5 ก.พ. 2022 เวลา 02:09 • ธุรกิจ
เราเข้าใจและเตรียมพร้อมกับผลกระทบแล้วแค่ไหน? วันนี้ที่ “กับดักหนี้” ครัวเรือนฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ “สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้” เฉลี่ยของครัวเรือนที่ทะลุ 30%
“กว่าหนึ่งในสามของคนไทยมีภาระหนี้สูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีหนี้นานตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ และมีหนี้จนแก่ และ 84% ของครัวเรือนก็ยังพึ่งพาหนี้จากสถาบันการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง” เป็นข้อมูลทางสถิติจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2563 ซึ่งล่าสุดหนี้ครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 89.3 ต่อ GDP ในไตรมาส 3 ปี 2564 แล้ว และมันมีผลกระทบอย่างไรกับเรา?
สัดส่วนคนที่เป็นหนี้จะเห็นว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากโดยอาจถึงเกือบ 3 ใน 4 ของประชากรที่อายุ 25-65 ปี หากคำนวนจากสัดส่วนประชากรในช่วงอายุที่ไม่มีรายได้หรือเพิ่งเริ่มมีรายได้ ซึ่งคิดเป็น 40.95% ของจำนวนประชากรทั้งหมด แบ่งเป็น อายุน้อยกว่า 25 ปี 29.02% และ อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 11.93% จากข้อมูลสถิติประชากรปี 2563*
หากคำนวน “สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้” โดยเฉลี่ยของครัวเรือน จะพบว่าเพิ่มขึ้นมาตลอดจนเกิน 30% ในปี 2563-2564 หรือในช่วงโควิด ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่อันตราย เพราะเป็นระดับหนี้ต่อรายได้ที่สร้างภาระให้ครัวเรือนมากเกินไปที่จะใช้จ่าย แทนที่หนี้จะกระตุ้นการบริโภค ก็กลายเป็นฉุดรั้งการบริโภค ไม่สามารถใช้จ่ายได้เหมือนเดิม เพราะต้องนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ไปชำระหนี้ที่มีก่อน ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจใช้เวลานานขึ้น จนทำให้ภาครัฐกำหนดให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน”
สำหรับพวกเราที่ติดตาม Manage Your Money ก็จะทราบดีว่าเราคุยกันเรื่องเกล็ดความรู้และข้อคิดแบบสบายๆ กันเอง ด้านเงินออม เงินลงทุน วินัยทางการเงิน การบริหารจัดการเงินสดให้มีสภาพคล่องเงินสดไม่ขาดมือ การสร้างรายได้และกำไรจากสิ่งที่ทำอยู่ และการใช้จ่ายเพื่อเลี่ยงการก่อหนี้ใหม่โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจะช่วยทำให้หนี้ที่มีอยู่ลดลงได้
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้พวกเราไม่ติดอยู่ใน “กับดักหนี้” ที่ในวันนี้ นอกจากจะฉุดรั้งคนที่เป็นหนี้จากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงเพราะขาดรายได้ หรือรายได้ลดลงแล้ว ยังอยู่ในระดับหนี้ที่เริ่มฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย และนั่นหมายถึง พวกเราทุกคนที่จะได้รับผลกระทบทางรายได้ต่อเนื่องในอนาคต การเตรียมตัวในครั้งนี้จึงต้องรอบคอบและระมัดระวังอย่างมาก
แล้วติดตามกันต่อในตอนต่อๆ ไป กับ Manage Your Money ค่ะ
*Reference :
BOI : The Board of Investment of Thailand
หนี้ครัวเรือน: ปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา