนด์รองเท้า “ปิยะวรรณ” ที่เอาผ้าปาเต๊ะมาทำเป็นรองเท้าอีกด้วย
อนาคตน้อง ๆ ก็อยากจะส่งเสริมให้ร้านค้าต่าง ๆ ในพัทลุงใช้ถุงกระดาษจากทางปาล์มและวัสดุอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากพัทลุงก็เป็นจังหวัดที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ถ้าส่งเสริมเรื่องถุงกระดาษนี้เข้าไปน่าจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้คนในชุมชน และลดขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งได้จำนวนมาก
ผลิตภัณฑ์ตอนนี้
ตอนนี้น้อง ๆ ก็อยากจะผลิตออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ และลดการใช้ถุงพลาสติกต่าง ๆ แต่ก็ยังมีอุปสรรคบ้างตรงที่เครื่องจักรที่มีหลังบ้านนั้นอาจจะยังไม่พอ จะส่งเยื่อไปให้โรงงานผลิตกระดาษทำก็ยังไม่ได้ ตอนนี้น้อง ๆ เลยเร่งขอมาตรฐาน มอก. เพื่อให้เยื่อกระดาษเป็นที่ยอมรับของหลาย ๆ โรงงานก่อน
ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทำต่อไปให้สำเร็จนะ !
ฝากถึงคนรุ่นใหม่
ก่อนจบน้อง ๆ อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า ให้ลองมองสิ่งที่เรามีรอบข้าง บางทีมันอาจจะสามารถนำมาปรับ ประยุกต์ แปรรูป เป็นอะไรได้ และเมื่อทำได้ มีแนวทางก็พยายามทุ่มเทไปกับมัน ถ้าเราทุ่มเทเราก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้
ใครที่สนใจก็สามารถติดตามผลงาน หรือสั่งซื้อได้ที่
https://www.facebook.com/Palmpackage
ได้เลยนะ
1 บันทึก
4
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Original
1
4
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย