4 ก.พ. 2022 เวลา 14:52 • ไลฟ์สไตล์
“เวลากิเลสเกิดไม่ได้ไปดูเพื่อให้มันดับ
…. แต่ดูเพื่อให้เห็นความจริง ว่ามันไม่เที่ยง”
1
“ … อย่างสมัยที่หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์
ท่านไม่บอกเหตุผล ท่านสั่งเลยคนนี้ไปพุทโธ
ไม่ต้องมาถามมาก
อย่างหลวงพ่อหลวงปู่ดูลย์ท่านสั่งไปดูจิตเอา ท่านบอก
“การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ
อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”
สอนอย่างนี้ ท่านให้การบ้านเรา เราก็มีหน้าที่มาทำ
ทำด้วยความอดทน
1
ยุคนี้หรือถ้าหลวงพ่อบอกว่าไปดูจิต
ก็จะต้องถามแล้วดูทำไม ดูแล้วจะได้อะไร
สงสัยไปหมดทุกเรื่อง ได้ยินธรรมะอะไรก็สงสัยไว้ก่อน
งง สงสัย คิดไปไม่เลิก มันแหวกวงล้อมของความคิดไม่ออก
มันถูกความคิดห่อหุ้มไว้
ใจก็ไม่เคยสงบหรอกฟุ้งซ่านตลอดเวลา
ในเมื่อเราฟุ้งซ่าน เราก็จะค่อยๆ มาฝึกเอา
กรรมฐานที่เหมาะกับพวกฟุ้งซ่าน พวกคิดมาก
คือสังเกตจิตใจของเราไป
เราคิดเรื่องนี้มีความสุข รู้ว่ามีความสุข
คิดเรื่องนี้มีความทุกข์ รู้ว่ามีความทุกข์
เรื่องที่คิดไม่สำคัญหรอก
แต่พอคิดอย่างนี้แล้วความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น
ตัวความรู้สึกทั้งหลายนั่นสำคัญ
ถ้าพูดแบบปริยัติ ตัวความคิดมันเป็นเรื่องของอารมณ์บัญญัติ
เป็นเรื่องที่คิดๆ ลอยๆ เพ้อฝัน
แต่ความรู้สึกทั้งหลายมันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ มันมีจริงๆ
ในการที่จะเจริญปัญญานั้นต้องใช้อารมณ์ปรมัตถ์
ส่วนการทำสมถะใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้ อารมณ์ปรมัตถ์ก็ได้
อะไรก็ได้สมถะ ง่าย
ถ้าเราสังเกตตัวเองไป ใจมันคิดเรื่องนี้ปุ๊บมีความสุข รู้ทัน
ใจมันคิดไปเรื่องนี้ เรื่องไหนก็ตาม เรื่องอะไรก็ไม่สำคัญหรอก
แต่ว่าพอมันคิดแล้วมันทุกข์ขึ้นมา รู้ทัน
พอคิดแล้วใจเฉยๆ รู้ทัน
คิดแล้วใจเป็นบุญ อิ่มเอิบ มีศรัทธา มีความฮึกเหิมที่จะปฏิบัติก็รู้ทัน
ใจมันฮึกเหิมที่จะปฏิบัติแล้ว
ส่วนใหญ่ฟังที่หลวงพ่อเทศน์แล้วใจมันจะฮึกเหิมที่จะปฏิบัติ
แต่มันอยู่ได้แป๊บเดียวเดี๋ยวมันก็ฟุ้งอย่างอื่นต่อไปแล้ว
ฉะนั้นต้องอดทน ต้องขยันดูจริงๆ
การปฏิบัติมันไม่ยากหรอก เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์บอก
มันไม่ยากหรอกแต่มันต้องอดทน ดูแล้วดูอีก
ต้องอดทนตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต
ขนาดครูบาอาจารย์รุ่นเก่า หลวงปู่มั่นท่านยังสอนเลยว่า
“การปฏิบัติเหมือนการทำนา”
ตัวอย่างที่ท่านยกคือเรื่องทำนาทำไร่อะไรพวกนี้
สังคมท่านยุคนั้นเป็นแบบนั้น ท่านบอก
“การปฏิบัติก็เหมือนการทำนา”
เรามีที่นาอยู่แปลงหนึ่ง ปีนี้ก็ทำ ปีหน้าก็ทำ ปีโน้นก็ทำ
ทำไปเรื่อยๆ ก็ได้ผลประโยชน์ ได้ข้าวได้อะไรขึ้นมา
พออยู่พอกินไป ภาวนาไปเรื่อยๆ จิตกับใจก็สูงขึ้นๆ
ในที่สุดก็หลุดจากโลก ได้โลกุตตรธรรม
เขาก็สอนกันอย่างนี้ อดทนทำแล้วทำอีก
ในยุคของพวกเรานี้ สิ่งที่ต้องทำ ต้องอดทนมากๆ เลย
คือดูแล้วดูอีก ดูอะไร ก็ดูจิตดูใจเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ดูกายมันเล่นยาก จะดูกายให้เกิดปัญญา
จิตต้องทรงสมาธิจริงๆ
ถ้าได้ฌานแล้วมาดูกายไม่ใช่เรื่องยากหรอก
อย่างพอเราได้ฌานจริงๆ แล้วมาดูกาย
ดูผม ผมสลายเลยหายไปเลย เห็นหนังศีรษะ
ดูหนังศีรษะ หนังศีรษะเปิดเลยเห็นหัวกะโหลก
ดูหัวกะโหลกหัวขาดกระเด็นไป
ดูตัวลงมา ร่างกายนี้ จิตที่มีกำลังของสมาธิมากๆ
ดูลงไปเนื้อหนังอะไรนี้สลายไปหมด เหลือแต่กระดูก
ดูกระดูก กระดูกระเบิดเลย
กำลังสมาธิเรามากพอ
ในที่สุดกายก็หายไปหมด
กายมันสลายตัวไปเหลือแต่จิตดวงเดียวอยู่
ยุคนี้เราทำไม่ได้อย่างนั้น ทำไม่ได้เราอดทน ต้องอดทนเอา
ดูความเปลี่ยนแปลงของจิต
พูดง่ายๆ คีย์เวิร์ดที่จะสอน ก็คือ อดทน
ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต ดูได้ทั้งวันยิ่งดี
ตื่นนอนมาจิตใจเราเป็นอย่างไร
เช่นวันนี้เป็นวันที่จะต้องไปทำงาน ตื่นขึ้นมาใจแห้งแล้ง เบื่อ
เพราะว่าอยากจะนอนสบายอยู่กับบ้าน
Work From Home จนชินแล้วไม่อยากไปไหนแล้ว
ถึงเวลาต้องไปทำงาน เขาจะไม่ให้ Work From Home แล้วตอนนี้
ฉะนั้นต้องออกจากบ้านไปทำงาน ใจไม่อยากไป
เห็นเลยใจไม่อยากไป อยากจะนอนต่ออีกสัก 1 – 2 ชั่วโมง
ช่วง Work From Home นอนไปถึงเที่ยงทุกวันเลย
พอจะต้องออกไปทำงานแต่เช้า มันทรมาน
ใจไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ ใจที่ไม่ชอบนั้นคือใจมีโทสะ
เราก็รู้ว่าใจมันมีโทสะเกิดขึ้น
ดูสิโทสะจะยั่งยืนสักแค่ไหน
ไม่ใช่ดูให้มันดับ แต่ดูสิมันจะอยู่ได้นานแค่ไหน
ไม่ต้องไปลุ้นให้ดับ
เวลากิเลสเกิดไม่ได้ไปดูเพื่อให้มันดับ
แต่ดูเพื่อให้เห็นความจริงว่ามันไม่เที่ยง
มันทนอยู่ไม่ได้หรอก แล้วบังคับมันไม่ได้
กิเลสจะมา กิเลสจะไป สั่งไม่ได้บังคับไม่ได้
ดูเพื่อให้เห็นความจริง คือ ไตรลักษณ์นี้
ฉะนั้นเวลาภาวนานั้นดูจิตดูใจของเรานี้
ตั้งแต่ตื่นนอนแล้วดูไปเรื่อยๆ เลย
วันนี้ใจสดชื่นเบิกบาน รู้ว่าใจเบิกบาน
วันนี้ใจเศร้าหมองรู้ว่าเศร้าหมอง
จะอาบน้ำ จะกินข้าว จะขับถ่าย รู้ไปเรื่อยๆ
รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของใจ
อย่างพวกผู้หญิงเสื้อผ้าเยอะ
วันนี้จะใส่ชุดอะไรก็เครียดมาก มีให้เลือกเยอะ
กระเป๋าก็มีหลายใบ รองเท้าก็มีหลายคู่ คิดมาก
ใจกังวลวันนี้ใส่ชุดไหนมันจะสวยที่สุด
ใจกังวลรู้ว่ากังวล
ปฏิบัติไม่เลือกกาลสถานที่ ปฏิบัติได้ทุกกาลเทศะ
ภาวนาไป อดทนตามรู้ตามเห็น
ไม่ต้องไปหวังว่าดูแล้วจะได้อะไร เมื่อนั้นเมื่อนี้
ถ้าดูด้วยความอยาก ดูแล้วเมื่อไรจะได้มรรคผล ไม่ได้หรอก
ก็ดูด้วยความอยากตัณหามันยังอยู่ กิเลสมันยังอยู่
มันจะไปบรรลุมรรคผลได้อย่างไร
เฝ้ารู้เฝ้าดูจนเราเห็นความจริง
ความจริงของร่างกาย ความจริงของจิตใจไป
อย่างถ้าเราเป็นพวกคิดมาก จิตใจเราเปลี่ยนแปลงทั้งวัน
จิตใจเรากระทบกระทั่งทั้งวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
กระทบอารมณ์ จิตใจก็หวั่นไหวเปลี่ยนแปลง
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย
มันเปลี่ยนถี่ยิบเลย เราเฝ้ารู้ลงไปเลย
จิตใจสุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ โลภก็รู้ โกรธก็รู้ หลงก็รู้
ฟุ้งซ่าน หดหู่ อิจฉา กลัว กังวล
อะไรเกิดขึ้นค่อยรู้ค่อยดูไป
สังเกตความรู้สึกของตัวเอง
คนไทยเรามันมีศัพท์ที่เกี่ยวกับความรู้สึก 200 – 300 ตัว
หลวงพ่อเคยรวมไว้ได้ 200 ตัว
มีโยมคนหนึ่งเขาไปทำต่อ เขารวมมาได้ 300 กว่าตัว
ศัพท์ที่เกี่ยวกับความรู้สึก เบื่อ เซ็ง เอียน
เอียนกับเซ็งก็ไม่เหมือนกัน มีความรู้สึกมีดีกรีที่ต่างกัน
จะเบื่อ จะเอียน จะเซ็งนี่กลุ่มโทสะทั้งหมด
แต่คนไทยแยกย่อยได้ละเอียดยิบเลย
วันนี้เอียนมากเลย เบื่อหน้าคนนี้ เห็นแล้วเอียน
เดี๋ยวนี้เขามีศัพท์แปลกๆ เยอะ หลวงพ่อตามไม่ทันแล้ว
ศัพท์ใหม่ๆ มากมาย เด็กรุ่นนี้ ก็จะมีศัพท์เฉพาะกลุ่มของเขา
ศัพท์พวกนี้มันสะท้อนความรู้สึก
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราเบื่อขึ้นมาเรารู้ว่าเบื่อ
เราเกลียดรู้ว่าเกลียด เบื่อกับเกลียดไม่เหมือนกัน
โกรธกับเกลียดก็ไม่เหมือนกัน
ความรู้สึกอย่างนี้มันเกิด เราก็รู้ไปความรู้สึกอย่างนี้ๆ
หยาบที่สุดเลย ความรู้สึกที่สุขทุกข์กลุ่มหนึ่ง
ความรู้สึกที่ดีชั่วกลุ่มหนึ่ง
ชั่วอย่างหยาบๆ ก็แยกเป็นโลภ โกรธ หลง
โลภนี่เราคนไทยเราจะมีศัพท์เยอะแยะเลยที่เกี่ยวกับความโลภ
เราก็เห็น ความยึดถือในความคิดความเห็น เซลฟ์จัดขึ้นมา
มีมานะอัตตารุนแรง นี่ตระกูลโลภทั้งนั้น
ตระกูลโกรธก็มีเยอะแยะที่ว่าเมื่อกี้ อิจฉาก็ตระกูลโกรธ
เวลาอิจฉาจิตใจไม่มีความสุขหรอก
เวลาตระหนี่ ขี้เหนียว ขี้เหนียวบางคนคิดว่าเป็นราคะ เป็นตระกูลโลภะ
แต่สังเกตดูเวลาใจเรารู้สึกขี้เหนียว รู้สึกหวงแหน
ใจเราไม่มีความสุข เราอยากดึงอันนี้ไว้ที่ตัวเรา
เราไม่อยากให้คนอื่นไป นี่ขี้เหนียวหวงแหน
เราดูๆ เผินๆ ดึงเอาไว้น่าจะราคะ
แต่สังเกตดูตอนที่เราหวงอะไรต่ออะไร ทั้งหวงทั้งห่วง
ใจเราไม่มีความสุข ถ้าใจเราไม่มีความสุข
รู้ได้ทันทีเลยจิตดวงนั้นเป็นโทสะ
อยู่ในตระกูลโทสะ
ถ้าใจเรามีความสุข จิตนั้นอาจจะอยู่ในตระกูลราคะก็ได้
หรือเป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้
ถ้าเป็นจิตที่เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์อาจจะเป็นจิตที่มีโมหะก็ได้
เป็นจิตที่มีราคะก็ได้ เป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้
ถ้าตัวสุขอะไรพวกนี้มันยังเกิดได้ทั้งกุศล อกุศล
แต่ความรู้สึกทุกข์ในใจเป็นโทสะ
จิตตระกูลโทสะทั้งสิ้นเลย
เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรใจเราไม่แช่มชื่นเมื่อนั้นเป็นตระกูลโทสะ
อย่างเราหวงของ หวงของนอนไม่หลับเลย
กังวล หวง กลัวว่าคนมันจะมาเอาไป กลัวนี่ก็ตัวโทสะ
เวลากลัวไม่สบายใจใช่ไหม หวงข้าวหวงของ
ตระหนี่ไม่อยากให้ใครก็ตระกูลโทสะ ใจไม่มีความสุข
สังเกตความรู้สึกของตัวเองไป
ทีแรกก็รู้ได้หยาบๆ โลภแล้วก็รู้ โกรธแล้วก็รู้ หลงแล้วก็รู้อะไรอย่างนี้
ต่อมาก็รู้ความรู้สึกได้ละเอียดๆ ขึ้น
แต่ละตัวก็แยกย่อยออกไปเยอะแยะ ไม่ต้องรู้ทุกตัว
รู้ตัวที่เรามี อย่างคนไหนขี้อิจฉา พอใจมันอิจฉารีบรู้เลย
นี่อิจฉาแล้วรู้แล้ว
ไม่ได้ดูให้หาย
ดูให้รู้ว่าความอิจฉามันผุดขึ้นมาแล้ว
มันตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไป ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
เฝ้ารู้เฝ้าดู อดทนดูแล้วดูอีก ดูทั้งวันเท่าที่ทำได้
ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิดเท่านั้นล่ะดูไม่ได้
ไม่มีใครดูได้หรอกเวลาทำงานที่ต้องคิด
เพราะธรรมชาติของจิตรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว
ถ้าจะรู้อารมณ์รูปนาม มีสัญญาหมายความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
ก็จะไปรู้อารมณ์บัญญัติเรื่องที่ต้องคิด ต้องคำนวณ ต้องคาดคะเน รู้ไม่ได้
อันนั้นเป็นอารมณ์บัญญัติจิตมันต้องไปรู้อารมณ์บัญญัติ
ก็มารู้อารมณ์ปรมัตถ์ คือ รู้รูปนามไม่ได้
นามธรรมทั้งหลายพวกเราหัดรู้มันไปเรื่อยๆ
มีความสุขก็รู้ ปลื้มใจ ปลื้มใจรู้จักไหม ภาษาไทยมีเยอะ
ปลื้มใจ ปลื้มใจ ใจมันปลื้ม วันนี้หลวงพ่อคุยด้วยใจมันปลื้ม
บางคนปลื้มมากน้ำหูน้ำตาไหล รู้ทันลงไป
ใจมันกลัว รู้ มันขี้เกียจ รู้จักขี้เกียจไหม
ใครเคยขี้เกียจบ้างมีไหม ถามผิด
ใครไม่เคยขี้เกียจมีไหม ไม่มีหรอก
ขี้เกียจเกิดขึ้นแล้วรู้ว่าขี้เกียจ ดูเข้าไปตรงๆ เลย
ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นแล้วรู้เข้าไปตรงๆ เลย
แล้วเราจะเห็นไตรลักษณ์
ไม่ได้ดูให้มันดับ แต่มันดับของมันเอง
อย่างเราคิดถึงสาวสักคนแล้วเราก็ชอบ
จิตเรามีราคะเราชอบๆ พอเราเห็นหมาบ้าวิ่งมา
เราตกใจหันไปดูหมาบ้าลืมคิดเรื่องสาว ราคะนั้นดับไปแล้ว
ดับทันทีเลยพอเราเลิกคิดที่จะกระตุ้นให้เกิดราคะ
คิด อุ๊ย หมาบ้ามา ราคะหายเลยจิตเปลี่ยนเป็นโทสะแล้ว
กลัว ความรู้สึกขยะแขยง รู้จักไหมขยะแขยง
วันนี้พวกที่แปลเป็นภาษาต่างด้าว ต้องลำบากนิดหนึ่ง
เพราะศัพท์พวกนี้คนไทยเรามีเยอะมาก แสดงความรู้สึก
เพราะฉะนั้นถ้าใจเรารู้สึกอะไร อ่านมันไปเรื่อย ดูมันไปเรื่อยๆ
ทีแรกมันก็จะเห็นว่า อารมณ์ตัวที่หนึ่งเกิดแล้วก็ดับ
ตัวที่สองเกิดแล้วก็ดับ
ตรงที่มันจะเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด
มันจะรู้ว่าสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ
ทุกตัวที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น
แต่ก่อนที่จิตมันจะมาถึงตรงนี้
มันต้องเห็นตัวที่หนึ่งเกิดแล้วดับ ตัวที่สองเกิดแล้วดับ
จนถึงตัวที่ล้านเกิดแล้วดับ ดูซ้ำๆ ทุกวันๆ
ถึงจุดหนึ่งจิตมันปิ๊งขึ้นมา มันแจ้งขึ้นมา
มันรวมเข้ามาแล้วมันแจ้งขึ้นมา
“สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” ก็รู้ธรรมะขึ้นมา
ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวรหรอก
เพราะมันมีแต่สิ่งที่เกิดดับ
สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเราอย่างถาวร ไม่มีจริง
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
อย่างปุถุชนจะรู้สึกว่ามีเราอยู่คนหนึ่ง
เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ ก็เป็นคนเดิม
เราตอนนี้กับเราปีหน้าก็เป็นคนเดิม
หรือเราตอนนี้ เราชาตินี้กับเราชาติก่อนก็คนเดิม
เราชาตินี้กับเราชาติหน้าก็คนเดิม ปุถุชนจะรู้สึกอย่างนี้
แต่ถ้าเราเห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ
โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ดูง่ายมันเกิดดับทั้งวัน
จะดูร่างกายให้เกิดดับไม่ใช่ดูง่าย
ถ้าจิตไม่ทรงฌานจริงๆ ดูยาก เพราะร่างกายเปลี่ยนแปลงช้า
จิตนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ร่างกายเปลี่ยนแปลงช้ากว่าจิต
รูปหนึ่งอายุของรูปหนึ่งตำราเขาบอก 17 ขณะจิต
ในขณะที่จิตวับเดียวเท่านั้น เกิดแล้วดับเรียบร้อยแล้ว
ฉะนั้นถ้าเราดูจิตก็คือเราทำการบ้านบ่อย
ทำการบ้านเยอะเลย เห็นมันเกิดดับๆๆ ทั้งวันเลย …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 มกราคม 2565
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา