6 ก.พ. 2022 เวลา 08:21 • ไลฟ์สไตล์
“รู้เห็นตามที่เป็นจริง … รู้เห็นอย่างไร ?”
เป้าหมายสูงสุด คือ ความดับทุกข์
“ … เราจะทำอะไร เราก็ต้องรู้วัตถุประสงค์
ว่าเราต้องการทำอะไรเพื่ออะไร ต้องชัดเจน
ไม่ใช่เห็นคนอื่นเขาอยากปฏิบัติ
ก็อยากปฏิบัติตามเขาอะไรอย่างนี้
มันไม่ได้เรื่องหรอก
เราต้องรู้ว่าการปฏิบัติธรรม
วัตถุประสงค์จริงๆ เพื่อถอดถอนความทุกข์ออกจากใจเราให้ได้
จุดหมายสูงสุดก็คือความดับทุกข์ มี 2 ตัว
ความดับทุกข์อันนี้เป็นวัตถุประสงค์สูงสุด
เป้าหมายของเราอันแรกเลย ก็คือ ต้องพ้นทุกข์ก่อน
ต้องรู้ว่าทุกข์คืออะไร
ฉะนั้นอริยสัจท่านจะเริ่มต้นจากทุกข์
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือ รูป นาม กาย ใจของเรานี้เอง
ไปจำแนกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกมาเป็นรูปกับนามก็ได้
เป็นขันธ์ 5 ก็ได้
ในขันธ์ 5 มันก็คือรูปนามนั่นล่ะ มีรูปเป็นตัวรูปธรรม
นามก็มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นนาม
แยกเป็นอายตนะ 6 ก็ได้
สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี้ ที่เรารู้สึกว่าเป็นเรา
แยกเป็นอายตนะ 6 ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นฝ่ายรูปธรรม
ใจเป็นฝ่ายนามธรรม
แยกเป็นธาตุ 18 ก็ได้ เป็นอินทรีย์ 22 ก็ได้
แต่ย่อลงมา ก็คือ รูปธรรมกับนามธรรมนั่นเอง
ท่านสอนบอกว่า
ถ้าเรายังยึดถือในรูปธรรมนามธรรมอยู่
ก็คือเราหยิบฉวยตัวทุกข์เอาไว้
ดูให้ดี สิ่งที่ทุกข์ ไม่กายทุกข์ก็ใจทุกข์ ก็มีอยู่แค่นี้ล่ะ
ถ้าเราหยิบฉวยเอากายขึ้นมาเป็นตัวเรา เป็นของเรา
มันก็ทุกข์เพราะกาย
หยิบฉวยจิตขึ้นมาก็ทุกข์เพราะจิต
ยึดถืออะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้นล่ะ
ถ้าไม่ยึด มันก็ไม่ทุกข์หรอก
เรารู้วัตถุประสงค์ เราจะภาวนาเพื่อพ้นทุกข์
เราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องปล่อยวางความถือมั่นในกายในใจได้
ปล่อยรูปนามได้
เราจะปล่อยวางรูป นาม กาย ใจได้ จะทำอย่างไร
ก็มีเหตุมีผลอีกล่ะ พระพุทธเจ้าบอกให้เราเห็นกายตามความเป็นจริง
เห็นใจตามความเป็นจริง
ท่านบอก “เพราะเห็นตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย
เพราะเบื่อหน่าย จึงคลายความยึดถือ
เพราะคลายความยึดถือ จึงหลุดพ้น
เพราะหลุดพ้น จึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
ชาติ คือ ความเกิด สิ้นแล้ว
การประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายจบแล้ว
กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว”
จะรู้สึกอย่างนั้น
ฉะนั้นจุดสำคัญก็คือการรู้ทุกข์ บอกทุกข์ให้รู้
เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย
สุดท้ายก็คลายความยึดถือ ก็หลุดพ้น
เห็นตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์
ฉะนั้นเราจะภาวนาให้พ้นจากทุกข์
จนถึงความดับสนิทแห่งทุกข์ในขั้นสุดท้าย
ขั้นแรกก็ต้องพ้นทุกข์ให้ได้ก่อน
พ้นทุกข์ได้ ก็คือ หมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม
ที่มันรวมกันเข้ามาเป็นตัวเราของเรานี้
เราจะหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมได้
ไม่ใช่สั่งจิตให้หมดความยึดถือ เราสั่งจิตไม่ได้
จิตก็เป็น “อนัตตา”
จิตจะยอมปล่อยวางความยึดถือกาย
ปล่อยวางความยึดถือจิตได้
จิตต้องเห็นความจริงก่อน
ความจริงของกายคือมันไม่เที่ยง
มันเป็นทุกข์ มันบังคับไม่ได้
ความจริงของจิตก็คือไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้เหมือนกัน
เป็นอนัตตา
1
ความจริง สิ่งที่เรียกว่าความจริงๆ ของรูป นาม กาย ใจ
จริงๆ ก็คือไตรลักษณ์นั่นล่ะ
1
เพราะฉะนั้นการเห็นไตรลักษณ์ของรูป นาม กาย ใจนี้ล่ะ
เป็นทางเดียวที่จะทำให้เราปล่อยวางความถือมั่นในรูป นาม กาย ใจได้
เพราะเห็นแล้วมันไม่มีสาระแก่นสารหรอก
กายมันก็ไม่เที่ยง มันก็ไม่มีสาระแก่นสาร
กายนี้มีแต่ความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่สาระแก่นสาร ก็บังคับไม่ได้ เป็นสมบัติของโลก
เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ถ้าเห็นอย่างนี้ มันก็ไม่ยึดถือกาย
เห็นจิตก็เป็นแค่สภาพธรรมอันหนึ่ง
เกิดดับ หมุนเวียน เปลี่ยนแปลงไป
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย
หาสาระแก่นสารไม่ได้ เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง
ของดีๆ ที่เกิดขึ้นกับจิตใจเราก็ทนอยู่ไม่ได้อีก
ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป
แล้วก็จิตนี้เป็นของบังคับไม่ได้
สั่งให้สุขก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้
สั่งให้ดีก็ไม่ได้ ห้ามชั่วก็ไม่ได้ เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป
พอเห็นความจริง มันจะเบื่อหน่าย
พอเบื่อหน่ายแล้วมันจะค่อยๆ คลายความยึดถือออกไป
สุดท้ายมันก็หลุดพ้น ไม่ยึดถือ
ไม่มีทางอย่างอื่นหรอก ต้องทำอย่างนี้
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องนั่งสมาธิให้สงบ
อันนั้นตื้นเกินไป เป็นแค่ขั้นต้นๆ เท่านั้นเอง
ยังไม่ได้เดินปัญญาเลย
ตรงที่เราเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริงนั่นล่ะ
เรียกว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ก่อนหน้านั้นยังไม่ใช่
ก่อนหน้านั้นก็เป็นสมาธิ เป็นสมถะไป
อย่างเราเห็นร่างกายอย่างนี้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
แล้วเราก็คิดเอาว่าร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ยังไม่ถึงวิปัสสนา
วิปัสสนาไม่ได้คิดเอา แต่ต้องเห็นเอา
แต่เบื้องต้นก็ต้องคิดก่อนสำหรับบางคน
ถ้าเคยอบรมเจริญปัญญามาแต่ชาติก่อนๆ อะไรอย่างนี้
ไม่ต้องคิดก่อน มันเห็นไตรลักษณ์เลย
แต่ถ้ามันไม่เห็น อินทรีย์เรายังอ่อน ก็คิดก่อน
เรียกว่ามีความคิด แล้วต่อไปก็มีความเห็นถูก
คนส่วนใหญ่มันมีความคิด แล้วมันก็มีความเห็นผิด
ความคิดห้ามไม่ได้ ไม่มีใครห้ามความคิดได้หรอก
ถ้าคิดไปแล้วก็สำคัญมั่นหมายผิด
สัญญาหมายผิดก็เกิดความเห็นผิด
พอหมายผิด คิดผิด ก็เห็นผิด
หมายถูก เห็นถูก ก็คิดถูก
อย่างเราพยายามศึกษาว่า
เราจะต้องหมายรู้กายหมายรู้ใจว่าเป็นไตรลักษณ์
เสร็จแล้ว เราก็ดูของจริง
เห็นของจริงกายนี้มันเป็นไตรลักษณ์จริงๆ ถึงจะปล่อยวาง
จิตเป็นไตรลักษณ์จริงๆ ถึงจะปล่อยวาง ยังต้องฝึก
ทำอย่างไรจะเห็นกายเห็นใจแสดงไตรลักษณ์ได้
นี่ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญและก็ยากมากเลยในการปฏิบัติ
บางคนก็พูดเอา ไปเรียนปริยัติมากๆ
เรียนอภิธรรม รู้หมดเลย
แต่มันไม่เห็น มันรู้อย่างเดียว มันรู้จากความจำ
รู้จากความคิดเอา แต่มันไม่เห็น
ทำอย่างไรจะเห็นได้ ก่อนจะเห็นได้ก็ต้องมีผู้เห็นเสียก่อน
ผู้เห็นที่หลวงพ่อเรียกบ่อยๆ ว่าผู้รู้ๆ นั่นล่ะ
ถ้าเราไม่มีผู้รู้ ไม่มีผู้เห็น
การเห็นนั้นก็เพี้ยนๆ ไปหมดแล้ว
แต่ถ้าเราฝึกให้ดี เราต้องฝึกเป็นลำดับๆ ไป
ตามขั้นตามตอนอย่ากระโดดข้ามขั้น …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 มกราคม 2565
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา