19 ก.พ. 2022 เวลา 14:00 • ธุรกิจ
มาฟังมุมมองของ Walmart CEO กันว่า ยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกคาดว่าคนอเมริกันจะปรับตัวอย่างไร กับเงินเฟ้อ 7.5% ที่สูงสุดในรอบ 40 ปี และกลยุทธ์เพื่อเตรียมตัวของ Walmart
น่าสนใจมากเมื่อ Walmart CEO Doug McMillion และ CFO Brad Biggs ออกมาพูดถึงผลประกอบการ และให้สัมภาษณ์ถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่มาจับจ่ายซื้อของที่ Walmart ว่า
ลูกค้าใส่ใจเรื่องราคาสินค้ากันมาก แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนไปซื้อสินค้าประเภทเดียวกันที่ราคาถูกกว่า หรือซื้อจำนวนและขนาดที่เล็กลง
Walmart ยังทำกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการจัดสินค้าราคาพิเศษ ลดราคา หรือที่เรียกว่า rollbacks ในความถี่เท่ากับช่วงต้นปีก่อน
ลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง รวมถึงลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ที่สูงขึ้น พบว่ามีความอ่อนไหวต่อราคาที่มากขึ้น (price sensitive) และนั่นก็ยิ่งสร้างความได้เปรียบให้ Walmart
ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) ที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 7.5% ในเดือนมกราคม 2565 เป็นผลจากราคาอาหาร พลังงาน รถยนต์และอื่นๆ ที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และถือว่าเป็นการเพิ่มอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 40 ปี
ขณะที่สังคมอเมริกันให้ความสนใจกันอย่างมากว่า ผู้บริโภคจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายกันมากน้อยแค่ไหนนั้น Walmart ให้ข้อสังเกตจากการศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ Walmart ว่า คนอเมริกันโดยเฉลี่ยยังมีพฤติกรรมจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม มีความถี่ของการออกมาซื้อของมากขึ้น โดยบอกว่าน่าจะเป็นเพราะยังมีความมั่นใจในอัตราการว่างงานที่ต่ำ การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้าง และเงินออมในครอบครัวที่มีมากขึ้นจากการที่ได้ลดการใช้จ่ายลงตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิดเป็นต้นมา
Walmart เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐอเมริกา ที่เน้นการขายสินค้าแบบความคุ้มค่า (value) ผ่านช่องทางในร้านค้า และ website ทั้งแบบ hypermarkets, discount super stores และ grocery stores ก่อตั้งในปี 1962
กลยุทธ์รักษาจุดแข็ง ด้วยวินัยในการดำเนินงาน
รักษาการเติบโตในระยะยาว ไม่หวือหวาแต่อยู่ได้สำเร็จในอนาคต
สินค้าหมวดอาหารและอุปโภคบริโภค มีสัดส่วนที่สูงมากสำหรับธุรกิจของ Walmart
ก้าวต่อไปที่ท้าทายของ Walmart ในยุค retail e-commerce ที่ Amazon ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาด
Walmart กับก้าวต่อไปทางธุรกิจในยุคเงินเฟ้อ และพฤติกรรมลูกค้าที่จะอ่อนไหวต่อราคาสินค้ามากขึ้น
อาหารเป็นหมวดสินค้าที่ใหญ่ที่สุดที่ขายใน Walmart จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมแผนปรับตัวในช่วงเงินเฟ้อที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นอีกและอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน สิ่งที่สำคัญที่ Walmart เน้นในการดำเนินงาน คือ การรักษาสมดุลระหว่างลูกค้าและผู้ถือหุ้น และนั่นหมายถึง ระดับราคาที่ไม่แพงจนเกินไปสำหรับลูกค้า และกำไรที่มากพอสำหรับผู้ถือหุ้น
กลยุทธ์ด้านราคาของ Walmart และการส่งเสริมการขาย
ที่ผ่านมา Walmart ได้เริ่มมีการปรับราคาบางสินค้าตามราคาของผู้ผลิต (suppliers) ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของสินค้าอุปโภคบริโภค (consumer products) เช่น Coca-Cala, Pepsi, Procter & Gramble โดย Walmart มีกลยุทธ์ด้านราคาเน้นการออกแบบให้ราคาเฉลี่ยของสินค้าหมวดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน (same categories) และสินค้าในตะกร้าซื้อของ (shopping basket) โดยรวมของลูกค้ายังไปได้ไม่เป็นภาระมากเกินไป และยังคงกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าราคาพิเศษ สินค้าลดราคา (Rollbacks)ในความถี่เท่าเดิม เพื่อสื่อสารกับลูกค้าว่า Walmart ใส่ใจจริงจังเรื่องการขายสินค้าแบบคุ้มค่า (value) แม้กระทั่งในช่วงเงินเฟ้อและความไม่แน่นอน
ความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิต
Walmart เน้นย้ำเรื่อง ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ผลิต (suppliers) ที่ต้องคุยกันอย่างมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ เพื่อยืดระยะเวลาและขนาดการปรับราคาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ด้วยจุดแข็งและวินัยในการดำเนินงาน Walmart CEO มั่นใจว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจที่เน้นในเรื่องความคุ้มค่า (value) เสมอมา จนเป็นที่จดจำและยอมรับอย่างมากของลูกค้าในวงกว้าง จะสร้างความได้เปรียบ โดยเฉพาะเมื่อลูกค้ายิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ลูกค้าจะมาที่ Walmart กันมากขึ้น
เรื่องราวของเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่สูงขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพวกเรา แต่ทุกครั้งที่เกิดขึ้นก็สร้างผลกระทบให้พวกเราเสมอ คนในสังคมอเมริกันยังไม่มีสัญญาณการรัดเข็มขัดหนักๆ จากเงินเฟ้อที่สูงมากอย่างรวดเร็ว เพราะการจ้างงานในระดับสูง ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และเงินเก็บจากที่เริ่มประหยัดกันมาตั้งแต่ในช่วงโควิดยังมีอยู่เพื่อรองรับการใช้จ่าย
แต่กับความไม่นอนในอนาคต การตื่นตัวกับสถานการณ์และเริ่มต้นบริหารจัดการทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายแต่เนิ่นๆ ก็จะยิ่งเพิ่มความพร้อมให้เราสามารถอยู่ได้ และอยู่ได้นาน ยืนระยะได้นานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัวที่ไม่คาดคิด
แล้วมาติดตามกันต่อในตอนถัดไป กับ Manage Your Money นะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา