20 ก.พ. 2022 เวลา 14:26 • ธุรกิจ
เริ่มมีรายได้ เริ่มมีครอบครัวควรซื้อบ้านหรือรถก่อนดี
คงเป็นคำถามในใจของใครหลายๆ คนที่เริ่มทำงานมีรายได้ หรือหลายๆ คนที่เริ่มแต่งงานมีครอบครัว เพราะก็ดูเหมือนจะจำเป็นทั้งสองอย่างในชีวิตพวกเรา แล้วแบบไหนคือดีที่สุดสำหรับเรา…
หนึ่งในคำถามยอดฮิต ซื้อบ้านหรือรถก่อนดี
พวกเราที่เป็นนักลงทุน คิดแบบการลงทุนสินทรัพย์ก็จะบอกว่า
ซื้อบ้าน ทางเฮ้าส์หรือคอนโด เพราะคือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เราได้ใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัยด้วยจากราคาที่ดินโดยทั่วไปจะสูงขึ้นในอนาคต และหลายครั้งแม้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีราคาก็ไม่ได้ลดลง ถ้าไม่ได้อยู่อาศัยก็ยังสามารถให้เช่ามีรายได้เพิ่มได้ โดยเฉพาะทำเลที่เดินทางสะดวก ซึ่งก็ลดความจำเป็นที่จะต้องขับรถไปในตัวด้วย ส่วนรถยนต์ที่มองว่าไม่ใช่การลงทุนเพราะก็เห็นอยู่จากราคาตลาดรถมือสอง ก็เลยยังไม่ซื้อเพราะใช้รถไฟฟ้าก็สะดวกดี หรือหาซื้อรถคันเล็กรถมือสองดีๆ ราคาไม่แพงไว้ขับในบางครั้ง
พวกเราที่มองการใช้ประโยชน์เป็นหลัก คิดแบบความคุ้มค่าในการใช้สอยก็จะบอกว่า
ซื้อรถ เพราะมีหลายคนที่ต้องดูแล ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัวและลูกเล็กที่ต้องไปส่งที่โรงเรียน ส่วนบ้านก็สามารถอยู่อาศัยรวมกันหลายรุ่นด้วยกันไปก่อน ไว้มีเงินเพิ่มมากขึ้นค่อยซื้อบ้าน จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้ต้องผ่อนทุกเดือนเยอะเกินไปจนชักหน้าไม่ถึงหลัง เอารายได้ที่มีมาลงทุนที่ถนัดให้มูลค่าสินทรัพย์งอกเงยคุ้มค่ากว่า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม ทำธุรกิจส่วนตัว และการลงทุนรูปแบบอื่นๆ
พวกเราที่ตัดสินใจซื้อทั้งบ้านและรถ
ก็อาจจะเลือกทำเลและรุ่นรถในราคาที่สามารถขอเงินกู้ได้ บ้านอาจจะอยู่ไกลหน่อย รถอาจจะคันเล็กหน่อย ก็ค่อยขยับขยายกันอีกที แต่ส่วนใหญ่เนื่องจากภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือนมีมาก เลยเหลือเงินออมเงินลงทุนไม่มาก จนยากที่จะทำให้สินทรัพย์งอกเงยอย่างจริงจัง ก็เลยต้องชะลอแผนการขยับขยายทั้งบ้านและรถออกไปไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีรายได้มากขึ้นและมีความพร้อมมากขึ้น
ด้วยองค์ประกอบของชีวิตที่ต่างกัน ทุกทางเลือกย่อมดีที่สุดในสภาพแวดล้อมของแต่ละคนเสมอ เป็นสิ่งที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ และทำตามกันไม่ได้
สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำคือ การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิต อย่าลืมว่า ณ ขณะหนึ่งๆ ของเราย่อมมีทรัพยากรจำกัดเสมอ และการนำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้าด้วยการเป็นหนี้ มีราคาที่มากกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายไปในแต่ละเดือน เพราะมันหมายถึงการเสียโอกาสในการนำเงินรายได้ส่วนนั้น ไปบริหารจัดการให้มีผลตอบแทนให้เพิ่มพูนงอกเงย
ลองมาดูตัวอย่างเปรียบเทียบ
สมมติว่าเรามีรายได้ 40,000 บาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อเดือน
แบบที่ 1 : เราซื้อบ้านหรือคอนโด ต้องผ่อนเดือนละ 10,000 บาท
แปลว่าเราจะมีเงินออมเหลือ 40,000 - 20,000 - 10,000 = 10,000 บาท
แบบที่ 2 : เราซื้อรถ ต้องผ่อนเดือนละ 5,000 บาท
แปลว่าเราจะมีเงินออมเหลือ 40,000 - 20,000 - 5,000 = 15,000 บาท
แบบที่ 3 : เราซื้อบ้านและรถ ต้องผ่อนรวมเดือนละ 12,000 บาท
(ผ่อนบ้านน้อยลงเพราะอยู่ไกลเมือง)
แปลว่าเราจะมีเงินออมเหลือ 40,000 - 20,000 - 12,000 = 8,000 บาท
ถ้าดูจากเงินออมคงเหลือ หลายคนก็จะบอกว่า แบบที่ 2 ซื้อรถจะมีเงินออมเหลือมากที่สุด
แต่จริงๆ แล้วอัตราผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากเงินออมนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเรานำเงินออมนั้นไปลงทุนอะไร
สมมติว่าทางเลือกในการลงทุนของเรา คือ
1. นำเงินไปฝากธนาคาร ดอกเบี้ยเงินฝาก 1% ต่อปี
2. นำเงินไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เงินปันผล 5% ต่อปี และมีโอกาสจะได้กำไรจากการขายจากราคาที่สูงขึ้น สมมติที่ 25% (มากกว่าการฝากเงินอย่างมีนัยสำคัญ)
3. นำเงินไปซื้อกองทุนรวม มีโอกาสได้กำไรจากการขายจากมูลค่าที่สูงขึ้น สมมุติที่ 25% (มากกว่าการฝากเงินอย่างมีนัยสำคัญ)
ถ้าเราถนัดการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม ก็จะมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง และนำผลกำไรกลับไปลงทุนเพิ่มให้งอกเงยทวีคูณขึ้นไปได้อีก ทำให้รูปแบบที่ 2 คือ การตัดสินใจซื้อรถกลายเป็นทางเลือกที่โดดเด่นสำหรับเรา เพื่อให้มีเงินเหลือไปลงทุนให้มากที่สุด ก็จะเป็นแนวทางเพิ่มความมั่งคั่งที่เหมาะกับความถนัดและการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตของเรา
ถ้าเราไม่ถนัดการลงทุนในหุ้นหรือกองทุน ก็จะมีโอกาสมากที่จะเก็บเงินในรูปเงินฝากธนาคารซึ่งมีผลตอบแทนที่น้อย จนไม่สามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้จากเงินออมนั้น ทำให้รูปแบบที่ 1 คือ การตัดสินใจซื้อบ้านหรือคอนโดกลายเป็นทางเลือกที่โดดเด่นสำหรับเรา เพราะมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งจากสินทรัพย์บ้านหรือคอนโดที่เราลงทุนนั่นเอง และในอนาคตเมื่อเราเริ่มคุ้นเคยกับการลงทุนอื่นนอกเหนือจากการฝากเงิน ก็จะได้ผลประโยชน์เพิ่มจากเงินออมที่มีเก็บไว้
และสำหรับพวกเราที่จำเป็นต้องมีทั้งบ้านและรถเพื่อครอบครัวที่ต้องดูแล อยากแนะนำให้เลือกทำเลและรุ่นรถ ที่ไม่ทำให้ต้องเป็นหนี้มากจนเกินไป คือยังมีเงินเหลือหลังใช้จ่ายและชำระหนี้ในแต่ละเดือน เพื่อนำมาลงทุนให้งอกเงย จนสามารถชำระหนี้ได้เร็วก่อนกำหนดเพื่อลดภาระดอกเบี้ยได้ในที่สุด และเป็นอิสระทางการเงินไม่มีภาระหนี้ให้กังวล และมีความมั่งคั่งเพียงพอในการดูแลค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว
เพื่อวางแผนสร้างความมั่นคงทางการเงิน อยากให้พวกเราที่กำลังมีคำถามในเรื่องนี้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า
มีทางเลือกในการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตอย่างไรได้บ้าง
และในแต่ละทางเลือกเราจะต้องใช้เงินเท่าไหร่
ต้องกู้เงินเท่าไหร่ ต้องชำระหนี้เท่าไหร่ต่อเดือน
จะมีเงินออมเหลือให้เอาไปลงทุนเท่าไหร่ต่อเดือน
และจะนำเงินออมไปลงทุนในอะไร
แล้วคาดว่าจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไหร่
แน่นอนว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนแผนสร้างความมั่นคงทางการเงินของเราได้ตามสถานการณ์และรายได้ในอาชีพการงานที่สูงขึ้น ที่สำคัญคือ เราจะรู้เสมอว่าเราตัดสินใจแต่ละครั้งบนพื้นฐานอะไร เพื่อให้มีวินัยในการใช้ชีวิตที่จริงจังกับการสร้างอิสระทางการเงิน หรืออย่างน้อยไม่สร้างพันธนาการหนี้จนเกินตัว
แล้วติดตามกันต่อในตอนต่อๆ ไป กับ Manage Your Money ค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา